วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

85 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสร้าง 'รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างและเพิ่งล้ม' (เฉพาะการประชุม)


สำรวจค่าใช้จ่ายในการร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งล้มไป พบมีการใช้เงินประมาณ 85 ล้านบาท ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ(เฉพาะการประชุม) ใช้เวลาไปราว 10 เดือน
หลังจากเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมมาธิการยกร่างฯ ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ 135 เสียง เห็นชอบ 105 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง เป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป และวงจรการเมืองไทยเตรียมที่จะเดินหน้าต่อไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 21 คน ขึ้นมาใหม่ภายใน 30 วัน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่
ประชาไทสำรวจค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันแรกที่มีการเปิดการประชุม จนถึงวันสุดท้ายซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยตามพระราชกฤษฎีกา เงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น ของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่งพ.ศ.2557 มาตรา 4 ได้ระบะว่า “ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งๆ ละหกพันบาท สําหรับผู้ทําหน้าที่ประธานให้ได้รับเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้นอีกสามพันบาท...” โดยที่ผ่านมาทั้งหมดคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมกันไปทั้งสิ้น 158 ครั้ง ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 2557 – 2 ก.ย. 2558
หากคิดค่าเบี้ยประชุมทั้งหมดจะได้จำนวน 34,602,000 บาท แบ่งเป็นเบี้ยประชุมของผู้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 1,422,000 บาท และเบี้ยประชุมสำหรับกรรมการธิการยกร่าง 33,180,00 บาท เฉลี่ยคนละ 948,000 บาท
นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2557 เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ได้เห็นชอบในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการภายในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูป 18 คณะ และสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยในส่วนของคณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มีการวางกรอบงบประมาณไว้ทั้งสิ้น 50,684,600 บาท โดยแบ่งรายละเอียดงบประมาณไว้ดังนี้ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ จำนวน 975,000 บาท ค่าอาหารเลี้ยงรับรองกรรมการธิการและคณะอนุกรรมาธิการ จำนวน 23,709,600 บาท ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 10,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา 16,000,000 บาท
รวมงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องการกับร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 85,286,600 บาท
หมายเหตุ1: มีการแก้ไขพาดหัวข่าวโดยการใส่วงเล็บ (เฉพาะการประชุม)
หมายเหตุ2:รายงานชิ้นนี้ยังไม่ได้คำนวนจำนวนเงินที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญในส่วน สภาปฏิรูปแห่งชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น