วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554

ผลพวงการอภิปรายไม่ไว้วางใจการเมือง‘เพื่อไทย-คนเสื้อแดง’?
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10163


ผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาได้เห็นเป็นรูปธรรม พิสูจน์และตอกย้ำปัญหาพื้นฐานทางการเมืองของไทยชัดเจน เพราะภาพรวมการลงมติไว้หรือไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรี หลังจากการอภิปรายเนื้อหาต่างๆนาน 4 วันนั้น ปรากฏว่าการลงมติไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความสนใจเรื่องของเนื้อหา แต่การลงมติกลับตั้งอยู่บนฐานของดุลอำนาจทางการเมือง การแก้ปัญหาทางการเมืองภายใต้ตรรกะกลุ่มพวก การต่อรองเพื่ออำนาจ และการรักษาผลประโยชน์ของนักเลือกตั้งกันต่อไป


เนื้อหาของการอภิปรายที่ผู้เขียนเห็นว่าบ่งบอกความผิดอย่างชัดเจน นอกจากเรื่องมิติของการตัดสินใจแล้ว ยังเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ได้แก่ กรณีปัญหาของนายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะไปครอบครองที่ดินที่จัดสรรไว้ให้กับคนยากจนที่ไร้ที่ทำมาหากิน คล้ายกับกรณี ส.ป.ก.4-01 ซึ่งจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ และไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นเกษตรกรธรรมดา เพราะขนาดของการลงทุนและภูมิหลังของนายศุภชัยเป็นถึงครูบาอาจารย์ และปัจจุบันเป็นนักการเมือง ซึ่งมองยังไงก็ไม่ใช่กลุ่มคนจนอยู่แล้ว

กรณีนี้เป็นปัญหาของทั้งแง่กฎหมายและจริยธรรมในเชิงความประพฤติของนักการเมือง นายศุภชัยอ้างว่าไม่รู้กฎหมายทั้งๆที่ทำหน้าที่รัฐมนตรี ก็เหมือนกับการที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ครอบครองที่ดินบนเขายายเที่ยง ทั้งๆที่ผ่านชีวิตแม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) ที่ถือว่ามีสถานภาพ บทบาท และหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ร่วมด้วยในสายงาน ที่กรมป่าไม้ตามกฎหมายมอบให้ดูแลป่าแล้วยังครอบครองพื้นที่ในเขตที่ตนเคยรับผิดชอบอีก ซึ่งเรื่องเหล่านี้รัฐไทยปัจจุบันยังไม่มีปัญญาเอากฎหมายไปจัดการกับผู้กระทำผิดได้อย่างแท้จริง

แล้วอย่างนี้จะไม่ให้คนเสื้อแดงอ้างเรื่อง “สองมาตรฐาน” ได้อย่างไร คนที่อยู่ตรงข้ามคนเสื้อแดงก็มักจะมองว่ากลุ่มคนเสื้อแดงสร้างวาทกรรม แต่กับเรื่องสองมาตรฐานนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่ารัฐไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ที่ชัดเจนอีกกรณีหนึ่งคงเป็นปัญหาเรื่องการจัดการภาษีของบริษัทบุหรี่ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้แสดงขั้นตอนและกระบวนการการตัดสินใจของรัฐบาลที่มองแล้วส่อแววหรือเข้าข่ายใช้อำนาจหน้าที่ช่วยเหลือหรือเกื้อกูลให้บริษัทบุหรี่ได้รับการลดหย่อนภาษีเกินความเป็นจริง รวมถึงการอภิปรายที่สำคัญของ ร.ต.อ.เฉลิมที่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนในมิติการตัดสินตกลงใจของฝ่ายการเมือง ตั้งแต่การพยายามเรียกอัยการสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมเข้ามาร่วมประชุม หรือการชี้นำให้คณะกรรมการต้องมีมติหรือทบทวนแนวคิดเรื่องราคาภาษีต่างๆ เหล่านี้นับเป็นเนื้อหาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ถูกต้อง

เพราะอันที่จริงแล้วการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ มิใช่กระบวนการของฝ่ายบริหารหรือกระบวนการตรวจสอบเอาคนผิดขึ้นฟ้องศาล การเอาคนผิดขึ้นฟ้องศาลจะต้องถามหาหลักฐานหรือใบเสร็จที่ถูกต้อง แต่กระบวนการทางนิติบัญญัติ เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกระบวนการทางการเมืองที่ใช้การตรวจสอบด้วยมาตรการทางการเมือง

ดังนั้น หากกรณีที่อภิปรายแค่มีลักษณะ “ส่อแวว” ว่าจะทุจริตก็ต้องพิจารณาและตัดสินใจทางการเมืองกับผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าผิดหรือไม่ผิดได้แล้ว ไม่ใช่ต้องมีหลักฐานลักษณะใบเสร็จตามกระบวนการกฎหมาย แต่การตัดสินใจดูได้จากสภาวะแวดล้อมต่างๆ เช่น การใช้อำนาจทางการเมือง สายสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างผู้ได้รับประโยชน์และผู้ใช้อำนาจตัดสินใจ รวมถึงลักษณะของผลประโยชน์ที่น่าจะเกิดขึ้น แค่นี้ก็ทำให้คนตัดสินและตกลงใจกันได้แล้วว่าผู้ถูกอภิปรายนั้นส่อแววทุจริต ตัดสินใจผิดพลาด หรือตัดสินใจเพื่อพวกพ้องหรือไม่

แต่กรณีนี้เช่นนี้กลับไม่มีในการตัดสินจากนักเลือกตั้งในสภาแต่อย่างใดเลย
ส่วนปัญหาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คือ นางพรทิวา นาคาศัย หรือนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) ก็ส่อแววมีปัญหาทางการเมืองเช่นกัน แต่ทั้งหมดก็ได้รับการยกมือไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาลกันถ้วนหน้า ซึ่งผู้เขียนตีความว่า เปรียบเสมือนพวกโจรที่พากันไว้วางใจพวกเดียวกันเอง ทั้งที่ทั้งหมดเป็นการส่อในทางทุจริต จนเป็นมาตรฐานของโจรที่ต้องยอมรับและอยู่ร่วมกันไป เพื่อจะใช้อำนาจโจรทำการคอร์รัปชันสมบัติของชาติต่อไป และหนักหน่วงมากขึ้นในอนาคต เพราะถ้าหากรักษาสัจจะของหมู่โจรกันไว้ได้ ก็ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าพฤติกรรมของโจรเหล่านี้ไม่มีการหักหลังซึ่งกันและกัน เพราะจะถูกค้ำยันจากผลประโยชน์ของพวกพ้อง
พรรคเพื่อไทยเองก็ควรต้องถูกติติงให้ระมัดระวังตรงที่ว่า มีปัญหาให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันในพรรค รวมถึงปัญหาแนวทางประชาธิปไตยด้วย เช่น กรณีที่ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ พูดกลางสภาในทำนองขัดแย้งแสดงความไม่ลงรอยกับประธานวิปฝ่ายค้าน กรณีไม่ใช้สิทธิอภิปราย หรือกรณีที่ พ.ต.ท.สมชายอภิปรายลึกเฉพาะเรื่องตรวจสอบการทุจริต แต่กลับไม่มีการตรวจสอบกระบวนการในการจัดซื้อจัดหา เพราะปัญหาของกระทรวงกลาโหมไม่ได้แค่ต้องดูเรื่องการโกงหรือไม่โกงในการจัดซื้อเท่านั้น แท้จริงแล้วกระทรวงนี้มีความล้าหลังในเรื่องของระบบและกระบวนการการจัดหาที่ถูกคนกลุ่มเดียวครอบงำไว้ ตั้งแต่กระบวนการแรกจนถึงกระบวนการสุดท้ายเลยทีเดียว แต่คณะผู้อภิปรายเรื่องของกระทรวงกลาโหมโดยเฉพาะ พ.ต.ท.สมชายไม่ได้ทำหน้าที่นี้

นอกจากนั้นการพยายามอ้างอิงเรื่องน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เข้ามารับหน้าที่เป็นคู่แข่งนายกรัฐมนตรีนั้น เหมือนการถูกชูให้มาแข่งกับนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ก็น่าจะเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์หรือไม่?

เพราะในเชิงการเมืองคนเสื้อแดงได้บอกไปแล้วว่า ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยและก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณไปแล้ว ซึ่งปรัชญาแนวคิดนี้ทำให้ได้ใจชนชั้นกลางอีกมาก แต่เรื่องจริงกลับปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณโฟนอินและจะยกตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่เป็นว่าที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ต้องดูกันต่อไปว่าจะทำให้ฝ่ายอื่นเข้าใจอย่างไร และท้ายที่สุดแล้วคนกลุ่มนี้ไม่ว่าจะคนเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทยจะแสดงตนต่อสู้เพื่อตัวบุคคลมากกว่าเพื่อหลักการหรือไม่ อันนี้ต้องทบทวนกันให้ดี!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 10 คอลัมน์ ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ  ชื่นประชา*

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น