ยกร่าง รธน. ยืนตัดสิทธิผู้ที่ถูกถอดถอนในคดีทุจริต หรือต้องคำพิพากษาฐานประพฤติมิชอบ หรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม ลงเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ตลอดไป ตั้งคณะกรรมการประเมินผลหลังใช้รัฐธรรมนูญ 5 ปี
17 ก.ค. 2558 พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา วันที่ 5 ว่าคณะกรรมาธิการได้พิจารณามาตราที่แขวนเอาไว้เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ว่าได้ข้อยุติแล้ว โดยยังคงมาตรา 111 (8) ห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่าประพฤติมิชอบ หรือกระทำการให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ตลอดไป เช่นเดียวกับกรณีของผู้ที่เคยถูกถอดถอน จาก 4 ฐานความผิด คือมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อว่าทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่อว่าทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม ห้ามลงสมัครส.ส.ตลอดไปเช่นกัน
“แต่หากถูกถอดถอนกรณียื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือหรือถูกถอดถอนอันเหตุมาจากการจงใจที่ใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะห้ามลงสมัครตามห้วงเวลาที่ศาลวินิจฉัย ซึ่งคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เป็นไปตามคุณสมบัติผู้สมัครส.ส.เช่นกัน” พลงองเลิศรัตน์ กล่าว
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 33/1 โดยเพิ่มบทบัญญัติว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ย่อมมีเสรีภาพในการกระทำ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระทำการในลักษณะดังกล่าวให้เลิกกระทำและศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งยุบพรรคได้ แต่ห้ามใช้กับกรณีที่ส.ส. ส.ว.หรือพรรคการเมืองดำเนินการตามหน้าที่
“ส่วนเรื่องจริยธรรมในหมวดว่าด้วยผุ้นำการเมืองที่ดี บัญญัติให้มีกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม และเพิ่มมาตรา 71 วรรคหนึ่ง โดยให้ตรวจสอบแบบฟอร์มการยื่นภาษีย้อนหลัง 5 ปีผู้เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ โดยให้มีคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง
ตั้งคณะกรรมการประเมินผลหลังใช้รัฐธรรมนูญ 5 ปี
นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจาณาภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง โดยเห็นชอบร่วมกันว่าจะมีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่จะทำหน้าที่ปฏิรูป และสร้างความปรองดอง เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งให้คณะกรรมาธิการฯพิจารณาและนำมาเสนอในสัปดาห์หน้า ว่าแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และสภาปฏิรูปและสร้างความปรองดอง รวมทั้งกรรมการด้านต่าง ๆ ควรจะมีโครงสร้างอย่างไร โดยยุบรวมเนื้อหาจาก 15 มาตราเหลือเพียง 4 มาตรา กำหนดเพียงหัวข้อและแนวทางที่อยากเห็นการปฏิรูปเดินหน้า แต่รายละเอียดจะกำหนดไว้ในกฎหมายลูก โดยให้อนุกรรมาธิการฯจัดทำให้แล้วเสร็จในวันที่ 22 ส.ค. ตั้งเป้าจะส่งร่างกฎหมายลูกเรื่องปฏิรูปและการสร้างความปองดองพร้อมร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายให้ สปช.ในวันเดียวกันหากคณะกรรมาธิการยกร่างขยายการทำงานไป 30 วัน
นอกจากนี้ยังได้พิจารณาในบทสุดท้ายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยังยึดแนวทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญร่างแรก ในมาตรา 303 ที่จะกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่าเมื่อครบรอบ 5 ปีให้มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลา 6 เดือน และให้ส่งรายงานพร้อมข้อเสนอการแก้ไขไปให้สภาและคณะรัฐมนตรี โดยที่อำนาจหน้าที่ในการแก้ไขหรือไม่ ยังเป็นหน้าที่ของรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้เสนอโดยใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุมรัฐสภาซึ่งในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญยังกำหนดเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่แก้ไขไม่ได้ คือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ แก้ไขได้โดยรัฐสภาใช้เสียง 2 ใน 3 และแก้ไขได้แต่ต้องนำไปทำประชามติ
สำหรับในวันนี้จะพิจารณามาตราที่แขวนไว้ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6-7 เรื่องให้แล้วเสร็จ เช่น เรื่องเอกสิทธิของสมาชิกรัฐสภา เรื่องคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติในมาตรา 121 เรื่องการที่ ส.ส.มีคะแนนน้อยกว่าผู้ประสงค์ไม่ใช้สิทธิจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ จะใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณา และยังมีเรื่องบทเฉพาะกาลที่ต้องดำเนินการภายในวันถัดไป หากเสร็จก็จะทบทวนตั้งแต่มาตราแรกจนถึงมาตราสุดท้ายต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น