เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงแสดงจุดยืนไม่เข้าร่วมเวทีให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ชี้แค่พิธีกรรม หวั่นจัดที่สโมสรทหารบก ส่งผลบรรยากาศการเข้าร่วม-แสดงออกไม่มีเสรีภาพ ด้านโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ชี้การประชุมไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นไปตามกฎหมายไทย
6 ม.ค. 2558 กรณีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย จะดำเนินการให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงของ สปป. ลาว ในวันที่ 7 ม.ค. ที่ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงออกจดหมายเปิดผนึกแสดงจุดยืนไม่เข้าร่วมเวทีดังกล่าว ชี้เป็นแค่พิธีกรรม อีกทั้งการจัดที่สโมสรทหารบกยังเป็นการตอกย้ำว่า กรมทรัพยากรน้ำปราศจากความจริงใจและไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยในฐานะผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ และทำให้บรรยากาศในการเข้าร่วมและแสดงออกไม่สามารถเป็นไปได้อย่างมีเสรีภาพ นอกจากนี้ เสนอให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกระบวนการปรึกษาหารือออกไปอีกมากกว่า 6 เดือน เพื่อให้เพียงพอที่จะดำเนินการให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านในการประกอบการตัดสินใจ
ด้านโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เขียนจดหมายถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำเนาถึงอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ระบุจะไม่เข้าร่วมการประชุมในวันพรุ่งนี้เช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าการประชุมดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมายของประเทศไทย นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย และประชาชนไทยควรปกป้องมิให้เกิดโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบและละเมิดสิทธิในทรัพยากรและการดำรงชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่อาศัยในลุ่มแม่น้ำโขง
รายละเอียด มีดังนี้
รายละเอียด มีดังนี้
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง 5 มกราคม 2558
ตามที่ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ประกาศดำเนินโครงการเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสักทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง และได้นำโครงการนี้เข้าสู่กระบวน PNPCA ซึ่งจะต้องมีการดำเนินกระบวนปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) ในแต่ละประเทศ ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งต่อมา คณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ ได้ตกลงเริ่มในปลายเดือนกันยายน 2557 และจะสิ้นสุดระยะเวลา 6 เดือนในเดือนมกราคม 2558
ในเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2557 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้ดำเนินการ “ให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง” ใน 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครพนม เชียงราย หนองคาย และ เลย ตามลำดับ และในวันที่ 7 มกราคม ศกนี้ กำหนดจะจัดเวที ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพมหานคร
เครือข่าย ประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ติดตามกระบวนการดังกล่าวมาอย่างใกล้ชิด และเคยมีจดหมายไปยังกรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินกระบวนการอย่างมีส่วนร่วม โปร่งใส ทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่พึ่งพาทรัพยากร แม่น้ำโขงในการดำรงชีพ มิใช่เพียงจัดให้แล้วเสร็จไปโดยเร็ว หรือเป็นเพียงเครื่องมือของอุตสาหกรรมเขื่อนและกลุ่มทุน
อย่างไรก็ตาม พบว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ของเครือข่ายฯ ไม่ได้นำมาปฏิบัติแต่อย่างใด เวทีที่จัดทั้ง 5 ครั้ง เป็นเพียงการบอกกล่าว “ให้ข้อมูลโครงการ” แต่ถึงกระนั้นผู้จัดก็ยังไม่สามารถให้ข้อมูลผลกระทบอย่างกระจ่างชัด โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้น ไม่สามารถตอบคำถามข้อกังวลของชาวบ้านได้ และไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้เชื่อว่า กระบวนการนี้จะนำไปเป็นพื้นฐานในการพิจารณาและตัดสินใจในโครงการเขื่อนที่จะ สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงซึ่งเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าของ ภูมิภาค
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่า “ประชาชนในลุ่มน้ำโขง คนที่อาศัยริมโขง เราได้แสดงจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่เอาเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนตอนบนในจีน หรือเขื่อนตอนล่าง การจัดเวทีง่ายๆ เชิญคนไม่กี่คนมานั่งฟัง ไม่มีรายงานผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่ดูภาพรวมของเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้งหมด ตั้งแต่จีน และ 11 เขื่อนตอนล่าง แบบนี้ก็เป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น”
นอกจากนี้ การจัดประชุมในวันที่ 7 มกราคม ยังใช้สถานที่สโมสรทหารบก เป็นการตอกย้ำว่า กรมทรัพยากรน้ำปราศจากความจริงใจและไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของ ประชาชนไทยในฐานะผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ และทำให้บรรยากาศในการเข้าร่วม และแสดงออกต่อข้อกังวล ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างมีเสรีภาพ
"ด้วยเหตุผลดังกล่าวพวกเราจึงไม่เห็นด้วย และไม่เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้"
แม่ น้ำโขงเป็นดั่งมารดาของประชาชนอย่างน้อย 60 ล้านคนในลุ่มน้ำตอนล่าง เฉพาะในประเทศไทยก็กินพื้นที่ถึง 8 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน มิใช่สมบัติส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใด การตัดสินใจใดๆ ต่อแม่น้ำโขง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่บนฐานของข้อมูลที่เพียงพอ กระบวนการที่โปร่งใส และเป็นประชาธิปไตย
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยืนยันข้อเรียกร้องในการจัดกระบวนการปรึกษาหารือ (Prior Consultation) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ดังนี้
1. ให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกระบวนการปรึกษาหารือออกไปอีกมากกว่า 6 เดือน เพื่อให้เพียงพอที่จะดำเนินการให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านในการประกอบการตัดสิน ใจ
2. ให้มีการจัดเวทีการปรึกษาหารือในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงอย่างครอบคลุมอย่างน้อย 1 เวที ในทุกอำเภอริมแม่น้ำโขง โดยให้ประกาศล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง
3. ให้มีการแปลเอกสารโครงการเขื่อนดอนสะโฮง และข้อมูลที่ เกี่ยวข้องเป็นภาษาไทย โดยต้องเป็นข้อมูลที่เพียงพอในการ พิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการ เพื่อเผยแพร่ล่วงหน้า อย่างน้อย 30 วันในแต่ละเวทีดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถทำความเข้าใจ และเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ
4. ให้ผู้ลงทุนเอกชน เจ้าของโครงการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่งผู้แทนเข้าร่วมเวทีเพื่อตอบคำถามจากประชาชนให้รอบด้าน
5. ให้ดำเนินการบนฐานของการเคารพต่อสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะชุมชนที่อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนและผลกระทบของโครงการในระยะยาว
6. ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิ มนุษยชน ทั้งของประเทศไทย ในภูมิภาค และในระดับสากลอย่างเคร่งครัด
|
ที่ มฟธ 001/2558 5 มกราคม 2558 เรื่อง โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกระบวนการ PNPCA เรียน ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้าง ถึง จดหมายกรมทรัพยากรน้ำ เลขที่ ทส 0630/ว.695 เรื่อง ขอเชิญเข้าร่วมการดำเนินการให้ข้อมูล โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามกระบวนการ PNPCA ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ตามที่กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย จะดำเนินการให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ของ สปป. ลาว ตามระเบียบปฏิบัติเรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement – PNPCA) ครั้งที่ 6 เพื่อสรุปข้อกังวล ประเด็นคำถามและข้อเสนอแนะ จากการดำเนินการให้ข้อมูลฯ ทั้ง 5 ครั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น
โครงการ ฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ในฐานะองค์กรที่ติดตามประเด็นเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักมาตลอด 25 ปีที่ผ่านมา และในฐานะสมาชิกของพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) จะไม่เข้าร่วมการประชุมในวันที่ 7 มกราคม 2558 ทั้งนี้ โดยมีความเห็นดังต่อไปนี้
1. เราเห็นว่ากระบวนการ PNPCA ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป. ลาว ในปี 2553-2554 เป็นกระบวนการที่ล้มเหลว กล่าวคือ มีการจัดการประชุมในประเทศไทย 4 ครั้ง และผู้เข้าร่วมการประชุมทุกครั้ง มีข้อสรุปตรงกันว่า เป็นการประชุมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมายของประเทศไทย และผู้เข้าร่วมและภาคประชาสังคมไทยมีจุดยืนที่ชัดเจน ในการคัดค้านโครงการฯไซยะบุรี
อย่างไรก็ตาม รายงานของกรมทรัพยากรน้ำ ที่เสนอไปยังคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission (MRC)’s Joint Committee) กลับมีเนื้อหาคลุมเครือ สะเปะสะปะ จนไม่อาจสะท้อนข้อเป็นห่วงของภาคประชาสังคมไทยได้อย่างชัดแจ้ง อีกทั้งคณะกรรมการร่วมฯ ก็มิได้กำกับดูแลให้กระบวนการ PNPCA ได้รับการดำเนินการอย่างจริงจัง จนกระทั่งฝ่ายไทยและ สปป.ลาว โดยเฉพาะหน่วยงานและนักลงทุนของไทยที่เกี่ยวข้อง สามารถเร่งรัดการลงนามสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า และดำเนินการก่อสร้างได้ในท้ายที่สุด ในท่ามกลางข้อกังขาของทุกฝ่าย
กระบวน การ PNPCA ที่จัดขึ้นในประเทศไทย และโดยภาพรวม จึงปราศจากความน่าเชื่อถือ และยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดว่า เป็นกระบวนการที่จะสะท้อนเสียงของประชาชนและภาคประชาสังคมไทย ซึ่งถือว่ามีความเข้มแข็งมากที่สุดในภูมิภาคแม่น้ำโขงได้ อันเป็นประเด็นที่กรมทรัพยากรน้ำไม่เคยชี้แจง และแสดงความรับผิดชอบใดๆ 2. เราขอคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งเป็นโครงการที่จะทำลายระบบนิเวศของพื้นที่สีพันดอนในประเทศ สปป.ลาว และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงและถาวร เขื่อนดอนสะโฮงจะกีดขวางทางน้ำฮูสะโฮง ซึ่งเป็นทางน้ำที่มีปลาว่ายอพยพผ่านมากที่สุดในแม่น้ำโขง เป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญยิ่งต่อการประมงน้ำจืดลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โครงการนี้ ยังจะเป็นภัยคุกคามต่อปลาอพยพขนาดใหญ่ที่หายากและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งปลาบึกและปลาเอิน และโลมาอิระวดี การสร้างเขื่อนจะทำให้เกิด การขุดลอกดินและหินที่ท้องแม่น้ำในบริเวณฮูสะโฮงออกมามากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเปิดทางให้มีน้ำไหลเข้าฮูสะโฮงเป็นจำนวนมากขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุทกวิทยาในพื้นที่สี่พันดอนที่เหลือทั้งหมด เมื่อพิจารณาผลได้ผลเสียโดยรวมของโครงการซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 260 เมกะวัตต์ของเขื่อนดอนสะโฮง จึงเป็นผลประโยชน์ที่เทียบกันไม่ได้กับผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นอย่าง รุนแรงต่อการประมง วิถีชีวิตของประชาชน และต่อความมั่นคงด้านอาหารของประชาชนหลายล้านคนในประเทศ สปป.ลาว กัมพูชา ไทยและเวียดนาม อนึ่ง กำลังผลิตไฟฟ้าและผลผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนดอนสะโฮง คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก (ไม่ถึง 1% ของกำลังผลิตในประเทศไทย) ซึ่งไม่มีนัยต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และสามารถจัดหาทดแทนได้ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพและความยั่งยืนมากกว่า โครงการ เขื่อนดอนสะโฮงจึงเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแม่น้ำโขง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3. กรมทรัพยากรน้ำ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย และประชาชนไทยในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ย่อมต้องมีหน้าที่ปกป้อง มิให้เกิดโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบและละเมิดสิทธิในทรัพยากรและการดำรง ชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่อาศัยในลุ่มแม่น้ำโขง รายงาน สรุปจากการประชุมทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา ต้องเป็นรายงานที่สะท้อนจุดยืนของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งคัดค้านโครงการเขื่อน ดอนสะโฮง นอกจากรายงานสรุปแล้ว กรมทรัพยากรน้ำจะต้องรวบรวมจดหมายและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนดอนสะโฮ งของภาคประชาสังคมทุกฉบับ และเสนอให้ประเทศลาวและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาครับรู้ โดยให้เป็นกระบวนการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมีช่องทาง และระยะเวลาที่ประชาชนจะสามารถทักท้วงได้หากพบว่าไม่เป็นตามข้อเท็จจริง ความล้มเหลวดังที่ได้กล่าวข้างต้นกรณีโครงการฯไซยะบุรี จะต้องไม่เกิดซ้ำรอยอีก จึงเรียนมาเพื่อแถลงจุดยืนและคัดค้านโครงการดังกล่าว ขอแสดงความนับถือ (นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง) ผู้อำนวยการร่วม โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ สำเนาถึง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น