วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ปราสาทพระวิหาร เอ็มโอยู 2543 และ แผนที่

ปราสาทพระวิหาร เอ็มโอยู 2543 และ แผนที่
โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์
เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2553
http://www.internetfreedom.us/thread-11983.html
จากการประท้วงของกลุ่มชาตินิยมครั้งล่าสุด มีประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการถกเถียงในที่นี้ คือ
กรณี MOU ปี 2543 และคำอธิบายของกลุ่มชาตินิยมที่มีต่อแผนที่เจ้าปัญหา

ควรยกเลิก MOU 2543 จริงหรือ?

หนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มชาตินิยมคือ ให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยการจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 (MOU 2543) ที่ลงนามโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รมช. กต.ในขณะนั้น และ นายวาร์ คิม ฮง ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการชายแดนของกัมพูชา

เหตุผลที่ต้องยกเลิกก็เพราะ MOU 2543 ระบุว่า หนึ่งในเอกสารที่ต้องใช้ในการปักปันเขตแดนทางบก คือ แผนที่ ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเ​ศสตามอนุสัญญาปี ค.ศ.1904 และสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1907 ซึ่งมีความหมายรวมถึงแผนที่ที่ทำให้ไทยแพ้คดีปราสาทพระวิหารในปี 2505 หรือที่ฝ่ายไทยชอบเรียกว่า แผนที่ 1: 200000
แต่ในที่นี้จะเรียกว่า แผนที่ตอนเขาดงรัก

[Image: 2c89a4991c.jpg]

แผนที่แสดงพื้นที่ที่มีการปักหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา

เรื่องนี้ดูจะสร้างความตระหนกให้แก่กลุ่มชาตินิยมไม่น้อย เพราะพวกเขายืนยันมาโดยตลอดว่า ไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ฉบับนี้ (ฉะนั้น ไทยจึงไม่ต้องยอมรับคำตัดสินของศาลโลกที่ยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา)

แต่ปรากฏว่า พวกเขาได้ค้นพบว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่พวกเขาช่วยกันอุ้มชู กลับเป็นผู้ไปทำ MOU ที่แสดงการยอมรับแผนที่เจ้าปัญหาเสียเอง ฉะนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องเลิก MOU โดยด่วนที่สุด

คำถามที่จะต้องถามคือ

1. ไทยจะอ้างเหตุผลอะไรเพื่อยกเลิก MOU 2543
2. การยกเลิกจะทำให้ประเทศไทย ได้และเสีย อะไรบ้าง

ตอบคำถามแรก:

MOU 2543 ไม่มีส่วนใดที่ระบุว่า คู่สัญญาสามารถบอกเลิกหรือเพิกถอนได้แต่โดยลำพัง ทั้งนี้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ.1969 ได้กำหนดว่า ในกรณีหนังสือสัญญาไม่ได้ระบุเรื่องการบอกเลิกหรือเพิกถอน ก็จะกระทำไม่ได้ ยกเว้นมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมขั้นพื้นฐานของสนธิสัญญาดังกล่าว

ในกรณีนี้ ไทยจะใช้เหตุผลอะไรเพื่อขอยกเลิก MOU
การมาค้นพบภายหลังว่า แผนที่ที่ใช้ปักปันเขตแดนมีปัญหา
ย่อมไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมขั้นพื้นฐาน

ตอบคำถามที่สอง:

หากรัฐบาลอภิสิทธิ์เต้นไปตามแรงกดดันชาตินิยม และตัดสินใจเลิก MOU นี้
สิ่งที่ประเทศไทยจะได้ก็คือ นายกฯ ที่มีคะแนนนิยมที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็คงชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น
โชคดีที่ครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ไม่ใจร้อนเหมือนปีที่แล้ว ที่ด่วนบอกเลิก MOU การปักปันพื้นที่ไหล่ทวีป กับการให้ความช่วยเหลือสร้างถนนแก่กัมพูชา

การจะตอบคำถามว่าการยกเลิก MOU 2543 จะทำให้ไทยเสียอะไรบ้าง
จะต้องกลับไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนที่เจ้าปัญหาชุดนี้เสียก่อน กล่าวคือ

แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับ​ฝรั่งเศสชุดนี้

มีทั้งหมด 11 ตอน (ระวาง)

ครอบคลุมเขตแดนทางบกด้านตะวันออกของไทย ตั้งแต่ลาวลงมาถึงกัมพูชา (ตอนเขาดงรัก หรือบริเวณปราสาทพระวิหาร เป็น 1 ใน 11 ตอน)

ฉะนั้น แผนที่ชุดนี้จึงไม่ได้ถูกใช้เป็นเอกสารในการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาเท่านั้น
แต่ยังถูกใช้ในการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-ลาวด้วย

หากฝ่ายไทยขอยกเลิก MOU 2543 กับกัมพูชา ด้วยเหตุผลว่า ไทยไม่ยอมรับแผนที่ชุดนี้
ก็อาจกระทบต่อการปักปันเขตแดนที่กระทำร่วมกับลาวด้วย เพราะหากไทยไม่ยอมรับสถานะของแผนที่ชุดนี้ในความสัมพันธ์กับกัมพูชา แต่หันไปบอกกับลาวว่า ไม่เป็นไรไทยยินดีใช้แผนที่ชุดนี้เพราะมันเป็นหลักฐานที่ทำให้ไทยได้เปรียบกรณีพิพาท​บ้านร่มเกล้า….. เหตุผลเช่นนี้ก็คงพิลึกดี

สิ่งที่สังคมไทยควรรับทราบไว้ก็คือ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับแต่ไทยสามารถทำข้อตกลงเพื่อปักปันเขตแดนกับลาวและกัมพูชาได้
กระบวนการปักปันเขตแดนด้านตะวันออกได้ก้าวหน้าไปอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ

ข้อมูล กต. ระบุว่า เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาที่มีความยาวทั้งสิ้น 798 กม. ได้ปักหลักเขตแดนไปแล้ว 603 กม. คือตั้งแต่ช่องสะงำ จ.ศรีษะเกษ–บ้านหาดเล็ก จ.ตราด ส่วนที่ยังไม่ได้ปักหลักมีระยะทาง 195 กม. ซึ่งก็คือตอนเขาดงรัก ที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร และพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. นั่นเอง

ในส่วนของพรมแดนไทย-ลาว การปักหมุดเขตแดนทางบกสามารถดำเนินไปได้ถึงร้อยละ 96 หรือเท่ากับ 676 กม.จากพื้นที่ทั้งหมด 702 กม. ส่วนที่ไม่ค่อยคืบหน้าก็คือ บริเวณแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (บริเวณบ้านร่มเกล้า)

หากมีการยกเลิก MOU ความพยายามที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันเพื่อยุติ-ป้องกันความขัดแย้งเหนือดินแดนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา… ย่อมหยุดชะงักลงทันที

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายเพียงแค่นี้อาจยังไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มชาตินิยม
ที่มักเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้อง.. โง่ .. ไม่ทำการบ้าน…

แต่ในกรณี MOU 2543 เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

สิ่งที่กลุ่มชาตินิยมไม่ได้อ้างถึงก็คือ MOU 2543 ยังระบุถึงเอกสารอีกชุดหนึ่งที่ต้องใช้ประกอบการสำรวจและปักหลักเขตแดน นั่นก็คือ

อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 และ สนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907
เอกสารทั้งสองนี้ระบุว่า การปักปันเขตแดนบริเวณเขาดงรัก ให้ยึดเส้นสันปันน้ำ อันเป็นหลักการที่ไทยยืนยันมาโดยตลอด

ในแง่นี้ MOU 2543 จึงประกอบด้วยเอกสารที่ถ่วงดุลอำนาจในการต่อรองและผลประโยชน์ของคู่เจรจาทั้งสองฝ่าย​ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยืนยันให้ใช้แต่เฉพาะเอกสารที่ให้ประโยชน์กับฝ่ายตนเท่านั้น​ การเจรจาก็ไม่มีทางคืบหน้าไปได้

นอกจากนี้ ยังหมายความต่ออีกว่า เจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้อง ก็เห็นประโยชน์จากแผนที่ชุดนี้เช่นกัน เพราะในจำนวน 11 ตอน มีเฉพาะตอนเขาดงรักเท่านั้นที่ฝ่ายไทยไม่ยอมรับ
แต่อีก 10 ตอนที่เหลือ จะช่วยให้ไทยแก้ปัญหาเรื่องดินแดนกับเพื่อนบ้านได้

ไทยไม่เคยยอมรับแผนที่จริงหรือ?

เหตุผลที่ฝ่ายชาตินิยมตอกย้ำ และนายกฯอภิสิทธิ์รับมาเป็นจุดยืนของตนด้วยก็คือ
- ไทยไม่มีภาระผูกพันต่อแผนที่ตอนเขาดงรัก และไม่เคยยอมรับ เพราะเส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ไม่ได้ลากตามเส้นสันปันน้ำดังที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญ​า
- ฝรั่งเศสกระทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียว คณะกรรมการปักปันเขตแดนของไทยไม่ได้เข้าร่วมด้วย
- ไทยไม่เคยให้สัตยาบันรับรองแผนที่นี้..
- ไทยถูกฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศใหญ่กว่า กดดันรังแกให้ต้องยอมรับแผนที่..
- ในขณะนั้น ไทยไม่มีความรู้เรื่องการทำแผนที่ จึงรับแผนที่มาโดยไม่รู้ว่าเส้นเขตแดนไม่ตรงกับเส้นสันปันน้ำ (ทั้งที่ สยามได้ก่อตั้งกรมแผนที่ขึ้นมาแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2428 ก็ตาม)

อันที่จริงทีมงานกฎหมายที่นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ใช้เหตุผลเหล่านี้เพื่อต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารในศาลโลก และทำให้ไทยแพ้มาแล้ว และศาลโลกก็ได้โต้แย้งเหตุผลไปแล้วด้วย

โดยศาลโลกยืนยันว่า ไทยมีภาระผูกพันต่อแผนที่ตอนเขาดงรัก เพราะมีหลักฐานว่าไทยได้เคยตีพิมพ์เผยแพร่ และจัดส่งแผนที่ทั้ง 11 ตอนหลายครั้งหลายครา ซึ่ง “เพียงพอที่จะก่อให้เกิดผลทางกฎหมายได้”

โดยสรุปได้ดังนี้ (ดูคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คดีปราสาทพระวิหาร)

1. เมื่อสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส ได้รับแผนที่ทั้ง 11 ตอน อัครราชทูตไทยได้มีหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศในกรุงเทพฯ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ในเรื่องที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนผสม ตามคำร้องขอของกรรมการฝ่ายสยามให้กรรมการฝ่ายฝรั่งเศสช่วยจัดทำแผนที่เขตแดนต่าง ๆ ขึ้นนั้น บัดนี้ คณะกรรมการฝ่ายฝรั่งเศสได้ปฏิบัติงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว”

อัครราชทูตไทยคนดังกล่าวยังระบุว่า ตนได้รับแผนที่จำนวน 50 ชุด และจะได้ส่งแผนที่อย่างละชุดไปยังสถานทูตไทยในยุโรปและอเมริกา นอกจากนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทยยังได้ขอบคุณอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพฯ สำหรับแผนที่เหล่านั้น และได้ทรงขอแผนที่จากฝรั่งเศสอีกอย่างละ 15 ชุดเพื่อส่งไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ของสยาม

ศาลโลกเห็นว่า ข้อความในหนังสือดังกล่าวชี้ว่า เจ้าหน้าที่สยามรับรู้ว่า แผนที่ที่ตนได้รับนั้น คือ ผลงานปักปันเขตแดนที่รัฐบาลสยามได้ “ร้องขอ” ให้ฝ่ายฝรั่งเศสจัดทำให้ตนนั่นเอง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สยามได้ยอมรับแผนที่โดยมิได้มีการตรวจสอบโดยตนเอง

“จึงไม่อาจที่จะอ้างในเวลานี้ได้ว่า มีข้อผิดพลาดอันเป็นการลบล้างความยินยอมที่แท้จริงได้”

เหตุการณ์ในยุคหลัง ร.5 ยังชี้ว่า สยามได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ในทางพฤตินัย และไม่ได้สนใจที่จะคัดค้านแผนที่นี้ แม้ว่าจะมีโอกาสหลายครั้งก็ตาม กล่าวคือ

ในช่วงปี พ.ศ. 2477-2478 ไทยได้ทำการสำรวจบริเวณนี้ด้วยตนเอง แล้วพบว่าเส้นสันปันน้ำกับเส้นบนแผนที่ไม่ตรงกัน และฝ่ายไทยได้จัดทำแผนที่ขึ้นมาเอง โดยแสดงว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตไทย แต่ประเทศไทยก็ยังคงใช้แผนที่ที่จัดทำโดยฝรั่งเศสตลอดมา

และที่น่าประหลาดใจยิ่งขึ้นก็คือ ในปี พ.ศ. 2480 ในการลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เพื่อยืนยันเส้นเขตแดนร่วมที่มีอยู่แล้วอีกครั้งหนึ่ง

“กรมแผนที่ของสยาม ก็ยังคงพิมพ์แผนที่แสดงว่า พระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชาอยู่อีก”

ประเทศไทยมีโอกาสขอแก้ไขเส้นเขตแดนที่ผิดพลาดอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2490 หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไทยต้องคืนดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และจำปาสักให้แก่ฝรั่งเศส ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประนอมฝรั่งเศส-ไทยขึ้น โดยภาระหน้าที่ประการหนึ่งคือ ตรวจแก้ไขเส้นเขตแดนซึ่งไทยอาจยกขึ้นมา ซึ่งไทยได้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับเส้นเขตแดนในหลายบริเวณด้วยกัน แต่กลับไม่เคยร้องเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเลย แต่กลับยื่นแผนที่ฉบับหนึ่งต่อคณะกรรมการซึ่งแสดงว่าพระวิหารอยู่ในกัมพูชา

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติหลายครั้งหลายหนของฝ่ายไทย ที่แสดงการยอมรับแผนที่ตอนเขาดงรัก ศาลโลกจึงมีข้อวินิจฉัยว่า “ประเทศไทยได้ยอมรับเส้นเขตแดนตรงจุดนี้ดังที่ลากไว้บนแผนที่ โดยไม่คำนึงว่าจะตรงกันกับเส้นสันปันน้ำหรือไม่”

ถึงแม้ว่าศาลโลกจะไม่ได้ตัดสินให้ตามคำขอของกัมพูชาที่ว่า แผนที่ตอนเขาดงรักมีสถานะเท่ากับสนธิสัญญา และเส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่เป็นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา

แต่ไทยก็ต้องตระหนักว่า ศาลโลกมีความเห็นว่า

“ประเทศไทยใน ค.ศ. 1908-09 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา

ศาลมีความเห็นต่อไปว่า เมื่อพิจารณาโดยทั่ว ๆ ไป การกระทำต่อ ๆ มาของไทยมีแต่ยืนยัน และชี้ให้เห็นชัดถึงการยอมรับแต่แรกนั้น และว่า การกระทำของไทยในเขตท้องที่ก็ไม่พอเพียงที่จะลบล้างข้อนี้ได้ คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยการประพฤติปฏิบัติของตนเอง ได้รับรองเส้นแผนที่นี้ และดังนั้นจึงถือได้ว่า เป็นการตกลงให้ถือว่าเส้นนี้เป็นเส้นเขตแดน”

ไทยต้องตระหนักว่ารัฐบาลกัมพูชามีสิทธิ์ร้องขอโดยลำพังให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 ได้ เพื่อชี้ขาดว่าเส้นเขตแดนในบริเวณพิพาทคือเส้นเขตแดนตามที่ปรากฏในแผนที่เจ้าปัญหาหร​ือไม่

ผู้เขียนเชื่อว่า หากความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาเลวร้ายลงเรื่อย ๆ
กัมพูชาจะเลือกใช้หนทางนี้ เพื่อยุติปัญหาที่ยืดเยื้อมานานเสียที

ปัญหาคือ หากศาลชี้ขาดให้เป็นคุณกับฝ่ายกัมพูชา
สังคมไทยจะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม.
ใครบ้างจะต้องกลายเป็นแพะรับบาป
ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะเลวร้ายลงไปอีกเพียงใด ไม่มีใครรับประกันได้

บางทีการกลับไปอ่านเอกสารหลักฐานเก่าบ้าง อาจช่วยทำให้ผู้นำไทยมีสติมากขึ้น ไม่ต้องวนเวียนกับคำอธิบายเก่า ๆ ที่เคยถูกตีตกไปแล้ว

ประการสำคัญ อาจทำให้เราพยายามคิดหาหนทางใหม่ ๆ ในการแก้ไขข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ต้องอิงกับกระแสชาตินิยมมากจนเกินไป
http://www.internetfreedom.us/thread-11983.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น