วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สุรชาติ บำรุงสุข: บทบาทที่ไม่หายไปของ กอ.รมน. และการเกิดขึ้นของอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง



Published on Thu, 2017-11-16 14:45


สุรชาติไล่ไทม์ไลน์บทบาทกองทัพต่อเรื่องความมั่นคงจากยุคก่อนสงครามคอมมิวนิสต์จนถึงหลังสิ้นสุดสงคราม ชี้ปัจจุบันบทบาท กอ.รมน.ไม่เหมือนเดิม แปลงโฉมใหม่ พร้อมกับการเกิดขึ้นของอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง ที่เชื่อว่าทหารมีศีลธรรมทางการเมืองเหนือกว่าพลเรือน


เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2560 ที่ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานรัฐศาสตร์เสวนาในหัวข้อเรื่อง “กิจการพลเรือนของทหาร: จากยุคต้านคอมมิวนิสต์ สู่ยุคต้านประชาธิปไตย” โดยมีวิทยากรคือ สุรชาติ บำรุงสุข และ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมสนใจฟังการเสวนาราว 40 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในชุดนอกเครื่องแบบเข้าร่วมฟังและถ่ายรูปวิทยากรและผู้เข้าร่วมงานเสวนาตลอดงาน


สุรชาติ บำรุงสุข (แฟ้มภาพ)

สุรชาติ บำรุงสุข: โจทย์ความมั่นคงหลังสงครามเย็น เมื่อ กอ.รมน. แปลงโฉมใหม่

ผมคิดว่าลักษณะการขยายบทบาทของทหาร หรือที่เรียกว่า บทบาทที่ไม่ใช่บทบาททางทหารโดยตรง เกิดขึ้นในหลายประเทศ เพียงแต่ความน่าตกใจของไทยคือ บทบาทที่ทหารขยายงานออกไปสู่ภาคพลเรือน โดยเหตุผลหรือบริบทมันเกิดในยุคสงครามเย็น แต่ปัญหาของไทยคือ สงครามที่จบไม่ได้ทำให้บทบาทตรงนี้จบ จะเห็นความต่างอย่างยิ่งในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหารปี 2516 ก็จะเริ่มเห็นบทบาทของ กอ.รมน. ที่ชัด ผมคิดว่าถ้าเราลองแบ่งกรอบเวลา จะได้สักประมาณ 3 ช่วงใหญ่ๆ คือช่วงก่อนสงครามคอมมิวนิสต์ สงครามคอมมิวนิสต์ และหลังสงครามคอมมิวนิสต์

ยุคก่อนสงครามคอมมิวนิสต์: ทหารกับการพัฒนา

ทหารจะไม่มีบทบาทอย่างที่เราเห็น ทหารมีหน้าที่อยู่กับการรบอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ผมคิดว่าถ้าเราอธิบายสักนิดหนึ่ง ต้นเรื่องทั้งหมดมาจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อรัฐประหารปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจโดยตรง ความน่าสนใจตรงนี้คือ เขาเป็นคนอีสาน แล้วในการขึ้นมาเป็นรัฐบาล ทริปแรกที่จอมพลสฤษดิ์เดินทางออกต่างจังหวัดเป็นทริปที่ไปภาคอีสาน ผมล้อเล่นๆ ว่าเป็นทัวร์นกขมิ้น หรือ ครม.สัญจรชุดแรก ซึ่งออกยาวมากถ้าดูเวลา นึกไม่ออกเลยว่ารัฐบาลทิ้งงานกรุงเทพแล้วไปอยู่อีสาน

ด้วยความเป็นลูกอีสาน จอมพลสฤษดิ์เห็นอะไร คำตอบคือความยากจนของพี่น้อง ผมคิดว่าโครงการที่รัฐบาลมีต่อพี่น้องในต่างจังหวัดที่เป็นคนยากคนจน จริงๆ แล้วเกิดขึ้นก่อนสมัยนายกฯเปรม ติณสูลานนท์ แต่คนยุคหลังจะเห็นบทบาทตรงนี้สมัยนายกฯ เปรม มากกว่า แต่หากย้อนกลับไปเราจะเห็นบทบาทของจอมพลสฤษดิ์ ที่ให้กำเนิดงานทหารที่เกี่ยวกับการพัฒนา ฉะนั้นเราอาจต้องทำความเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องของการพัฒนาจริงๆ เพราะสงครามคอมมิวนิสต์ยังไม่เกิด แม้มี พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์จริง แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญในการขยายบทบาทของทหารอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

ยุคสงครามคอมมิวนิสต์: ทหารกับการจัดตั้งมวลชน และสงครามตัวแทน

จุดเริ่มต้นของสงครามคอมมิวนิสต์คือ วันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม 2508 หลังจากเหตุการณ์นั้นมันเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลไทย กับกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถ้าพูดแบบละเอียดก็คือ การปะทะที่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม นี่คือจุดเริ่มต้นของสงครามคอมมิวนิสต์ ทีนี้พอสงครามคอมมิวนิสต์เกิดถ้าเราย้อนกลับไปอ่านประวัติ รัฐบาลไทยก็ต้องคิดว่าจะเอาองค์กรอะไรขึ้นมาเสริมในการทำสงคราม องค์กรนี้ถูกสร้างประมาณเดือนธันวาคม โดยจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นคนผลักดัน องค์กรที่ว่านี้คือ กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) เกิดขึ้นเพื่อรองรับภารกิจสงคราม ซึ่งไม่ใช่เรื่องทางการทหารทั้งหมด แต่พยายามดึงหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ใช่เรื่องทางการรบเข้าไปร่วม จนกระทั่งต่อมาก็ยกฐานะเป็น กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) โดยมีการบริหารงานแบบราชการ

ช่วงต้นมันเป็นความหวังของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เชื่อว่าสงครามคอมมิวนิสต์จะรบสั้น มีความเชื่อว่าหากทุ่มกำลังเต็มที่สงครามที่เป็นอยู่ในเวลานั้นจะไม่ยาว เราคิดว่าเราจะรบในสงครามคอมมิวนิสต์สักประมาณ 6 เดือน แล้วเราจะชนะ นั่นหมายความว่าจากสิงหาคมถ้าเราคิดเพียง 6 เดือน พูดง่ายๆ คือประมาณต้นปี 2509 หรือกลางปี 2509 เราจะชนะ วันนี้ท่านทั้งหลายจำได้ไหมครับว่าสงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดเมื่อไหร่ ช่วงที่สงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยสิ้นสุดลงคือปี 2525-2526 ในรัฐบาลของพลเอกเปรม

การแปลงโฉมของ กอ.รมน. และการก่อเกิดสงครามตัวแทน หลัง 14 ตุลา 16

จะเห็นว่าสงครามคอมมิวนิสต์มันยาวกว่าที่ผู้นำทหารคิดไว้เยอะ เนื่องจากสถานการณ์สงครามคอมมิวนิสต์มันพัฒนา แต่มันซ้อนด้วยสถานการณ์การเมืองชุดหนึ่ง นั่นคือเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ฉะนั้น หลัง 14 ตุลา เราเห็นอะไร เราเห็น กอ.ปค. แปลงโฉมเป็น กอ.รมน. คือเปลี่ยนชื่อแต่อยู่ภายใต้โครงสร้างเดิม พูดง่ายๆ คือเปลี่ยนเครื่องทรงอีกแบบหนึ่ง ในสภาวะของการเกิด กอ.รมน. มันซ้อนกัน สงครามคอมมิวนิสต์ที่รัฐไทยเคยรบในชนบท มันกลายเป็นแนวรบหนึ่ง คือรัฐไทยเริ่มรู้สึกว่าพลทหารของคอมมิวนิสต์มันย้ายเข้ามาสู่พื้นที่เมือง ก็คือ ขบวนการนักศึกษา

กอ.รมน. ในช่วงหลัง 14 ตุลา จะเห็นบทบาทในส่วนของชนบทกับส่วนที่อยู่ในเมือง พูดง่ายๆ ก็คือบทบาทในการต่อต้านการเคลื่อนไหวของนักศึกษา หรือของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในช่วงนี้เราก็จะได้เห็นการเกิดขึ้นของกลุ่มนวพล กระทิงแดง และอีกหลายกลุ่ม ผมว่าทั้งหมดที่เราเห็นเป็น proxy หรือสงครามตัวแทนของ กอ.รมน. ที่ไม่ใช้เครื่องมือทางการทหารตรงๆ แต่ใช้เครื่องมือที่เป็นองค์กรพลเรือน องค์กรจัดตั้งของทหาร เข้าทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อต่อต้านขบวนการฝ่ายซ้าย

ในสภาวะหลัง 14 ตุลา ผมว่ามันมาพีคที่สุดคือ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เราเห็นคนจำนวนมากเดินทางเข้าสู่ชนบท ในช่วงเวลาใกล้กัน เราเห็นการล้มของโดมิโน 3 ตัวคือ ลาว เวียดนาม กัมพูชา ในปี 2518 โดยตัวเวลาก็คือกลางปี เราเห็นเวียดนาม กัมพูชา ล้มในเดือนเมษายน 2518 แล้วพอธันวาคมในปีเดียวกัน ลาวเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
คำถามที่เป็นโจทย์ใหญ่ในมิติความมั่นคงก็คือ ไทยจะเป็นโดมิโนตัวที่ 4 หรือไม่ ถ้าไทยเป็นโดมิโนตัวที่ 4 จะทำอย่างไร ผมคิดว่าบริบทแบบนี้ความน่าสนใจ คือ ทหารส่วนหนึ่งเริ่มตัดสินใจ และเชื่อว่าชุดวิธีเก่าในการสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์มันจะพาประเทศไม่รอด หรือเชื่อว่าในท้ายที่สุดถ้าจะสู้บนชุดความคิดเดิมหรือ แบบยุทธศาสตร์เดิม ไทยเป็นโดมิโนตัวที่ 4 แน่ๆ

ในสถานการณ์นี้เราเห็นบทบาทของทหารประชาธิปไตย อย่างพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หรือทหารอีกส่วนหนึ่งที่เราเห็นว่าเป็นนักรบมากกว่านักคิดคือ กลุ่มยังเติร์ก ในสภาวะแบบนั้นสิ่งที่เราเห็นก็คือ มันมีความพยายามที่จะถอดสลักสงครามคอมมิวนิสต์ในไทย พูดง่ายๆ คือ หาทางที่จะยุติเงื่อนไขสงครามคอมมิวนิสต์ไม่ให้ขยายตัวเป็นสงครามทางการเมือง
เราต้องยอมรับว่าการถอดสลักที่ใหญ่ที่สุดคือ การขึ้นสู่อำนาจของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถ้าพูดถึงช่วงนั้นสังเกตว่าหลังรัฐประหารปี 2520 เราจะเริ่มไม่ค่อยเห็นบทบาทของ กอ.รมน. บทบาทเริ่มค่อยๆ ซาลง บทบาทของตัวแทนของ กอ.รมน. ในการต่อสู้กับนักศึกษาพักหลัง ไม่ว่าจะเป็น นวพล กระทิงแดง จะเริ่มค่อยๆ หายไป จนผมเชื่อว่าคนรุ่นหลังไม่ค่อยคุ้นแล้ว ในสภาวะแบบนี้สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปอีกชุดหนึ่ง

ในปี 2519 มีความรุนแรงในบริบทของปัญหาภายใน แต่พอถึงมกราคม 2521 เวียดนามยึดกัมพูชา พอกัมพูชาแตกไป ต้นปี 2521 โจทย์ใหญ่คราวนี้ มันใหญ่มากสำหรับไทยเพราะว่า ต้องคิดแบบคนยุคผมนะว่าเมื่อกัมพูชาแตก เท่ากับกองทัพกัมพูชาอยู่ใกล้ที่สุดคือ แถวอรัญประเทศ แถวสระแก้ว ระยะทางจากสระแก้วเข้ากรุงเทพบนเงื่อนไขถนนที่ประเทศไทยมี การเคลื่อนกำลังจะใช้เวลา 3 ชั่วโมง แต่เราบอกเราไม่กลัว กองกำลังของเวียดนามที่เคลื่อนจะติดไฟแดงแถวประมาณเซียร์รังสิต คนยุคผมมีโจ๊กเพื่อให้สบายใจ (หัวเราะ)

ในสภาวะแบบนี้สิ่งที่อาจารย์พวงทองเปิดประเด็น มันนำไปสู่การจัดตั้งประชาชน การจัดตั้งประชาชนส่วนหนึ่ง ทำในช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ แต่อีกส่วนหนึ่งมันไปรองรับบทบาทของการเตรียมรับกับสงครามจริงๆ สิ่งที่เราเห็นทั้งหมด มันมีสถานการณ์ความมั่นคงทั้งภายในและภายนอก ในขณะเดียวกันถ้าสังเกตในปีต่อเนื่องกันประมาณ 2-3 ปี ปี 2519 มีรัฐประหารที่กรุงเทพฯ ปี 2520 มีการยึดอำนาจอีกครั้ง โดยกลุ่มทหารที่ยึดอำนาจเข้ามากับความคิดแบบใหม่ และยุทธศาสตร์ชุดหนึ่ง เมื่อถึงเดือนปี 2522 กัมพูชาแตก พอถึงปี 2523 สิ่งที่ตามมาคือคำสั่งสำนักนายกรัฐนตรีฉบับที่ 66/2523

ถ้าเราเรียงปีตั้งแต่ 2519, 2520, 2522 และ 2523 เหตุการณ์มันเหมือนกับว่าปัญหาความมั่นคงภายนอกและภายในรวมอยู่ในเวลาเดียวกัน และมันท้าทายให้รัฐไทยต้องคิดเพื่อแก้ไขปัญหาตรงนั้น ในบริบทดังกล่าว เราต้องยอมรับว่ารัฐไทยเป็นรัฐทหารที่คุมทิศทางยุทธศาสตร์ และทิศทางด้านความั่นคงโดยทหาร

เมื่อเป็นอย่างนี้ สิ่งที่เห็นก็คือ พวกเขามีความเชื่อว่าถ้าต้องทำสงคราม การจัดตั้งประชาชนจะเป็นเงื่อนไขสำคัญ หากเรามองไปยาวอีกนิด หลังจากกัมพูชาแตกในปี 2522 และหลังจากมีการออกประกาศฉบับที่ 66/2523 ต้องยอมรับว่านโยบายพวกนี้สามารถผลักดันบทบาทของทหารที่เรารู้สึกว่าอยู่นอกเหนืองานของทหารจริงๆ แต่สำหรับทหารเขามองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปัญหาสงครามภายใน หรือแม้กระทั่งเชื่อว่าหากมีความจำเป็นประเทศเราต้องอาศัยประชาชนเป็นกำลังที่จะรับมือการลุกของกองกำลังจากต่างชาติ หรือกองกำลังจากภายนอก

ยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์: กอ.รมน.4.0 VS ภัยคุกคามใหม่

แต่พอวันหนึ่ง เมื่อมาถึงเหตุการณ์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2532 เชื่อว่าวันนี้เราน่าจะลืมเหตุการณ์ตรงนั้นไปแล้ว เหตุการณ์นั้นคือการรวมเยอรมนีตะวันตก และตะวันออกเข้าด้วยกัน ซึ่งนั่นคือความทรงจำที่เราเรียกว่าเป็นการสิ้นสุดของสงครามเย็นหรือสงครามคอมมิวนิสต์ เมื่อสัญญาณของการสิ้นสุดของสงครามเย็นเกิดขึ้น ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าสงครามในประเทศไทยสิ้นสุดก่อนการสิ้นสุดของสงครามในเวทีโลก เพราะเราสิ้นสุดไปในช่วงปี 2525-2526 แต่ในเวทีโลกเริ่มจบในช่วง 2532 ฉะนั้น หลังจากปี 2532 เราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในยุโรป ขณะเดียวกัน เราเห็นการถอนตัวของเวียดนามออกจากกัมพูชา ในบริบทนี้การเมืองโลกเปลี่ยน การเมืองในภูมิภาคเปลี่ยน การเมืองในไทยก็เปลี่ยนด้วย ปัญหาใหญ่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงชุดนี้คือ อะไรคือภัยคุกคามด้านความมั่นคง

พูดง่ายๆ คือ โลกหลังสงครามเย็นเมื่อไม่มีคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคาม อะไรคือปัญหาความมั่นคง และไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดเฉพาะกองทัพไทย แต่เป็นปัญหาทั่วโลก ในสภาวะที่ไม่มีความชัดเจนว่าอะไรเป็นภัยคุกคามหลักของกองทัพ หรือแม้กระทั่งของประเทศ สิ่งที่ตามมามันต้องการคำตอบ คำตอบที่วงวิชาการเรียกว่า Non-Traditional Security คือการแยกความมั่นคงและภัยคุกคามที่ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหารออกมาเป็นภัยอีกชุดหนึ่ง เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาผู้ก่อการร้าย ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ หรืออะไรก็ตามที่เราเห็น

สิ่งที่น่าสนใจคือ วิทยานิพนธ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เขียนเรื่อง "กองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ Non-Traditional Threats" หากอยากจะเข้าใจความคิดของกองทัพไทย หรือความคิดของผู้นำเรื่องการมองภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ก็ต้องอ่านงานชิ้นนี้

ผมคิดว่างานของพลเอกประยุทธ์เป็นต้นร่างชุดหนึ่งของการมองภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ หากมองในยุคหลังสงครามเย็นสิ่งที่ตามมาในสมัยของรัฐบาลชวน หลีกภัย คือการยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นเพียงการยกเลิก พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ไม่ได้ยุติบทบาทของ กอ.รมน. สิ่งที่ตามมากลับไปสู่การขยายบทบาทของ กอ.รมน. หรือถึงที่สุดแล้วมันเป็นการขยายบทบาทของทหารผ่านโครงสร้างเดิม และจุดพลิกผันที่เห็นชัดที่สุดคือ รัฐประหารในปี 2549 ซึ่งเราเห็นการกลับมาของ กอ.รมน. ซึ่งทำหน้าที่อยู่ในยุคหลังสงครามเย็น สิ่งที่น่าสนใจคือ กองทัพนิยามภัยคุกคามอย่างไร ความน่ากังวลคือ เราเริ่มเห็นการปรากฏตัวของความคิดชุดหนึ่งในสังคมไทยด้วย ชุดความคิดชุดนี้อาจจะเรียกได้ว่า อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง

อุดมการณ์ต่อต้านการเมืองชุดนี้ เป็นชุดความคิดหนึ่งที่เรากำลังเห็นในสังคมไทยหลังรัฐประหารปี 2549 มันแทบจะสวมทับซ้อนได้ชัดระหว่างประเทศเรา กับลาตินอเมริกา คือ การไม่เอาการเมืองแบบการเลือกตั้ง เกลียดกลัวนักการเมือง เมื่อถามว่าใครเป็นผู้บริสุทธิ์ คำตอบที่ได้ก็คือ กองทัพ หรือใช้คำในยุคนั้นของลาตินคือ เชื่อว่าผู้นำกองทัพมีศีลธรรมทางการเมืองสูงกว่าผู้นำพลเรือน ในลาตินอเมริกาในยุคหนึ่งคิดอย่างนั้น และมันเป็นชุดความคิดที่พาทหารเข้าสู่การทำรัฐประหารในทุกภูมิภาคของลาตินอเมริกา

สิ่งที่เราเห็นคือ หลังจากสงครามคอมมิวนิสต์จบ รัฐไทยไม่ได้ตัดบทบาทของ กอ.รมน. แต่เรากลับเห็นการแปลงโฉมของ กอ.รมน. และกลายเป็น กอ.รมน. ในยุค 4.0 คือมันเป็นอะไรใหม่อีกแบบหนึ่ง และยังมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถปรับบทบาทของทหารลดอย่างที่เราเห็นในหลายๆ ประเทศได้ ซึ่งสุดท้ายก็จะเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไร ตอนนี้ผมยังไม่มีคำตอบ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น