7 ก.ย.2558 สำนักข่าวไทย รายงานถึงความเห็นประเด็นโรดแมปต่อจากนี้ของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หลังจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดย วิษณุ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ (8 ก.ย.) จะหารือถึงแนวทางต่อไป โดยตนจะสรุปชี้แจงให้เห็นโรดแมปว่าจะเป็นอย่างไร เช่น การตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอีก 200 คน
“การบริหารเวลาที่มีต่อจากนี้ จะใช้สูตร 6+4+6+4 คือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลาร่างประมาณ 6 เดือน ร่างเสร็จทำประชามติภายใน 4 เดือน หลังประชามติผ่านใช้เวลาอีก 6 เดือนในการทำกฎหมายลูก เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ จากนั้นอีก 4 เดือนจะให้เวลาหาเสียงเลือกตั้ง จึงเท่ากับ 6+4+6+4 = 20 เดือน” วิษณุ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แต่สามารถบริหารจัดการเวลาให้สั้นลงได้ มีบางเรื่องที่ขยายเวลาหรือลดเวลาไม่ได้ คือ ช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะอาจทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบ ทั้งนี้หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา จะมีการประชุมและกำหนดแนวทาง ซึ่งทั้ง 21 คนจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้วิธีใดให้การร่างรัฐธรรมนูญออกมาเร็ว อาจหยิบรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาปรับใช้ หรืออาจนำฉบับล่าสุดที่ไม่ผ่านการรับร่างฯ มาปรับใช้ โดยนำส่วนดี และตัดในส่วนที่กังวลออก
วิษณุ กล่าวถึงคุณสมบัติของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย แต่ต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการร่างรัฐธรรมนูญ อาจเป็นนักเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ เข้าใจการเมือง วิถีชีวิตคนไทยในทุกมิติ ซึ่งเข้าใจว่าตอนนี้คงมีแมวมองเมียงมองไว้แล้ว อาจจะเกิน 21 คนด้วยซ้ำ แต่เมื่อถึงเวลาจริง คสช.ทั้งคณะคงเรียกมาพูดคุยทั้งหมดว่า จะสามารถเข้ามารับหน้าที่ได้หรือไม่ เพราะบางคนมีความสามารถแต่อาจติดขัดหน้าที่เดิมอยู่
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เชื่อว่า คสช.จะสรรหาคนได้ครบ โดยรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เกิน 20 คน รวมประธาน 1 คน ซึ่งไม่จำเป็นต้องครบ 21 คนก็ได้ และไม่จำเป็นว่ากรรมการยกร่างฯ ต้องมีความเห็นสอดคล้องกับรัฐบาล แต่ก็ไม่ถึงขั้นเลือกคนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม คาดว่าจะสรรหาได้ทันตามเวลาที่กำหนด และมีเวลาถึง 6 ตุลาคม
เมื่อถามว่าปัจจัยที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับไม่รับร่างฯ ตกไป เป็นเพราะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า จากนี้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญคณะใหม่ต้องใส่ใจและต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าหากไม่มี คปป. ปัญหาจะยังอยู่หรือไม่
เมื่อถามว่า จะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร ไม่ให้มองว่าสืบทอดอำนาจ วิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน กรรมการยกร่างฯ ทั้ง 21 คน ต้องทำให้เห็นว่าไม่ได้สร้างกลไกสำหรับสืบทอดอำนาจ เช่นเดียวกับ ครม. และ คสช. ขณะที่นักการเมือง ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าจะไม่สืบทอดภารกิจหรือประพฤติแบบเก่าที่เคยทำ หากทำได้สังคมจึงจะอยู่ได้ ต้องช่วยกันทุกฝ่าย ต้องยอมรับว่าประเทศบอบช้ำมามาก ควรตั้งใจและหันหน้าเข้าหากัน สมานฉันท์ปรองดอง ประเทศชาติก็จะๆ ได้ประโยชน์ แต่ตอนนี้ ดูกั๊กๆ กันอยู่
ต่อข้อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าร่างใหม่จะไม่มี คปป. และนายกรัฐมนตรีคนนอก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่กรรมการร่างฯ จะเป็นผู้คิด และขณะนี้เชื่อว่ามีฝ่ายที่รวบรวมข้อมูลเสียงสะท้อนจากร่างฯ ที่ผ่านมา เค้ามีวิธีการวัดความพึงพอใจ ส่วนตัวเชื่อว่ามีหลายสาเหตุ ที่สปช.ไม่รับร่างฯ ประมาณ 6-7 เหตุผลหลักๆ เพราะ สปช. มี 247 คน ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกัน รวมถึงคนที่รับร่างฯ ก็มีเหตุผลของเขา แต่ตนจะไม่ขอระบุว่าเป็นเพราะอะไร เพราะไม่รู้จริง เมื่อถามว่าหากร่างฯ ใหม่ยังไม่ผ่านอีกจะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้เขียนไกลขนาดนั้น แต่จากนี้อาจต้องคิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น