ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นศาลคดีจำนำข้าว ชี้หากให้ ส.ว. เสนอชื่อนายกฯ ได้ อาจไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ทุกฝ่ายคำนึงถึงเจตนารมณ์ประชาชน ด้าน ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ ชี้ ต้องเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อ และไม่มีข้อยกเว้น
19 ส.ค. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เวลา 08.45 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมทีมทนาย เดินทางมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีโครงการรับจำนำข้าว เพื่อขึ้นสืบพยานฝ่ายจำเลยเป็นนัดที่สอง โดยนัดนี้ ยิ่งลักษณ์ไม่จำเป็นต้องตอบคำถาม แต่จะเป็นส่วนของฝ่ายพยานตอบข้อสงสัยแก่อัยการฝ่ายโจทก์ รวมถึงการซักถามจากผู้พิพากษาองค์คณะในคดี โดยมีบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีต ส.ส. อาทิ ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรค เป็นต้น พร้อมมวลชนร่วมให้กำลังใจ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 1 กองร้อย ทั้งนี้ทันทีที่ ยิ่งลักษณ์มาถึง กลุ่มมวลชนได้มอบดอกไม้และตะโกน “นายกฯ ปูสู้ๆ”
ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าศาลถึงกรณีมีบาง ฝ่ายกล่าวหา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดชายแดนใต้ว่า นายทักษิณได้ปฏิเสธและส่งทนายดำเนินคดีแล้ว ส่วนตนอยากให้ผู้เกี่ยวข้องสืบเรื่องให้ชัดเจนก่อน
ยิ่งลักษณ์ กล่าวกรณีเอกสารลับการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้นโยบายอย่าให้ความเป็นธรรม สั่งเร่งรัดดำเนินคดีว่า ตนหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม เพราะคดีนี้เป็นคดีสำคัญ ตนคงพูดได้เท่านี้
ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงกระบวนการแก้ไขคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่พยายามจะให้ ส.ว.เลือกนายกฯ และจะขอลดขั้นตอนการเสนอชื่อนายกฯคนนอก ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญว่า อยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนเพราะการเลือกนายกฯ ต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองก่อนซึ่งเป็นเจตนารมณ์เริ่มต้น ส่วนจะไปตีความขยายอะไร อย่างไรนั้นขอให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนว่าประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างไร การขยายความอะไรต้องคำนึงถึงกรอบที่ได้เสนอไว้เริ่มต้นด้วย อย่างไรก็ตามหากสุดท้าย ส.ว.เสนอนายกฯ คนนอกขึ้นจริงก็หวังว่าทุกฝ่ายจะไม่ทำอะไรผิดเจตนารมณ์แและเคารพเสียงของประชาชน แม้ผลประชามติจะออกมาอย่างไร อยากให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคำนึงถึงเจตนารมณ์นี้เพราะหากเดินหน้าตามกติกา ทุกอย่างก็จะเข้าสู่ความสงบ
เมื่อถามถึงกรณีหากมีการแก้ข้อกฎหมายให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯได้ ชูศักดิ์กล่าวว่า บทถาวรของรัฐธรรมนูญให้เลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ ดังนั้น เบื้องต้นจำเป็นต้องเลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประชามติตามคำถามพ่วง แต่ชั้นแรก ส.ว.สามารถร่วมเลือกได้ก็หมายความว่าทั้งบทถาวรถูกต้อง และคำถามพ่วงตามประชามตินั้นถูกต้อง ไปด้วยกันได้
เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้การเปิดช่องให้นายกฯ เข้ามาสูงมาก จะเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นมาอีกหรือไม่ ชูศักดิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคำถามพ่วงตามประชามติ เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบกับคำถามพ่วง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องบรรจุคำถามพ่วงไป แต่ยืนยันหลักการเดิมคือ ต้องเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อ และไม่มีข้อยกเว้น คำถามพ่วงไม่สามารถมาลบล้างหลักการนี้ จำเป็นต้องเดินตามนี้
เมื่อถามว่า หากเป็นไปตามข้อเสนอดังกล่าว พรรคเพื่อไทย จะมีท่าทีอย่างไรต่อไป ชูศักดิ์กล่าวว่า ท้ายที่สุดเรื่องนี้ต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยว่าที่ร่างกันมานั้น สอดคล้องต้องกันกับบทถาวรและคำถามพ่วงหรือไม่
เมื่อถามถึงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเซตซีโร่พรรคการเมือง ชูศักดิ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วกฎหมายพรรคการเมืองที่จะร่างขึ้นมีรัฐธรรมนูญกำกับอยู่แล้ว ว่าจะต้องร่างในแนวทางอย่างไร ดังนั้น เราได้แต่ติดตามดูว่าแนวทางนี้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ มีอะไรนอกเหนือจากแนวทางที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้หรือไม่ ค่อยมาว่ากันต่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น