เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ตอบคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าข้อเสนอนายกรัฐมนตรีเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ ส.ส. "ไม่อยู่ในข้อเสนอของมวลมหาประชาชน" หากจะเขียนใน รธน. ก็ต้องระบุให้ชัดว่าใช้ในสถานการณ์เฉพาะเท่านั้น ขณะที่คำนูณรับทราบแล้ว และจะนำข้อสังเกตไปแจ้งให้ กมธ.ร่าง รธน. รับทราบถึงข้อกังวล
6 ม.ค. 2558 - ตามที่คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้โพสต์สเตตัสเมื่อวันที่ 4 ม.ค. ต่อกรณีท่าทีของเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. ที่ไม่เห็นด้วยต่อการร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของที่มาของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. ทั้งที่ในช่วงเคลื่อนไหว กปปส. เคยมีข้อเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.
ต่อมา เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้โพสต์สเตตัสชี้แจงคำนูณ ยืนยันว่าข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ ส.ส. นั้น ไม่อยู่ในข้อเสนอของ กปปส. โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรณีที่เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ผมได้อ่านความเห็นของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งแล้ว เห็นว่าท่านคงเข้าใจความหวังดีของผมและมวลมหาประชาชนผิดไป
ภารกิจการร่างกติกาใหม่เป็นหัวใจของการปฏิรูป ภาระนี้คงสร้างแรงกดดันไม่น้อย หลายครั้งผมก็ให้กำลังใจ แต่สิ่งใดที่เป็นเจตจำนงค์ของมวลมหาประชาชนผมคงต้องพูดแบบไม่เกรงใจ ท่านอาจจะเคืองบ้าง ใช้วาจากระทบกระทั่งผมบ้าง ผมเข้าใจและไม่ติดใจ แต่ต้องขอชี้แจงด้วยหลักการและเหตุผลเพื่อไม่ให้สับสนครับ
ข้อเสนอของมวลมหาประชาชนที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำในช่วงที่มีการชุมนุมได้มีการสรุปและเสนอไปแล้ว ขณะนี้การชุมนุมก็ยุติไปแล้ว ผมคงไม่สามารถไปเพิ่มเติมหรือปรับแก้อะไรได้ ความเห็นของแกนนำคงเป็นเพียงแต่ความพยายามที่จะสะท้อนเจตจำนงค์ของมวลมหาประชาชนเท่านั้น
เรามองว่าหัวใจของปัญหาอยู่ที่การซื้อเสียงทุกระดับ ตั้งแต่ซื้อพรรคการเมือง ซื้อนักการเมือง ซื้อความจงรักภักดี และซื้อเสียงของประชาชน ดังนั้นการแก้ปัญหาคือการกำจัดการซื้อเสียงทุกระดับ ทำได้ด้วยการสร้างระบบป้องกันที่ดี เช่น การยุบ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ การเพิ่มโทษ เป็นต้น แต่ที่สำคัญคือการทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง พรรคต้องมีฐานสมาชิก ต้องมีช่องทางที่จะระดมทุนไปทำกิจกรรมอย่างเพียงพอ สมาชิกต้องมีอำนาจและส่วนร่วมในการบริหารจัดการพรรค ถ้าพรรคเข้มแข็งและเป็นของประชาชน ประชาชนก็เป็นใหญ่ แต่ถ้าพรรคอ่อนแอก็จะถูกนายทุนเข้ามาครอบงำ หลักการง่ายๆ และสามารถทำได้ครับ
ส่วนกรณีที่ท่านจะเสนอให้นายกฯ เป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ ส.ส. นั้น ไม่อยู่ในข้อเสนอของมวลมหาประชาชน
แต่ไม่ได้แปลว่าจะดีหรือไม่ดีนะครับ ...
ข้อเสนอนี้ผมได้แสดงความกังวลไปแล้วว่า อาจเป็นการเปิดช่องทางให้นายทุนสามารถเข้ามาซื้อเสียงโหวตในสภาและเป็นนายกฯได้โดยไม่ต้องออกแรงลงเลือกตั้งเอง
ผมและมวลมหาประชาชนเคยเดินไปหาท่าน (เมื่อครั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา) ขอให้เลือกนายกเป็นกรณีพิเศษ เพราะนายกสิ้นสภาพ ไม่มีสภา ไม่มีส.ส.ที่จะมาโหวตเลือกนายก และไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งในเร็ววันได้ เหลือแต่ ส.ว.เท่านั้นที่ยังมีจุดยึดโยงกับประชาชน จะช่วยผ่าทางตันได้
การคิดรวมๆ ว่า กปปส.ในสถานการณ์พิเศษขณะนั้นเคยขอให้ ส.ว.เลือกนายกคนนอก และติดความต่อว่า กปปส.อยากให้รัฐธรรมนูญใหม่มีนายกมาจากคนนอกโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งนั้น เป็นการเข้าใจผิด
ถ้าท่านจะเขียนใหม่เพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็ควรหาทางระบุให้ชัดว่านายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อาจใช้ในสถานการณ์เฉพาะเท่านั้น หากจะยกหลักอ้างอิงให้เข้าใจง่ายก็เช่น ในสถานการณ์ปกติฆ่าคนตายทำไม่ได้ แต่ยกเว้นในกรณีการป้องกันตัว
ผมไม่อยากให้ท่านเข้าใจความหวังดีของเราผิด กรุณาอย่าสรุปประเด็นจากพาดหัวข่าว ท่านแบกภาระอันใหญ่หลวงเอาไว้เราเข้าใจ แต่นี่ไม่ใช่เวลามาพูดอวยเพื่อให้สบายใจ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ความหวังของมวลมหาประชาชนฝากไว้กับท่านและคณะกรรมาธิการฯครับ
(ภาพ: ผมและมวลมหาประชาชนรอคอยหน้ารัฐสภาด้วยความหวัง)
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
โฆษก กปปส.
กรรมการและเลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ
กรรมการและเลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ
ทั้งนี้ในความเห็นดังกล่าว เอกนัฏได้โพสต์ภาพประกอบสเตตัสเป็นรูปผู้ชุมนุม กปปส. และเขียนข้อความว่า "มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่" ด้วย
ต่อมาเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 5 ม.ค. คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความตอบเอกนัฏใน เฟซบุ๊คของเขา มีใจความว่า
"คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์เป็นอดีต ส.ส.เขตทวีวัฒนาบ้านผม รู้จักกันดี โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเคลื่อนไหวประเด็นขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่ถนนพุทธมณฑลสายสองเมื่อปี 2555 ชื่นชมในความเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านมาเป็นโฆษกกปปส. ขอน้อมรับฟังคำชี้แจงของท่าน และจะนำข้อสังเกตไปแจ้งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรับทราบถึงข้อกังวล
การที่ผมแสดงความคิดเห็นไปเมื่อวาน ก็เพื่อชี้แจงมุมมองของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต 2 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ทำให้ไม่สามารถหาผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจากส.ส.ได้ จึงเห็นสมควรเขียนคุณสมบัติเปิดกว้างไว้
ทั้งนี้ โดยได้ฟังความเห็นของท่านจากข่าวค่ำช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ค่ำวานซึ่งอาจไม่ครบถ้วนกระบวนความ จึงได้ขออภัยล่วงหน้าไปแล้ว
ขออภัยอีกครั้งหากมีข้อความใดไม่เหมาะสม และขอขอบคุณในคำชี้แจงและความปรารถนาดี"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น