วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อีสต์เอเชียฟอรั่มวิเคราะห์การเดินสายเยือนประเทศต่างๆ ของ 'ประยุทธ์'


เว็บไซต์ที่วิเคราะห์ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับเอเชียตะวันออก ชี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เยือนกัมพูชา เพื่อหาความชอบธรรมทางการทูต ทดแทนที่ถูกกีดกันจากประเทศตะวันตก โดยทั้งสองประเทศมีการรักษาท่าทีไม่แตะต้องในเรื่องอ่อนไหว
1 ธ.ค. 2557 เชียง วัณณาริธ จากมหาวิทยาลัยลีดส์เขียนบทความลงเว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรั่มเผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะตัวแทนรัฐบาลทหารของไทยเพื่อพยายามสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองทางการทูตในขณะที่ผู้นำเผด็จการของไทยกำลังถูกกดดันทางการทูตจากสหรัฐฯ และยุโรปให้รีบคืนประชาธิปไตยให้ประเทศไทย
บทวิเคราะห์ในอีสต์เอเชียฟอรั่มเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ระบุว่าประยุทธ์สนใจผลประโยชน์ในด้านความชอบธรรม ความมั่นคง และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ รวมถึงต้องการสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในขณะที่มีความกดดันจากชาติตะวันตก ทำให้ประยุทธ์ต้องดำเนินนโยบายการต่างประเทศในเชิงสร้างความมั่นใจให้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยยกตัวอย่างการไปเยือนกัมพูชาล่าสุด
แม้ว่าหลังจากการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 ผู้นำทหารให้สัญญาว่าจะมีการปฏิรูปและทำให้เกิดความปรองดองในชาติแต่หลายคนก็สงสัยว่ารัฐบาลเผด็จการทหารจะทำตามสัญญาในเวลาอีกไม่นานจริงอย่างที่พูดหรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ว่าทหารอาจจะยังยึดครองอำนาจเอาไว้อีกสองสามปี ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็อาจจะเกิดความวุ่นวายตามมา
อีสต์เอเชียฟอรั่มระบุอีกว่า การไปเยือนประเทศกัมพูชามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์แต่ก็มีความยุ่งยากเพราะฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเคยแสดงความเป็นมิตรกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงก่อนหน้านี้ในเดือน มิ.ย. เคยมีการขับไล่ผู้อพยพจากกัมพูชาและบางส่วนก็หนีกลับประเทศเพราะกลัวว่าจะเกิดความรุนแรง แต่ทางการกัมพูชาก็ดูเหมือนจะประนีประนอมกับผู้นำเผด็จการทหารไทยในฉากหน้า จากการที่ฮุนเซนเคยประกาศอ้างหลายครั้งว่าทางการกัมพูชาจะไม่ยอมให้มีกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณอยู่ในประเทศตน อีกทั้งสองประเทศยังคงมีการพบปะทางการทูตทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม อีสต์เอเชียฟอรั่มตั้งข้อสังเกตว่าผู้นำไทยและกัมพูชาต่างก็ไม่แตะต้องเรื่องที่อ่อนไหวภายในประเทศของกันและกันเช่นเรื่องข้อพิพาทพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่ทางทะเล ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและแนวคิดแบบชาตินิยมยังคงส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา
อีกประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญต่อรัฐบาลประยุทธ์ในการสร้างความชอบธรรมด้วยวิธีทางการทูตคือประเทศพม่า โดยก่อนหน้านี้มีการหารือกันหลายเรื่องรวมถึงเรื่องผู้อพยพซึ่งในไทยมีแรงงายอพยพชาวพม่าจำนวนมากทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย
รัฐบาลประยุทธ์ยังเห็นว่าประเทศจีนเป็นประเทศสำคัญทางยุทธศาสตร์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นการรับมือกับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้ยังเคยพบปะกับจีนเพื่อความร่วมมือทางทหารหลังจากการรัฐประหารไม่นาน นอกจากนี้ในที่ประชุมเอเชียยุโรปซัมมิทประยุทธ์ยังเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีจีนเพื่อพูดคุยในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเรื่องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองชาติ
อีสต์เอเชียฟอรั่มระบุว่าประเทศไทยกำลังพยายามตีตัวออกห่างจากพันธมิตรดั้งเดิมอย่างสหรัฐฯ กันไปร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับจีนและประเทศเพื่อนบ้านซึ่งในทางเดียวกันก็ทำให้จีนมีโอกาสเสริมความสัมพันธ์กับไทยและประเทศในแถบลุ่มน้ำโขงมากขึ้น

เรียบเรียงจาก
Thailand’s Cambodian charm offensive, East Asia Forum, 29-11-2014
http://www.eastasiaforum.org/2014/11/29/thailands-cambodian-charm-offensive/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น