4 ม.ค. 2558 สำนักข่าวฮัฟฟิงตันโพสต์นำเสนอรายงานเรื่อง 8 สัญลักษณ์การประท้วงที่น่าจดจำแห่งปี 2557 ตั้งแต่การประท้วงด้วยอักษรย่อเอสโอเอส (S.O.S.) ในเวเนซุเอลา การใช้ร่มในฮ่องกง รวมถึงการชูสามนิ้วตามแบบภาพยนตร์เรื่อง ดิ ฮังเกอร์ เกม ในไทย
'ยูโรไมดาน' ในยูเครน
ฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุว่ากรณีการประท้วงในยูเครนเพื่อต่อต้านประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานุโควิช ซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย มีการใช้แฮชแท็กและชื่อเรียกว่า #Euromaidan หรือ 'ยูโรไมดาน' ซึ่งมาจากชื่อจัตุรัสไมดาน เนซาเลซนอสติ (Maidan Nezalezhnosti) หรือที่แปลว่า "จัตุรัสแห่งเอกราช" โดยจัตุรัสนี้ถูกเปลี่ยนชื่ออยู่หลายครั้งจนกระทั่งมีการเปลี่ยนเป็นชื่อดังกล่าวหลังได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต รวมถึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) ด้วย
การเคลื่อนไหวยูโรไมดานมีขึ้นเพื่อต่อต้านการที่ยานุโควิชยกเลิกการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับยุโรปชั่วคราว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวยูเครนส่วนหนึ่งมีแนวคิดสนับสนุนยุโรปมากกว่าจะยอมรับอิทธิพลจากรัสเซีย เพราะเห็นว่ายุโรปเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยที่แท้จริงรวมถึงการเคารพในสิทธิมนุษยชน ซึ่งแตกต่างจากระบบที่ฉ้อฉลและการใชักำลังตำรวจปราบจลาจลอย่างรุนแรงโดยยานุโควิช
'S.O.S.' ในเวเนซุเอลา
ชาวเวเนซุเอลาทนไม่ไหวในเรื่องอัตราอาชญากรรมและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงภายในประเทศ จึงพากันออกมาประท้วงรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีนิโกลาส์ มาดูโร ในสโลแกน "SOSVenezuela" เสมือนเป็นการส่งสัญญาณฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือ ความคิดนี้มาจากกลุ่มนักกิจกรรม "อุน มุนโด ซิน มอร์ดาซา" (โลกที่ไม่มีการเซ็นเซอร์) เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลเวเนซุเอลาปิดกั้นสื่อ
ในการประท้วงเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลบุกโจมตีแหล่งปักหลักชุมนุมของฝ่ายต่อต้าน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการทำลายแผงกั้นและบุกจับกุมผู้ชุมนุมหลายพันราย มีผู้ชุมนุมจากทั้งสองฝ่ายอย่างน้อย 43 คน เสียชีวิตจากเหตุรุนแรง แม้ว่าการประท้วงจะสลายตัวไปแต่ปัญหาเรื่องอัตราอาชญากรรมและการขาดแคลนสินค้าในชีวิตประจำวันยังคงมีอยู่ แต่ก็ทำให้ความนิยมของมาดูโรลดลง
'ดอกทานตะวัน' ในไต้หวัน
ช่วงเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ชาวไต้หวันมากกว่า 100,000 คนประท้วงต่อต้านที่ทางการไต้หวันแอบเซ็นสัญญาทางการค้ากับจีนเนื่องจากกลัวว่าจีนจะมีอิทธิพลมากขึ้นต่อไต้หวันอีกทั้งยังกังวลเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินการของรัฐบาลไต้หวันเอง ซึ่งรัฐบาลไต้หวันเองก็ยอมรับว่าจะใคร่ครวญมากขึ้นในการทำสัญญากับจีน
สัญลักษณ์ชูดอกทานตะวันของผู้ประท้วงเป็นเครื่องหมายแทน "แสงสว่าง" หรือก็คือ "ความโปร่งใส" ในความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน
'นำลูกสาวของพวกเราคืนมา' ในไนจีเรีย
หลังเหตุการณ์ลักพาตัวเด็กนักเรียนหญิงในโรงเรียนชิบอกในไนจีเรียโดยกลุ่มติดอาวุธโบโกฮารามเมื่อเดือน เม.ย. สร้างความไม่พอใจให้กับชาวโลกเป็นอย่างมากจนมีการรณรงค์ในชื่อ #BringBackOurGirls ที่แปลว่า "นำลูกสาวของพวกเราคืนมา" จนเกิดเป็นกระแสผ่านอินเทอร์เน็ต ที่แม้แต่คนดังอย่างมิเชลล์ โอบามา ภริยาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมาลาลา ยูซาฟไซ หญิงชาวปากีสถานที่เคยถูกกลุ่มติดอาวุธตอลีบันยิงศีรษะจนเกือบเสียชีวิต ก็ร่วมรณรงค์ภายใต้คำขวัญนี้ด้วย
เด็กหญิงที่ถูกลักพาตัวไปยังคงไม่ได้รับการปล่อยตัวแต่กลุ่มฐาติและผู้สนับสนุนการณรงค์นี้ก็ยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อไป
'ชูสามนิ้ว' ในไทย
หลังจากการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 ผู้นำเผด็จการทหารในไทยก็สั่งห้ามการประท้วงรวมถึงการแสดงออกในเชิงต่อต้าน ซึ่งรวมถึงการชูสามนิ้วแบบในภาพยนตร์หรือวรรณกรรมเรื่อง 'ดิ ฮังเกอร์ เกมส์' ด้วย
ฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุว่า การแสดงออกชูสามนิ้วถือเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยมตามแบบใน ดิ ฮังเกอร์ เกมส์ ทำให้ทางการไทยขู่ว่าจะจับกุมผู้ที่แสดงออกด้วยการชูสามนิ้วตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว จนกระทั่งในช่วงที่มีการฉายภาพยนตร์ดิ ฮังเกอร์ เกมส์ ในไทยก็มีนักศึกษาส่วนหนึ่งถูกทางการควบคุมตัว ทั้งจากกลุ่มที่ชูสามนิ้วในช่วงที่ พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา กล่าวปราศรัย และนักศึกษาอีกบางส่วนที่ชูสามนิ้วหน้าโรงภาพยนตร์ นักกิจกรรมไทย สมบัติ บุญงามอนงค์ ระบุว่าการชูสามนิ้วเป็นเครื่องหมายเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมือง
'ยกมือ อย่ายิง' ในสหรัฐฯ
เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงวัยรุ่นชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ชื่อไมเคิล บราวน์ เสียชีวิต ในเดือน ส.ค. 2557 จุดฉนวนให้เกิดการประท้วงเรื่องการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจและการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันต่อคนต่างเชื้อชาติ ทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูแขนสองข้างขึ้นเป็นท่าในเชิงยอมแพ้และอย่ายิง
นอกจากนี้ยังมีกรณีของอิริค การ์เนอร์ ที่ถูกตำรวจควบคุมตัวด้วยการใช้ท่าล็อคคอที่มีกฎหมายห้ามใช้ในรัฐนิวยอร์ก ทำให้มีผู้ประท้วงนำประโยคก่อนเสียชีวิตของการ์เนอร์ที่บอกว่า "ฉันหายใจไม่ออก" มาใช้ในการประท้วง นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนมากไม่พอใจที่คณะลูกขุนใหญ่มีมติไม่สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงทั้งสองกรณี
'การประท้วงด้วยร่ม' ในฮ่องกง
เมื่อเดือน ก.ย. 2557 กลุ่มนักเรียนนักศึกษาและผู้ต่อต้านเริ่มปฏิบัติการปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้ทางการจีนยกเลิกแผนการคัดเลือกผู้ลงชิงชัยในการเลือกตั้งผู้ว่าการเขตฮ่องกงและให้มีการลงสมัครตามหลักการเลือกตั้งแบบสากล ผู้ประท้วงใช้ร่มในการป้องกันตนเองจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ที่ใช้แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย ทำให้ร่มกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านอย่างสันติ
สื่อหลายแห่งเริ่มเรียกการประท้วงในฮ่องกงว่าเป็น "ขบวนการร่ม" (Umbrella Movement) รวมถึงยังมีการนำสัญลักษณ์มาใช้ในโซเชียลมีเดีย และในศิลปะการจัดวาง
แม้ว่าการประท้วงจะยังไม่สามารถทำให้ทางการจีนเปลี่ยนใจได้ แต่แทตต์ ซีฮาน นักข่าวจากสำนักข่าวเวิลด์โพสต์ ไชน่า กล่าวว่า การประท้วงตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาทำให้คนหนุ่มสาวในฮ่องกงมีความเข้มแข็งมากขึ้นและไม่ยอมเอนเอียงตามอำนาจของผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่มากเท่าคนรุ่นก่อนหน้านี้
'43' ในเม็กซิโก
เหตุเกิดในเดือน ก.ย. 2557 เมื่อนักศึกษาวิทยาลัยครูในเม็กซิโก 43 คน หายตัวไปหลังจากถูกซุ่มโจมตีจากตำรวจช่วงเดินทางกลับจากการประท้วง ทางรัฐบาลเม็กซิโกเปิดเผยในเวลาต่อมาว่ามีแก๊งอาชญากรรมท้องถิ่นรับสารภาพว่าร่วมมือกับตำรวจและนายกเทศมนตรีท้องถิ่นสั่งหารนักศึกษา แต่ญาติและนักข่าวบางคนก็สงสัยว่ารัฐบาลกลางของเม็กซิโกก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
การหายสาบสูญของนักศึกษาที่ไปประท้วงสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับประชาชนทั่วประเทศและในต่างประเทศซึ่งมองว่ามีการอุ้มหายนักศึกษา มีผู้ประท้วงบางส่วนเขียนตัวเลข '43' เท่ากับจำนวนนักศึกษาที่หายตัวไปตามที่ต่างๆ อย่างบนกำแพง บนใบหน้า และบนป้ายประท้วง มีป้ายประท้วงแผ่นหนึ่งเขียนว่า "พวกเราอยู่ไม่ครบทุกคน เพราะขาดไป 43 คน"
สำนักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่าการประท้วงการหายตัวไปของนักศึกษานี้สะท้อนให้เห็นวิกฤติด้านความปลอดภัยของเม็กซิโกที่มีอาชญากรรมการสังหารและการอุ้มหายมากกว่า 20,000 ราย
นอกจากเลข 43 แล้วยังมีการล้อเลียนประโยคที่อธิบดีกรมอัยการของเม็กซิโกเคยกล่าวไว้ในที่ประชุมแถลงข่าวว่า "ผมทนมามากพอแล้ว" กลายมาเป็นคำขวัญประท้วงและแฮชแท็กในอินเทอร์เน็ตว่า #YaMeCanséDelMiedo ("ฉันทนอยู่กับความกลัวมามากพอแล้ว")
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น