วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

ทหารคุมตัวแทน 'ชมรมธรรมาธิปไตย' ปรับทัศนคติค่ายทหาร หลังแจ้งความหมุดคณะราษฎรหาย

 

วัฒนา' พบปอท. ยันแสดงความเห็นตามกฎหมาย ระบุยังไม่มีการแจ้งข้อหา พร้อมขอยุติตามหาหมุดคณะราษฎร ขณะที่ ทหารคุม 'ชมรมธรรมาธิปไตย' ปรับทัศนคติค่ายทหาร หลังแจ้งความหมุดหาย 'สมานฉันท์แรงงาน' ร่อน จม.ร้องจนท.นำหมุดกลับไปไว้ที่เดิม สืบหาผู้ลงมือ วิษณุ ระบุแจ้งความได้ในฐานะ 'พลเมืองดี'
 
 
20 เม.ย. 2560 จากกรณีหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป แต่ถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความและความหมายใหม่แทนในจุดเดิม ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น
 

'วัฒนา' พบปอท. ยันแสดงความเห็นตามกฎหมาย

ล่าสุดวันนี้ (20 เม.ย.60) Voice TV รายงานว่า วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เข้าแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. จากกรณีกระแสข่าวเจ้าหน้าที่ระดับบังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมให้ ปอท.ดำเนินคดี วัฒนา จากกรณีโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นในทางกฎหมาย ระบุว่าหมุดคณะราษฎรที่ถูกมือมืดถอดออกไปนั้นเป็นโบราณวัตถุ ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลที่เป็นความเท็จและกระทบต่อความมั่นคง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์


ยังไม่มีการแจ้งข้อหา

วัฒนา ระบุว่า แม้จะยังไม่มีการแจ้งข้อหาเกิดขึ้น แต่ตนก็มาแสดงตนเพื่อยืนยันในเจตนาบริสุทธิ์ของสิ่งที่ตนพูด โดยยืนยันว่าเป็นการแสดงความเห็นในทางกฎหมาย ซึ่งสามารถทำได้ตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นในทางกฎหมายและทางวิชาการไม่สามารถเป็นเท็จได้ตามกฎหมาย
 
วัฒนายังระบุว่าแต่เดิม ตนมีเจตนาที่จะแจ้งความกลับเจ้าหน้าที่ บก.ปอท.ด้วย แต่เนื่องจากเมื่อมาแสดงตนแล้ว เห็นว่าเจ้าหน้าที่ บก.ปอท.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบากจากการถูกบีบบังคับ ตนจึงเกิดความสงสาร และตัดสินใจที่จะไม่เอาความต่อเจ้าหน้าที่ระดับล่างเหล่านั้น
 

ขอยุติตามหาหมุดคณะราษฎร

นอกจากนี้ Now 26 รายงานความเห็นของ วัฒนา เพิ่มเติม ด้วย โดยระบุว่า วัฒนา กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นเป็นความผิด วันหนึ่งสื่อก็จะติดคุกด้วย เพราะว่าไม่สามารถจะแสดงความคิดเห็นอะไรได้ พร้อมยืนยันว่า ตนเองคือคนจริงไม่กลัวใคร แต่จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวหรือตามหาหมุดคณะราษฎรอีกแล้ว โดยเรื่องทั้งหมดจะจบภายในเท่านี้ ส่วนใครจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างไรก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้   
 

ทหารคุม 'ชมรมธรรมาธิปไตย' ปรับทัศนคติค่ายทหาร หลังแจ้งความหมุดหาย 

วันเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ สน.ดุสิต บุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.ชัยชน เรืองเพชร รองสว.(สอบสวน) สน.ดุสิต เพื่อขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานและให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎร สัญลักษณ์เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 บริเวณลานหน้าพระบรมรูปทรงม้าที่หายไป
 
บุญสิน เปิดเผยว่า ต้องการเดินทางมาแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อให้ติดตามหาหมุดดังกล่าวซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บอกว่าประเทศไทยก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามกลับคืนมาให้ได้ และเมื่อได้คืนมาแล้วขอให้นำไปเก็บรักษาไม่ใช่นำไปวางไว้กับพื้น เดิมทีตนตั้งใจจะไปขุดออกมาเก็บไว้อยู่แต่มีคนขุดเสียก่อน ทั้งนี้มั่นใจว่าจะต้องโดนอุ้มอย่างแน่นอนเนื่องจากตั้งใจว่าหลังจากเข้าแจ้งความเสร็จจะเดินเท้าไปยังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยใช้เครื่องขยายเสียงตลอดเส้นทาง ต้องการให้ทหารหรือตำรวจมาอุ้มเพราะต้องการเข้าไปปรับทัศนคติให้กับบุคคลเหล่านั้นได้เข้าใจเสียใหม่ในเรื่องของระบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ
 
ต่อมาเวลา 12.30 น. พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ ผบก.สส.บช.น. พร้อม พ.ต.อ.นพศิลป์ พลูสวัสดิ์ รองผบก.สส.บช.น. ร่วมสอบปากคำนายบุญสิน เป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
 
มติชนออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า หลังสอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารได้เชิญตัว บุญสิน และสันติพงษ์ วินุราช อายุ 35 ปี เพื่อนที่ร่วมเดินทางมาด้วย ไปปรับทัศนคติที่ มทบ.11 ออกทางประตูด้านหลังของสน. โดยนายบุญสิน มีสีหน้าเรียบเฉยและทักทายผู้สื่อข่าวพูดเพียงสั้น ๆ ว่า “ทางเจ้าหน้าที่ใจดี ช่วยพาขึ้นรถไปไม่ต้องเดินไปเพราะมันร้อน”
 

'สมานฉันท์แรงงาน' ร่อน จม.ร้องจนท.นำหมุดกลับไปไว้ที่เดิม สืบหาผู้ลงมือ

ขณะที่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงกรณีนี้ ภายใต้ชื่อ 'รอยจารึกหมุดอภิวัฒน์สยาม 2475 ประวัติศาสตร์ที่ต้องทวงคืน' โดยเรียกร้อง ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ คือ สืบหาผู้กระทำการอย่างอุกอาจในครั้งนี้ภายใต้เทคโนโลยีในยุค 4.0 และนำหมุดอภิวัฒน์สยาม 2475 อันเดิมกลับไปติดตั้งไว้ที่เดิม
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุด้วยว่า เป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงานรวมทั้งองค์กรของผู้ใช้แรงงานต่างได้ซึมซับเรียนรู้เจตนารมณ์และการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งหมุดดังกล่าวมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจประเมินค่าได้ จริงอยู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งอดีตย่อมมีทั้งคนที่ชื่นชมยกย่อง และมีทั้งคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ มีคุณค่ายิ่งต่อการศึกษาเรียนรู้ของอนุชนคนรุ่นต่อๆไป การกระทำดังกล่าวของบุคคลหรือกลุ่มคนที่ได้ทำการรื้อถอนหมุดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แล้วนำหมุดใหม่ที่เกิดขึ้นจากความคิดของผู้ไม่หวังดีถือเป็นการกระทำที่อุกอาจท้าทายอำนาจรัฐ ทำลายมรดกทางประวัติศาสตร์ของชาติ 
 

วิษณุ ระบุแจ้งความได้ในฐานะ 'พลเมืองดี'

วานนี้ (19 เม.ย.60) มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กรณีมีประชาชนเดินทางเข้าแจ้งความที่สน.ดุสิตให้ติดตามหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดี หลังหมุดคณะราษฎรสูญหายสามารถทำได้หรือไม่ว่า ได้หรือไม่ได้ก็เห็นไปแจ้งความแล้ว ก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร ซึ่งตำรวจเขาก็รับแจ้งความแล้ว โดยเรื่องแบบนี้ตั้งเป็นเรื่องได้หลายเรื่อง แต่เมื่อคุณเลือกเอาทางนั้นแล้วก็เป็นทางหนึ่ง
 
"มันถึงมีคำ 2 คำในกฎหมาย คือคำว่า 'ร้องทุกข์' กับคำว่า 'กล่าวโทษ' ถ้าร้องทุกข์ก็เป็นผู้เสียหาย ถ้ากล่าวโทษก็แปลว่า ไม่รู้ใคร นี่ฉันเห็นเขาฆ่ากันตรงนั้น อย่างงี้ก็ทำได้ พลเมืองดี" วิษณุ กล่าว

เปิดกฎหมาย รองอธิบดีอัยการ โพสต์ยันตร.ต้องรับแจ้งความ หมุดคณะราษฎรหาย

 

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม โพสต์แจงข้อกฎหมาย แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องเป็น “เจ้าของทรัพย์” ตร. มีหน้าที่รวบรวมหลักฐาน เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาว่ามีการลักเอาทรัพย์คือหมุดประชาธิปไตยของรัฐบาล
19 เม.ย. 2560 จากกรณีหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป แต่ถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความและความหมายใหม่แทนในจุดเดิม ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก “ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม” ของ ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการรับเเจ้งความเกี่ยวกับเรื่องหมุดคณะราษฎรบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าที่หาย เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า จะต้องทำความเข้าใจด้านกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประเทศชาติประชาชน เพราะทุกวันนี้เราเพี้ยนหลักกฎหมายเกือบหมด ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (8) บัญญัติว่า "คำกล่าวโทษ" หมายความถึงการที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย ได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดีได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น นั่นย่อมหมายความว่าการแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องเป็น “เจ้าของทรัพย์”
ปรเมศวร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่มีผู้คนไปแจ้งความว่า “หมุดประชาธิปไตย” ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลแห่งสยามประเทศ ณ เวลานั้นหายไป ก็แสดงว่าต้องการให้พนักงานสอบสวนซึ่งมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง (มาตรา 121) รวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาว่ามีการลักเอาทรัพย์คือหมุดประชาธิปไตยของรัฐบาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา (มาตรา 131) นี่คือข้อกฎหมายที่นายตำรวจทุกผู้ทุกนามควรจะทราบในขณะที่เข้ารับการตำรวจเพื่อพิทักษ์สันติราษฎร์
"การที่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางคนตั้งคำถามแบบไม่มีความฉลาดให้เห็น ว่าใครเป็นเจ้าของ ใครเป็นผู้เสียหาย แจ้งความได้หรือไม่ ยกตัวบทกฎหมายมาให้อ่านขนาดนี้ ถ้าไม่รู้อีกก็ไม่รู้ว่าจะมาเป็นตำรวจทำไม บางคนบอกว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบทรัพย์สินทุกเรื่องเหรอ นี่ยิ่งไม่ฉลาดและรู้เรื่องกฎหมายเลยแม้แต่น้อย หนักกว่านั้นผู้ใหญ่บางคนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องปากท้องประชาชน อยากถามสักนิดเถอะครับว่า เรือดำน้ำ รถถัง เครื่องบิน มันเป็นเรื่องปากท้องของประชาชนที่ไหนครับ ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ยิ่งเดินหน้ากลับรู้สึกยิ่งถอยหลัง มีแต่ประโยชน์พวกพ้อง ให้ขั้นในรางวัลแก่พวกตัวเอง เรามักจะพูดกันว่าชนชั้นใดออกกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น ต้องเพิ่มเติมอีกประโยคครับ “ชนชั้นอาชีพใดปกครองประเทศก็เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ชนชั้นอาชีพนั้นๆ” ประชาชนทั่วไปแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากชนชั้นปกครองเลย" ปรเมศวร์ โพสต์
 

'เสรีเกษตร' โวย นิสิตนอกวิชาถูก ตร.กันเข้าฟังเสวนาไทยอยู่ตรงไหนถ้าไม่เลือกตั้งปี 60


กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ โวย เชิญวิทยากรมาให้ความรู้กับนิสิต วงเสวนา 'ประเทศไทยอยู่ตรงไหนถ้าไม่มีเลือกตั้งปี 2560' ยังโดนกีดกัน ระบุตำรวจอนุญาตให้วิทยากรขึ้นตึกบรรยายแต่ไม่ให้นิสิตนอกวิชาหรือคนนอกเข้าฟังบรรยาย ล่าสุดยุติวงเสวนา

20 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(20 เม.ย.60) เมื่อเวลา 14.27 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์' ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้กลายเป็น สน.บางเขน ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ แม้แต่การจัดการเรียนการสอน เชิญวิทยากรมาให้ความรู้กับนิสิตก็ยังโดนกีดกัน และยังขัดขวางไม่ให้เสรีภาพในการเข้ารับฟังงาน โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาตให้วิทยากรขึ้นตึกบรรยายแต่ไม่ให้นิสิตนอกวิชาหรือคนนอกเข้าฟังบรรยาย ทางวิทยากรท่านหนึ่งแจ้งว่าขณะเดินขึ้นลิฟท์ทางเจ้าหน้าที่ได้จับแขนไว้แล้วพามาด้านนอกตึกพร้อมแจ้งว่าไม่สามารถให้เข้าตึกได้ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ตามหาเสรีภาพทางวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ใช่ สน.บางเขน
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ผ่านมา คณะผู้จัดแถลงว่า ไม่สามารถจัดได้ แล้ว  โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์  อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้จัดงานกล่าวว่า จริงๆ แล้วกิจกรรมนี้ ต้องการเสริมความรู้จากในห้องเรียนปกติให้กับนิสิต ในวิชามานุษยวิทยาการเมือง คิดว่าหลังจากเรียนเรื่องทฤษฎี จึงควรเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางสังคมการเมืองที่ดำเนินอยู่ในตอนนี้ จึงเชิญ วิทยากร มาเปิดมุมมองให้นิสิตเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนมา รวมทั้งอยากให้เป็นประโยชน์กับคนทั่วไปจึงได้ประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนทั่วไปหรือนิสิตคณะอื่นที่สนใจมาร่วมแลกเปลี่ยน
"เป็นการเอาห้องเรียนออกจากห้องแคบๆ เพื่อให้สัมพันธ์กับสังคมและให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม" ชลิตา กล่าวถึงเหตุผลของการจัดกิจกรรมดังกล่าว
 
ชลิตา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ระแวงว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ ตนยืนยันว่าไม่ใช่ แต่ว่าวิชานี้เป็นวิชามานุษยวิทยาการเมือง และวิทยากรที่เชิญมาก็เป็นอาจารย์ทางรัฐศาสตร์  ดังนั้นสิ่งที่คุยกันจึงเป็นเรืองการเมืองแน่นอน เป็นการเมืองในแนววิชาการ ซึ่งมันจะต้องเป็นสิ่งที่เราพูดได้ มันไม่ใช่เรื่องผิด ต้องเป็นสิ่งที่พูดได้ในชีวิตประจำวันของเรา
 
 ชลิตา มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันค่อนข้างลำเส้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ประสานมายังผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้มีการกดดันเป็นทอดๆ เพื่อที่จะให้เลื่อน ซึ่งไม่รู้ให้เลื่อนไปเมื่อไหร่ วันนี้เราจัดไม่ได้จริงๆ เนื่องจาก ถูกใช้กำลังบังคับไม่ให้ขึ้นไปข้างบน เราก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเราถูกห้าม แต่ไม่ได้หมายความว่าเราถอยหรือยอมรับกับอำนาจที่มาล้ำเส้นของการเป็นสถาบันกาศึกษา
 
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว มีชื่อว่า "The Fake Thailand" "(ประเทศไทยอยู่ตรงไหนถ้าไม่มีเลือกตั้งปี 2560)" จัดโดย กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ กลุ่มเสรีนนทรี และวิชามนุษยวิทยาการเมือง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยมีวิทยารคือ ผศ.ดร. ธนศักดิ์ สายจำปา คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ ปกรณ์ อารีกุล นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมเพื่อสังคม ตามกำหนดการจะจัดในวันนี้ (20 เม.ย.60) เวลา 14.00-17.00น. ตึกสังคมศาสตร์ 4 ห้อง 501  ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ใบประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าว

วันพุธที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560

คสช.ขอสร้างความสงบ มากกว่าทวงคืน 'หมุดคณะราษฎร' ย้ำบ้านเมืองกำลังก้าวหน้า


Wed, 2017-04-19 20:23

ทีมโฆษก คสช. ขอความร่วมมือว่าบรรยากาศของบ้านเมืองตอนนี้กำลังก้าวหน้า ขอทุกฝ่ายสร้างความสงบ มากกว่าทวงคืน 'หมุดคณะราษฎร'  'พล.ต.อ.ศรีวราห์' ยันผู้ร้องทุกข์ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ หากไม่ใช่จะถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ

19 เม.ย. 2560 จากกรณีหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป แต่ถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความและความหมายใหม่แทนในจุดเดิม ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น
วันนี้ (19 เม.ย.2560) พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีมีกลุ่มคนยังคงเคลื่อนไหวทวงคืนหมุดคณะราษฎร ว่า คสช.ขอความร่วมมือ และสร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นแนวทางดีที่สุด ทุกคนทุกฝ่ายในฐานะที่เป็นคนไทย ควรสร้างความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเป็นหลักมากว่าจะมาจุดประเด็นเรื่องทวงคืนหมุดคณะราษฎร
ต่อกรณีคำถามว่า คสช. ขอความร่วมมือกับ ศรีสุวรรณ จรรยา อย่างไร พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า เราเป็นคนไทยด้วยกัน การพูดจาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เรียกร้องขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด ทางคสช. ขอความร่วมมือว่าบรรยากาศของบ้านเมืองตอนนี้กำลังก้าวหน้า และมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว สิ่งใดที่จะทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย เราก็ต้องขอความร่วมมือ ความร่วมแรงร่วมใจ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความปรองดอง ส่วนมีกระแสข่าวว่าจะเรียก วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย พูดคุยในค่ายทหารนั้น พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มี คงเป็นเพียงข่าวลือ ซึ่งกระแสข่าวเรื่องต่างๆที่มีอยู่ตอนนี้ คสช.ขอความร่วมมือโดยเฉพาะกับสื่อมวลชน
“สำหรับมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่ออกมาเคลื่อนไหว ในขณะนี้คสช.รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐที่ถือกฎหมาย มีขั้นตอนมาตรการต่างๆ อยู่แล้ว เริ่มจากขอความร่วมมือ ชี้แจงทำความเข้าใจ การพบปะพูดคุย โดยพยายามจะไม่ใช้ข้อกฎหมาย ซึ่งบางเรื่องสามารถคลี่คลายได้ด้วยการพูดคุย เป็นปัญหาของคนไทยด้วยกัน เป็นเรื่องภายในประเทศของเรา ซึ่ง คสช.จะพยายามทำให้ปัญหาต่างๆคลี่คลายให้ดีขึ้น”พ.อ. ปิยพงศ์ กล่าว

ศรีวราห์ ระบุไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของหมุด

ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.)ด้านความมั่นคง กล่าวถึงกรณีประชาชนแจ้งความกับตำรวจสืบสวนติดตามหมุดคณะราษฎรอันเก่าที่หายไปนั้น ว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประชาชน สามารถกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนได้ แต่ยังไม่เป็นคดียังไม่รับเป็นเลขคดี จากนั้นพนักงานสอบสวนจะต้องสืบสวนและสอบสวนเพื่อพิสูจน์ว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และมีผู้เสียหายหรือไม่หากมีผู้เสียหายตามกฎหมาย ซึ่งมีความเสียหายเกิดขึ้นจริงก็จะต้องรับเป็นคดีสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีต่อไป ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น คำว่าร้องทุกข์และกล่าวโทษนั้นต่างกัน ในเบื้องต้นนั้นประชาชนหรือใครใครสามารถกล่าวโทษได้ แต่จะร้องทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ กรณีนี้ได้รับการยืนยันจากทางสำนักงานเขตดุสิตและกรมศิลปากรว่าไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของหมุดดังกล่าว 

แจงผู้ร้องทุกข์หากไม่ใช่เจ้าของทรัพย์จะถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ

รองผบ.ตร. กล่าวด้วยว่า กรณีนี้ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนรับการกล่าวโทษตั้งแต่แรก และก็ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอยู่ ทั้งการตรวจสอบหน่วยงานราชการที่สันนิษฐานว่าจะเป็นเจ้าของหมุด ตรวจสอบกล้องวงจรปิด เพื่อหาภาพผู้ที่เข้ามาทำการใดใดกับหมุดดังกล่าว ทุกอย่างดำเนินการอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจตั้งแต่แรก ซึ่งทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ก็สั่งการให้คลี่คลายเรื่องนี้ตามกฎหมาย ทั้งนี้คนที่มาอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์แล้วร้องทุกข์ว่าทรัพย์นั้นหายไป ต่อมาหากสืบสวนสอบสวนทราบว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ดังกล่าว ก็จะถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จได้ คดีลักษณะเช่นนี้เห็นบ่อยๆ กรณีมีการลักน้ำมันจากคอกน้ำมัน ตำรวจเห็นลูกจ้างลักน้ำมันจากคอก ดำเนินคดีเลย ต่อมาเจ้าของคอกน้ำมันไม่เอาเรื่อง บอกว่าถือว่าให้ส่วนต่าง ไม่สนใจเอาความไม่รับว่าตนเสียหาย แต่ตำรวจดำเนินคดีไปแล้ว เพราะเห็นความผิดเกิด ตำรวจถูกฟ้องกลับ กรณีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆยกมาเทียบกัน 

เตือนกลุ่มเคลื่อนไหว จนท.จับตาอยู่ หากผิด กม.ดำเนินคดีต่อไป

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวด้วยว่า ขอเตือนกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว มารวมตัว ให้ดูสถานที่ที่เคลื่อนไหวด้วยว่า เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หากละเมิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดี และหากเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นก่อให้เกิดความวุ่นวาย ทางฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคง ก็จับตาดูอยู่ ถ้าหากพบว่ามีความพยายามยุยงปลุกปั่นทางทหารก็จะส่งมาให้ตำรวจดำเนินคดีต่อไป

แจ้งความหมุดหาย สน.ดุสิต-เลขาผู้ว่าฯ กทม.แจงไม่มีภาพ CCTV เพราะถูกถอดช่วงเปลี่ยนไฟจราจร


ประชาชน 2 รายไป สน.ดุสิต เพื่อแจ้งความกรณีหมุดคณะราษฎรหายไปจากตำแหน่งติดตั้งเดิม ขณะที่เลขาผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิด 11 ตัวรอบลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจากถูกถอดออกไปในช่วงปรับเปลี่ยนไฟจราจรเมื่อ 31 มี.ค.
อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์  และณัฏฐา มหัทธนา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังเข้าแจ้งความที่ สน.ดุสิต
ประชาชนเข้าพบยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอดูภาพกล้องวงจรปิด แต่ กทม. ขอพิจารณาก่อนว่าตำรวจรับแจ้งความหรือไม่ นอกจากนี้ยังระบุว่ากล้องวงจรปิด 11 ตัวรอบลานพระบรมรูปทรงม้า ถูกถอดออกในช่วงวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีการเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจร
19 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 9.15 น. ที่ สน.ดุสิต อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และ ณัฏฐา มหัทธนา ได้เข้าแจ้งความเหตุหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่เดิมทีอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้ามาตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2479 หายไป
ทั้งคู่ยืนยันว่าเป็นการแจ้งความโดยส่วนตัวไม่ได้ทำในนามกลุ่มหรือองค์กรใด ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันจะทำไปตามความถูกต้องตามกฎหมาย โดยหลังจากแจ้งความแล้วเสร็จ ทั้งคู่มีแผนจะเดินทางไปศาลาว่าการกรุงเทพฯ เพื่อขอดูภาพกล้องวงจรปิดด้วย
โดยในคำขอแจ้งความทั้งคู่ยืนยันว่าหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และระบุด้วยว่าหมุดดังกล่าวเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นทรัพย์ที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญา จึงขอแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
ต่อมาเวลาประมาณ 10.40 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพนคร ทั้งอภิสิทธิ์ และณัฏฐา เข้าพบยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการของผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด ยุทธพันธ์กล่าวว่า พื้นที่โดยรอบจะมีระดับการรักษาความปลอดภัยค่อนข้างสูงกว่าบริเวณอื่นๆ ในเรื่องของกล้องวงจรปิดมีการใช้หลายรูปแบบ ขณะนี้ยังไม่สามารถให้ดูภาพจากกล้องได้เพราะต้องขอตรวจสอบก่อน อีกทั้งต้องพิจารณาอีกครั้งว่าตำรวจรับแจ้งความทั้งคู่หรือไม่ หากมีการรับแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องมาขอภาพจากกล้องวงจรปิดอยู่แล้ว
ยุทธพันธ์ ระบุด้วยว่า บริเวณรอบลานพระบรมรูปทรงม้าฯ มีกล้องวงจรปิด 11 ตัว แต่สำนักงานจราจรของกรุงเทพมหานครมีการปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา กล้องจึงถูกถอดออกไปทั้งหมด และยังไม่มีการติดตั้งกลับจนปัจจุบัน ขณะที่อภิสิทธิ์และณัฏฐาตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาไม่มีกล้องบริเวณดังกล่าวเลยและได้ขอดูภาพกล้องวงจรปิดในบริเวณที่ไกลออกไป อย่างไรก็ตาม เลขาผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่าบริเวณดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นพิเศษจำนวนมากอยู่แล้ว โดยหลักเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร
เมื่อเวลา 11.58 น 'แชมป์ 1984' นำตลับเมตรไปวัดบริเวณหมุดใหม่ที่ถูกนำมาแทนที่หมุดคณะราษฎร จากนั้น จนท.ห้าม ถ่ายรูปและพาตัวออกจากบริเวณดังกล่าว (ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Banrasdr Photo)

6 องค์กรสิทธิฯ ร่อน จม.เปิดผนึก จี้นายกฯ ดำเนินคดีและนำ 'หมุดคณะราษฎร' กลับมา


Wed, 2017-04-19 17:02

จดหมายเปิดผนึก ร้องนายกฯ ติดตามสอบสวนและลงโทษผู้กระทำการให้หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรสูญหายและนำหมุดอื่นมาแทนที่ โดยให้นำหมุดเดิมกลับมาไว้ที่เดิม และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ 

19 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา(ผสพ.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(HRDF) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF) และ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.) ออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีติดตามสอบสวนและลงโทษผู้กระทำการให้หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรสูญหายและนำหมุดอื่นมาแทนที่ โดยให้นำหมุดเดิมกลับมาไว้ที่เดิม และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันปกป้องรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ความจริงต่อไป
โดยมีรายละเอียดดังนี้

จดหมายเปิดผนึก
กรณีหมุดเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร : จงคืนความจริงกลับสู่สังคมไทย
โดยเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการทำให้สูญหายและเปลี่ยนแปลง “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ”ของคณะราษฎร อันมีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” และนำหมุดที่มีข้อความอย่างอื่นมาแทนที่โดยไม่ทราบความเป็นไปเป็นมา และความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นั้น
องค์กรท้ายจดหมายนี้ เห็นว่า
1. การสูญหายของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร อันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการนำหมุดอื่นมาแทนที่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงความจริงในทางประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทย ย่อมเป็นข้อมูลที่ประชาชนในชาติต้องรับรู้และร่วมตัดสินใจหาใช่เป็นเรื่องของบุคคลหรือกลุ่มบุคลใดจะตัดสินใจกระทำการตามอำเภอใจอย่างปกปิดซ่อนเร้น โดยไม่มีหน่วยงานใดของรัฐบาลต้องรับผิดชอบและให้ความกระจ่างชัดต่อสาธารณชน
2. การฝังหมุดคณะราษฎรเพื่อบอกเล่าหลักหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จริง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐและประชาชนในการสืบสานและสืบทอดความจริงของประวัติศาสตร์ด้วยการเคารพความจริงในการสร้างการเรียนรู้และความทรงจำร่วมทางสังคม เพื่อที่จะไม่ก่ออาชญากรรมทางปัญญาต่อชนรุ่นหลัง
3. แม้ว่าการให้ความหมายหรือการให้คุณค่าสำหรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร หรือผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรอาจแตกต่างกัน แต่จะต้องไม่ปฏิเสธความจริงที่ว่าหมุดคณะราษฎรเป็นประจักษ์พยานที่ยืนยันว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องการเปิดพื้นที่ให้กับการถกเถียงอย่างเสมอหน้า อันเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย
4. นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวอาจผิดกฎหมายฐานลักทรัพย์หรือทำลายโบราณสถาน
ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรท้ายจดหมายนี้ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีติดตามสอบสวนและลงโทษผู้กระทำการให้หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรสูญหายและนำหมุดอื่นมาแทนที่ โดยให้นำหมุดเดิมกลับมาไว้ที่เดิม และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ อีกทั้งขอให้ประชาชนร่วมกันปกป้องรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ความจริงต่อไป
ด้วยความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
19 เมษายน 2560
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา(ผสพ.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(HRDF)
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF)
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.)


เพจกรมศิลปากรฯ ชี้ 'หมุดคณะราษฎร' เพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่ง ศรีวราห์ระบุเอาผิดลักทรัพย์ไม่ได้


Wed, 2017-04-19 01:17

กรมศิลปากร ชี้เป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.ชี้ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่โบราณวัตถุหรือของแผ่นดิน เอาผิดลักทรัพย์ไม่ได้ ผู้ว่าฯกทม.ปัดเกิดไม่ทัน2475 - ผอ.เขตยินดีเปิดกล้องหากมีคนขอ ตร.สั่งห้ามถ่ายภาพ 'หมุดหน้าใส' ใครฝ่าฝืนต้องลบภาพทิ้งทันที


19 เม.ย. 2560 จากกรณีหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป แต่ถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความและความหมายใหม่แทนในจุดเดิม ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น

กรมศิลปากร ชี้เป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่ง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 60 เวลา 20.46 น. เฟซบุ๊ก 'กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร' โพสต์ข้อความว่า ประเด็น “หมุดคณะราษฎร์” เป็นโบราณวัตถุ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือไม่? 
กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535ได้บัญญัติให้ “โบราณวัตถุ” หมายความถึง สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ซึ่งจากนิยามดังกล่าวกรมศิลปากรจึงเห็นว่า หมุดคณะราษฎร์มิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎร์เป็นวัตถุที่พลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร์ ได้นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณลานพระราชวังดุสิตเมื่อปี พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นหมุดคณะราษฎร์จึงมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น

รอง ผบ.ตร.ชี้ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่โบราณวัตถุหรือของแผ่นดิน เอาผิดลักทรัพย์ไม่ได้

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ด้านความมั่นคง กล่าวถึงกรณีมีความเคลื่อนไหวให้ดำเนินคดีลักทรัพย์กับผู้ที่ถอดเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร ว่า กรณีนี้จะถือเป็นคดีลักทรัพย์ก็ต่อเมื่อมีผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ ไม่ว่ากรณีอ้างเป็นทายาท หรือเป็นเจ้าของก็ต้องมีหลักฐานกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น เช่นอ้างว่าเป็นเจ้าของ เป็นทายาทของใคร ถ้าได้รับตกทอดมาก็ต้องมีหลักฐานว่าได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นมรดก หากไม่มีหลักฐานว่าเป็นทรัพย์มรดกก็อ้างเป็นมรดกหรือเป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ได้ กรณีหมุดนี้ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ สอบถามไปยังหน่วยงานราชการ ทั้งสำนักงานเขตดุสิตและกรมศิลปากร ได้รับการยืนยันว่าไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของ จึงไม่ใช่ของแผ่นดิน ไม่ใช่โบราณวัตถุหรือดูแลครอบครอง เมื่อเป็นดังนั้นยังไม่ชัดว่าทรัพย์นี้เป็นของใครเลย จะดำเนินคดีลักทรัพย์ได้อย่างไร ทรัพย์เป็นของใครยังไม่รู้เลย ยังไม่มีเจ้าของมาบอกเลยว่าทรัพย์ของตนเองหายไป จะทำคดีได้อย่างไร ความผิดเกิดหรือยังก็ไม่รู้
 
“ตอนนี้คดียังไม่เกิด ถ้าคดีเกิดแล้วจึงจะมีอำนาจสืบสวนสอบสวนต่อ เจ้าหน้าที่จะเอาอำนาจอะไรไปทำ ความผิดยังไม่เกิด จะออกหมายเรียก หรือหมายจับใครได้อย่างไร ตอนนี้ยืนยันว่ายังไม่มีผู้ใด หรือหน่วยงานใดเป็นเจ้าของทรัพย์นี้ จึงยังไม่สามารถดำเนินคดีได้ ต้องว่ากันไปตามกบิลบ้านกบิลเมือง ใครที่จะยุยงปลุกปั่นให้เป็นเรื่องการเมืองก็ว่ากันไปตามหลักฐานแล้วกัน ผมจะว่าไปตามหลักฐานที่มี” รอง ผบ.ตร.กล่าว และว่า กฎหมายบอกว่าผู้ใดเอาทรัพย์สินผู้อื่นไป ถือว่าผิดฐานลักทรัพย์ จึงต้องมีเจ้าของมาบอกก่อนว่ามีคนเอาของของเขาไป แต่กรณีนี้ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ แล้วจะเอาผิดได้อย่างไร คดีนี้เราทำการสืบสวนไม่นิ่งนอนใจ ต้องว่าตามกบิลบ้านกบิลเมือง
 

ผู้ว่าฯกทม.ปัดเกิดไม่ทัน2475 - ผอ.เขตยินดีเปิดกล้องหากมีคนขอ

มติชนออนไลน์ยังได้รายงานเพิ่มเติมดด้วยว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า “สำหรับกรณีการเปลี่ยนหมุดดังกล่าวตนไม่รู้จริงๆ อีกอย่างก็เกิดไม่ทัน ถ้าผมเกิดทันในปี 2475 ผมตอบให้เลยว่าหมุดหายไปไหน อีกอย่างผมก็ไม่รู้เรื่องและไม่ได้เป็นผู้สั่งให้เปลี่ยน อีกอย่างที่สุพรรณบุรีก็ไม่มี ถ้าที่สุพรรณบุรีมีผมจะตอบให้หมดเลย”
ขณะที่ สุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง เปิดเผยกับ มติชนออนไลน์ด้วยว่า ถึงกรณีหากจะมีหน่วยงานเข้าไปขอดูกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) บริเวณดังกล่าว สุธน กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “หากจะมีผู้มาขอดูวงจรปิดบริเวณดังกล่าวทางกทม.ก็ยินดี”

ตร.สั่งห้ามถ่ายภาพ 'หมุดหน้าใส' ใครฝ่าฝืนต้องลบภาพทิ้งทันที

ข่าวสดออนไลน์รายงานด้วยว่า เวลา 17.50 น. วันที่ 18 เม.ย. 60 ที่บริเวณพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต มีประชาชนแวะเวียนเข้าไปดูที่หมุดตัวใหม่ที่มีผู้นำมาเปลี่ยนแทนหมุดคณะราษฎรหรือหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของเดิม โดยมีกำลัง จนท.ตร.191 จำนวน 10 นายเฝ้าสังเกตการณ์ โดยไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพและหากใครถ่ายรูปหมุดดังกล่าวจะถูกสั่งให้ลบทิ้งทันที
ตำรวจอ้างว่ามีคำสั่งห้ามถ่ายรูปตัวหมุด หรือรูปคู่เห็นหมุดดังกล่าว หากฝ่าฝืนก็จะถูกควบคุมตัวทันที ทำให้ผู้ที่มาดูต่างผิดหวังกลับไป