วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ชนชั้นทางวิชาการไทยกับการ (ไม่) รับใช้เพื่อนมนุษย์


เกริ่นนำ

อะไรคือสิ่งที่เนื่องมาจากการตั้งมั่นอยู่ของหลักวิชา (Disciplinary) ? จากกำเนิดของระบบมหาวิทยาลัยในยุคกลางที่สั่งสมสกุลความคิดสำนักต่างๆ จนกระทั่ง โลกเริ่มทวีจำนวนลูกศิษย์ (Disciple of Discipline) ซึ่งบรรดาลูกศิษย์หลานศิษย์เหล่านั้นได้ทำการเปลี่ยนแปลงโลกทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลายนานัปการ ทั้งนี้ภายใต้อุดมคติที่ว่า “เพื่อเสรีภาพและชีวิตที่ดี” แต่ในวันนี้ที่ประเทศไทย ในศตวรรษที่ 21 ตามเวลาของสากลโลก  “ชนชั้นทางวิชาการ” ได้ถูกสถาปนาอย่างรุ่งโรจน์กว่าศตวรรษเข้าไปแล้ว น่าแปลกว่า ลักษณาการของ “ผู้มีวิชาความรู้” สำหรับประเทศนี้ยังไม่แตกต่างจากยุคกลางอย่างน่าประหลาด โดยที่ไม่อาจโทษใครได้ ปัญหามิได้อยู่ที่นักรบหรือพ่อค้าซึ่งมิได้ทำการศึกษาศาสตร์แขนงต่างๆ อย่างที่นักวิชาการกระทำ แต่ปัญหาอยู่ที่กุศโลบายในการแก้ไขปัญหาของนักวิชาการเหล่านั้นต่างหาก  และประวัติศาสตร์มิได้สั่งสอนเราอย่างมากเกินพอหรอกหรือว่า “นักปราชญ์ราชบัณฑิต” ควรทำอะไร? สำคัญกว่านั้น สกุลความคิดหลังสมัยใหม่มิได้เปิดเปลือยให้เข้าใจมากหรอกหรือว่า “จะทิ้งชนชั้นอันแสนโรแมนติกนี้อย่างไร?” เพราะความจริงที่น่าเจ็บปวดมีว่า เพื่อนมนุษย์ที่มิได้เป็นหรือมิได้แสดงตัวว่าเป็นนักคิดนักวิชาการมากมายต้องสังเวยชีวิตลงตรงรากหญ้า ณ ที่ซึ่งไม่มีความช่วยเหลือจากหอคอยงาช้าง ทั้งที่ การแสดงความเห็นอันเลิศลอยมาจากตรงนั้น? เจ็บปวดกว่านั้นคือ หลายชีวิตเป็นลูกศิษย์ของระบบหลักวิชานี้เอง


(1) ว่าด้วยคำว่า “บัณฑิต”, “มหาบัณฑิต”, “ดุษฎีบัณฑิต”, “ความมีกิตติมศักดิ์”

นักคิดหลังสมัยใหม่อย่าง Foucault เคยกล่าวประโยคน่าประทับใจว่า “จงปล่อยให้การระบุตัวตนเป็นหน้าที่ของตำรวจและบรรดาเจ้าหน้าที่เถอะ!” [1]  แต่สำหรับประเทศไทย ตัวตนความเป็น “บัณฑิต” ไม่ว่าจะเป็นระดับธรรมดา, หรือระดับยิ่งใหญ่ หรือระดับเป็นที่ยอมรับกันโดยดุษฎี ผูกพันกับภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จ และเป็นเงื่อนไขสำคัญในการยกย่องฐานะหรือสร้างอัตลักษณ์ของตนให้สูงเด่นกว่าที่เป็น ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า “ความเป็นบัณฑิต” มีนัยยะของการเป็นเครื่องมือในการยกฐานะมากกว่าที่จะเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับจัดจำแนกประเภทวิทยฐานะ ดังนั้น การสื่อสารเรื่องดังกล่าวในประเทศไทย จึงเข้ากันได้ดีกับแนวคิดเรื่อง “นักปราชญ์”, “ราชบัณฑิต”, “ผู้ทรงภูมิ” จึงส่งให้เรามี “ระเบียบ” (Order) และรูปแบบ (Uniform) ของการจะเป็น “ศาสตราจารย์”, “รองศาสตราจารย์”, “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” ซึ่งแอบอิงอยู่กับจารีตประเพณี หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบบอุปถัมภ์อย่างวิจิตรพิสดาร เพราะความที่ลงทุน ลงเงิน ไปมากมาย “ผู้มีการศึกษา” หลายคนจึงไม่อาจมองการศึกษาเป็น “แค่” การศึกษา แต่จำต้องมองเพื่อให้รู้สึกสูงส่งกว่าว่า เราได้รับการศึกษา “ถึง” ระดับนี้ ความหยิ่งทระนง จองหองลำพอง ได้ถักทอและฟูมฟักขึ้นภายในระบบปิดของวงวิชาการไทย

อาจกล่าวได้ว่า “ชนชั้นสูงแบบใหม่ชนิดหนึ่ง” ถูกสถาปนาแล้วบนรากหญ้าของนักการภารโรงและลูกนักการภารโรง ผู้ไม่อาจส่งเสียงได้ (Subaltern) ทางเดียวที่จะมีสิทธิ์มีเสียง (Right) ได้ในสังคมฐานันดรสมัยใหม่นี้ คือ ถีบตัวด้วยความช่วยเหลือของ “ทุน” (Capitalism) จะว่าไปนี่เป็นข้อดีของการไม่เผด็จการเต็มใบ แต่นั่นจะผลักดันให้ ปมทางจิตวิทยาเข้มข้นเป็นปมเขื่อง  ฉะนั้น เพื่อกลบเกลื่อนบาดแผล น้ำตา ความเจ็บป่วยทางจิตใจเอาไว้ การเปลี่ยนไปยอมรับ “ระบบแห่งความมีกิตติมศักดิ์” ช่วยได้มาก และนั่นเป็นมุมมองที่เจือด้วยคติอย่างเหนือธรรมชาติ (Superstition) จึงไม่แปลกที่จะมีการเรียกหา “คำนำหน้า” ที่บ่งนัยยะถึงภูมิปัญญา เรียกร้องความเคารพ การบูชา การบวงสรวงที่ล้นเกินและไม่เป็นธรรมชาติ แม้จะมีการเซ่นสรวงบัดพลีถึงขั้นพลีกายขายตัวแล้วก็ตาม แต่ผู้ไม่อาจส่งเสียงได้ (Subaltern) ก็ยังไม่อาจเล่าเรื่องของตนเองได้ต่อไป เขาจึงต้องยืมปาก “นักคิดนักวิชาการ” เป็นผู้เล่าเรื่องต่างๆ ซึ่งจริงบ้าง เท็จบ้าง โรแมนติก บ้างก็ตามแต่นักวิชาการนั้น สาเหตุสำคัญทุกคนยอมรับว่า “บัณฑิต”, “มหาบัณฑิต”, “ดุษฎีบัณฑิต”, “ความมีกิตติมศักดิ์” นั้นมีความขลังกว่าสามัญชน และสามัญชนก็ยังสยบยอมและยินดีให้ค่านิยมนี้ครอบงำ ถึงขั้นจะต้องขายควายขายนาส่งลูกเรียนอีกด้วย ทั้งที่ในเวลาคับขันทางการเมือง เมื่อถูกตำรวจจับกุมและต้องประกันตัว “สามัญชน” ไม่มีเอกสิทธิ์หรือชนชั้นใดๆเลย แต่ “นักปราชญ์” มีอะไรบางอย่างที่ว่า อาจจะเป็นคุณวุฒิ ชาติวุฒิ หรือกำลังทรัพย์ เรื่องเหล่านี้เป็นความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แต่จับต้องไม่ได้คล้ายๆกับเรื่องผี  กระนั้นเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า  “นักปราชญ์” ถือว่ามีประโยชน์ต่อสังคม บ่อยครั้งเห็นสมควรให้ลด ละเว้นโทษได้ แต่ใครก็ตามที่พยายามเดินตามรูปรอยที่นักปราชญ์เหล่านั้นวางเอาไว้ จะกลายเป็นพวกไม่มีประโยชน์ต่อสังคมในทันที เห็นควรให้เพิ่มโทษ และไม่ให้ละเว้นโทษ พวกนี้จัดเป็นประเภทหญ้าแพรกที่ต้องแหลกลาญกันไป เป็นพวกไม่มีกิตติมศักดิ์


(2) เรื่องของ “เสียง” เรื่องของ “สื่อ” เรื่องของ “อำนาจ” เรื่องของ “ความรับผิดชอบ”

เป็นเรื่องโรแมนติกไปแล้วที่จะพูดว่า “เสียงทุกคนดังเท่ากัน” เพราะในท้ายที่สุด เมื่อนักคิดนักวิชาการได้ปลดแอกมนุษย์จากพันธนาการแห่งจักรวรรดินิยมไปแล้ว แต่ก็ได้ล่ามมนุษยชาติไว้กับหลักวิชาและเรื่องเล่ากระแสหลัก “เสียงนักปราชญ์” ราวกับจะมีความเข้มเสียงมากกว่า “เสียงคนขับแท็กซี่” ความคิดเล็กๆของคนขับแท็กซี่ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายหรือจะน่าสนใจกว่า “ความตายของนักปราชญ์ใหญ่” ? การทำงานหรือส่งสารอย่างเงียบๆ ของนักปฏิบัติจำนวนมาก หรือจะสำคัญเท่าท่าทีอันเผ็ดร้อนของนักวิชาการชื่อดัง? สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง “ญาณวิทยา” หรือการให้คุณค่าของผู้คนในสังคมนั้นๆ และสิ่งนี้เองที่ทำให้เป็นไปไม่ได้ ที่แนวคิดเรื่อง ผู้ไม่อาจส่งเสียงได้ (Subaltern) จะสำเร็จในประเทศไทย สื่อย่อมประพฤติตัวเป็นแต่ผู้เงี่ยฟังเสียง คอยแต่จะแสวงหาเสียงโครมครามข่าวครึกโครม แต่กลับลืม “ความเงียบ” และ “เสียงกรีดร้องในความเงียบ” และมากไปกว่าสื่อ คือ บรรดาผู้มีสิทธิ์ส่งเสียงอันดังได้อย่างชอบธรรม กลับยิ่งห่างเหินจาก ผู้ไม่อาจส่งเสียงได้ (Subaltern) ไปทุกขณะ พวกเขาไม่ว่าจะฝ่ายใดก็มีแต่เสียงแห่งอำนาจของตนเอง ความภาคภูมิใจศักยภาพของตน การแสดงทัศนะอันทรงภูมิ วิสัยทัศน์ของตน น่าแปลกใจว่า ทั้งที่เขาปรารถนาอยู่ลึกๆ (Desire) ว่าการแสดงออกของตนจะสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังให้บรรลุจุดสุดยอด (la jouissance) ซึ่งเร้าใจด้วยการเสียดสี (Satire) ยั่วล้อ (Parody) ตลกร้าย (Irony) ซึ่งในความเป็นจริงย่อมส่งให้เกิดผลกระทบอะไรบางอย่างกับผู้รับสาร เป็นต้น เรียกเสียงปรบมือ เสียงโห่ฮา เรียกการติดตาม แต่เมื่อผู้รับสารได้ตีความหมายไปสู่ปฏิบัติการ กลายเป็นว่า เขาต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขากระทำอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีจริยศาสตร์แห่งความเอื้ออาทร (Ethic of care) ถือกำเนิดขึ้นในเหตุการณ์นี้  เขาต้องรับผิดชอบเสรีภาพของตัวเองราวกับถูกสาป แน่นอน ผู้ที่ถูกพันธนาการอยู่ย่อมพูดได้ว่า พวกเขาหวาดกลัวการถูกสาป เขายินดีที่จะกลายเป็นคนขี้ขลาดตลอดไป หากเพื่อนที่เดินร่วมทางมาคิดทิ้งเขาเสียดื้อๆแบบนี้ ในวัยเด็กเรามักได้ยินเพื่อนพูดกันว่า “พวกเด็กเก่ง เด็กเรียน มักชอบทิ้งเพื่อน” ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นวาทกรรมที่ยังทรงพลังกับเด็กหลังห้องอยู่?


(3) จำเป็นต้องมนุษยนิยมหรือไม่? จำเป็นต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยหรือ?

หลักการนั้นจะเป็นอย่างไรก็ได้ แต่การจะปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักการอย่างไม่หลอกตนเองนั้นเป็นเรื่องยาก ซึ่งถ้าเราจะกล่าวว่า “ชนชั้นทางวิชาการ” ไม่จำเป็นต้องรับใช้เพื่อนมนุษย์ถึงขนาดนั้น ? ก็จะเป็นการเปิดเผยเส้นแบ่งที่พร่าเลือนว่า อะไรเป็นขีดสุดของการรับใช้ที่ชนชั้นทางวิชาการจะให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้ และมีชนชั้นอื่นหรือไม่ที่แสดงตัวหรือช่วงชิงจังหวะโดยชี้ว่าพวกของตนรับใช้ได้มากกว่า? โดยสรุปแล้ว การศึกษาที่ได้รับมาเฉพาะอย่างยิ่ง บทวิเคราะห์ของนักคิดนักปรัชญาสำคัญทั้งหลาย ช่วยให้ตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร? ตกลงเราจำเป็นต้องคำนึงถึงผู้อื่นหรือไม่ และอะไรเป็นการแสดงให้เห็นถึงเสรีภาพในความเป็นปัจเจกของตนเอง?  การตัดสินใจไม่ช่วยเหลือเป็นเสรีภาพที่กระทำได้หรือไม่? เหล่านี้เป็นปัญหาทางปรัชญาที่น่าสนใจ เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนให้เห็นข้อตั้ง (Premise) ที่อยู่เบื้องลึกเข้าไปในมโนธรรม บางครั้งกว่าที่เราจะเห็นการเปิดเผยของการตัดสินใจในระดับลึกนี้ ก็ใช้เวลานาน เป็นต้น นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนไทยได้ทำอะไรบ้างในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้? หรือ นักวิชาการผู้รอบรู้ภาษาต่างประเทศได้มีการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังอันใดบ้างเพื่อผลักดันให้ทุกๆฝ่ายรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเท่าเทียมกัน? เรื่องทำนองนี้ทำให้นึกถึง ความไม่รู้สึกรู้สาต่อความตายและความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ ที่ต่อยอดมาจากแนวคิดของ Butler ที่ว่า “อารมณ์โรแมนติกชั่วขณะหนึ่งที่แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อชีวิตที่ไม่สมควรตาย ไม่ได้หมายความว่า การสนับสนุนความรุนแรงของคุณในอดีตจะถูกลดทอนลงไป ถึงอย่างไรคุณก็ยังมีคนที่คุณอยากจะฆ่าให้ตาย และคุณต้องใช้อำนาจเท่าที่มีประหารเขาเสียในนามแห่งความชอบธรรม แบบนี้กลายเป็นว่า มีบางคนสมควรตาย และมีบางคนสมควรอยู่ อะไรเป็นเกณฑ์ที่แม่นตรงเชื่อถือพอที่จะแยกแยะคนสองกลุ่มนี้ออกจากกัน” [2] แบบนี้เองที่อาจเรียกว่า “สันติวิธีเชิงวิชามาร” [3]


(4) ฤาชนชั้นทางวิชาการไทยไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์?

เช่นเดียวกับโลกทัศน์เรื่อง “สิทธิ” [4] ความเป็นบัณฑิตหรือผู้ทรงภูมิ ที่ผสมผสานกับคติเรื่องบัณฑิตเป็นคนดี (ตามอิทธิพลของการตีความพระไตรปิฎกเพื่อสนับสนุนอำนาจ) ดังนั้น นักปราชญ์ราชบัณฑิตนักคิดนักวิชาการอาจเป็นสมาชิกของระบบที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคืนความรู้สู่ปวงชนตั้งแต่แรก เป็นไปได้ที่แนวคิดดังกล่าวจะคล้ายคลึงกับในยุคกลางที่ มหาวิทยาลัยมีไว้สำหรับคนชอบธรรม (นักบวช) และคนรวย ซึ่งในยุคกลาง “นักศึกษา” หรือ “อาจารย์” ถึงกับวางอำนาจกับชาวบ้านผู้ไม่รู้หนังสือได้โดยที่ไม่มีความผิด (แม้กระทั่งดูถูกหรือถึงขั้นทำร้ายก็ไม่ผิด) ส่วนชาวบ้านไม่รู้หนังสือถ้าพยายามจะถีบตัวขึ้นมาเป็นนักศึกษาก็พอมีทางเป็นไปได้ โดยไปรับใช้หรือล้อมหน้าล้อมหลังคนรวยอีกต่อหนึ่งในฐานะเพื่อนเล่น ในฐานะผู้ต่ำกว่า ซึ่งแนวคิดแบบคนรวยเป็นศูนย์กลางเพื่อความสำเร็จทางการศึกษาน่าจะยังมีอยู่ไม่น้อยในประเทศไทย (เหมือนที่เป็นมาในยุคกลาง) ด้วยเหตุว่า “การศึกษาในประเทศไทย” พึ่งพำนักอยู่กับอำนาจที่มองไม่เห็นเช่นเดียวกับศาสนจักร แน่นอน ทำให้ประเทศไทยมีงานเอกสารจำนวนมากและหลายชิ้นเป็นขนาดยาว แต่กลับสังเกตได้ว่า “ไม่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่” และในภายหลังบรรดานักคิดเหล่านั้นยังได้แสดงตนสนับสนุนอำนาจเผด็จการเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจทางวิชาการเสียอีก ซ้ำร้ายบางคนกลับลอกเลียนงานวิชาการของผู้อื่นด้วยเจตนาที่น่าสงสัย คนเหล่านี้มักได้รับการยกย่องในวงวิชาการภายในประเทศ? แต่ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องเก่าๆ ในประวัติศาสตร์ยุโรปเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ในครั้งที่มนุษย์ยังไม่รู้ว่ามนุษยธรรมที่จับต้องได้ จำเป็นกว่าการเป็นตู้พระคัมภีร์เดินได้อย่างนกแก้วนกขุนทอง ปัญหาคือประเทศไทยยังมีค่านิยมเรื่อง “นกแก้วนกขุนทอง”


สรุป

“ตราบใดที่บรรดานักวิชาการยังวนเวียนอยู่กับความเป็น “ฉัน” (Self) มากเกินไป นั่นอาจทำให้เสียเวลาในอันที่จะทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อประชาชนอย่างที่ตั้งใจ และจะกลายเป็นหลักฐานมัดตัวเองชิ้นสำคัญ ในกรณีที่นักวิชาการเหล่านั้นอ้างว่า “ทำเพื่อประชาชน” เพราะจริงๆ ทำเพื่อสนองอัตตาหรือปมของตนเอง” [5]

สิ่งนี้ฟังเผินๆอาจแสลงหู แน่นอนกลไกทางจิตวิทยาของผู้ที่คิดว่าตนถูกพาดพิงอาจติดเครื่องขึ้นมาทันที ทำนองว่ากำลังถูกโยนภาระให้ต้องแบกอย่างหนักหน่วง แต่ในความเป็นจริงมันโหดร้ายตรงนี้ นักคิดนักวิชาการไทยจำต้องช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก่อนเป็นอันดับแรกต่อเพื่อนมนุษย์มิใช่หรือ เพื่อยืนยันความเป็นอารยชนของตน แต่ที่จริงแล้วได้เกิดการข่มเหงรังแก ผู้ไม่อาจส่งเสียงได้ (Subaltern) อย่างกว้างขวางและมากมายซึ่งนักคิดทั้งหลายต่างตกอยู่ในสภาพเอาตัวรอดและทำอะไรไม่ได้? น่าสงสัยว่า ไม่มีวิธีการอันชาญฉลาดและแยบยลหรือ? ที่จะช่วยคุ้มครองป้องกันสวัสดิภาพหรือกำลังใจของเพื่อนมนุษย์เหล่านั้นเอาไว้ แล้วหลักวิชาการที่สู้อุตส่าห์เรียนมาเล่า? พูดกันตามหลักสถิติ เราสามารถตรวจสอบบุคลากรทางวิชาการหรือจำนวนนักคิดได้อย่างแน่นอน แต่ที่เราทำไม่ได้คือสำรวจความเป็นปึกแผ่น หรืออะไรที่เป็นรูปธรรมมากไปกว่า การจับกลุ่มเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ และสรรเสริญ (ดุษฎี) กันเอง ซึ่งไม่ต่างอะไรจากคำศัพท์ที่เรียกว่า “การสำเร็จความใคร่ทางวิชาการ” [6] นั่นเองยืนยัน การมีอยู่จริงของชนชั้นทางวิชาการไทยกับการ (ไม่) รับใช้เพื่อนมนุษย์

โดยระลึกถึง นายนวมทอง ไพรวัลย์ เป็นพิเศษ และแด่ผู้เล็กน้อยที่ถูกจับกุมคุมขัง (ทางความคิด) ทุกคน
อ้างอิง
[1] “Do not ask who I am and do not ask me to remain the same: leave it to our bureaucrats and our police to see that our papers are in order” Michel Foucault. The Archaeology of Knoweldge (1972), tr. A. M. Sheridan Smith (New York: Pantheon) Page 17
[2] ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์.การข่มขืนในบางรัฐที่สนับสนุนการประหาร

[3] ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์.คนไทยกับสันติวิธีเชิงวิชามาร 
[4] ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์. สิทธิมนุษยชนกับปฏิกิริยาสวนโต้ของเชลยศึก
[5] ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์. นักวิชาการ : อัตตาเพื่อประชาชน? 
[6] ไชยันต์ ไชยพร.  2550.  Postmodern : ชะตากรรมโพสต์โมเดิร์นในอุ้งมือนักปรัชญาการเมืองโบราณ.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : Openbook.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น