วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

จับ 'บัณฑิต อานียา' ตั้งข้อหา 112 หลังแสดงความเห็นเวทีปฏิรูป


ตร.รวบนักเขียนวัย 73 ปี บัณฑิต อานียา แจ้งความ 112  หลังแสดงความเห็นเวทีปฏิรูปจัดโดยพรรคนวัตกรรม ทนายเผยเจ้าตัวปฏิเสธข้อกล่าวหา ยันแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ ล่าสุด ตร.เตรียมค้นบ้านเพิ่ม
27 พ.ย. 2557 เวลา 12.00 น. ภาวิณี ชุมศรี ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ว่า นายบัณฑิต อานียา นักเขียน วัย 73 ปี ถูกคุมตัวมายังสน.สุทธิสารตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้ และทำการสอบปากคำในเช้าวันนี้ ก่อนแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 112 กฎหมายอาญา
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากบัณฑิตได้ไปแสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนาที่จัดขึ้นโดยพรรคนวัตกรรม ซึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่ยังไม่ได้จดทะเบียน โดยการเสวนานี้เป็นการระดมความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปในประเด็นต่างๆ เช่น กกต. ที่มา ส.ส. สถาบันกษัตริย์ ส่ง สปช. โดยขณะที่บัณฑิตกำลังแสดงความเห็นยังไม่ทันจบประโยคแรกก็ถูกควบคุมตัว
ภาวิณีกล่าวว่า บัณฑิตปฏิเสธข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน โดยให้เหตุผลว่า เป็นการแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ และพูดถึงสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยที่เกิดความแตกแยกเป็นสองฝ่ายชัดเจนรวมถึงแนวคิดสถาบันกษัตริย์นิยมด้วย
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้คุมตัวบัณฑิตเพื่อไปค้นบ้านเพิ่มเติมในช่วงบ่ายนี้

             สำหรับบัณฑิต เจ้าของฉายา 'กึ่งบ้า กึ่งอัจฉริยะ'  นั้น เคยถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตาม มาตรา 112 มาแล้ว โดยความผิด 2 กระทง เหตุเกิดเมื่อปี 46 จากกรณีที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.(ขณะนั้น) แจ้งความกล่าวหาเขาว่าพูดแลกเปลี่ยนในงานเสวนาและขายเอกสารที่จัดทำขึ้นเองเข้าข่ายหมิ่นฯ โดยเอกสารดังกล่าวมี 2 เรื่อง ได้แก่ สรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง) และ วรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
โดยบัณฑิต เคยถูกคุมขังรวม 98 วันในระหว่างพิจารณาคดีก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท วันที่ 23 มี.ค.49 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 4 ปี แต่เห็นว่าจำเลยอายุมากและป่วยด้วยโรคจิตเภทจึงให้รอลงอาญา 3 ปีโดยให้โอกาสบำบัดแล้วรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ต่อมาวันที่ 17 ธ.ค.50 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก 2 ปี 8 เดือนไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าจำเลยรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตนเองได้ทั้งหมด ในชั้นนี้จำเลยได้รับการประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท
และเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สั่งจำคุกโดยไม่รอลงอาญา เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาจำคุก 4 ปี รอลงอาญา 3 ปี และรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี 
นอกจากวัย 73 แล้ว บัณฑิตยังมีโรคประจำตัว คือ ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ปกติมีอาการปวดมาก โรคภูมิแพ้ และยังพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กดทับท่อไต  (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : รายงาน: เปิดชีวิต-คำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ คดี ‘บัณฑิต อานียา”)

รมว.ศึกษาระบุนักศึกษาชูสามนิ้วคงห้ามไม่ได้-แต่จะดูแลให้แสดงออกเหมาะสม


พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย กล่าวว่าจะดูแลนักศึกษาให้แสดงออกในที่เหมาะสม ไม่รับปากงานอาชีวศึกษา 28 พ.ย. นี้จะมีคนชูสามนิ้วหรือไม่ เพราะคนร่วมงานมีมาก-ต่างจิตต่างใจ ด้านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เชิญนักศึกษาร่วมแสดงความเห็นเวทีปฏิรูปของรัฐบาล เตือนอย่ายึดติดรัฐประหาร ขอให้มองปลายทางที่ดี
27 พ.ย. 2557 - เว็บไซต์ข่าวสำนักงาน รมว.ศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. รายงานว่า พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. ฝ่ายสังคมจิตวิทยา และ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการแสดงออกของนักศึกษาด้วยการชูสามนิ้วว่า กระทรวงศึกษาดูแลพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาให้เป็นไปในทางที่เหมาะสมอยู่แล้ว แต่คงจะห้ามไม่ได้ เพียงแต่ดูแลให้มีการแสดงออกในสถานที่ที่เหมาะสม
สำหรับการจัดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทยที่นายกรัฐมนตรีจะมาร่วมงานในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 นั้น ทางผู้จัดงานพยายามเตรียมการอย่างเต็มที่ ส่วนจะเกิดเหตุการณ์อีกหรือไม่ ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้เกิดความไม่เหมาะสม เพราะภายในงานมีคนจำนวนมากและต่างจิตต่างใจ ศธ.ทำได้เพียงดูแลภายนอกไม่ให้แสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสม และไม่ให้แสดงอะไรที่เป็นการฝ่าฝืนในช่วงเวลานี้เท่านั้นเอง  ทั้งนี้เชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยก็รับทราบและกำชับนักศึกษาอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่นักเรียนชั้น ม.6 รายหนึ่งจากสนามสอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และได้ถ่ายรูปข้อสอบและกระดาษคำตอบจากห้องสอบ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2557 เพื่อโพสต์แชร์ผ่าน INSTAGRAM โดยระบุชื่อและนามสกุลจริง รวมถึงเลขบัตรประจำตัวประชาชนนั้น พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องอุบัติเหตุ เป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก ซึ่งไม่มีเจตนาอะไรนอกเหนือไปจากนี้ แต่ในขณะเดียวกันอาจเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ควบคุมห้องสอบ ที่ไม่รอบคอบปล่อยให้เด็กนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องสอบได้ ซึ่งหน่วยงานจะสอบสวนถึงสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด และมีการว่ากล่าวตักเตือนเจ้าหน้าที่ควบคุมห้องสอบเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ในส่วนของมาตรการการคุมสอบ โดยปกติก็เข้มงวดอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีจำนวนเด็กเข้าสอบเป็นแสนคน และมีศูนย์สอบ 19 แห่งทั่วประเทศ อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ ซึ่งครั้งนี้ก็ผิดเฉพาะห้องสอบเดียวและเป็นเด็กเพียงรายเดียว ก็ถือว่ายอมรับได้ แต่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะจะส่งผลเสียต่อตัวเด็กเอง

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเตือนนักศึกษาอย่ายึดติดรัฐประหาร ขอให้มองปลายทาง
ขณะเดียวกันล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (27 พ.ย.) ว่า สุทธศรี วงศ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ากรณีที่รัฐบาลจัดเวทีรับฟังความเห็นในการปฏิรูปการเมืองของนักศึกษาว่า ขอให้นักศึกษาทุกคนเข้าร่วมในเวทีรับฟังความเห็นที่รัฐบาลจัดขึ้น ถือว่านักศึกษาทุกคนมีสิทธิ์ โดยกระทรวงศึกษาจะให้ความเป็นอิสระของแต่ละมหาวิทยาลัย ในการดำเนินการ หรือ สถาบันการศึกษาต่างๆ จะส่งตัวแทนนักศึกษาไปเข้าร่วมก็ได้
ยืนยันว่ากระทรวงศึกษาไม่ได้บังคับ และฝากไปยังนักศึกษาที่เคลื่อนไหวและแสดงความเห็นทางการเมืองขณะนี้ ว่า ขอให้นึกถึงความเหมาะสมและกาละเทศะ ในการแสดงออก เช่นกรณีการแสดงออกชู 3 นิ้ว ต่อหน้า นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ควรกระทำ
ทั้งนี้การที่นักศึกษาหัวรุนแรง เรียกร้อง และอ้างหลักการประชาธิปไตย และ สามารถแสดงออกทางความคิดได้ แต่ขอให้นักศึกษาทุกคน คิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งสถานการณ์การเมืองจากการรัฐประหารในขณะนี้อาจไม่ใช่ช่วงที่ดีที่สุดของประเทศ แต่ขอให้อย่ายึดติดกับกระบวนการที่มา และมองถึงจุดประสงค์และปลายทางที่ดีของสังคม ว่าจะเป็นอย่างไรดีกว่า
ทั้งนี้ในส่วนผู้กำลังคิดจะแสดงออกทางการเมือง ก็ขอให้คำนึง ว่าทำเพื่อตนเอง หรือ ทำเพื่อส่วนรวมกันแน่ ทั้งนี้เชื่อว่าประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ไม่ใช่การเอาความคิดของนักศึกษาไปแทนความคิดของคนอื่น แต่ให้นำความคิดของเราให้เข้ากับความคิดของคนอื่น

'อภิสิทธิ์' เสนอสูตร รธน. ฉบับใหม่ พร้อมยันยังรักกันดี กับ 'อลงกรณ์'

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนเข้าให้ควาามคิดเห็น
ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2557 (ภาพจาก : ข่าวรัฐสภา)
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะ กมธ.ยกร่าง อยากเห็นรธน. ที่ยั้งยืน ก้าวหน้า และจัดการปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบ พร้อมกล่าวถึงการลาออกของ 'อลงกรณ์' ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ได้มีปัญหากับพรรค ยืนยันว่ายังรักกันดี
27 พ.ย. 2557 - ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตาามที่ทางกมธ. ยกร่าง รธน. ได้เปิดช่องทางให้พรรคการเมืองและกลุ่มเคลือนไหวทางการเมืองได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยอภิสิทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนเข้าให้ข้อมูล ว่าการเข้าให้ข้อมูลครั้งนี้ถือเป็นความเห็นส่วนตัวไม่ผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยสิ่งที่ต้องการเห็นคือ รัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การปฏิรูปที่ยั่งยืน ดังนั้นจะเสนอใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ทำอย่างไรให้ รธน.มีความยั่งยืน ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการทำประชามติ 2.รธน.ไทยไม่ควรถอยหลัง ไม่ควรมีการลดทอนสิทธิ เสรีภาพหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาชนควรมีสิทธิในการเลือกผู้บริหารประเทศและกำหนดทิศทางประเทศ 3.รธน.ต้องแก้ปัญหาหลักของระบบการเมืองที่ผ่านมา ทั้งปัญหาทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายการเมือง เพิ่มกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน
พร้อมกันนี้จะให้ความเห็นต่อแนวคิดต่างๆ ที่มีผู้เสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯ เพราะตนมองว่า บางแนวคิดเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด อาทิ จะเลือกตั้งอย่างไร เราควรมองว่าจะป้องกันไม่ให้คนที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำการทุจริต คอรัปชั่นได้อย่างไรมากกว่า และเห็นว่า ควรมีการทำประชามติ เพื่อป้องกันข้อโต้แย้งจนอาจทำให้เสียเวลายกร่าง รธน.กันใหม่
อภิสิทธิ์์กล่าวด้วยว่าการตรวจสอบที่ผ่านมาไม่ได้ผลและเป็นที่มาของวิกฤตการเมือง ระบบรัฐสภา รัฐบาลต้องมีเสียงข้างมาก พรรคการเมืองต้องเป็นสถาบันที่เข้มแข็งแต่เมื่อพรรคการเมืองและนักการเมืองมีอำนาจ จะต้องถูกตรวจสอบ รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น การตรวจสอบ การถ่วงดุล ความรับผิดชอบ ต้องทันต่อเหตุการณ์ เพื่อไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการเมือง ส่วนประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี เห็นว่า ควรมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ ที่มาของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มองว่า วิธีการได้มาไม่ควรเหมือนกับฐานการได้มาซึ่ง ส.ส. เพราะการเข้ามาทำหน้าที่แตกต่างกัน 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรผ่อนปรนการประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือไม่ อภิสิทธิ์กล่าวว่า ควรผ่อนปรน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย และหากผ่อนปรนแล้วเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถประกาศใช้เป็นบางพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ คสช.ที่จะชั่งน้ำหนักระหว่างการจำกัดเสรีภาพ กับการเสียโอกาสที่จะรับฟังความเห็นของประชาชนว่าส่วนใดมีความคุ้มค่ากว่ากัน
ขณะเดียวกันอภิสิทธิ์ได้กล่าวถึงกรณีการลาออกของนายอลงกรณ์ พลบุตร ว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งนายอลงกรณ์ให้เหตุผลว่า การลาออกก็เพื่อการทำหน้าที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้อย่างอิสระและเป็นกลาง ซึ่งถือว่าตรงกับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแนวคิดไม่ส่งสมาชิกพรรคเข้าร่วมเป็น สปช. เพราะถ้าสังกัดพรรคก็จะถูกมองในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาต่อกันและยังรักกันดี ส่วนที่ว่าหลังจากที่นายอลงกรณ์ พ้นจากการทำหน้าที่ สปช. แล้วจะเข้าร่วมสังกัดพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ขอให้เป็นการตัดสินใจของนายอลงกรณ์เอง

เรียงเรียงจาก : ข่าวรัฐสภา
เอกสารประกอบการให้ความเห็นต่อคณะกรรมรัฐธรรมนูญ
ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

พล.อ.ประยุทธ์จะเปิดเวทีให้นักศึกษา-นักวิชาการส่งตัวแทนเข้ามา-แต่อย่ามาด่า คสช.


           พล.อ.ประยุทธ์ เผยฟัง 'เดช พุ่มคชา' แสดงความเห็นเรื่องปฏิรูปเข้าท่า ชี้หากจัดประชุม-ต้องคิดเรื่องแก้ไขปัญหา ไม่ใช่จัดเพื่อด่า คสช. ย้ำเรื่องนักศึกษาเคลื่อนไหว-จะไม่ลงโทษใคร และเมื่อจัดเวทีแล้วก็ขอให้ส่งตัวแทนเข้ามา อย่าให้เอาใจยาก เปิดเวทีมาแล้วก็คุยกันไป พร้อมถามพวกต่อต้าน "ความรู้สึกช้าไปหรือเปล่า" อย่ามาต่อต้านกันวันนี้เลย
คลิป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวโดยตอนหนึ่งกล่าวถึงการทำกิจกรรมของนักศึกษา
           วันนี้ (25 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี โดยตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องแนวทางเปิดเวทีให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นว่า "เท่าที่ฟังเมื่อวานมีการประชุมของสภาชุมชน ใช่ไหม ก็มีท่านที่มีหนวดเครา อะไรต่างๆ (หมายถึง เดช พุ่มคชา) ผมก็เข้ามานั่งฟังนะ ทนอยู่ ฟังหลายนาทีเหมือนกัน ดีนะ เขามีเหตุผลของเขา เขาคิดในแง่ของประชาชน แต่จะทำอย่างไรนำมาสู่การปฏิบัติให้ได้ ผมสั่งไปแล้ว บอกให้ไปรับเรื่องมาด้วย"
           "คือถ้าประชุมในสถานที่แล้ว นี่คือปัญหาแล้วจะแก้อย่างไร ไม่ใช่ประชุมแล้วด่า คสช. ด่ารัฐบาล แบบนี้ไม่ได้ มันผิด มันผิดด้วยสถานการณ์นะ แล้วก็ในเมื่อบางอย่างเราขอร้องกันแล้ว ก็ต้องขอกัน จะเห็นว่าเราไม่ได้มาลงโทษใครเด็ดขาดในเรื่องเหล่านี้เลย เห็นใจผมบ้างสิ ผมรับหมดนะ ไม่ว่าจะเป็นประชุมธรรมศาสตร์ ผมก็บอกให้ไปรับเรื่องมา ประชุมสภาประชาชน ผมก็บอกว่าให้ไปรับเรื่องมา แถมผมบอกว่าให้ไปเปิดเวทีให้นักศึกษากับนักวิชาการ ส่งตัวแทนเข้ามาแล้วเข้ามา ถ้าอย่างนี้เขามา และถ้าไม่เข้ามาก็อย่าไปเรียกข้างนอก หรือเข้ามาแล้วถูกบังคับอีกไม่ได้อีก แหมมันเอาใจยากจริงๆ โว้ย นะ ก็เปิดมาแล้วก็คุยกันไป แล้วสรุปมาเป็นเอกสารมา แต่จะมาโน้นนี้ มาว่าความรู้สึกช้าไปหรือเปล่านะ อย่ามาต่อต้านกันวันนี้เลย"

‘เจียมฯ’ นี่ก๊ากเลย หน้า 1 ‘แนวหน้า’ ลงข่าว ‘สมศักดิ์ เจียมธีระประเสริฐ’ จ้างลูกศิษย์โปรยใบปลิวต้านคสช.


โพสต์ของสมศักดิ์

Wed, 2014-11-26 12:50

           “ผมอ่านที่เขาบรรยายแล้ว หัวเราะ ก๊ากๆ ขึ้นมาทันทีจริงๆ เลยครับ” ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ ระบุ พร้อมโพสต์ภาพข่าว ‘แนวหน้า’ ที่เขียนบรรยายใต้ภาพว่า ‘สมศักดิ์ เจียมธีระประเสริฐ’ จ้างลูกศิษย์โปรยใบปลิวโจมตี คสช.
             26 พ.ย.2557 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความในเฟซบุ๊ก ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ ระบุว่า “มี มิตรสหายท่านหนึ่ง ส่งมาให้หลังไมค์นะครับ ขอบพระคุณอย่างสูง ภาพจาก หนังสือพิมพ์ "แนวหน้า" ฉบับ วันอังคาร 25 พฤศจิกายน 2557 (เหม่ ชื่อ นามสกุล ตรูออกจะดัง ดันสะกดผิดได้) ผมอ่านที่เขาบรรยายแล้ว หัวเราะ ก๊ากๆ ขึ้นมาทันทีจริงๆเลยครับ "นายสมศักดิ์ เจียมธีระประเสริฐ นักวิชาการเสื้อแดง จ้างลูกศิษย์ นำใบปลิวโจมตีคสช.มาโปรยภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ปัดโธ่ เงินทองผมยิ่งไม่ค่อยมีจะใช้ (ค่าใช้จ่ายที่ที่ผมอยู่ตอนนี้แพงมาก บุหรี่ซองละ 300 บาทคิดดู) จะมีปัญญาไป "จ้าง" ใครที่ไหนอีกฟะ”
หน้า 1 แนวหน้า  ฉบับ วันอังคาร 25 พฤศจิกายน 2557 
            ทั้งนี้ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นเมือวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา นักศึกษา 8 คน ซึ่งทำกิจกรรมโปรยใบปลิว 'คิดถึงสมเจียม' บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีข้อความ "ถึงยุคทมิฬมารจะครองเมืองด้วยควันปืน...แต่คนย่อมเป็นคน.." -จิตร ภูมิศักดิ์ โดยนำมาจากภาพ cover ของ สมศักดิ์ ซึ่งเงียบไปหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. และกลับมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา
           หลังจากที่นักศึกษากลุ่มดังกล่าวโปรยใบปลิวได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารควบคุมตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม สน.สำราญราฏษร์ เพื่อสอบสวนก่อนเซ็นรับในบันทึกการปรับทัศนคติ โดยไม่มีการดำเนินคดี แต่ถูกห้ามไม่ให้กระทำการดังกล่าวอีก หากกระทำอีกจะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป(อ่านรายละเอียด)

ไต่สวนการตาย 'ฮิโรยูกิ-ทศชัย-วสันต์' ตร.เบิกความ ระบุจากการสอบสวนถูกยิงตายโดยวิถีกระสุนมาจากฝั่งทหาร

            ไต่สวนการตาย 'ฮิโรยูกิ-ทศชัย-วสันต์' เหยื่อกระสุน 10 เม.ย. 53 พนักงานสอบสวน สน.พลับพลาไชย 1 เบิกความ ระบุจากการสอบสวน ผู้ตายเสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูง โดยมีแนววิถีกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร
            เมื่อว้นที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการคดีพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 นายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 2 และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 โดยพนักงานอัยการนำ ร.ต.อ.อริย์ธัช อธิสุรีย์มาศ พนักงานสอบสวน สน.พลับพลาไชย 1 เข้าเบิกความต่อจากนัดที่แล้ว
            ทนายญาติผู้ตายถามพยานว่า ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่มีการใช้อาวุธสงครามในการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ โดยเบิกอาวุธของราชการไปใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ทราบว่ามีการเบิกอาวุธของราชการไปใช้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นอาวุธชนิดใด ส่วนระหว่างการชุมนุมจะมีผู้ชุมนุมก่อเหตุการณ์ความวุ่นวายหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่ทราบว่ามีการชุมนุมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก โดยขยายพื้นที่การชุมนุมจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนดินสอ และสี่แยกคอกวัว
            พยานเบิกความอีกว่า ในวันที่ 10 เม.ย.2553 ทราบว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารขอคืนพื้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัวถึงถนนดินสอ ต่อมาเวลาประมาณ 20.00 น. ทราบข่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ตั้งแต่บริเวณกลางถนนดินสอและวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยพยานเห็นภาพถ่ายรถหุ้มเกราะของทหารที่กองพิสูจน์หลักฐานบันทึกไว้ขณะเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ แต่ไม่ทราบว่ามีการใช้อาวุธสงครามหรือไม่
             พยานเบิกความต่อว่า หลังเกิดเหตุ ทราบว่า มีประชาชนเสียชีวิตทั้งหมด 11 ราย และมีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บด้วย โดยทราบว่า พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ถูกสะเก็ดระเบิดเสียชีวิต และมีเจ้าหน้าที่ทหารถูกยิงบาดเจ็บ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิงและยิงมาจากทิศทางใด เนื่องจากมีการสอบสวนแยกเป็นอีกคดี แต่ตนไม่ได้ร่วมสอบสวนด้วย จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดทราบว่า นายฮิโรยูกิ นายวสันต์ และนายทศชัย เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูง โดยมีแนววิถีกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงอีกหลายราย แต่หลังการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้น สน.พลับพลาไชย 1 ส่งสำนวนไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยไม่ได้ลงความเห็นว่า ใครเป็นผู้กระทำ
            ร.ต.อ.อริย์ธัช เบิกความต่อว่า ต่อมาดีเอสไอส่งสำนวนมาให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพื่อส่งให้ สน.พลับพลาไชย 1 สอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากมีหลักฐานอ้างว่าเป็นการตายจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหารที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ บช.น.จึงตั้งคณะพนักงานสอบสวนชุดใหม่ จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ลงความเห็นว่า การตายของผู้ตายทั้ง 3 เกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ จึงสรุปสำนวนส่งอัยการ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
           ด้าน พล.ต.ต.วัลลภ ประทุมเมือง ผู้บังคับการกองโยธาธิการ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ตนได้รับมอบหมายจาก พล.ต.ท.อนุชัย เล็กบำรุง หัวหน้าคณะทำงานพนักงานสอบสวน ให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบบริหารงานสืบสวนคดีของนายฮิโรยูกิเพียงคนเดียว แต่ภายหลังดีเอสไอส่งสำนานของนายวสันต์และนายทศชัยมาให้สอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งดีเอสไอสอบสวนพยานหลักฐานไปเพิ่มเติมแล้ว สำหรับประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน คณะพนักงานสอบสวนได้เรียกพยานที่ดีเอสไอเคยสอบสวนไปแล้วและที่ยังไม่ได้สอบสวนมาสอบสวนเพิ่มเติม โดยสอบสวนพยานบุคคลทั้งสิ้น 52 ปาก ในจำนวนนี้เป็นพยานผู้กล่าวหา 2 ปาก คือน้องชายของนายฮิโรยูกิที่เดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้เป็นประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในจุดเกิดเหตุ พยานผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ พนักงานสอบสวนชุดเดิม พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีของดีเอสไอ พยานวัตถุ และพยานเอกสาร
            พล.ต.ต.วัลลภ เบิกความอีกว่า สำหรับพยานวัตถุเป็นซีดีคลิปวิดีโอ 13 รายการ รวม 15 แผ่น ส่วนพยานเอกสารเป็นรายงานการชันสูตรพลิกศพ รายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ รายงานการตรวจร่องรอยวิถีกระสุน รายงานการตรวจสารพันธุกรรม รายงานการตรวจสอบวัตถุระเบิด ภาพถ่ายของผู้ตายทั้ง 3 รวมถึงเอกสารต่างๆ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ที่นำมามอบให้พนักงานสอบสวน รวมทั้งสิ้น 33 รายการ นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการสอบสวนของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่จ้างนักสืบเอกชนเข้ามาหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตายของนายฮิโรยูกิส่งมาให้พนักงานสอบสวนด้วย
           พล.ต.ต.วัลลภ เบิกความต่อว่า ในส่วนของพยานวัตถุที่สำคัญคือคลิปวิดีโอเหตุการณ์บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งบันทึกโดยนายฮิโรยูกิ และคลิปวิดีโอที่ได้รับจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอจากกล้องของนายฮิโรยูกิที่บันทึกไว้ขณะเกิดเหตุ หลังจากรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว คณะพนักงานสอบสวนตั้งประเด็นไว้ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.สถานการณ์ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร  ผู้ตายเสียชีวิตบริเวณใดและเวลาใด จากการสอบสวนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพให้การว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่มาขอคืนพื้นที่และพื้นผิวจราจรบริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณที่เกิดเหตุให้การว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมาย
             พยานเบิกความว่า จากการรวบรวมภาพของนายฮิโรยูกิ มีภาพนิ่งที่ถ่ายโดยนายสรณคมน์ บัวพึ่งน้ำ ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จำนวน 2 ภาพ นำมามอบให้พนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นภาพหลังจากนายฮิโรยูกิถูกยิงแล้วและถูกอุ้มออกจากที่เกิดเหตุ แต่จากการสอบสวนนายสรณคมน์ก็ได้ภาพขณะนายฮิโรยูกิกำลังทำข่าวการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บริเวณต่างๆ เพิ่มมาอีก 8 ภาพ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลา 15.20-21.10 น. และในการสอบสวนนายไพบูลย์ น้อยเพ็ง ผู้ชุมนุม นปช. ได้นำคลิปวิดีโอขณะนายฮิโรยูกิกำลังบันทึกเหตุการณ์การชุมนุมบริเวณจุดเกิดเหตุหน้าโรงเรียนสตรีวิทยามาประกอบคำให้การด้วย โดยในคลิปมีภาพของนายไพบูลย์ นายฮิโรยูกิ และนายวสันต์
            พยานเบิกความอีกว่า สำหรับประเด็นแรกที่ตั้งประเด็นว่า ผู้ตายเสียชีวิตบริเวณใดและเวลาใด สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า นายฮิโรยูกิเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ถ่ายภาพเหตุการณ์อยู่บิรเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ส่วนประเด็นที่ 2 ใครเป็นผู้ทำให้ผู้ตายทั้ง 3 ถึงแก่ความตาย จากการสอบสวนไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่า ใครเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้ง 3 คน แต่มีพยานที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ คนแรกคือนายไพบูลย์ให้การยืนยันว่า อยู่ห่างจากนายฮิโรยูกิประมาณ 3 เมตร และเห็นผู้ตายถูกยิงล้มลง พร้อมนำคลิปวิดีโอประกอบคำให้การ
            พล.ต.ต.วัลลภ เบิกความต่อว่า คนที่ 2 คือนายอุดร วรรณสิงห์ ผู้ชุมนุม นปช. ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุอยู่ห่างจากนายฮิโรยูกิประมาณ 5 เมตร และเห็นผู้ตายถูกยิงล้มลง คนที่ 3 คือ ด.ต.ชาตรี อุสารัมย์ ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุอยู่ห่างจากนายฮิโรยูกิประมาณ 1 เมตร และเห็นผู้ตายถูกยิงล้มลง จึงเข้าไปช่วยเหลือและมีคราบโลหิตของนายฮิโรยูกิติดอยู่ที่กางเกงของ ด.ต.ชาตรี จากการส่งชิ้นส่วนจากกางเกงที่มีคราบเลือดไปตรวจสอบ พบว่าเป็นคราบโลหิตของนายฮิโรยูกิจริง  ซึ่งพยานทั้ง 3 ปาก เป็นพยานใกล้ชิดเหตุการณ์ให้การยืนยันว่า ในขณะที่นายฮิโรยูกิถูกยิงล้มลงนั้น มีแสงไฟและเสียงปืนมาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่
            พล.ต.ต.วัลลภ เบิกความเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีพยานแวดล้อมอื่นๆ แต่อยู่ห่างจากผู้ตายออกมา คือนายดำเนิน ยาท้วม ให้การ่วา เห็นเหตุการณ์ขณะที่นายวสันต์ถูกยิง โดยได้ยินเสียงปืนและเห็นแสงไฟมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ส่วนนายเพชรพงษ์ พงษ์สิทธิศักดิ์ นายณัชพงศ์ โพธิยะ นายควญคิต เชียงศิริ และพ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรักษ์ ไม่เห็นนายฮิโรยูกิและนายวสันต์ในขณะถูกยิง ยกเว้นนายณัชพงศ์ให้การว่า เห็นนายทศชัยถูกยิง โดยพยานแวดล้อมทั้งหมดให้การสอดคล้องกันว่า ขณะผู้ตายที่ 1-3 ถูกยิง มีเสียงปืนและแสงไฟมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจาก พล.ต.วัลลภ ยังเบิกความไม่เสร็จสิ้น ศาลจึงนัดไต่สวนพยานปากนี้ครั้งต่อไปในวันที่ 28 พ.ย. เวลา 09.00 น.

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดี 10 เอ็นจีโอปีนสภา สนช.2550

จอน อึ๊งภากรณ์ แถลงหลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีปีนสภา สนช.2550
            ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง 'จอน อึ๊งภากรณ์' กับพวก คดีปีนสภาค้านการออก กม.ที่ของ สนช.ปี 50 ชี้ ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุม 10 คนขึ้นไป - ไม่เป็นการบุกรุก เจ้าตัวย้ำ กม.ที่กระทบ ปชช.ต้องออกโดยสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
            26 พ.ย. 2557 เมื่อเวลา 10.45 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 611 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง คดีที่พนักงานอัยการฟ้อง นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย ฐานยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย จากกรณีปีนเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

โดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัย 3 ประเด็น
  • 1. ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุม 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวาย ชี้เมื่อพิเคราะห์มูลเหตุแห่งคดี จำเลยกระทำการเพื่อคัดค้าน สนช.ว่าไม่ควรเร่งออกกฎหมาย และให้รอสภาจากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่ เมื่อมีการยกเลิกประชุม สนช. ไปแล้ว จำเลยและผู้ชุมนุมก็ออกจากสภาไป โดยไม่ได้ทำให้รัฐสภาเสียหาย จึงขาดเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวาย
  •  2. เมื่อไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุม 10 คนขึ้นไป ความผิดฐานเป็นหัวหน้าชุมนุม จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีก 
  •  3. ไม่เป็นการบุกรุก เพราะความผิดนี้ต้องมีเจตนาเพื่อรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อวินิจฉัยแล้วว่า ผู้ชุมนุม-จำเลย ไม่ได้เข้าไปเพื่อถือการครอบครองหรือรบกวนอสังหาริมทรัยพ์ แต่เพื่อแสดงจุดยืนค้านการออกกฎหมายต่อ สนช. โดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงขาดเจตนาฐานบุกรุก

          ก่อนหน้านี้ (28 มี.ค. 2556) ศาลอาญาตัดสินว่าจำเลยมีความผิดฐานชุมนุมมั่วสุม บุกรุก ใช้กำลังประทุษร้าย ส่วนข้อหากบฏ ล้มล้างขัดขืนไม่ให้มีการออกกฎหมายนั้นให้ยกฟ้อง ตัดสินให้ลงโทษ จำเลยที่ 1-4, 7, 8 ซึ่งถือเป็นผู้นำการชุมนุม จำคุก 2 ปี ปรับ 9,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5, 6, 9, 10 จำคุก 1 ปี ปรับ 9,000 บาท แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เป็นเหตุให้ลดโทษ จำเลยที่ 1-4, 7, 8 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยที่ 5, 6, 9, 10 ลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท และเนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและการกระทำการครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ให้รอการลงโทษ 2 ปี
            จอน อึ๊งภากรณ์ จำเลยที่หนึ่ง กล่าวว่า ดีใจที่ศาลอุทธรณ์เข้าใจจุดมุ่งหมายของประชาชนที่อยากให้กฎหมายที่จะกระทบประชาชนควรเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง อยากฝากถึง สนช.ด้วยว่า สภาที่มาจากการแต่งตั้งไม่ควรออกกฎหมายที่กระทบกับเสรีภาพประชาชน 
 
            เมื่อถามว่าหากมีการกระทำเช่นนี้อีกจะใช้คำพิพากษาคดีนี้เป็นบรรทัดฐานได้หรือไม่ จอนตอบว่า ต้องดูบริบทว่าเป็นอย่างไร เป็นการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภาอาจมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่เปิดให้ทำเช่นนี้ได้อีก นอกจากนี้ สนช.ปัจจุบันก็กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ชุมนุม ที่เสนอโดย สตช. ซึ่งจะมีการกำหนดห้ามการชุมนุมบริเวณรัฐสภา ซึ่งน่าเป็นห่วง
 
           สาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่สองกล่าวว่า การตัดสินวันนี้เป็นการยืนยันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก และทำให้เห็นบรรทัดฐานว่าประชาชนต้องมีช่องทางในการแสดงออก หากประชาชนถูกกดหัวไม่ให้เคลื่อนไหว จะเป็นอันตรายต่อประเทศและเสถียรภาพของรัฐบาล 
 
           สาวิทย์ กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลใดๆ เมื่อประชาชนเห็นพ้องกับการปฏิรูปแล้ว รัฐบาลก็ควรเปิดใจกว้าง เปิดเวทีฟังเสียงคนเล็กคนน้อย หาพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออก ไม่ใช่ใครออกมาตำหนิก็กล่าวหาว่าเป็นการบ่อนทำลาย รัฐเองก็มีกลไก-สายข่าว ที่รู้เจตนาของแต่ละคนอยู่แล้ว ย้ำว่าบ้านเมืองจะสงบ รัฐบาลต้องฟังและให้สิทธิ ไม่ใช่ใช้แต่อำนาจ
 
            หนึ่งในทนายความจำเลย กล่าวว่า นี่เป็นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เปิดแนวใหม่ เนื่องจากเมื่อก่อน ศาลจะดูแต่กฎหมายอาญาอย่างเดียว เวลาที่มีการฟ้องจำเลยข้อหาเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง แต่ครั้งนี้ศาลชี้ว่า ต้องดูให้ลึกว่าเจตนาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
 ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 10 คนในคดีนี้ ประกอบด้วย
  •  จำเลยที่ 1 จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
  • จำเลยที่ 2 สาวิทย์ แก้วหวาน แกนนำสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
  • จำเลยที่ 3 ศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรฯ
  • จำเลยที่ 4 พิชิต ไชยมงคล อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่
  • จำเลยที่ 5 อนิรุทธ์ ขาวสนิท เกษตรกรนักเคลื่อนไหว
  • จำเลยที่ 6 นัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าสำนักงานพรรคการเมืองใหม่
  • จำเลยที่ 7 อำนาจ พละมี รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
  • จำเลยที่ 8 ไพโรจน์ พลเพชร ปัจจุบันเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ขณะเกิดเหตุเป็นรองประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อดีตเคยเป็นประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  • จำเลยที่ 9 สารี อ๋องสมหวัง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเพื่อผู้บริโภค ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
  • จำเลยที่ 10 สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กสทช.

ศาลฎีกาสั่งปรับ 'พระเกษม' 2 พัน ฐานดูหมิ่นฯ ศาสนวัตถุ หลังใช้มือตบพุทธชินราชจำลอง

             ศาลฎีกาสั่งปรับ ‘พระเกษม อาจิณณสีโล’ 2,000 บาท ในคดีความผิดดูหมิ่นเหยียดหยามต่อศาสนวัตถุ หลังใช้มือตบพุทธชินราชจำลอง เจ้าตัวยันไม่ผิดวินัย หนุนตรวจสอบทรัพย์สินพระ เผยพระก่อนบวชยากจนบวชเสร็จแล้วร่ำรวยเยอะแยะ
             เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงาน ว่า ที่ศาลจังหวัดหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้พิพากษาได้นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.สำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นผู้เสียหายแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.น้ำหนาว ให้ดำเนินคดีกับ พระเกษม อาจิณณสีโล แห่งที่พักสงฆ์สามแยก บ้านห้วยยางทอง ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ในข้อหาดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนวัตถุ ช่วงปลาย ก.ค. 51 และศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 53 ให้ยกฟ้อง ต่อมาอัยการจังหวัดหล่มสักอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาวันที่ 13 มี.ค.  55 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี จำเลยยื่นฎีกา
            ผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ว่า ที่จำเลยยื่นฎีกาต่อสู้ว่า ผอ.สำนักพุทธ ไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องเข้าเป็นโจทก์นั้น และศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยโดยไม่ต้องส่งกลับไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำความผิดของจำเลยนั้นเป็นคดีอาญาแผ่นดิน เมื่อมีผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วก็สามารถดำเนินคดีกับจำเลยได้ ประเด็นที่จำเลยนำป้ายข้อความ “ทองเหลืองหล่อนี้ ไม่ใช่พุทธเจ้าแน่ ไม่ต้องกราบมัน” และการใช้มือตบพระพักตร์องค์พระพุทธชินราชจำลองนั้น ถือเป็นความผิดที่กระทำการดูหมิ่นเหยียดหยามต่อศาสนวัตถุ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ใครก็ยอมรับว่าพุทธรูปเป็นตัวแทนของพุทธเจ้าที่พุทธศาสนิกชนใช้กราบไหว้ แม้จำเลยต่อสู้ว่าเป็นการเผยแพร่พุทธศาสนานั้น จำเลยสามารถทำได้แต่ต้องไม่กระทำละเมิดต่อกฎหมาย ส่วนการลงโทษจำคุกและรอลงอาญาของศาลอุทธรณ์นั้นรุนแรงเกินไป
            ทั้งนี้ จำเลยมีความมุ่งมั่นศึกษาในพระธรรมวินัยในพุทธศาสนา จึงพิพากษาให้ไม่ลงโทษจำคุกและรอลงอาญาจำเลย และให้ลงโทษปรับกระทงละ 2,000 บาท จำนวนสองกระทง รวม 4,000 บาท การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดค่าปรับให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือให้จำเลยจ่ายค่าปรับ 2,000 บาท
            อย่างไรก็ตาม ภายหลังฟังคำพิพากษา พระเกษม กล่าวว่า ได้ชำระค่าปรับไว้ที่ศาลอุทธรณ์ จำนวน 20,000 บาทไปแล้วนั้น เมื่อหักค่าปรับตามคำพิพากษาศาลฎีกา จำนวน 2,000 บาท ทำให้ต้องรับเงินคืนจำนวน 18,000 บาทนั้น ไม่สามารถเซ็นชื่อรับเงินคืนได้เพราะเป็นพระ คงจะต้องปล่อยให้ครบ 5 ปี และตกเป็นของหลวงไป ในวันนี้ถือเป็นที่สุดแล้ว โทษจำคุกไม่มี แต่มีความผิดเพราะไปกวนรูปปั้นเขาจึงต้องโดนปรับตามเรื่องของโลก แต่ทางธรรมไม่ผิด
            พระเกษม กล่าวด้วยว่า กระแสโลกให้เราผิดก็จริง แต่ตนเองไม่เคยผิดวินัยและไม่ควรผิด พวกผิดวินัยเต็มบ้านเต็มเมืองก็คือพวกเถรสมาคม มีเงินเยอะก็ผิดเยอะ และเห็นด้วยว่าควรให้ตรวจสอบทรัพย์สินพระ บรรดาผู้ไปคัดค้านก็ถือว่าผิดวินัย ส่วนตัวแล้วพร้อมให้ตรวจสอบ พวกพระที่ก่อนบวชยากจนบวชเสร็จแล้วร่ำรวยเยอะแยะ ใครกล้าไหมพวกที่ไปตรวจสอบพระเหล่านี้ พอไปตรวจสอบพระเอาเงินยัดให้ก็รับเงินแล้วเดินออกจากวัดจบกันไป ขอให้คอยดูช็อตต่อไป จะมีอะไรเด็ดกว่านี้อีกเยอะ และขอเรียกร้องให้มีการจัดตั้งศาลสงฆ์ พระผู้ใหญ่กล้ากันหรือไม่ ตนพร้อมเป็นจำเลยในศาลสงฆ์

ตร.-ทหารจู่โจมรวบหนุ่มใหญ่คาบ้านพัก หลังโปรยใบปลิวต้านคสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ภาพใบปลิวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
           ทหาร-ตำรวจบุกจูโจมรวบหนุ่มใหญ่ โปรยใบปลิวต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยันทำด้วยอุดมการณ์ ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง เผยเคยร่วมชุมนุมกับ นปช.มาก่อน และชอบไปชุมนุมกับ กปปส. เพื่อหาข่าว จนท.แจงคุมตัวตามกฎอัยการศึก เตรียมสอบสวน ดำเนินคดีและอาจจะต้องขึ้นศาลทหาร
           เช้ามืดวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ปรากฏใบปลิวที่มีข้อความโจมตี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาโปรยที่ถนนราชดำเนิน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้เก็บใบปลิวดังกล่าวมาหมดแล้ว ซึ่งมีข้อความอาทิเช่น ยกเลิกอัยการศึก , หยุดคุกคามประชาชน , อำนาจเป็นของประชาชน และ เสรีภาพ Freedom เป็นต้น
            โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและติดตาม รวมถึงต้องตรวจสอบว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังหรือไม่ ซึ่งหากใครทำผิดก็จะต้องดำเนินการต่อไป
          ล่าสุด ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. วันที่ 25 พ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล และ ทหารจาก กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป.1รอ.) นำโดย พ.อ.คชาชาต บุญดี ผบ.ป.1รอ. ได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ขอเข้าควบคุมตัว นายสิทธิทัศน์ เหล่าวานิชธนาภา อายุ 54 ปี ผู้ต้องสงสัย ว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการแจกใบปลิวต้าน คสช. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อสอบสวน
         พ.อ.คชาชาต เผยว่า จากการตรวจค้นบ้าน นายสิทธิทัศน์ พบใบปลิว อุปกรณ์การพิมพ์ หลักฐานทั้งหมด เสื้อผ้าลายพราง และเสื้อยืด ที่มีข้อความต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง ส่งผลให้นาย สิทธิทัศน์ จำนนด้วยหลักฐานและให้เหตุผลว่า ทำด้วยอุดมการณ์ ทำคนเดียว ไม่มีใครเกี่ยวข้อง หรืออยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้ ทหารได้ขอตรวจสอบ ภาพจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่ของ สน.สำราญราษฎร์ จนพบเบาะแสว่า มีรถจักรยานยนต์ไปรับใบปลิวจากรถยนต์ เมอร์เซเดส เบนซ์ แต่ภาพไกล เห็นแผ่นป้ายทะเบียนไม่ชัด ซึ่งทหารก็ได้พยายามตรวจสอบ และหาข่าวร่วมกับตำรวจ จนที่สุดได้เบาะแส จึงจู่โจมเข้าควบคุมตัวนายสิทธิทัศน์ ที่บ้านพัก โดยตอนนี้ นายสิทธิทัศน์ ถูกควบคุมตัว ด้วยอำนาจกฎอัยการศึก ในเขตทหาร เพื่อสอบสวน ดำเนินคดี และอาจจะต้องขึ้นศาลทหาร
            ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และ ป.วิอาญา ม.92(4) ร่วมกันนำตัว นายสิทธิทัศน์ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นบ้านพักเลขที่ 18 ซ.พหลโยธิน 48 แยก 16-1 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กทม. ผลการตรวจค้น ปรากฏหลักฐาน เป็นเครื่องถ่ายเอกสารยี่ห้อเอชพี 1 เครื่อง, ปากกาเมจิกสีดำยี่ห้อตราม้า 1 ด้าม, มีดคัตเตอร์ 1 เล่ม, ไม้บรรทัดยาว 1 อัน, ตลับหมึกพรินเตอร์ 1 กล่อง, เสื้อยืดลายพรางทหาร 1 ตัว, เสื้อยืดคอกลมสีดำสกรีนข้อความ "เสรีชนคนราชดำเนิน" 1 ตัว, เสื้อยืดกลมสีดำสกรีนรูปนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ข้อความ "ภูผาขวางกั้นอธรรม" 1 ตัว, หมวกปีกลายพรางทหาร 1 ใบ, หมวกแก๊ปลายพรางทหาร 1 ใบ, เข็มขัดสีดำพร้อมซองปืนและซองกุญแจมือ 1 ชุด, ห่วงขาผ้า 1 คู่, กระดาษขนาด A4 ยี่ห้อโอเค 1 รีม,  แผ่นสติกเกอร์ข้อความ "รถคันนี้สีแดง" 1 แผ่น และ รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ รุ่น C200 หมายเลขทะเบียน 1 กม 200 กทม.
ภาพขณะเข้าจับกุม ที่มาเฟซบุ๊ก วาสนา นาน่วม
           จากการสอบสวน นายสิทธิทัศน์ ได้ให้การยอมรับว่า เมื่อ 22 พ.ย.57 เวลาประมาณ 19.00 น. ได้เริ่มเขียนใบปลิวโจมตี คสช. ปรากฏตามหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ได้ทำการตรวจยึด โดยเป็นผู้ผลิตใบปลิวโจมตี คสช.เองทั้งหมด และพิมพ์สำเนาเสร็จเมื่อ 23 พ.ย.57 เวลาประมาณ 03.00 จากนั้นได้ทำการนัดพบกับ นายวชิระ ทองสุข หรือ บอย ภายใน ซ.สำราญราษฎร์ เขตพระนคร ซึ่งได้ถ่ายถุงใส่ใบปลิวจากท้ายรถเบนซ์รุ่น C200 สีดำ หมายเลขทะเบียน 1 กม 200 กทม. ใส่รถจยย.ของนายวชิระ โดยนายวชิระ อาสาเป็นผู้ขับขี่ จยย.ยี่ห้อฮอนด้าเวฟ นำใบปลิวดังกล่าวไปโปรยบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 23 พ.ย.57 เวลาประมาณ 05.00 น. หลังจากนั้นได้แยกย้ายกันหลบหนี กระทั่งถูกจับกุม ส่วนเสื้อที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของ กปปส.นั้น นายสิทธิทัศน์ อ้างว่า ชอบไปชุมนุม เพื่อหาข่าว จึงมีเสื้อ
            ผู้จัดการออนไลน์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นายสิทธิทัศน์ ระบุถึงสาเหตุการโรยใบปลิวดังกว่า เนื่องจากตนเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.มาก่อนตั้งแต่ปี 2553 จากนั้นเมื่อมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ก็ได้มาสังเกตการณ์ด้วย จนกระทั่ง คสช.ยึดอำนาจ ตนรู้สึกว่าถูกปิดกั้นสิทธิจึงอยากแสดงออกอะไรบางอย่าง และไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลัง

มท.1 แจงเหตุระงับเลือกตั้งอปท. กันขัดแย้ง ‘พล.อ.ประวิตร’ เป็น ปธ.ศึกษาแนวทางคัดเลือกแทน

Wed, 2014-11-26 19:06

              พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เผยกรณี ครม.มีคำสั่งระงับการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง พร้อมมอบหมายให้ ‘พล.อ.ประวิตร’ เป็นประธานศึกษาแนวทางการคัดเลือก
             หลังจากที่วานนี้(25 พ.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวถึงการสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม. ครั้งที่ 11/2557 โดยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)จะมีการหมดวาระ และจะมีการเลือกตั้งประมาณต้นปี 2558 ประมาณ 1,000 กว่าตำแหน่ง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พร้อมที่ใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ให้ผู้ที่หมดวาระดำรงตำแหน่งลงนี้รักษาการตำแหน่งเดิมต่อไป จะไม่คัดสรรเอาคนนอกเข้าไปทำหน้าที่ เหมือนที่เคยมีคำสั่ง คสช. ออกมาก่อนหน้านี้เพราะเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง
            ล่าสุดวันนี้(26 พ.ย.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ระงับการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่จะหมดวาระลงกว่า 1,000 ตำแหน่ง ว่า นายกรัฐมนตรีเกรงว่าอาจจะมีปัญหาในการคัดเลือก เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จึงมีมติให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเดิม รักษาการไปก่อน พร้อมมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานศึกษาแนวทางการคัดเลือก เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
             ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้แบ่งพื้นที่ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามงานตามนโยบายของรัฐบาล ว่า รัฐบาลดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และพล.อ.ประวิตรให้ความสำคัญญมาก ติดตามงานด้านความมั่นคงโดยยึดข้อมูลของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทยดูแลพื้นที่ ถือเป็นนโยบายที่ดีและเชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมติดตามงานและประสานข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทยอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

ม.เที่ยงคืนแถลง ชวนสังคมกดดันเลิกอัยการศึก-คำสั่งคุกคามเสรีภาพของ คสช.


Wed, 2014-11-26 15:34

26 พ.ย. 2557 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์เรื่อง ร่วมกันหยุดยั้งการคุกคามเสรีภาพประชาชน ระบุขอเรียกร้องต่อสังคม ให้ทุกกลุ่มทุกองค์กรในภาคสังคมร่วมกันแสดงความคิดเห็นและร่วมกันกดดันเพื่อให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกและคำสั่งของ คสช. ที่ปิดกั้นและคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขอยืนยันว่าการร่วมกันปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะมีความเห็นตรงกันหรือแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับการนำสังคมไทยให้เดินไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่เอื้ออำนวยให้รัฐและสังคมไทยสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างสันติและเป็นธรรม
รายละเอียดมีดังนี้
แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง ร่วมกันหยุดยั้งการคุกคามเสรีภาพประชาชน

             เนื่องด้วยในห้วงเวลาปัจจุบันได้มีการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและคำสั่งของคณะ คสช. รวมทั้งอำนาจของกลไกรัฐในการคุกคามประชาชนที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ โดยมีการคุกคามอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาการผลักดันผู้คนออกจากพื้นที่ป่า การรณรงค์ให้มีการออกกฎหมายที่ดิน การแสดงความคิดเห็นในเชิงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร การจัดรายการทางโทรทัศน์เพื่อแสดงความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาล การประชุมทางวิชาการเพื่อถกเถียงเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมและการปฏิรูปประเทศ ฯลฯ

            การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติและสังคมไทยดังกล่าวข้างต้นนี้ต้องเผชิญกับมาตรการต่างๆ นับตั้งแต่การขอความร่วมมือ การควบคุมตัว การเรียกตัวไปเพื่อปรับทัศนคติ และการดำเนินการด้วยกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการใช้วาทกรรมใดก็ตามล้วนแต่คุกคามและบ่อนทำลายสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในสังคมอย่างรุนแรงทั้งสิ้น

           ในสถานการณ์ปัจจุบัน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะภารกิจด้านต่างๆ ขององค์กรของรัฐที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายของรัฐบาล การเสนอและพิจารณาร่างกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตลอดจนการพิจารณาแนวทางในการปฏิรูปประเทศของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างกว้างขวาง ทั้งผลในด้านลบและด้านบวกต่อประชาชนในหลากหลายมิติ และยังมีผลผูกพันต่อไปในอนาคตอีกด้วย

           ดังนั้น จึงเป็นความชอบธรรมของประชาชนแต่ละกลุ่มในการแสดงความคิดเห็น เพื่อสะท้อนให้ผู้กุมอำนาจรัฐในองค์กรต่างๆ ตระหนักถึงความต้องการและผลกระทบที่ประชาชนแต่ละกลุ่มจะได้รับ รวมทั้งผลกระทบต่อสังคมไทยโดยรวมและต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การแสดงความเห็นหรือการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านหรือผลักดันให้กฎหมายหรือนโยบายหรือโครงการต่างๆ ดำเนินไปในทิศทางที่ตนเองปรารถนาจึงนับเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน อันจะนำไปสู่การถกเถียงแลกเปลี่ยนทั้งข้อมูลและความคิดเห็นที่จะช่วยให้การตัดสินใจของคณะบุคคลในองค์กรต่างๆ ของรัฐทุกองค์กรเป็นไปอย่างรอบคอบ เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

            ความพยายามในการคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ด้วยการอ้างเหตุผลว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือการขอให้ทุกฝ่ายรอคอยให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติเสียก่อนนั้น นอกจากจะไม่เอื้อให้เกิดความเข้าใจที่รอบด้านและการตัดสินใจที่รอบคอบต่อประเด็นต่างๆ แล้ว ยังอาจกลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคณะรัฐประหารและองค์กรที่คณะรัฐประหารจัดตั้งขึ้นได้พ้นจากอำนาจไปแล้ว เพราะการจับกุมหรือควบคุมตัวเป็นการยุติการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่เห็นต่างได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และจะไม่สามารถสร้างความเห็นพ้องต่อการดำเนินการใดๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
           ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นและถกเถียงกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง ย่อมจะบังเกิดผลดีทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว ต่างจากการปิดกั้นเสรีภาพด้วยกฎอัยการศึกและคำสั่งของ คสช. ที่เป็นการกดทับความเห็นต่างเอาไว้ และจะสร้างแรงกดดันจนกลายเป็นระเบิดเวลาที่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือความเสียหายร้ายแรงในอนาคต

           มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอเรียกร้องต่อสังคม ให้ทุกกลุ่มทุกองค์กรในภาคสังคมร่วมกันแสดงความคิดเห็นและร่วมกันกดดันเพื่อให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกและคำสั่งของ คสช. ที่ปิดกั้นและคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขอยืนยันว่าการร่วมกันปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะมีความเห็นตรงกันหรือแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับการนำสังคมไทยให้เดินไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่เอื้ออำนวยให้รัฐและสังคมไทยสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างสันติและเป็นธรรม


      มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

      24 พฤศจิกายน 2557