17 ก.ค. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่าเมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (17 ก.ค.) ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยให้ยกฟ้องคดีที่บริษัทไร่ส้ม จำกัด ยื่นฟ้อง บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ อสมท. ชำระค่าโฆษณาส่วนเกินในการออกอากาศรายการ คุยคุ้ยข่าว เมื่อปี 2548-2549 จำนวน 253,026,691.12 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยของเงินต้นจำนวน 215,199,633.76 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โดยศาลเห็นว่าการที่ อสมท. ไม่หักส่วนลดค่าโฆษณาที่เกินเวลาในอัตราร้อยละ 30 ให้กับบริษัทไร่ส้ม ไม่เป็นการผิดสัญญา เนื่องจากสัญญาร่วมรายการโทรทัศน์ ระหว่าง บริษัทไร่ส้ม กับ อสมท. ทุกฉบับมีลักษณะ เป็นการตกลงกันของคู่สัญญาที่จะจำหน่ายเวลาโฆษณาในอัตราราคาที่เท่ากันเพื่อไม่ให้จำหน่ายตัดราคา สำหรับส่วนลดและกลยุทธ์การขาย ให้เป็นไปตามที่บริษัทไร่ส้มตกลงไว้กับสำนักการตลาดของ อสมท. โดยให้คำนึงถึงภาวะการตลาดในเวลานั้น ขณะที่เวลาโฆษณาตามสัญญาที่ตกลงกันระบุว่า หากบริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่งเวลาที่ได้รับ บริษัทไร่ส้มยินยอมที่จะชำระค่าโฆษณาให้กับ อสมท.ในอัตราที่กำหนดไว้ และบริษัทไร่ส้มสามารถจำหน่ายเวลาโฆษณาได้มากกว่าส่วนแบ่งเวลาที่กำหนดได้ แต่สิทธิที่จะได้รับส่วนลดสัญญาไม่ได้มีการกำหนดชัดเจนว่า บริษัทไร่ส้มจะได้รับส่วนลดหรือไม่ในอัตราใดแต่เป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกันเป็นกรณีไป ซึ่งจากข้อเท็จจริงตั้งแต่มีออกอากาศ บริษัทไร่ส้มมีการโฆษณาเกินกว่าเวลาที่กำหนดในสัญญามาโดยตลอด ซึ่งบริษัทไร่ส้มได้ส่งเพียงใบคิวโฆษณาให้ฝ่ายออกอากาศโทรทัศน์ แต่ไม่มีหนังสือขอซื้อเวลาและขอส่วนลดมายังสำนักการตลาด อสมท. ซึ่งใบคิวเป็นเอกสารที่มีเพียงรายการและเวลาโฆษณาไม่มีรายมือชื่อผู้รับผิดชอบ จึงไม่อาจเป็นการซื้อโฆษณาและขอส่วนลดได้ และเมื่อ อสมท. มีหนังสือเรียกให้ชำระค่าโฆษณา บริษัทไร่ส้มก็ฃจ่ายค่าชำระโดยไม่มีการโต้แย้ง จึงรับฟังเป็นที่ยุติว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตกลงกันให้มีการหักส่วนลดทางการค้าในอัตราร้อยละ 30 ของค่าโฆษณาส่วนเกินกว่าส่วนแบ่งเวลาตามที่สัญญาได้กำหนดไว้ บริษัทไร่ส้มจึงไม่มีสิทธิได้ส่วนลดทางการค้า
ในคำพิพาษากระบุว่า การที่บริษัทไร่ส้มชำระโฆษณาส่วนเกิน เต็มตามจำนวนโดยไม่โต้แย้งคัดค้านถึง 2 ครั้ง ทั้งที่ อสมท.ระบุในหนังสือลงวันที่ 20 ต.ค. 2549 ว่าไม่สามารถพิจารณาส่วนลดได้ เพราะบริษัทไร่ส้มไม่ปฏิบัติตามสัญญา ย่อมแสดงว่าบริษัทไร่ส้มไม่ติดใจในส่วนลดการค้าดังกล่าว หากมีสิทธิตามสัญญาที่จะได้รับส่วนลด ก็ไม่สมควรต้องชำระเงินดังกล่าวและย่อมเป็นหน้าที่ของ อสมท. ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาหรือฟ้องต่อศาล กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าบริษัทไร่ส้มได้ชำระเงินเพื่อป้องกันข้อครหาของสาธารณชน เพื่อไม่ให้มีข่าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความไว้วางใจของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของบริษัทไร่ส้มดังที่ศาลปกครองกลางวินิฉัย เนื่องจากบริษัทไร่ส้มอาจชำระเฉพาะค่าโฆษณาส่วนที่เกินเวลา โดยไม่ชำระในส่วนลดทางการค้าที่บริษัทไร่ส้มเห็นว่ายังมีข้อต่อสู้อยู่ได้ ซึ่งไม่มีผลต่อความเชื่อถือของประชาชน ดังนั้นการที่ อสมท. ไม่หักส่วนลดค่าโฆษณาส่วนที่เกิน ให้บริษัทไร่ส้มจึงไม่เป็นการผิดสัญญาและ อสมท. ไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินส่วนลดดังกล่าวให้บริษัทไร่ส้มแต่อย่างใด
สำหรับ อสมท. มีหน้าที่ตามสัญญาต้องชำระค่าโฆษณาส่วนที่เกินส่วนแบ่งเวลาตามสัญญา ให้บริษัทไร่ส้มหรือไม่ ศาลฯเห็นว่าสัญญาที่ทั้งสองตกลงกันในเรื่องของการแบ่งเวลาโฆษณาเป็นลักษณะไทม์แชร์ริ่ง หรือแบ่งในสัดส่วนที่เท่าๆกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีรายได้เท่าเทียมกัน หรือมีสิทธิหารายได้เพียงเท่าที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งหาได้ ซึ่งในกรณีที่ อสมท. จำหน่ายเวลาโฆษณาเกินกว่าเวลาที่กำหนด ในสัญญาก็ไม่ได้มีการกำหนดไว้ว่าให้ อสมท.ต้องชำระเงินค่าโฆษณาให้บริษัทไร่ส้มแต่อย่างใด เพราะการที่กำหนดเช่นนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่า เมื่อมีการใช้เวลาโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่งเวลาที่กำหนดในสัญญาผู้ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มคือ อสมท. ที่เป็นเจ้าของสถานีและเจ้าของเวลาออกอากาศ เพราะไม่ว่า อสมท. จะจำหน่ายค่าโฆษณาได้น้อยกว่าหรือเท่ากับหรือเกินเวลาในสัญญาก็ไม่เกี่ยวกับการหารายได้เวลาจำหน่ายเวลาโฆษณาของบริษัทไร่ส้ม เนื่องจากสัญญากำหนดชัดเจนว่า บริษัทไร่ส้มต้องชำระโฆษณาส่วนที่เกินเวลาให้กับ อสมท. ดังนั้น อสมท.จึงไม่มีหน้าที่ชำระค่าโฆษณาส่วนที่เกินส่วนแบ่งเวลาตามสัญญาให้กับบริษัทไร่ส้ม
สำหรับประเด็นบริษัทไร่ส้มจะต้องชำระเงินค่าส่วนลดทางการค้าของค่าโฆษณา ส่วนที่เกินเวลาในเดือน ก.ค.2549 ให้กับ อสมท.หรือไม่ ศาลฯเห็นว่า แม้บริษัทไร่ส้มจะไม่แจ้งโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญาไปยังสำนักการตลาดของ อสมท. แต่ตามรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ลงวันที่ 29 ส.ค. 2550 และสัญญาท้ายคำให้การว่าบริษัทไร่ส้มและ อสมท. ได้ทำสัญญาโฆษณาของเดือน ก.ค. 2549 จำนวน 2 ฉบับในวันที่ 26 ก.ค. 2549 จึงเป็นกรณีที่ อสมท. ตกลงยินยอมให้ส่วนลดทางการค้า แก่บริษัทไร่ส้มตามข้อกำหนดในสัญญาแล้ว และแม้จะพบว่าสัญญาดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบ ของ อสมท. อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ แต่ถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายใน ไม่มีผลให้สัญญาโฆษณาหรือส่วนลดเป็นโมฆะ จนนำมาอ้างลบล้างสิทธิในการที่บริษัทไร่ส้มจะได้รับส่วนลด แต่เนื่องจากกรณีส่วนลดทางการค้านี้ อสมท. ได้ฟ้องเป็นคดีและศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้นางสาวบุณฑณิก บูลย์สิน เจ้าหน้าที่ของ อสมท.รับผิดชดใช้เงินที่ให้ส่วนลดแก่บริษัทไร่ส้มไปแล้ว ดังนั้นบริษัทไร่ส้มจึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาชำระเงินให้ส่วนลดทางการค้าแต่อย่างใด การที่ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาให้ อสมท. ชำระเงินจำนวน 55,777,019.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยล 7.5 ต่อปีของเงินต้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น