วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

โฆษกศาลยุติธรรมยันไม่มีคำพิพากษาประหารชีวิต แกนนำแดงอุบลฯคดีเผาศาลากลาง


โฆษกศาลยุติธรรม เกรงประชาชนส่วนใหญ่อาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ยันไม่มีคำพิพากษาประหารชีวิต แกนนำแดงอุบลฯคดีเผาศาลากลาง 
17 ธ.ค.2558 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ทีผ่านมา ศาลจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 วัฒนา จันทศิลป์ ทนายความของ 13 จำเลยในคดีนี้เปิดเผยข้อมูลว่า ศาลฎีกากลับคำพิพากษาในส่วนของจำเลยหลายคน บางคนจากที่เคยยกฟ้องในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็กลับถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในชั้นศาลฏีกา หลายรายได้รับโทษจำคุก 1-2 ปีก่อนหน้านี้ก็ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่ลดเหลือ 33 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลย 4 รายเดิมที่ถูกคุมขังมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2553 ด้วยโทษ 33 ปี 12 เดือนนั้นศาลฏีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ลดเหลือ 33 ปี 4 เดือน 
โดยเฉพาะ ดีเจต้อย พิเชษฐ์ ทาบุดา ดีเจและแกนนำกลุ่มชักธงรบ ซึ่งเป็นกลุ่มมวลชนขนาดใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี จากเดิมที่ถูกตัดสินจำคุก 1 ปีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นั้น ในชั้นศาลฎีกาถูกพิพากษาให้ได้รับโทษจำคุกหนักที่สุดในบรรดาจำเลยทั้งหมด 13 ราย คือ ประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้(17 ธ.ค.) สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวชี้แจงผ่านเอกสาร ของกองสารนิเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม ว่า กรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จ.อุบลราชธานี นำโดยนายพิเชษฐ์ ทาบุตดา พร้อมพวก รวม 20 คน ซึ่งเป็นจำเลยในการก่อเหตุวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 โดยศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 และประชาชนส่วนใหญ่อาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำพิพากษาดังกล่าวว่าศาลฎีกาสั่งประหารชีวิต
จึงขอชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแก้ ให้นายพิเชษฐ์ ทาบุตดา จำเลยที่ 1 และนายชัชวาล ศรีจันดา จำเลยที่ 11 จำคุกตลอดชีวิต พิพากษาให้นางอรอนงค์ บรรพชาติ จำเลยที่ 2 นางสาวปัทมา มูลมิล จำเลยที่ 5 นายลิขิต สุทธิพันธ์ จำเลยที่ 7 นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ จำเลยที่ 9 นายสนอง เกตุสุวรรณ จำเลยที่ 12 และนายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ จำเลยที่ 17 จำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน และพิพากษาให้จ่าสิบเอกสมจิตร สุทธิพันธ์ จำเลยที่ 16 จำคุก 1 ปี รวมจำเลยที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแก้ทั้งสิ้น 9 คน นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
 
ทั้งนี้ โฆษกศาลยุติธรรม ยืนยันว่า คำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกา ไม่ปรากฏโทษประหารชีวิตตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ศาลจังหวัดอุบัลฯ อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าวในวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ไม่ใช่ 16 ธ.ค.2558 ดังที่โฆษกศาลยุติธรรมกล่าว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น