วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554

*การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 


คือการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายนพ.ศ. 2475  
การเตรียมการเปลี่ยนแปลง



คณะราษฎรได้มีการประชุมเตรียมการหลายครั้ง รวมถึงได้มีการล้มเลิกแผนการบางแผนการ เช่น การเข้ายึดอำนาจในวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน แต่เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกลกังวล ทำให้เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนอยู่ในกรุงเทพทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะรุนแรงที่เสียเลือดเนื้อได้


ในการวางแผนดังกล่าวกระทำที่บ้าน ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการวางแผนควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร โดยมีการเลื่อนวันเข้าดำเนินการหลายครั้งเพื่อความพร้อม

หลังจากนั้นยังได้มีการประชุมกำหนดแผนการเพิ่มเติมอีกที่บ้านพระยาทรงสุรเดช โดยมีการวางแผนว่าในวันที่ 24 มิถุนายนจะดำเนินการอย่างไร และมีการแบ่งงานให้แต่ละกลุ่ม แบ่งออกเป็น 4 หน่วยด้วยกัน คือ



  • หน่วยที่ 3 เป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนย้ายกำลัง ซึ่งทำหน้าที่ประสานทั้งฝ่ายทหารบกและทหารเรือ เช่น ทหารเรือจะติดไฟเรือรบ และเรือยามฝั่ง ออกเตรียมปฏิบัติการณ์ตามลำน้ำได้ทันที

  • หน่วยที่ 4 เป็นฝ่ายที่เรียกกันว่า "มันสมอง" มี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ร่างคำแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายปกครองประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการเจรจากับต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจภายหลังการปฏิบัติการสำเร็จแล้ว
แม้ว่าทางคณะราษฎรจะพยายามที่ทำลายหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ยังมีข่าวเล็ดรอดไปยังทางตำรวจ ซึ่งได้ออกหมายจับกลุ่มผู้ก่อการ 4 คน คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม  พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม  ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี และ นายตั้ว ลพานุกรม อย่างไรก็ตามเมื่อนำเข้าแจ้งแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ถูกระงับเรื่องไว้ก่อน เนื่องจากไม่ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นอันตราย และให้ทำการสืบสวนให้ชัดเจนก่อน
การยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ใช้กลลวงนำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2,000 คนตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือนประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป
หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นมุดทองเหลืองฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร นิยมเรียกกันว่าหมุดคณะราษฎร มีข้อความว่า "ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"
ในยุคนั้น ถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติไทย และมีการประพันธ์เพลง "วันชาติ 24 มิถุนา" โดยครูมนตรี ตราโมท ไว้ด้วย
(ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

อนาคตแห่งความทรงจำของ 24 มิถุนา 2475

 ปัจจุบันคนไทยทั่วไป แทบลืมความสำคัญ ของวันอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดไปจนเกือบสิ้น

24 มิถุนายน 2475 เมื่อ 72 ปีที่แล้วคือ วันอภิวัฒน์ วันที่กลุ่มคณะราษฎรซึ่งมีผู้ก่อการส่วนใหญ่เป็นทหาร ข้าราชการ 
(รวมถึงพ่อค้า ชาวนามีฐานะบางคน)100 กว่านาย ได้ยึดอำนาจจากสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้อย่างมิต้องหลั่งเลือดเหมือนในรัสเซียหรือที่อื่นๆ

นักประวัติศาสตร์จำนวนมากเห็นตรงกันว่า 24 มิถุนา คือ
 วันเกิดของรัฐประชาชาติสมัยใหม่ (modern nation state) ซึ่งต่างจากรัฐในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งอำนาจรวมศูนย์ ไม่มีระบบคานอำนาจตรวจสอบ พระราชาตรัสอะไรก็กลายเป็นกฎหมายไปเสียหมด มิหนำซ้ำการแบ่งชนชั้นยังเป็นไปอย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่าคนผู้นั้นมีบุญหรือกรรมเกิดมาเป็นลูกของเจ้าหรือชาวนา

เป็นที่น่าเศร้าว่าในปีนี้ 72 ปีผ่านไปซึ่งเป็นวาระครบหกรอบ ผู้ที่มาชุมนุมตอนเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ ที่ 24 ที่ผ่านมาเวลา 6 โมงเช้าที่หมุดอภิวัฒน์ 2475 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้ามีเพียงประมาณ 20 คน ในขณะที่ช่างภาพและนักข่าวมีมาถึง 30 คนซึ่งมากกว่าผู้มารำลึกเสียอีก

ดูเหมือนว่ามนุษย์มักจำในสิ่งที่จำแล้วได้ประโยชน์หรือสบายใจ ในภาวะปัจจุบันที่กระแสเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ฟูเฟื่องเช่นนี้ การจดจำอดีตแห่งการเผชิญหน้าระหว่าง "ไพร่" กับ "เจ้า" จึงเป็นเรื่องที่อาจทำให้หลายคนรู้สึกพะอืดพะอม ลำบากใจพิลึก

หลายคนมักพูดว่าคนไทยนั้นความจำสั้น ขี้ลืม ไม่สนใจต่ออดีต อันนี้คำตอบคงเป็นทั้งใช่และไม่ใช่

ใช่ ..หากจะดูว่าผู้มาร่วมรำลึกน้อย แถมสื่อส่วนใหญ่มิได้สนใจเขียนหรือรายงานเสนอเรื่องนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือทีวีก็ตามแต่

แต่..ไม่ใช่ เพราะประวัติศาสตร์นั้นมักถูกเลือกสรรโดยผู้มีอำนาจอิทธิพลในปัจจุบันว่าอะไรสมควรจำไม่จำ ยกตัวอย่างการผลิตซ้ำความเกลียดชังต่อพม่าซึ่งตีอยุธยาแตกถึง 2 ครั้ง มีการตอกย้ำออกมาในรูปแบบละครทีวี ไม่รู้กี่เวอร์ชั่น (ปัจจุบันชมเรื่อง "ฟ้าใหม่" ได้) จนประชาชนสับสนไม่รู้อะไรจริงเท็จแต่เชื่อแน่ๆ ว่าพม่า "โหดร้าย" เพราะฉะนั้นการลืมเรื่องเหตุการณ์มิถุนา 2475 ซึ่งผ่านไปยังไม่ถึง 80 ปี ในขณะที่สงครามกับพม่าผ่านมาสองสามร้อยปีก็ยังจำได้ จึงมิใช่เหตุบังเอิญ

(ในกรณีสงครามระหว่างไทย-พม่านั้น นักมานุษยวิทยาบางคนเห็นว่าการสร้างศัตรูร่วมเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในชาติไปในตัว)
สิ่งที่น่าจะถาม จึงเป็นว่า เราควรจำวันที่ 24 มิถุนาอย่างไร และจําไปเพื่ออะไร อดีตมีไว้เพียงเพื่อรับใช้ปัจจุบันกระนั้นหรือ?
แท้จริงแล้วการจำหรือไม่จำอะไรบอกเราเกี่ยวกับปัจจุบันมากกว่าอดีตเสียอีก...หรือท่านผู้อ่านว่าไม่จริง?
นักประวัติศาสตร์ฝ่ายก้าวหน้ามักจะรำพึงรำพันว่า พื้นที่สำหรับความทรงจำเรื่องการอภิวัฒน์ 2475 นั้นมีน้อยเพียง 2-3 บรรทัดในตำราประวัติศาสตร์ระดับมัธยมปัจจุบัน แถมมีการตีความกันแบบยัดเยียดความทรงจำอันน้อยนิดนี้ให้เพียงชุดเดียว อันได้แก่ ชุดที่ว่ารัชกาลที่ 7 ท่านทรงเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญให้อยู่แล้ว แต่พวกคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามไปเองเสียก่อน (ทุกวันนี้หน้ารัฐสภา จึงมีแต่รูปปั้นพระปกเกล้า หามีรูปปั้นผู้นำคณะราษฎรด้วยไม่)แทนที่จะมีหลายชุด หลายเวอร์ชั่นของประวัติศาสตร์ มาแข่งกันให้เยาวชนไทยได้คิดตั้งคำถามและเรียนรู้จากอดีต

ยกตัวอย่างเรื่องชิงสุกก่อนห่ามนั้น คงขึ้นอยู่กับว่ามองจากมุมมองของใคร มุมมองของเจ้าผู้มีอภิสิทธิ์ หรือมุมมองของผู้ถูกกดขี่ด้อยอำนาจ หรือแม้กระทั่งมุมมองของผู้ด้อยอำนาจถูกกดขี่แต่พอใจในระบบอุปถัมภ์ เป็นต้น ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า "สุก" ของใคร "ห่าม" ในสายตาของผู้ใดเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ความหมายของวันที่ 24 มิถุนา 2475 ไม่น่าจะอยู่คงที่ความจำ (หรือลืมเลือน) ต่อเหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 ... ในอีก 50 ปีข้างหน้าอาจจะต่างจากปัจจุบันที่ไร้ผู้คนสนใจ หากปัจจัยและสภาพสังคมในอีก 50 ปีข้างหน้าเปลี่ยนไป (ซึ่งมันก็คงจะเปลี่ยน)

มนุษย์ดูเหมือนจะถูกจำกัดโดยกาล (time) และเทศะ (space) กาลหรือยุคสมัยที่เราดํารงอยู่พยายามจำกัดให้เราคิดเหมือนคนส่วนใหญ่ ในยุคเราเช่นอาทิตย์นี้น่าจะสนใจติดตามฟุตบอลยูโร ซึ่งกำลังแข่งอยู่ หรือเหตุการณ์ฆ่าคุณเจริญ วัดอักษร นักอนุรักษ์คนสำคัญแห่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ ในขณะที่เทศะนั้นพยายามหล่อหลอมเราให้มีสำนึกเหมือนคนอื่นๆ ในท้องที่สังคมชาติที่เราถือกำเนิดและเติบโต เพราะฉะนั้นเราคนไทยมักจะไม่ไว้ใจพม่าและตีแขกก่อนงู เป็นต้น

คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงมักจำ (หรือไร้ความทรงจำ) ต่อเหตุการณ์อภิวัฒน์ 2475 อย่างที่เป็นปัจจุบันสภาพของสังคมไทยกําหนด ต่างจากกาลและเทศะของเมืองไทยปี 2481 ถึง 2502 ซึ่งในช่วงนั้นทุกวันที่ 24 มิถุนาถือเป็นวันชาติไทยอันสำคัญ ก่อนมาถูกกระทำให้ลืมโดยเผด็จการชื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2503
ประวิตร โรจนพฤกษ์

วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551*

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น