วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

ไอลอว์อ่านการปฏิรูป สรุป 505 ข้อ สปช.“ไม่ใหม่ เบี้ยหัวแตก ขยายราชการ”


ไอลอว์เปิดรายงานวิเคราะห์แนวทางการปฏิรูปประเทศของ สปช. พบหลักคิดมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ผุดข้อเสนอชนิด "ครอบจักรวาล" 505 ข้อ เป็น “เบี้ยหัวแตก” ปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีอะไรใหม่ ขาดรายละเอียดที่ชัดเจน เน้นขยายระบบราชการ เสนอตั้งหน่วยงานใหม่กว่า 100 หน่วยงาน 
8 ก.ย.2558 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์แนวทางการปฏิรูปประเทศของ สปช. พบหลักคิดมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ผุดข้อเสนอชนิด "ครอบจักรวาล" 505 ข้อ เป็น “เบี้ยหัวแตก” ปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีอะไรใหม่ ขาดรายละเอียดที่ชัดเจน เน้นขยายระบบราชการ เสนอตั้งหน่วยงานใหม่มากกว่า 100 หน่วยงาน และเสนอร่างกฎหมายใหม่นับร้อย ข้อเสนอระยะเวลาปฏิรูปยาวนานถึงปี พ.ศ. 2575
รายละเอียดมีดังนี้
ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา สปช. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการทั้งสิ้น 18 คณะ คณะอนุกรรมาธิการรวม 88 คณะ เพื่อพิจารณาวาระการปฏิรูปรวม 37 วาระ และวาระการพัฒนา 7 วาระ มีข้อเสนอการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องรวม 505 ข้อเสนอ ใช้งบประมาณไปกว่า 700 ล้านบาท
ข้อเสนอ 505 ข้อ สำคัญเกือบจะเท่ากันหมด จนเป็น “เบี้ยหัวแตก” ปฏิบัติไม่ได้
เนื่องจากทรัพยากร เวลา และงบประมาณของประเทศมีจำกัด ไม่สามารถดำเนินการปฏิรูปพร้อมกันทุกเรื่องในเวลาเดียวกันได้ ดังนั้น หลักคิดการปฏิรูปที่คาดหวัง คือ ควรจัดลำดับความสำคัญของประเด็นให้ชัดเจน แต่จากรายงานข้อเสนอของ สปช. 37 วาระ รวม 505 ข้อ กลับพบว่าทุกเรื่องสำคัญเกือบจะเท่ากันหมด มีข้อเสนอยิบย่อยมากมายจนเป็นเสมือน “เบี้ยหัวแตก” ไม่รู้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง และไม่มีการประเมินภาระทางงบประมาณและการจัดการที่่อาจเกิดขึ้น โดยคิดอะไรได้ก็ใส่เข้ามาเป็นข้อเสนอทุกเรื่อง แต่ขาดการวางกลยุทธ์หรือจัดลำดับความสำคัญ 
ข้อเสนอจำนวนมากไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องที่คิดกันมาก่อนแล้ว
หลักคิดในการปฏิรูปที่คาดหวัง คือ พยายามทำให้ข้อเสนอเป็นรูปธรรมมากที่สุด สามารถนำไปปฏิบัติหรือขับเคลื่อนได้ทันที แต่ข้อเสนอของ สปช. จำนวนมากเป็นนามธรรม แต่ไม่รู้ว่ารูปธรรมในการนำไปปฏิบัติจะเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับไปคิดรายละเอียดต่อ และหากจะนำไปสู่การปฏิบัติได้ก็ต้องใช้เวลาอีกมาก ตัวอย่าง เช่น ข้อเสนอให้ประชาชนได้รับรู้และมีส่วนร่วม ซึ่งมีอยู่ในหลายวาระปฏิรูป ข้อเสนอให้มีกระบวนการทำงานของกลไกปราบปรามทุจริตทั้งระบบ ข้อเสนอให้ส่งเสริมการใช้อำนาจที่โปร่งใสเป็นธรรม ข้อเสนอให้ปฏิรูปงานสอบสวนของตำรวจ ข้อเสนอให้รัฐอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ข้อเสนอให้พัฒนาศักยภาพของชุมชนให้มีกลไกพิทักษ์ผู้สูงอายุ ฯลฯ  
หลักคิดในการปฏิรูปที่คาดหวัง คือ มีการนำเสนอข้อเสนอใหม่ๆ ออกสู่สังคม หรืออย่างน้อยต้องมีข้อเสนอที่อาศัยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่ลึกซึ้งหรือสร้างสรรค์กว่าข้อเสนอที่มีอยู่แล้ว 
เทียนฉาย กีระนันท์ กล่าวยอมรับในงาน “สปช.รายงานประชาชน” เมื่อวันที่่ 13 สิงหาคม 2558 ว่า ข้อเสนอของ สปช. ส่วนใหญ่เป็นการสังเคราะห์ข้อเสนอการปฏิรูปที่เคยมีมาก่อนหน้าแล้ว ทั้งข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (ชุดของอานันท์ ปันยารชุน) คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ (ชุดของ นพ. ประเวศ วะสี) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ชุดของคณิต ณ นคร) ข้อเสนอตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปที่รวบรวมจากหน่วยราชการต่างๆ นอกจากนั้น จากการศึกษา ยังพบว่ามีหลายข้อเสนอที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบันที่แถลงต่อรัฐสภา
เสนอตั้งหน่วยงานใหม่มากกว่า 100 หน่วยงาน เน้นเสนอกฎหมายใหม่กว่า 100 ฉบับ
หลักคิดการปฏิรูปที่คาดหวัง คือ ลดขนาดของระบบราชการ และกระจายอำนาจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานภาครัฐให้คล่องตัว แต่ สปช. เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานใหม่มากกว่า 100 หน่วยงาน สะท้อนให้เห็นหลักคิดที่เน้นขยายระบบราชการ และรวมศูนย์อำนาจการบริหาร เน้นการจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มเติมมาดำเนินการแก้ไขปัญหา มากกว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยงานเดิม ทั้งนี้แทบไม่พบข้อเสนอของ สปช.ที่ให้ยุบหน่วยงานของรัฐที่ซ้ำซ้อนเลย
หลักคิดการปฏิรูปที่คาดหวัง คือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างความเข้าใจของสังคม จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่ สปช.เสนอให้แก้ไขกฎหมายมากกว่า 150 ฉบับ และเสนอให้ออกกฎหมายใหม่กว่า 100 ฉบับ ซึ่งเป็นการเสนอแก้ไขและยกร่างกฎหมายต่อสนช. ภายใต้ระบบและกลไกที่ปิดและไม่เป็นประชาธิปไตย สุดท้ายก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ร่างกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน และมีผลบังคับใช้ได้จริง 
เชื่อมั่นใน “คนดี” และ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ไม่ไว้ใจนักการเมือง
หลักคิดในการปฏิรูปที่คาดหวัง คือ เชื่อมั่นในระบบการมีส่วนร่วม และตรวจสอบถ่วงดุล ตามแนวทาง “รัฐสมัยใหม่” แต่ สปช. กลับมีหลักคิด เชื่อมั่นใน “คนดี” แบบ “รัฐศีลธรรม”  เช่น มีข้อเสนอให้เฟ้นหาผู้นำทางจิตวิญญาณ  (นักปราชญ์ทางด้านศาสนาที่พร้อมทั้งความดี ความเก่ง และความเป็นนักปฏิบัติการ) อย่างน้อย 1 คน ต่อโรงเรียนหรือชุมชน, มีข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐ เอกชน นำหลักศาสนามาเป็นเกณฑ์การรับสมัครงาน เลื่อนตำแหน่ง ใช้ในการพิจารณาการขอหรือต่ออายุวิชาชีพ, มีข้อเสนอว่าในการต่อใบวิชาชีพครูต้องมีหลักฐานการปฏิบัติชัดเจน เช่น สมุดบันทึกความเป็นครูที่ดี หรือมีหลักฐานการผ่านการพัฒนาจิตใจด้วยการปฏิบัติธรรมหรือปฏิบัติกิจกรรมความดีที่เห็นเป็นรูปธรรม
นอกจากนั้น สปช. ยังยึดมั่นในระบบหา “ผู้ทรงคุณวุฒิ” หน่วยงานใหม่ตามข้อเสนอของสปช. หลายหน่วยงานเป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับและควบคุมนโยบาย สะท้อนพื้นฐานความคิดที่ไม่ไว้วางใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และต้องการให้ประเทศขับเคลื่อนโดย “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในระบบราชการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 
แม้ว่า สปช. จะจัดทำแผนการปฏิรูป “ครอบจักรวาล” แทบทุกประเด็นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่กลับยังมี “หลุมดำ” บางเรื่องที่สังคมพูดถึงกัน ตัวอย่างเช่น เรื่องการปฏิรูปกองทัพ หรือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่สปช.ไม่ได้พูดถึงไว้เลย 
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เมื่อพิจารณาจากข้อเสนอในการปฏิรูปของ สปช. พบว่ามีการวางยุทธศาสตร์ปฏิรูปเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยตั้งเป้าหมายให้ “การปฏิรูป” สัมฤทธิ์ผลในปี พ.ศ. 2575 โดยไม่มีดัชนีชี้วัดในแต่ละปีหรือแต่ละระยะการปฏิรูป 
งบประมาณ 700 ล้านบาท ยังแทบไม่เห็นความสำเร็จของสปช.
ยอดรวมเงินเดือนของสมาชิก สปช. ที่ปรึกษา เลขานุการ คณะทํางานทางการเมืองของ สปช. รวมเป็นเงิน 534,074,700 บาท นอกจากนั้นยังมีวงเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของสปช. ใน กฎหมายงบประมาณแผ่นดินมีจำนวนเงิน 182,400,000 บาท ดังนั้น งบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในการดำเนินงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติใช้เม็ดเงินมากกว่า 700 ล้านบาท
ตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา สปช. ทำหน้าที่ “ศึกษา” แนวทางการปฏิรูปด้วยหลักคิดที่มีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น และรายงานผลการศึกษาก็ระบุแต่สภาพปัญหา โดยแทบจะไม่มีข้อเสนออะไรใหม่ เป็นเพียงนำข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปชุดก่อนๆ รัฐบาลในอดีต ตลอดจนหน่วยราชการ และสถาบันวิจัยต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมาเสนอใหม่
เทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสปช. กล่าวไว้ในงาน “สปช.รายงานประชาชน” ตอนหนึ่งว่า สปช. เป็นสภาวิชาการ หากรัฐบาลมองว่าเรื่องไหนดีก็นำไปปฏิบัติ โดยยกตัวอย่างผลงานที่เป็นรูปธรรมของ สปช. 2 เรื่อง คือ ข้อเสนอคัดค้านสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งได้เสนอต่อรัฐบาล และ ข้อเสนอเรื่องการเก็บค่าโทรศัพท์เป็นวินาที ซึ่งได้เสนอต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปแล้ว
ส่วนผลงานอื่นๆ ที่สำเร็จเป็นรูปธรรมยังไม่มีปรากฏให้เห็นว่าสามารถตอบสนองความฝันการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ที่ประชาชนจำนวนหนึ่งกำลังเฝ้ารอ อันเป็นภารกิจที่คณะรัฐประหารใช้อ้างในการเข้ายึดอำนาจและยังคงรักษาอำนาจอยู่ในตำแหน่งได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น