วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เดินสายประจาน..ฟ้อง(ศาล)โลก

เดินสายประจาน..ฟ้อง(ศาล)โลก
http://www.internetfreedom.us/thread-12031.html“การเสียชีวิตหมู่ประเทศไทยไม่อนุญาตแม้แต่จะให้มีการสืบ สวนสอบสวนในชั้นศาล แม้ไทยได้ชื่อเมืองล้านรอยยิ้ม แต่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ อาชญากรรมโดยรัฐต่อประชาชนจะถูกบอกให้โลกรับรู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าประชาธิปไตยในปร​ะเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง หลังจากนี้ผมจะโน้มน้าวให้อัยการไอซีซีเห็นว่ามีเหตุผลที่ศาลจะรับฟ้อง เพราะมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นจริง ซึ่งผู้ที่สั่งฆ่าประชาชนคือรัฐบาล โดยผู้บริหารหรือนายกรัฐมนตรีไทยที่ถือสัญชาติอังกฤษ ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ยื่นฟ้องได้”

นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความสำนักกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ และทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 กรณีการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) ในฐานะตัวแทนผู้มีอำนาจของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 จนมีผู้เสียชีวิต 91 ศพ และบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน โดยมีการถ่ายทอดสดระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากญี่ปุ่นมาไทย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม หน้า 18)

“อภิสิทธิ์” ยันสัญชาติไทย

“เขารับจ้างมาทำอย่างนั้นเขาก็ต้องทำอย่างนั้นแหละครับ แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบ เข้าใจว่าเขาแถลงข่าวว่าจะยื่นฟ้อง ผมสัญชาติไทยครับ ไม่มีสัญชาติมอนเตเนโกร”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอบโต้นายอัมสเตอร์ดัมที่ระบุว่านายอภิสิทธิ์ถือพาสปอร์ตสัญชาติอังกฤษ เพราะเกิดในอังกฤษจึงมีสัญชาติอังกฤษโดยอัตโนมัติ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศกำลังจะดำเนินการแถลงเรื่องนี้ต่อไป

ขณะที่ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ตามหลักกฎหมายสัญชาติต้องดูว่านายอภิสิทธิ์มีชื่อในทะเบียนราษฎรอังกฤษหรือไม่ ถือเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐอังกฤษหรือไม่ แค่มีจุดเกาะเกี่ยวตามที่กฎหมายสัญชาติอังกฤษกำหนดไม่ทำให้มีสถานะเป็นคนสัญชาติอังก​ฤษ

โลกกระชับ “อภิสิทธิ์”

แม้กรณีสัญชาติอังกฤษของนายอภิสิทธิ์จะมีผลหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็นเดียวในการยื่นฟ้อ​งไอซีซี เพราะในสำนวน 250 หน้าได้ระบุว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งมีการใช้อาวุธจริงและอุปกรณ์ที่กองทัพใช้ในการสงคราม ใช้ผู้เชี่ยวชาญที่ถูกฝึกฝนเป็นทีมสไนเปอร์กว่า 150 คน ที่มีการระบุตัวบุคคลชัดเจนในลักษณะของมือที่สาม เพื่อประหัตประหารประชาชน

ที่สำคัญการยื่นคำร้องต่อไอซีซียังมีศาสตราจารย์ดักลาสส์ คาสเซิล ผู้อำนวยการศูนย์สิทธิพลเรือนและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยนอร์ทเทอดาม ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น “Norte Dame Presidential Fellow” ร่วมร่างคำร้องดังกล่าวด้วย ซึ่ง ศ.คาสเซิลยืนยันว่าไอซีซีสามารถพิจารณาคดีที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ แม้ยังไม่ได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีไอซีซีก็ตาม

นอกจาก ศ.คาสเซิลจะมีบทความทางวิชาการทั้งภาษาอังกฤษและภาษาสเปนที่ถูกตีพิมพ์ในสหรัฐ ลาติน อเมริกา และยุโรป ได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาในมหาวิทยาลัยและงานประชุมสัมมนาทั่วโลกแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการยื่นเอกสาร (amicus curiae briefs) ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของนักโทษในกวนตานาโม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมาย Alien Tort Claims Act (ATCA) ต่อศาลฎีกาในสหรัฐ ในนามของนักการทูตอเมริกันที่เกษียณแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นทนายให้กับเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในโคลอมเบีย กัวเตมาลา เปรู และเวเนซุเอลา

นายอัมสเตอร์ดัมจึงมั่นใจว่าประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของ ศ.คาสเซิลมีค่าอย่างมหาศาลในการช่วยเหลือการยื่นคำร้องต่อไอซีซี ขณะเดียวกันก็ถือว่าการยื่นคำร้องต่อไอซีซีเป็นการเริ่มต้นนำเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายในเวทีโลกอย่างเป็นทางการ เป็นการดึงโลกกระชับวงล้อมนายอภิสิทธิ์ และยังเป็นการประจานอำนาจเผด็จการในไทยไปทั่วโลกอีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญคุมฝูงชนสหรัฐ

ขณะเดียวกันนายอัมสเตอร์ดัมยังระบุว่า การยื่นคำร้องครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีความพยายามรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐ​านอย่างครบถ้วนและเป็นระบบมากที่สุด เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยความจงใจและก่อให้เกิดความรุนแรงเกินก​ว่าจะรับได้ ซึ่งจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ทั้งยังอ้างคำให้การของพยาน รวมทั้งนายโจเรย์ วิตตี้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมฝูงชน และเคยสังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งนครลอสแอนเจลิส ที่ระบุว่าการปฏิบัติการของกองทัพไทยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เป็นการปฏิบัติการทางทหารซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์

แม้แต่กรณีการยิงระเบิดเอ็ม 79 ที่ถนนราชดำเนิน จน พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รอง เสธ.พล.ร.2 รอ. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน อาจเป็นฝ่ายทหารทำกันเอง เพื่อเป็นข้ออ้างในการใช้อาวุธปืนยิงใส่ประชาชน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎการใช้กำลังของกองทัพ

ฮิวแมนไรท์ฯประจานไทย

เช่นเดียวกับรายงานประจำปี 2553 ขององค์กรสิทธิมนุษยชนสากล (ฮิวแมนไรท์วอทช์) ได้ระบุถึงสถานการณ์ความขัดแย้ง วิกฤตการเมืองไทยช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาว่าจะเร่งสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบต่อกรณีละเมิดสิทธิมนุษยช​นผู้ชุมนุมเสื้อแดง แต่การสอบสวนกลับแทบไม่มีอะไรคืบหน้า ทั้งที่มีหลักฐานและข้อมูลชัดเจนว่ามีการใช้พลซุ่มยิงหรือสไนเปอร์ในการปราบปรามประช​าชน มีการใช้อาวุธสงครามระดมยิงใส่ประชาชนในวัดปทุมวนารามจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ศพ มีการปกปิดข้อมูลคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมคุมขัง

ขณะเดียวกัน ศอฉ. ยังถือโอกาสที่มีการใช้อำนาจ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดกั้นเสรีภาพสื่อและการแสดงความเห็นของประชาชน โดยการปิดสื่อต่างๆมากมาย

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์จึงเป็นการตอกย้ำการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการสังหารโหดในไท​ยว่า ผ่านมากว่า 9 เดือน รัฐบาลไทยก็ยังพยายามปกปิดความจริง

ในขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยืนยันว่าได้ทำตามพยานหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา โดยระบุว่าแม้ว่าตนเองจะเป็นกรรมการ ศอฉ. แต่ก็ไม่มีผลกับการสอบสวนหรือบิดเบือนเป็นอันขาด เพราะคดีทำในรูปของคณะพนักงานสอบสวนที่มีพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมสอบสวนด้วย

นอกจากนั้นนายธาริตยังตอบโต้การยื่นฟ้องของนายอัมสเตอร์ดัมว่า เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมืองที่ต้องการดิสเครดิตนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเท่านั้น แต่นายอัมสเตอร์ดัมก็กล่าวถึงนายธาริต ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งใน ศอฉ. ว่าไม่ว่าจะทำอย่างไรก็จะเป็นไปตามทิศทางที่ ศอฉ. ให้เป็น ทั้งอธิบดีดีเอสไอบอกให้ทีมสอบสวนสรุปว่าถ้าไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นคนยิงให้ทีมสอบสว​นสรุปไปว่าเป็นฝีมือคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นการกล่าวหาผู้ต้องหาให้เป็นผู้ก่อการร้าย

“คณิต” ชี้ไม่ได้รับความร่วมมือ

แต่นายคณิต ณ นคร คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กลับยืนยันว่า คอป. ไม่ได้รับความร่วมมือจากตำรวจและดีเอสไอจริง แม้นายกรัฐมนตรีจะสั่งการกำชับไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีความหมายอะไร

เช่นเดียวกับการไม่ให้ประกันตัวแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังกว่า 400 คน แต่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ที่มีข้อหาเดียวกันศาลกลับให้ประกันตัวนั้น ต้องถามศาล แต่ฝ่ายอัยการเองก็ต้องดำเนินการด้วย เพราะรัฐบาลไม่สามารถบังคับศาลได้ และรัฐบาลก็ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเช่นกัน

ขณะที่นายจรัญ โฆษณานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงการสอบสวนคดีของคนเสื้อแดงว่า ที่ฝ่ายทหารปฏิเสธจะให้ความร่วมมือในการสอบสวนนั้น เป็นการตอกย้ำให้เห็นอำนาจอิทธิพลของกองทัพในประเทศไทย

เช่นเดียวกับกระบวนการยุติธรรมที่มีความล่าช้าผิดปรกติ ก็แสดงถึงอำนาจทางการเมืองที่กำลังบ่อนทำลายกฎหมายในประเทศไทยนั่นเอง

ไอซีซีร่วมสังเกตการณ์

ด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. ได้กล่าวถึงจดหมายปรับทุกข์ของแกนนำ นปช. ที่ถูกจำคุกที่ส่งถึงผู้พิพากษา 1,300 คนทั่วประเทศว่า เพื่อให้รับรู้ถึงความไม่ชอบมาพากลและความไม่ยุติธรรมในคดีที่แกนนำ นปช. ถูกกล่าวหา นอกจากนี้ยังได้รับจดหมายตอบกลับจากไอซีซีว่าจะรับพิจารณาเรื่องการส่งพยานมาสังเกตก​ารณ์การพิจารณาคดีคนเสื้อแดงในประเทศไทย แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญากรุงโรมก็ตาม

ขณะที่ น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันว่า รัฐบาลพยายามใส่ร้ายคนเสื้อแดงทั้งที่ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยง ไม่ว่าจะเป็นชายชุดดำหรือหลักฐานที่บ่งชี้ว่าคนเสื้อแดงมีอาวุธ แต่กลับสั่งการให้สังหารหมู่แถมยังทำลายหลักฐาน อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์ที่ระบุว่าคนเสื้อแดงเป็นคนเผา แต่มีหลักฐานชัดเจนว่าบุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการ จึงน่าสงสัยว่าเป็นการทำลายหลักฐานหรือไม่

นอกจากนี้ยังใช้คำว่า “ปรองดอง” เป็นหน้ากากที่น่าละอาย โดยอ้างถึงความปรองดองแต่กลับจับกุมคุมขังแกนนำ นปช. โดยตั้งข้อหาก่อการร้ายที่มีโทษถึงประหารชีวิต ทำให้มีปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ขณะที่การสอบสวนข้อเท็จจริงกว่า 9 เดือนก็ไม่มีผลสรุปที่ชัดเจนใดๆ จึงต้องยื่นร้องต่อไอซีซี ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้ทำเพื่อให้ได้ความยุติธรรมต่อคนเสื้อแดง รวมทั้งรัฐบาลอิตาลีและญี่ปุ่นที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย เชื่อว่าอัยการไอซีซีเมื่อรับข้อมูลไปและศึกษาอย่างดีแล้วน่าจะยื่นฟ้องกับไอซีซีต่อ​ไป เพื่อยุติการกระทำที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

“จริงๆแล้วคนไทยคงต้องถามตัวเองว่าปล่อยให้ผู้นำรัฐบาลที่สั่งปราบปรามประชาชนจนมีผู​้เสียชีวิต 91 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน ยังลอยหน้าลอยตาเป็นนายกฯอยู่ต่อไปได้อย่างไร”

แม่น้องเกดชวดชี้แจงอังกฤษ

ส่วนความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจคือกรณีที่สภาสูงประเทศอังกฤษ (House of Lord) ได้มีหนังสือเชิญตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ไปชี้แจงในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่านางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ “น้องเกด” น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม และนายสันติพงษ์ อินจันทร์ (น้องเบิร์ด) เหยื่อจากการสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายนจนทำให้ตาบอด ที่จะเดินทางไปชี้แจงนั้น สถานทูตอังกฤษกลับไม่อนุมัติคำร้องขอวีซ่าดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่เพียงพอมีพอแค่เดินทางไปและกลับ

เช่นเดียวกับ “น้องเบิร์ด” ที่ระบุว่าได้แนบกอง ทุนธนาคารกรุงไทยจำนวน 1 ล้านบาทไปด้วย แต่กลับไม่ได้รับอนุมัติวีซ่าเช่นกัน

นางพะเยาว์จึงตั้งข้อสงสัยว่าคำเชิญดังกล่าวนั้นทางสภาสูงอังกฤษมีตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และรายละเอียดการเดินทางมาให้หมดแล้ว จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องเงินในบัญชี เชื่อว่ามีการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงขัดขวางเพื่อไม่ให้ไปให้ข้อเท็จจริง เพราะการชี้แจงความจริงเท่ากับเป็นการประจานความเหี้ยมโหดของรัฐบาลและกองทัพที่กระท​ำกับประชาชน ซึ่งปัจจุบันไม่ว่าเธอจะเดินทางไปที่ไหนก็จะมีคนแปลกหน้าคอยติดตามตลอด ทำให้รู้สึกเครียดและกดดันมาก ในวันนี้ประเทศไทยไม่มีใครเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เพราะไม่มีใครในโลกที่จะสังหารพยาบาลอาสาที่กำลังช่วยผู้บาดเจ็บ

อย่างไรก็ตาม นางพะเยาว์ได้บันทึกเทปวิดีโอส่งมอบให้กรรมาธิการสภาสูงของอังกฤษแล้ว และหากได้รับอนุญาตก็พร้อมจะให้ข้อมูลผ่านทางวิดีโอลิ้งค์

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า กรณีสถานทูตอังกฤษไม่ยอมออกวีซ่าให้นางพะเยาว์และนายสันติพงษ์เพราะมีการพยายามปิดกั​้นไม่ให้ข้อมูลการสังหารหมู่ถูกเผยแพร่ออกไป ทั้งกล่าวหาว่าทูตอังกฤษเข้ามายุ่งกับการเมืองภายในของไทย และมีการรับเงินเดือนจากบริษัทน้ำเมารายใหญ่ของไทยที่ใกล้ชิดกับกลุ่มอำมาตย์

สื่อต่างชาติร่วมประจาน

นอกจากนี้นิตยสารรายสัปดาห์ชื่อดังของเยอรมนี “แดร์ ชปีเกิล” ได้สัมภาษณ์นายอัมสเตอร์ดัมระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีภาพไม่แตกต่างจากพม่าที่มี “ทหาร” เป็นผู้กุมอำนาจที่แท้จริง และยืนยันว่านายอภิสิทธิ์ยังมีสถานะเป็น “พลเมือง” ของสหราชอาณาจักรหากยังไม่มีการประกาศสละสัญชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาลที​่ใช้กำลังปราบปรามประชาชน ขณะที่กระบวนการสอบสวนในประเทศไทยก็มีการสกัดกั้นไม่ให้มีการเรียกตัวบุคคลในกองทัพม​าสอบสวน

ด้านวอลล์สตรีท เจอร์นัล เอเชีย รายงานว่า ยังไม่รู้ว่าไอซีซีจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาไต่สวนหรือไม่ แต่โฆษกหญิงคนหนึ่งของไอซีซีให้ความเห็นว่า โดยทั่วไปแล้วไอซีซีไม่สามารถให้ความเห็นใดๆได้ต่อกรณีที่มีการยื่นคำร้องเช่นนี้ รวมถึงการที่ประเทศไทยไม่ได้เป็น 1 ในภาคี 144 ชาติของไอซีซีจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการในกรณีนี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าตั้งแต่มีการก่อตั้งไอซีซีขึ้นเมื่อปี 2002 ได้มีการพิจารณาและตัดสินความผิดของผู้ต้องหาที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปแล้​วทั้งสิ้น 16 ราย ในประเทศยูกันดา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เคนยา และแคว้นดาฟัวร์ของซูดาน ซึ่งซูดานไม่ได้เป็นภาคีของไอซีซีเช่นเดียวกับไทย

ทั่วโลกหัวใจดวงเดียวกัน

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบันทึกหลังอ่านรายงานของนายอัมสเตอร์ดัมว่า ไอซีซีจะรับฟ้องหรือไม่ก็มีประเด็นทางการเมืองที่สำคัญกว่า 3 ข้อคือ

ข้อแรก การกดดันไปที่ไอซีซีว่าจะตัดสินใจทำ อย่างไร อย่างน้อยก็ทำให้คดีพร้อมจะไต่สวนเบื้องต้นได้ทันทีหากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประช​าชาติจะอนุญาตให้ไอซีซีมีเขตอำนาจ (เหมือนซูดาน) แม้ประเทศไทยเส้นใหญ่มากก็ตาม แต่อย่างน้อยการกดดันให้ไอซีซีต้องเข้ามาตรวจสอบก่อนก็น่าจะเป็นการดีมาก

ข้อสอง เป็นรายงานที่มีการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไว้เสร็จหมดแล้ว หากไอซีซีไม่รับเพราะข้ออ้างไม่มีเขตอำนาจก็เป็นการผลักลูกบอลกลับไปที่รัฐบาลไทยต้อ​งให้สัตยาบันโดยเร็ว

ข้อสาม ประเด็นสังหารหมู่ถูกโหมกระพือไปทั่วโลก นับเป็นความชาญฉลาดของนายอัมสเตอร์ดัมที่เลือกญี่ปุ่นเป็นที่แถลงข่าว แต่ช่วยไม่ได้ รัฐบาลไทยดันไม่ฉลาด ไปห้ามนายอัมสเตอร์ดัมเข้าเมืองไทยเอง

นายปิยบุตรจึงให้จับตา 2 ประเด็นที่น่าสนใจคือ 1.รัฐบาลไทยและนายอภิสิทธิ์จะว่าอย่างไรกรณีเขตอำนาจศาลไอซีซีแบบ ratione personae แม้นายอภิสิทธิ์จะปฏิเสธว่าไม่ได้ถือสัญชาติอังกฤษแล้ว แต่ก็ถือว่านายอัมสเตอร์ดัมเก็บความลับได้ดีมากก่อนจะเปิดเผยออกมา

2.ความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยจะทำอย่างไร เงียบ ล็อบบี้สหรัฐอเมริกา ล็อบบี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือรัฐประหาร?

ไม่ว่านายอภิสิทธิ์และกองทัพจะพยายามปกปิดหรือบิดเบือนความจริงเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” อย่างไร แต่วันนี้หลักฐานต่างๆก็ถูกประจานไปทั่วโลกอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งสามารถอ่านและดาวน์โหลดข้อมูล วิดีโอเหตุการณ์ และถ้อยคำเบิกความของพยานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้อย่างละเอียดที่ http://www.thaiaccountability.org รวมถึงสำเนาคำฟ้องไอซีซีและเอกสารประกอบที่http://www.robertam sterdam.com/Thailand

อย่างที่นายอัมสเตอร์ดัมแถลงว่า วันนี้ทั่วโลกมีหัวใจดวงเดียวกันที่จะสนับสนุนให้คนเสื้อแดงต่อสู้ต่อไป เพราะทั่วโลกได้รับรู้ถึงการกระทำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคดีที่ยื่นฟ้อง แต่เราก็ได้แสดงให้ทั่วโลกรับรู้ว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์คือคนร้ายที่เข่นฆ่าประชาชน!

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกว่าครั้งหนึ่งได้เกิดการสังหารหมู่ประชาชนครั้งยิ่งใหญ่ โดยรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับฟ้องเป็นคดีหรือไม่ อีกไม่นานเกินรอคงได้คำตอบ แต่การเดินสายประจานฟ้อง (ศาล) โลกได้เริ่มต้นนับหนึ่งแล้ว!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 297 วันที่ 5 - 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank...ws_id=9579

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น