ปกรณ์ อารีกุล จากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ แถลงหลังศาลจังหวัดราชบุรีอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา 5 ราย คดี พ.ร.บ.ประชามติ โดยเขาแสดงความห่วงใยไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งดูแลการลงประชามติว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนั้น แสดงให้เห็นว่าแค่มีเอกสารไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกจับกุมแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปการรณรงค์ประชามติ ประชาชนที่เห็นต่างจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแสดงออกได้เลย
บรรยากาศหลังศาลอนุมัติปล่อยตัวผู้ต้องหาคดี พ.ร.บ.ประชามติ 5 ราย ด้านทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไทที่ถูกพ่วงจับกุมไปด้วยแถลงหลังได้รับการปล่อยตัวว่าถือว่าการลงพื้นที่แล้วถูกจับกุมที่ สภ.บ้านโป่ง นั้นเป็นการรายงานข่าวชิ้นหนึ่งก็แล้วกัน ยืนยันทำหน้าที่สื่อต่อไป
เหน่อ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ แถลงหลังได้รับการประกันตัวที่ศาลจังหวัดราชบุรี เผยเช้าวันที่ 10 กรกฎาคม มารายงานตัวที่ สภ.บ้านโป่ง ร่วมกับประชาชนอีก 18 ราย คดีตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ฐานขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ต่อมาในช่วงค่ำถูกจับถึงบ้านข้อหาฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 นำไปคุมขังที่ สภ.บ้านโป่ง ก่อนส่งฟ้องศาลเช้าวันถัดมา
ภานุวัฒน์กล่าวด้วยว่า เขาเชื่อว่าการตรวจสอบก่อนมีการประชามติจะช่วยทำให้กระบวนการมีความโปร่งและชอบธรรมมากขึ้น "ยิ่งเราตรวจสอบ ประชามติจะมีความชอบธรรม" อย่างไรก็ตามเขาก็มาถูกจับในช่วงเย็นวันดังกล่าว โดยเขายังยกความเห็นของนักปรัชญาการเมืองยุโรป จอห์น ล็อค และโธมัส ฮอบ ที่อธิบายว่ากฎหมายที่ดีต้องมีลักษณะเป็นสัญญาประชาคม คือประชาชนมีส่วนร่วม ถ้ากฎหมายไม่ได้มาจากส่วนร่วมของประชาชน ความชอบธรรมย่อมลดลงด้วย เหมือนร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่มีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว ก็ขอให้ท่านพิจารณากันเองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
11 ก.ค.2559 เมื่อเวลาประมาณ 16.45 น. ศาลจังหวัดราชบุรีอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา 5 รายที่ถูกจับกุมเนื่องจากมีเอกสารประชามติในครอบครองและมีพฤติการณ์เชื่อว่าจะมีการแจกเอกสารถูกตั้งข้อหาความผิดตามมาตรา 61 วรรค 2 พ.ร.บ.ประชามติ ศาลกำหนดให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสดรายละ 140,000 บาท รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ต้องหาซึ่งเป็นนักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 4 รายใช้เงินสดจากกองทุนการประกันตัวที่อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิเปิดระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีการเมือง ขณะที่ทวีศักดิ์ เกิดโภคา นักข่าวประชาไทนั้นใช้เงินจากองค์กรต้นสังกัด
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากช่วงเที่ยงวานนี้ (10 ก.ค.) หลังจากตัวแทนกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) เข้าเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มชาวบ้านราชบุรีที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.จากการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ จากนั้นตำรวจ สภ.บ้านโป่งได้เข้าตรวจค้นรถนายปกรณ์ อารีกุล หรือแมน สมชิก NDM พบเอกสารรณรงค์จึงควบคุมตัวสมาชิก NDM 3 ราย คือ ปกรณ์ อารีกุล, อนันต์ โลเกตุ และ อนุชา รุ่งมรกต รวมถึงทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไทที่โดยสารในรถคัดเดียวกันเพื่อลงพื้นที่ทำข่าวไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการไปควบคุมตัว เหน่อ หรือ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้จากบ้านพักในจังหวัดราชบุรีมาเพิ่มเติมในช่วงค่ำทั้ง 5 คนถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดตาม มาตรา 61 วรรค 2 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จากกรณีเจ้าหน้าที่พบมีเอกสารรณรงค์ประชามติในรถกระบะดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีพฤติการณ์เตรียมแจกจ่ายเอกสาร (อ่านข่าวที่นี่) จากนั้นในเช้าวันนี้ตำรวจจึงนำตัวทั้งหมดมาขออำนาจศาลจังหวัดราชบุรีเพื่อฝากขัง 12 วัน (อ่านข่าวได้ที่นี่)
หลังจากผู้ต้องหาทั้งหมดมาศาล ต่อมาเวลา 14.00 น. ศาลไต่สวนคำร้องขอฝากขังในคดีดังกล่าว โดยมี ร.ต.อ.ยุทธนา ภูเก้าแก้ว ร้อยเวร สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผู้ยื่นคำร้องขอฝากขังและคัดค้านการประกันตัว ชี้แจงเหตุผลระบุว่า จำเป็นต้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดเพราะยังทำสำนวนสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มเติมเป็นทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองผู้จับกุมอีก 3 ปาก เจ้าของรถกระบะของกลาง 1 ปาก และพยานบุคคลที่ฝ่ายผู้ต้องหากล่าวอ้าง 1 ปาก คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 10 วันและใช้เวลาตรวจสอบลายนิ้วมือผู้ต้องหาที่ 5 อีกประมาณ 3 อาทิตย์
ร.ต.อ.ยุทธนา ตอบคำถามทนายด้วยว่า รับทราบแล้วว่าผู้ต้องหานั้นเป็นนักศึกษา 2 คน เป็นนักข่าว 1 คน และเป็นนักกิจกรรมอีก 2 คน
ร.ต.อ.ยุทธนากล่าวว่า เหตุที่คัดค้านการขอประกันตัวเพราะเป็นคดีที่มีโทษสูง เมื่อพบเอกสารในรถ จึงเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อความไม่สงบเรียบร้อยประการอื่นอีก
อย่างไรก็ตาม ศาลถามเพิ่มเติมถึงพฤติการณ์การจับกุม เขากล่าวว่า พนักงานชุดจับกุมพบเอกสารแผ่นพับสื่อต่างๆ รวม 19 รายการ ถือว่ามีพฤติการณ์เป็นการปลุกระดม แต่ยังไม่มีพฤติการณ์นำเอกสารไปแจก
นายปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในผู้ต้องหาแถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า เขาเชื่อโดยสนิทใจและบริสุทธิ์ใจว่าการรณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย และมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติยังกำหนดรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต เอกสารต่างๆ ที่มีนั้นเป็นเอกสารสาธารณะและที่ผ่านมาก็เคยแจกเอกสารเหล่านี้ต่อหน้าเจ้าพนักงาน ตำรวจ ทหาร กกต. มาแล้ว คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีการจับกุมดังเช่นกรณีนี้ นอกจากนี้การบรรยายการจับกุมนั้นยังผิดไปจากข้อเท็จจริง เนื่องจากตนอยู่ที่ สภ.บ้านโป่ง 2 ชม. เพื่อให้กำลังใจกลุ่มประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาซึ่งมารับทราบข้อหาคดีเปิดศูนย์ปราบโกงฯ โดยไม่มีการแจกเอกสารแต่อย่างใด ยืนยันว่าไม่มีการเผยแพร่ และเมื่อกลับไปที่รถ มีเจ้าหน้าที่หยิบเอกสารดังกล่าวออกมาหรือแตะต้องของกลางก่อนแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงแสดงตนเพื่อขอตรวจค้น ไม่ใช่การแสดงตนเพื่อขอจับกุม ซึ่งตนเองก็ยินดีให้ตรวจค้นโดยสุจริตใจ ดังนั้นในบันทึกการจับกุมจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และคิดว่าการจับกุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฏหมาย เนื่องจากตนได้รับเชิญตัวให้ขึ้นไปบน สภ. เพื่อรอการตรวจค้นเท่านั้น
ด้านนายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไทแถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า ในวันที่ 10 ก.ค. มีนัดหมายแหล่งข่าวเพื่อสัมภาษณ์ คือ นายอนันต์ โลเกตุ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกคุมขัง 1 ผัดพร้อมรังสิมันต์ โรมและคนอื่นๆ อนันต์เพิ่งออกจากเรือนจำสัปดาห์ก่อนและแจ้งว่าจะนั่งรถมากับสมาชิก NDM เพื่อลงพื้นที่ให้กำลังใจชาวบ้านที่ราชบุรี ตนจึงขอติดรถมาด้วยเพื่อทำการสัมภาษณ์ นอกจากนี้ยังนัดนายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย (เหน่อ) ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหารายหนึ่งจากการเปิดศูนย์ปราบโกง ที่สภ.บ้านโป่งด้วย
"ผมไม่ได้มีการแจกเอกสาร แค่ติดรถมาด้วยเท่านั้น ในระหว่างจับกุมผมก็ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่ต้นแล้วว่าเป็นผู้สื่อข่าว ติดรถมาเพื่อสัมภาษณ์ผู้ต้องหาในคดีอื่น" ทวีศักดิ์กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น