19 ต.ค. 2559 เว็บไซต์ สำนักราชเลขาธิการ ได้มีการปรับรายนามคณะองคมนตรีปัจุบัน โดยมี ธานินทร์ กรัยวิเชียร ทำหน้าที่ประธานองคมนตรี จากเดิมเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมองคมนตรี แต่งตั้ง ธานินทร์ เป็นประธานองคมนตรี คนใหม่ ว่า เนื่องจากพล.อ.เปรม ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 24 ซึ่งเมื่อประธานองคมนตรี ไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีได้ เพื่อเป็นการแยกการปฏิบัติหน้าที่ และรัฐธรรมนูญมาตรา 25 บัญญติให้คณะองคมนตรี เลือก องคมนตรี มาปฎิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี เป็นการชั่วคราว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะองคมนตรี ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค. และเลือก ธานินทร์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีชั่วคราว และเมื่อพล.อ.เปรม พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็สามารถกลับมาเป็นประธานองคมนตรีได้ตามปกติ ไม่ต้องมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่
วิษณุ กล่าวว่า เมื่อสิ้นรัชกาลไม่มีกฏหมายให้เปลี่ยนคณะองคมนตรี แต่ขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัย ของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ที่จะทรงวินิจฉัย
สำหรับรายนาม คณะองค์คมนตรีปัจจุบัน นอกจาก ธานินทร์ แล้ว ยังมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เชาวน์ ณศีลวันต์ พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ อำพล เสนาณรงค์ พล.ร.อ.หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช หม่อมราชวงศ์เทพกมล เทวกุล เกษม วัฒนชัย พลากร สุวรรณรัฐ พล.ร.อ.ชุมพล ปัจจุสานนท์ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ ศุภชัย ภู่งาม ชาญชัย ลิขิตจิตถะ และ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข
ธานินทร์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ภายหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยการนำของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 หลังเกิดเหตุล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลของ ธานินทร์มีนโยบายโดดเด่นคือการต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่กำลังมีอิทธิพลอย่างสูงในขณะนั้น มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชน โดยอิศรา รายงานด้วยว่า มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ด้วยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 หรือ ปร.42 ที่ออกมาในปี 2519 ถึง 22 ครั้ง
ภายหลังจากที่มีการรัฐประหารรัฐบาลธานินทร์ ในเดือน ต.ค. 2520 ธานินทร์ ได้รับแต่งตั้ง ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และได้ดำรงตำแหน่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน
จม.ถึง 'ประยุทธ์' ชงแนวทางปฏิรูป เมื่อต้นปี
สำหรับธานินทร์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้จดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งประชาชาติธุรกิจได้นำมาเผยแพร่เมื่อวเนที่ 10 ม.ค.59 โดยกล่าวถึงวิกฤตการณ์ในด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย การพาณิชย์นาวี ปัญหาการขุดคอคอดกระ การปฏิรูประบบราชการตำรวจ
โดยระบุว่า
ตามที่รัฐบาลได้เคยเชื้อเชิญให้ประชาชนชาวไทยร่วมแสดงความคิดเห็นในการปฏิรูปประเทศและปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผมในฐานะประชาชนชาวไทยคนหนึ่งได้เคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องเหล่านี้มาแล้วหลายครั้ง แต่เป็นการส่งจดหมายโดยตรงถึงนายกรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งผมคิดว่า การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวแม้จะทำในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ก็ควรจะได้เปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างกว้างขวาง จึงขอเปลี่ยนรูปแบบการแสดงความคิดเห็นมาเป็นจดหมายเปิดผนึก เพื่อที่จะมีการพิจารณาในวงกว้างและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้มากขึ้น
เรื่องที่ผมเสนอให้มีการพิจารณาร่วมกันในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ มีดังต่อไปนี้
วิกฤตการณ์ในด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเริ่มกิจการด้านการบินพลเรือนในประเทศไทย โดยการจัดตั้งบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด แต่ในระยะแรกเรายังขาดความพร้อมและความรู้ต่างๆ ในด้านการบินพลเรือน จึงได้ร่วมทุนกับสายการบินสแกนดิเนเวียน (Scandinavian Airlines System: SAS) อันเป็นสายการบินของเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ ซึ่งได้ช่วยเหลือเราตั้งแต่ก่อร่างสร้างตัว ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเครื่องบิน การอบรมนักบินและบุคลากรด้านการบิน การจัดการสนามบินและระบบการบินทั้งหมด โดย SAS โอบอุ้มเราอย่างมิตรแท้เป็นเวลา 17 ปี จนบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ได้เริ่มดำเนินการเองใน พ.ศ.2520 และพัฒนากิจการให้เจริญรุ่งเรืองมาเป็นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งในปัจจุบันกลับกลายเป็นองค์กรที่ประสบปัญหาอย่างหนักจากการบริหารงานที่บกพร่อง และปัญหาการขาดทุนอย่างมหาศาล ทั้งยังถูกลดระดับความน่าเชื่อถือด้านมาตรฐานความปลอดภัยโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) องค์กรการบินพลเรือนญี่ปุ่น (Japan Civil Aviation Bureau : JCAB) และสำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA) หรืออาจกล่าวได้ว่าเราสอบไล่ตกในด้านมาตรฐานการบิน จนเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์การบินไทย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าการบริหารงานที่ขาดตกบกพร่องจนทำให้ประเทศชาติเสียหายและขาดความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศนี้เกิดจากสาเหตุใด และสมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาถึงความผิดพลาดดังกล่าว
จะเห็นได้ว่าวิกฤตการณ์ด้านการบินพลเรือนที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการที่มาตรฐานด้านการบินพลเรือนของประเทศไทยไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล กล่าวคือ การปฏิบัติงานด้านการบินพลเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด การทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยปละละเลย และไม่ควบคุมดูแลจนทำให้เกิดวิกฤตการณ์อันส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการบินพลเรือน ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันก็เข้ามาแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีปัญหาอีกมากที่จะต้องรับภาระและทุ่มเทกำลังสติปัญญาความรู้ความสามารถ โดยต้องกู้วิกฤตให้มาตรฐานด้านการบินของประเทศเรากลับเข้าสู่มาตรฐานสากลก่อนในเบื้องต้น จากนั้นแล้วจะต้องพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้ก้าวสู่มาตรฐานที่เป็นเลิศ โดยอย่างน้อยให้อยู่ในระดับหนึ่งในสิบของบรรดาประเทศที่มีมาตรฐานการบินชั้นนำของโลกก็จะเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจการบินของประเทศเรา เพราะนานาประเทศต่างมุ่งหวังที่จะใช้บริการบริษัทการบินของประเทศที่มีมาตรฐานด้านการบินพลเรือนที่เป็นเลิศ
อุปสรรคบางประการแต่หนหลังที่น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับการวางแผนในภายหน้า
ผมเห็นว่าเราควรจะนำวิกฤตการณ์ด้านการบินพลเรือนด้านอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนในการดำเนินการงานเพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นซ้ำอีก โดยผมขอยกตัวอย่างให้พิจารณาใน 3 กรณี ดังต่อไปนี้
กรณีแรก ปัญหาการให้สิทธิประโยชน์อย่างเกินสมควรแก่กรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อันกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท เป็นต้นว่า การกำหนดให้สิทธิประโยชน์ด้านบัตรโดยสารแก่กรรมการบริษัทอย่างไม่จำกัดจำนวนตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง นอกจากนี้ ในบางปียังมีสิทธิพิเศษอื่นๆ ในด้านบัตรโดยสารแก่ผู้ติดตามกรรมการบริษัท และอดีตกรรมการบริษัทที่พ้นวาระไปแล้วอีกด้วย จึงน่าคิดว่าการให้สิทธิประโยชน์อย่างมหาศาลนี้ย่อมทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ที่พึงจะได้รับ แล้วบริษัทจะดำรงอยู่ได้อย่างไร จนเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ บริษัทจึงได้มีการปรับลดสิทธิประโยชน์ดังกล่าว และเป็นที่น่ายินดีที่ใน พ.ศ.2557 บริษัทได้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ด้านบัตรโดยสารทั้งหมดของกรรมการบริษัท เพื่อปฏิบัติตามมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งผมเห็นว่าผู้บริหารหรือกรรมการก็ได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานเป็นจำนวนที่สูงมากอยู่แล้ว จึงไม่ควรรับสิทธิประโยชน์อื่นใดเพิ่มเติมอีก ต้องสละสิ้นทุกอย่างและมุ่งมั่นทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ ซึ่งการตัดสิทธิประโยชน์ดังกล่าวถือเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณ อันจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดทุนของบริษัทซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤตจนแทบเรียกได้ว่าเกือบจะล้มละลายได้ ดังนั้น การกำหนดสิทธิประโยชน์แก่กรรมการบริษัทจะต้องมีการวางแผนให้รอบคอบ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินการ
กรณีที่สอง การปิดท่าอากาศยานดอนเมืองเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2549 เพื่อเปิดทำการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และใช้เป็นสถานที่ซ่อมเครื่องบินฝึกบิน และจอดเครื่องบินส่วนตัวแทน แต่ต่อมาไม่ถึง 6 เดือน เมื่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีปัญหาไม่สามารถรองรับผู้โดยสารที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และการขยายท่าอากาศยานไม่เป็นไปตามแผน จึงจำเป็นจะต้องเปิดใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแบ่งเบาภาระการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2550
การปิดท่าอากาศยานดอนเมืองทั้งๆ ที่ยังมีขีดความสามารถอย่างเต็มที่ในการให้บริการรองรับผู้โดยสารจากทั่วโลก และบรรดาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันก็ต่างรุ่งเรืองมีผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจนั้น ผมเห็นว่าเป็นการขัดต่อความรู้สึกธรรมดาของคนทั่วไปเปรียบได้กับฟ้าผ่าลงมาสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน ได้แก่ ปัญหาความน่าเชื่อถือของประเทศในด้านธุรกิจการบิน เพราะเกิดความไม่มั่นใจในแผนการดำเนินงานของรัฐบาล รวมถึงความไม่สะดวกในการใช้บริการของผู้โดยสารที่ต้องย้ายระหว่างสองท่าอากาศยาน ปัญหาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ บรรดาธุรกิจร้านค้าต่างๆ ที่ประกอบการภายในท่าอากาศยานหรือบริเวณโดยรอบ ซึ่งเคยเฟื่องฟูจากการรองรับผู้โดยสารจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้า หรือโรงแรมที่พักก็ไม่มีผู้มาใช้บริการและแทบจะต้องปิดกิจการไป และปัญหาค่าใช้จ่ายจำนวนมากจากการปรับปรุงเพื่อเปิดให้บริการใหม่ นอกจากนี้ การเปลี่ยนการใช้งานเป็นสถานที่ซ่อมเครื่องบินหรือฝึกบินย่อมเป็นการใช้ประโยชน์ที่ไม่คุ้มค่าอีกด้วย จึงเป็นที่น่าคิดว่า การปิดท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อเปิดให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียวจะมีการหาผลประโยชน์จากการผูกขาดธุรกิจต่างๆ ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะโอกาสในการหาผลประโยชน์จากธุรกิจที่ท่าอากาศยานดอนเมืองนั้นมีน้อยลงจากการแข่งขันในระดับสูง ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสการพัฒนาการคมนาคมไปอย่างน่าเสียดาย แม้จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหนึ่งก็ไม่อาจชดเชยความเสียหายอย่างมหาศาลที่เกิดขึ้นแล้ว นับเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการใหญ่ของประเทศต่อไป
กรณีที่สาม ระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2553 ซึ่งผมเห็นว่าการเปิดให้บริการ Airport Rail Link มีภายหลังการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึงเกือบ 4 ปี ทำให้เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้ใช้บริการที่ต้องเดินทางไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และแต่เดิมเป็นที่เข้าใจว่าจะเป็น Airport Rail Link คือเชื่อมระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับท่าอากาศยานดอนเมือง แต่ปัจจุบันมีการเชื่อมต่อเพียงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีพญาไทเท่านั้น ซึ่งไม่เกิดประโยชน์เต็มที่แต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดและขาดการวางแผนอย่างรอบคอบ ทั้งๆ ที่ระบบการเดินทางควรพร้อมรองรับผู้โดยสารควบคู่ไปกับการเปิดใช้ท่าอากาศยาน และแม้จะมีความพยายามก่อสร้างส่วนต่อขยายถึงท่าอากาศยานดอนเมือง แต่ปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จแต่อย่างใด ซึ่งถ้าหากโครงการ Airport Rail Link เพื่อรองรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสำเร็จลุล่วงไปตามแผนแล้ว ย่อมจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้มาตรฐานการให้บริการด้านการบินของประเทศไทยก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
การวางแผนแม่บทการดำเนินงานในโครงการระยะยาว
การจะตัดสินใจดำเนินโครงการในด้านการคมนาคม ซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากและส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ผมเห็นว่าจะต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมและรอบคอบ วิเคราะห์ผลกระทบให้รอบด้าน การเจรจาต่อรองกับนานาประเทศจะต้องพิจารณาโดยละเอียด ไม่ให้เสียเปรียบประเทศอื่นได้ ทั้งยังจะต้องให้ความสำคัญกับฝ่ายวางแผนและพัฒนา (Research and Development) ที่จะเป็นผู้ชี้นำการดำเนินงานในภาพรวมทั้งหมด นอกจากนี้ ควรกำหนดแผนแม่บทในการดำเนินงาน (Master Plan) เพื่อวางแผนล่วงหน้าและทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะแนวความคิดหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่งก็คือ แนวความคิดที่ว่ารัฐบาลในแต่ละชุดจะต้องมีผลงานซึ่งเกิดจากความคิดริเริ่มของตนเอง ความคิดเช่นนี้ย่อมทำให้รัฐบาลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งวางเป้าหมายไปที่โครงการระยะสั้น อันจะทำให้ประชาชนได้ประจักษ์ในผลงานตนในทันที และเกิดความไว้วางใจลงคะแนนเสียงให้ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกในสมัยหน้า การทำหน้าที่จึงเป็นไปในทางสร้างผลงานเพื่อหาเสียง มิใช่การสร้างผลงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศชาติ ยิ่งไปกว่านั้น ทัศนคติของประชาชนหรือผู้วิจารณ์การเมืองทั้งหลายเองก็มักจะมองว่า รัฐบาลใหม่ที่ทำโครงการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อนหน้าเป็น "รัฐบาลไร้น้ำยา ไม่เก่งจริง" เพราะไม่มีความคิดริเริ่มของตนเอง ได้แต่ลอกของเก่าเท่านั้น ดังนี้ จึงทำให้รัฐบาลใหม่ไม่เต็มใจที่จะรับช่วงสานต่อโครงการระยะยาวที่แม้จะเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ การกล่าวเช่นนี้คงไม่เกินความจริงไปนัก เพราะตัวอย่างของโครงการระยะยาวที่ต้องพับเก็บไปเนื่องจากไม่มีการสานต่อเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ก็มีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์กันอยู่เนืองๆ ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดแผนแม่บทเพื่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สิ่งใดที่ดีมีการริเริ่มไว้แล้วก็ควรดำเนินการต่อไป แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ตาม
การพาณิชย์นาวี
ตามแผนงานการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ของกระทรวงคมนาคมนั้น เป็นแผนการที่ดีแล้ว แต่ผมเห็นว่ามุ่งเน้นแต่การพัฒนาโครงการภายในประเทศ เช่น การสร้างท่าเรือชายฝั่งทะเลตามจังหวัดต่างๆ ได้แก่ ชุมพร สงขลา และสตูล ซึ่งการสร้างท่าเรือดังกล่าวเป็นการสร้างท่าเรือเพื่อรอเรือฝ่ายเดียว ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์นาวี ผมเห็นว่าเราจะต้องสร้างเครือข่ายการเดินเรือเพื่อรองรับการพาณิชย์นาวีกับประเทศต่างๆ อันเป็นโครงการระหว่างประเทศ เพราะดังที่ผมเคยกล่าวไว้แล้วว่า การพาณิชย์นาวีถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง สมควรที่รัฐบาลจะดำเนินการสร้างเครือข่ายการเดินเรือและมีสำนักงานการเดินเรือในทุกประเทศที่มีการติดต่อค้าขายขนส่งสินค้ากับประเทศเรา อันจะทำให้เกิดรายได้จากการเดินเรือและเป็นประตูเชื่อมให้เกิดการลงทุนสร้างงานและอาชีพใหม่ด้านการเรือ และมีข้อที่น่าคิดว่า ประเทศไทยได้เริ่มกิจการด้านการบินพลเรือนและด้านการพาณิชย์นาวีขึ้นพร้อมกัน แต่เพราะเหตุใดการพาณิชย์นาวีจึงได้หายไปจากความสนใจของสังคม หรือเรียกว่าหายไปจากจอเรดาร์ ไม่มีผู้ทราบเรื่องน่าศึกษาและค้นคว้าว่าเหตุใดจึงยังไม่มีการพัฒนาด้านการพาณิชย์นาวีอย่างจริงจังในประเทศไทย
หากพิจารณาจากอัตราการขนส่งสินค้าเข้าและออกของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางทะเล โดยจากข้อมูลของสำนักส่งเสริมการขนส่งทางน้ำและการพาณิชย์นาวี แสดงจำนวนสัดส่วนของการเดินเรือในปีต่างๆ พบว่า ใน พ.ศ.2520 เรือที่ใช้ในการขนส่งสินค้าของประเทศไทย ร้อยละ 96 เป็นเรือต่างชาติ เป็นเรือไทยเพียงร้อยละ 4 และต่อมาใน พ.ศ.2547 มีเรือไทยเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น ที่เหลืออีกร้อยละ 89 เราต้องพึ่งเรือของต่างชาติ และค่าระวางเรือที่ใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าคิดเป็นจำนวนเงินถึง 417,100 ล้านบาท ซึ่งจะตกอยู่กับเรือของต่างชาติเสียส่วนใหญ่ จะเห็นได้ว่าเกือบสามสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีการพัฒนาการพาณิชย์นาวีอย่างจริงจังแต่อย่างใด ทำให้เราต้องเสียค่าระวางเรือเป็นจำนวนมหาศาลแก่ชาวต่างชาติ เปรียบเสมือนรูรั่วขนาดใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ที่ปล่อยให้เม็ดเงินที่ควรจะตกได้แก่คนไทยต้องรั่วไหลไปเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการต่างชาติ และเสียโอกาสในการสร้างตำแหน่งงานใหม่ในด้านการเดินเรือทะเล และแม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้การพาณิชย์นาวีเป็นแนวนโยบายพื้นฐานที่รัฐจะต้องเร่งดำเนินการ แต่ก็มิได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด
สำหรับองค์ประกอบที่จะทำให้การพาณิชย์นาวีรุดหน้ามีหลายส่วนที่สัมพันธ์เกื้อกูลกัน อันได้แก่ เรือ ท่าเรือ อู่ต่อและอู่ซ่อมเรือเดินทะเล คลังสินค้า ระบบการคมนาคม กฎหมายและระเบียบต่างๆ ฯลฯ หากส่วนใดมีความบกพร่องก็ย่อมส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ และจะทำให้การสร้างเครือข่ายการเดินเรือไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งในเรื่องนี้ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม คือยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบกิจการพาณิชย์นาวีและการสร้างเครือข่ายการเดินเรือเท่าที่ควร อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขาดเงินทุนและไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการลงทุนด้านนี้ ในขณะที่ประเทศต่างๆ ได้พัฒนารุดหน้าไปมาก ทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติเลือกที่จะไปลงทุนในประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักก่อนว่าเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ หากไม่เร่งดำเนินการก็จะยิ่งทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสทองไปอย่างน่าเสียดาย
ปัญหาการขุดคอคอดกระ
เรื่องเดิมที่ปัจจุบันยังไม่มีการตัดสินใจดำเนินการอันเกี่ยวเนื่องกับการพาณิชย์นาวีโดยตรงคือ โครงการขุดคอคอดกระหรือการสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน (Land Bridge) ที่เคยมีดำริกันมาก่อน แต่ถูกระงับไปด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป ดังที่ประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ สนใจที่จะสร้างเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าที่จะช่วยร่นระยะเวลาและค่าใช้จ่าย อันเป็นโอกาสดีที่จะมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการขุดคอคอดกระ เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส พลิกแผ่นดินให้เป็นแผ่นทอง เพื่อประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยการริเริ่มสร้างเส้นทางใหม่ๆ ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ซึ่งจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนและสติปัญญาความสามารถของพวกเราเอง
การปฏิรูประบบราชการตำรวจ
ปัจจุบันวิกฤตการณ์ด้านคุณธรรมและจริยธรรมถือเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทยที่เกิดขึ้นในทุกวงการวิชาชีพ โดยเฉพาะในวิชาชีพตำรวจที่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง ซึ่งปัญหานั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปทราบกันดีอยู่แล้วดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การแก้ไขวิกฤตการณ์นี้จะทำได้อย่างไร
ด้วยความห่วงใยและผูกพันกับระบบราชการตำรวจที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายพิเศษแก่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่กรมตำรวจและในโอกาสอื่นๆ ต่างสถานที่กัน ผมเห็นว่าบรรดาวิกฤตการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในระบบราชการตำรวจจะต้องมองในอีกแง่หนึ่งด้วยว่า ข้าราชการตำรวจก็มีปัญหาของตนเองอยู่ด้วย จะละเลยไม่คำนึงถึงข้อนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ข้าราชการตำรวจได้รับมานั้นไม่เพียงพอกับการครองชีพโดยปกติหรือตามควรแก่อัตภาพ จึงจำเป็นต้องหารายได้อื่นนอกจากระบบราชการตำรวจ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขวิกฤตการณ์นี้คือ จะต้องพิจารณาระบบราชการตำรวจทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะแต่ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการตำรวจเพียงอย่างเดียว
แนวคิดและวิวัฒนาการในการปฏิรูประบบราชการตำรวจ
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2520 ครั้งที่ผมเป็นหัวหน้ารัฐบาล ได้เล็งเห็นว่าปัญหาเกี่ยวกับตำรวจเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขขณะนั้นคือปัญหาการดำรงชีพ ข้าราชการตำรวจโดยเฉพาะชั้นผู้น้อยมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นแสนลำบาก นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลผม จึงได้ริเริ่มโครงการแฟลตตำรวจ โดยร่วมกับการเคหะแห่งชาติ กู้เงินมาสร้างแฟลตตำรวจในกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินการได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ส่วนในต่างจังหวัดก็ได้มีการปฏิบัติทำนองเดียวกันต่อมา อันเป็นการแก้ไขปัญหาส่วนแรก ส่วนการแก้ไขในระยะยาวนั้นผมได้ร้องขอรัฐบาลอังกฤษผ่านสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ให้จัดตำรวจ Scotland Yard มาช่วยสำรวจและให้คำแนะนำว่า เราควรจะปฏิรูประบบราชการตำรวจของไทยในด้านใดบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รัฐบาลของผมเห็นว่ามีความสำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ เรื่องแรก โครงสร้างของกรมตำรวจควรเป็นระบบรวมอำนาจหรือระบบกระจายอำนาจ กล่าวคือ มีตำรวจส่วนกลางและตำรวจส่วนท้องถิ่น เรื่องที่สอง ข้อบกพร่องในการสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยเฉพาะการตั้งรูปคดีและการหาพยานหลักฐานต่างๆ ในการฟ้องร้อง อันเป็นเรื่องของวิทยาการตำรวจที่จะต้องมีการปรับปรุง เรื่องที่สาม อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในราชการตำรวจ เป็นต้นว่า อาวุธประจำตัว เครื่องมือสื่อสาร และยานพาหนะ เรื่องที่สี่ จริยธรรมตำรวจ ทั้งในเรื่องเนื้อหาและการฝึกอบรมในด้านจริยธรรม และเรื่องสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นคือ เงินเดือน ค่าตอบแทนและการจัดสวัสดิการของตำรวจ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษยินดีให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว โดยจะส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจสถานการณ์ในเบื้องต้นก่อนและจะมีคณะอื่นๆ ตามมาเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจต่อไปตามที่รัฐบาลไทยจะร้องขอ โดยเวลาที่ผมได้รับคำตอบจากรัฐบาลอังกฤษนั้นเป็นเวลา 14.00 น. ของวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 แต่พอถึงเวลา 17.00 น.ของวันนั้นเอง คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เข้ายึดอำนาจการปกครองและล้มรัฐบาลของผม จึงเป็นอันสิ้นสุดหน้าที่และความใฝ่ฝันของรัฐบาลชุดผมที่จะปฏิรูประบบราชการตำรวจไปในขณะนั้นเอง
ต่อมาสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มีความพยายามในการปฏิรูประบบราชการตำรวจอีกครั้งหนึ่ง โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาและปรับปรุงการบริหารงานของกรมตำรวจในคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการและระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2525 ที่มีพลตำรวจตรี ประมาณ อดิเรกสาร (ต่อมาเป็นพลตำรวจเอก) รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน ซึ่งพบว่าระบบงานตำรวจมีปัญหาที่สำคัญ 7 ประการ ได้แก่ ประการแรก หน้าที่ของข้าราชการตำรวจไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจน ทำให้ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงอย่างแท้จริง ต้องสูญเสียกำลังพลไปกับการปฏิบัติด้านอื่นเป็นจำนวนมาก ประการที่สอง การบริหารงานบุคคลของกรมตำรวจยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสม โดยควรจัดสายงานออกเป็น 2 ประเภท กล่าวคือ ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานตำรวจอย่างแท้จริงประเภทมียศและไม่มียศ กับข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานธุรการและสนับสนุนอื่นๆ ที่ไม่ถือว่าเป็นงานตำรวจโดยตรง ประการที่สาม ระบบข้อมูลข่าวสารตำรวจยังสับสนและไม่มีระบบ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ประการที่สี่ ปัญหาในการให้บริการประชาชน ประการที่ห้า ปัญหาความร่วมมือจากประชาชน ประการที่หก ปัญหาเอกภาพในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และประการสุดท้าย ปัญหาค่าตอบแทนและสวัสดิการตำรวจที่อยู่ในระดับที่ต่ำเกินไปและไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรมในการพิจารณาค่าตอบแทนโดยใช้หลัก "งานเท่ากัน เงินเท่ากัน" (Equal Pay for Equal Work) โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานอย่างแท้จริงได้รับค่าตอบแทนในระดับที่ต่ำเกินไปจนไม่สามารถปฏิบัติงานให้เกิดผลดีได้ ก่อให้เกิดปัญหาการหารายได้ในทางไม่สุจริตตามมา
ต่อมาใน พ.ศ.2549 รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ โดยมีพลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธาน ซึ่งมีข้อเสนอจำนวน 10 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก การกระจายอำนาจการบริหารงาน ประเด็นที่สอง การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ ประเด็นที่สาม การสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ ประเด็นที่สี่ การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจ ประเด็นที่ห้า การปรับปรุงพัฒนาระบบงานสอบสวน ประเด็นที่หก การปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ ประเด็นที่เจ็ด การพัฒนากระบวนการในการสรรหา การผลิตและการพัฒนาบุคลากรตำรวจ ประเด็นที่แปด การปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของตำรวจ ประเด็นที่เก้า การส่งเสริมความก้าวหน้าของข้าราชการตำรวจชั้นประทวน และประเด็นสุดท้าย การจัดตั้งหน่วยงานในการปรับปรุงพัฒนากระบวนการยุติธรรมและมีการเสนอร่างกฎหมายในการพัฒนาระบบงานตำรวจจำนวน ๒ ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อการปฏิรูประบบงานตำรวจอย่างสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม สภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ก่อนร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบ จึงไม่สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้
ใน พ.ศ.2555 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ทำการศึกษาระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ ของข้าราชการตำรวจ โดยมีการวิเคราะห์ว่าข้าราชการตำรวจเป็นส่วนสำคัญส่วนแรกของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งปฏิบัติงานโดยการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม จับกุมผู้ต้องหา สืบสวนสอบสวน และอื่นๆ ดังนั้นข้าราชการตำรวจจึงต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีความอดทนเสียสละ สามารถต้านทานต่อสิ่งยั่วยุต่างๆ ในสังคมและดำรงตนอยู่ในความยุติธรรมได้ และเป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นผู้ที่ให้บริการที่ดีแก่ประชาชน แต่จากสภาพปัญหาที่ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำ มีสวัสดิการน้อย ในขณะที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมาก จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบได้ ดังนั้น การปฏิรูประบบเงินเดือนและค่าตอบแทน นอกจากจะทำให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ดำรงตนอยู่ในความยุติธรรม และสามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพแล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อีกด้วย
ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับระบบราชการตำรวจใน 2 เรื่อง คือ มีการตราพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 โดยเหตุผลในการประกาศใช้คือเพื่อปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการตำรวจให้เหมาะสม เป็นธรรม และได้มาตรฐาน และมีการตราพระราชกฤษฎีกาข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศ พ.ศ.2558 โดยเหตุผลในการประกาศใช้คือ เนื่องจากข้าราชการตำรวจมีภารกิจทั้งในด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของราชอาณาจักร ตลอดจนงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยการ การพัฒนาบุคลากร และงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในบางตำแหน่งนั้นอาจไม่จำเป็นต้องมียศ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับอย่างเต็มรูปแบบเมื่อมีการตรากฎ ก.ตร. กำหนดรายละเอียดต่างๆ แล้ว โดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎ ก.ตร. ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นที่คาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาระบบราชการตำรวจให้ดียิ่งขึ้น
ดังนั้น จากแนวคิดในการปฏิรูประบบราชการตำรวจที่ผ่านมาและการแก้ไขปัญหาของทุกรัฐบาล ต่างก็เห็นตรงกันว่า ปัญหาเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของตำรวจเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมาก ผมจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะให้มีการปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ข้าราชการตำรวจครองชีวิตอยู่ได้ตามควรแก่อัตภาพ ให้พอกินพออยู่โดยไม่ต้องอาศัยรายได้นอกระบบราชการตำรวจ ซึ่งการปรับปรุงเรื่องดังกล่าวนั้นต้องไม่ใช่ให้แบบยาหอม ให้เพียงสักแต่ว่าให้ แต่ต้องให้ให้พอและตามความเป็นจริง ซึ่งเรื่องนี้สามารถพูดได้ในหลักการ แต่พอจะทำจริงเข้าผมก็เห็นใจรัฐบาลและทุกฝ่ายที่รับผิดชอบในเรื่องงบประมาณของประเทศ เพราะเวลานี้ประเทศไทยก็ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ การหารายได้ทำได้ยาก แต่ในโอกาสแรกที่สภาวะทางเศรษฐกิจฟื้นฟูขึ้น อัตราเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของตำรวจจะต้องรีบปรับปรุง ถ้าปรับปรุงในเรื่องนี้ไม่ได้ แม้จะปรับปรุงแก้ไขในเรื่องอื่นได้ ปัญหาระบบราชการตำรวจก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป
อีกปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญและเกี่ยวพันกับการดำรงชีพของข้าราชการตำรวจคือ เรื่องอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นในการปฏิบัติงานตำรวจ เช่น อาวุธประจำกาย เครื่องมือสื่อสาร ยานพาหนะหรือน้ำมันเชื้อเพลิง โดยทางราชการจะต้องจัดหาสิ่งเหล่านี้ให้แก่ข้าราชการตำรวจทุกนายอย่างเพียงพอและเหมาะสม มิฉะนั้นแล้วการปฏิบัติหน้าที่ย่อมไม่มีประสิทธิภาพ และข้าราชการตำรวจบางส่วนต้องนำเงินส่วนตัวมาใช้จ่ายในส่วนนี้แทน ซึ่งดังที่กล่าวไว้แล้วว่า ลำพังข้าราชการตำรวจเองก็มีเงินเดือนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่แล้ว หากจะต้องนำเงินที่ใช้ในการดำรงชีพส่วนตัวมาใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่อีกก็จะยิ่งกระทบต่อขวัญกำลังใจของข้าราชการตำรวจและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ทั้งยังเป็นการผิดหลักการบริหารราชการแผ่นดินที่กำหนดให้เรื่องการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานนี้ต้องเป็นความรับผิดชอบของหน่วยราชการโดยเฉพาะ มิใช่เรื่องที่จะต้องใช้เงินส่วนตัวปัญหาเรื่องอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สมควรได้รับการพิจารณาแก้ไขโดยเร็ว
หากพิจารณาจากข่าวสารที่ปรากฏในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าข้าราชการตำรวจมีปัญหาภาพลักษณ์ที่ไม่โปร่งใส กล่าวคือ ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าข้าราชการตำรวจบางส่วนมีการเรียกรับผลประโยชน์ในทางมิชอบเพื่อแลกกับการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้นว่าการพนันหรือสถานบริการ และมีการนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งส่งให้แก่ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และอีกส่วนก็เก็บไว้ใช้จ่ายส่วนตัว เป็นรายได้พิเศษนอกระบบ หรือที่เรียกว่า "ส่วยตำรวจ" อันเป็นปัญหาที่เลวร้ายอย่างยิ่ง ซึ่งข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยได้รับความกดดันให้จัดหาส่วยตำรวจเหล่านี้ให้ได้ ถ้าไม่ทำก็จะไม่มีความก้าวหน้าในชีวิตราชการ ทำให้แทนที่ข้าราชการตำรวจจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้สมดังภารกิจของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ได้อย่างเต็มที่ กลับต้องใช้เวลาเพื่อหาเงินในทางที่มิชอบเหล่านี้ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก
จริยธรรมของตำรวจ
นอกจากนั้นแล้วผมยังเห็นว่า วิกฤตการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะว่าข้าราชการตำรวจไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และละเลยไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ ซึ่งกำหนดไว้เพื่อเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้ข้าราชการตำรวจอยู่ในกรอบของศีลธรรมและคุณธรรม และเป็นแนวทางชี้นำให้ข้าราชการตำรวจบรรลุถึงปณิธานของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งการละเลยต่อจริยธรรมของตำรวจนั้น นอกจากจะทำให้ข้าราชการตำรวจขาดหลักสำคัญในการปฏิบัติงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น