17 ธ.ค.2558 สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายธเนตร อนันตวงษ์ โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และกระตุ้นทางการไทยอนุญาตให้เขาและผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ ทุกคน สามารถติดต่อกับครอบครัวและทนายความได้ ต้องขึ้นศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ตามที่เลือกได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีการปิดกั้น และให้กำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในสถานที่ควบคุมตัวเหล่านั้น และให้มีการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ ซึ่งการรณรงค์และดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 27 ม.ค. 2559
โดยปฏิบัติการดังกล่าวของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ทางการไทยควบคุมตัวนักกิจกรรมหรือ นายธเนตร อนันตวงษ์ ไปจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 58 ระหว่างเข้ารับการรักษาพยาบาล ปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัวของกองทัพ โดยไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม และไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวหรือทนายความได้ ซึ่งเขาอาจได้รับโทษจำคุกนานถึง 27 ปีเนื่องจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก
เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้ควบคุมตัว นายธเนตร อายุ 25 ปี จากห้องผู้ป่วยโรงพยาบาลสิรินธร กรุงเทพฯ เมื่อเวลาประมาณ 12.10 น. ของวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา เขาได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลแห่งนี้เนื่องจากอาการป่วยหลายอาการ รวมทั้งลำไส้อักเสบ ปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี มณฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ โดยไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม และไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวหรือทนายความได้ ทางการแจ้งต่อครอบครัวของเขาว่าอาการของเขาแย่ลงและขอให้ครอบครัวนำยามามอบให้ แต่ปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยม ที่ผ่านมามีความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำแห่งนี้ ภายหลังจากมีผู้ถูกควบคุมตัวสองรายเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมา
นายธเนตร อาจได้รับโทษจำคุกนานถึง 27 ปีในข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากการแชร์ภาพอินโฟกราฟิกในเฟซบุ๊ก ซึ่งกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกควบคุมตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมงเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. หลังจากที่ทางการได้คุมตัวนักกิจกรรม 37 คนจากขบวนรถไฟระหว่างมุ่งหน้าไปยังอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นให้เห็นข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น การจับตัว นายธเนตร จากโรงพยาบาล และการปฏิเสธหรือหน่วงเหนี่ยวไม่ให้เขาได้รับการรักษาพยาบาล อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี
ทางการไทยยังคงดำเนินคดีและควบคุมตัวบุคคลที่ถูกมองว่าวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะต่อรัฐบาลหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์บนอินเตอร์เน็ต ทางการไทยยังควบคุมตัวบุคคลในข้อหาเหล่านี้โดยเป็นการควบคุมตัวในค่ายทหารและไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างชัดเจนที่จะเกิดการทรมานและการปฏิบัติในรูปแบบอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี
แอมเนสตี้ฯ จึงเชิญชวนให้เขียนส่งจดหมายถึงทางการไทยโดยมีข้อเรียกร้องดังนี้ เรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวนายธเนตร อนันตวงษ์โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข กระตุ้นให้ทางการไทยอนุญาตให้เขาและผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่น ๆ ทุกคน สามารถติดต่อกับครอบครัวและทนายความได้ ต้องขึ้นศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ สามรถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่เป็นอิสระตามที่เลือกได้อย่างเต็มที่ไม่มีการปิดกั้น และให้กำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในสถานที่ควบคุมตัวเหล่านั้น และให้มีการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ และย้ำเตือนทางการไทยให้ทราบถึงพันธกรณีของตนที่จะไม่ควบคุมตัว คุกคาม หรือลงโทษบุคคลเพียงเพราะการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือการสมาคมอย่างสงบ
พร้อมระบุที่อยู่ที่จะส่งจดหมาย ก่อนวันที่ 27 ม.ค. 59 ไปยัง นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต กรุงเทพฯ 10300 ประเทศไทย โทรสาร +66 2 282 5131 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย กระทรวงการต่างประเทศ ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย โทรสาร +66 2 643 5320 / +66 2 643 5314 อีเมล์ minister@mfa.go.th
แอมเนสตี้ฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยดังนี้ :
บุคคลที่ถูกควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการและในสถานที่ควบคุมตัวของกองทัพโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกทรมาน ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรายงานหลายครั้งว่าเกิดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในสถานการณ์เช่นนี้ รวมทั้งนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ทั้งยังมีความกังวลว่าผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ
ที่ผ่านมาทางการไทยตั้งข้อหาและดำเนินคดีกับบุคคลโดยใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและใช้กฎหมายความมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการยุยงปลุกปั่น ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์เพื่อปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบต่อการปกครองประเทศและการดำเนินงานของทางการ โดยมีการเอาผิดกับการกระทำอย่างเช่น การแชร์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ การคลิกปุ่ม ‘ไลค์’ ภาพในเฟซบุ๊คที่เสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์ และการประท้วงอย่างสงบต่อการปกครองของกองทัพ
ทางการไทยได้ดำเนินคดีกับบุคคลจำนวนมากจากการแสดงความเห็นอย่างสงบเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านเฟซบุ๊ก และได้ส่งสัญญาณว่าจะเพิ่มการปราบปรามมากขึ้น การควบคุมตัวนายธเนตร อนันตวงษ์ เกิดขึ้นภายหลังการควบคุมตัวและการหายตัวไปชั่วคราวของนายฐนกร ศิริไพบูลย์ คนงานโรงงานอายุ 27 ปี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม นายฐนกรอาจได้รับโทษจำคุกถึง 32 ปีเนื่องจากการแชร์ภาพอินโฟกราฟิกเดียวกันบนเฟซบุ๊ก และการคลิกปุ่มไลค์ภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับสุนัขทรงเลี้ยง และเสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์
ในขณะที่กองทัพมีบทบาทมากขึ้นในการบริหารงานยุติธรรม ทางการไทยกลับล้มเหลวในการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมตัวบุคคล ทางกองทัพยังใช้อำนาจอย่างกว้างขวางที่มีอยู่เพื่อจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่เป็นพลเรือนโดยพลการ พวกเขามักถูกควบคุมตัวโดยไม่มีข้อกล่าวหาและไม่สามารถเข้าถึงทนายความและครอบครัว ทางกองทัพได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งในสถานที่ของกองทัพ และล่าสุดมีการควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี มณฑลทหารบกที่ 11 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเพิ่งมีการจัดตั้งขึ้น นอกจากความกังวลเกี่ยวกับพลเรือนที่ถูกควบคุมตัวในสถานที่ของกองทัพแล้ว ยังมีความกังวลร้ายแรงต่อความปลอดภัยของบุคคลที่ถูกควบคุมตัวในสถานที่เหล่านี้ ภายหลังเกิดการเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสองคนเมื่อปลายเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
บุคคลที่ถูกควบคุมตัวย่อมมีสิทธิเข้าถึงมาตรฐานด้านการดูแลสุขภาพสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ การไม่อนุญาตให้มีการรักษาพยาบาลที่เพียงพอเป็นการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพ รวมทั้งเป็นการละเมิดข้อห้ามต่อการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยัง กังวลว่า ทางการได้ละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือน ในความผิดต่อความมั่นคงแห่งชาติและความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ และการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมาศาลทหารกรุงเทพฯ ได้ยกคำร้องอย่างรวบรัดซึ่งเป็นคำร้องให้ทบทวนเขตอำนาจของศาลทหารในการไต่สวนคดีต่อพลเรือน และคำร้องเกี่ยวกับคำวินิจฉัยว่าการใช้ศาลทหารไม่สอดคล้องกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย ทางการยังได้ปฏิเสธไม่ให้มีการประกันตัวผู้ต้องสงสัยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเป็นระบบ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดู Martial Law Detainees at risk of torture (Index: ASA 39/1266/2015; https://www.amnesty.org/en/documents/ASA39/1266/2015/en/), Thailand, Attitude Adjustment(Index number: ASA 39/011/2014
https://www.amnesty.org/en/documents/ASA39/011/2014/en/) และ Thailand, Torture in the Southern Counter-insurgency (Index number: ASA 39/001/2009, https://www.amnesty.org/en/documents/ASA39/001/2009/en/).
|
โดยแอมเนสตี้ฯ ระบุด้วยว่า สมาชิกแอมเนสตี้ฯ ในประเทศไทยไม่ได้รับการร้องขอให้ส่งจดหมายยื่นข้อเรียกร้องสำหรับกรณีนี้ ปฏิบัติการด่วนนี้ใช้สำหรับเป็นข้อมูลแจ้งให้ทราบเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น