วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554


แอบมุบมิบแก้กติกา รีบร้อนขายทำไม?!?



ที่ดินรัชดาสร้างปัญหาซ้ำ
หลังคืนเงินให้คุณหญิงอ้อ
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ 5379/2552 ที่ นายพศิน ทิพยรักษ์ พนักงานอัยการฝ่ายคดีแพ่ง รับมอบอำนาจจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย เรื่องโมฆะกรรม
ขอให้ศาลเพิกถอนรายการจดทะเบียนขายโฉนดที่ดินรัชดาภิเษก 4 แปลงจำนวน 33 ไร่เศษมูลค่า 772 ล้านบาท และให้ส่งมอบการครอบครองที่ดินคืน
ขณะที่คุณหญิงพจมาน ฟ้องแย้งในสำนวนเดียวกัน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กองทุนฟื้นฟู คืนเงินซื้อขายที่ดิน จำนวน 772 ล้านบาท พร้อมด้วยค่าเสียหาย ค่าออกแบบอาคารที่จะก่อสร้างจำนวน 39 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่นัดชำระ
ที่มาของคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 46 คุณหญิงพจมาน ได้เข้าร่วมยื่นซองประกวดราคาซื้อที่ดินผืนดังกล่าว ต่อมากองทุนฟื้นฟูฯ ประกาศให้เป็นผู้ชนะในการซื้อที่ดิน 4 แปลงในราคาสูงสุดเป็นเงิน 772 ล้านบาท
โดยกองทุนฯ และคุณหญิงพจมาน ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 46 และ ได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิที่ดินให้กับคุณหญิงพจมาน ในวันที่ 30 ธ.ค. 46 โดยสัญญาซื้อขายที่ดินมีข้อความว่า
“กองทุนฟื้นฟูฯ ผู้ขาย ตกลงยอมขาย และคุณหญิงพจมาน ผู้ซื้อตกลงยอมซื้อ”
แต่ต่อมาภายหลังจากทำสัญญาซื้อขาย คุณหญิงพจมาน และ พ.ต.ท.ทักษิณ สามีถูกอัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมืองในความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จากกรณีที่คุณหญิงพจมาน คู่สมรสของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเป็นคู่สัญญาทำสัญญาซื้อขายที่ดิน 4 แปลงกับกองทุนฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่อยู่ในอำนาจกำกับดูแลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ทำให้เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 51 ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดให้จำคุก 2 ปี
ซึ่งเรื่องนี้ตกเป็นข่าวครึกโครมมาตลอด เพราะหน่วยงานของรัฐคือกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นซองประกวดราคา ซึ่งคุณหญิงพจมาน ก็ไม่ได้ปิดบังตัวเอง ที่สำคัญคนไทยทั้งประเทศก็รู้ดีว่าคุณหญิงพจมานขณะนั้นเป็นภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ
แต่ทางกองทุนฟื้นฟูฯก็ไม่มีการทักท้วงในเรื่องคุณสมบัติใดๆ จนกระทั่งประกาศให้เป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นประเด็นทางการเมืองในที่สุด
ซึ่งสุดท้ายศาลแพ่งพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีนี้เมื่อคุณหญิงพจมาน เป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และนิติกรรมที่เป็นโมฆะ ถือว่าเสียเปล่าใช้ไม่ได้มาตั้งแต่ต้น ไม่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ์ และหน้าที่ของคู่กรณี
ดังนั้นศาลแพ่งจึงมีคำพิพากษาให้คุณหญิงพจมาน ส่งมอบการครอบครองที่ดินทั้ง 4 แปลง คืนให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ
และให้กองทุนฟื้นฟูฯ ชำระเงินจำนวน 772 ล้านบาท คืนให้แก่คุณหญิงพจมาน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 25 พ.ย.52 ซึ่งเป็นวันฟ้องแย้งเป็นต้นไป
ก็เป็นอันปิดคดีพิศดารลงไป โดยที่คุณหญิงพจมานได้เงินคืนไป 772 ล้านบาท และได้ดอกเบี้ยไปอีกกว่า 50 ล้านบาท
ที่ซวยก็คือ กองทุนฟื้นฟูฯซึ่งได้ที่ดินที่ประมูลขายมา 2-3 รอบก่อนหน้าแล้วขายไม่ออกกลับคืนไป โดยที่ต้องควักเนื้อจ่ายดอกเบี้ยไปอีกด้วย กลายเป็นต้นทุนที่ดินผืนนี้ขยับสูงขึ้นไปอีก
และกลายเป็นที่มาของปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากทางกระทรวงการคลังมีความต้องการที่จะยุบเลิกกองทุนฟื้นฟูฯก่อนระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ เดือน ส.ค. 2556 เนื่องจากในกองทุนฟื้นฟูฯนั้นยังมีทรัพย์สินอีกกว่าแสนล้านบาทจมอยู่ในนั้น
“จริงๆ กองทุนฟื้นฟูจะต้องปิดตัวลงในเดือน ส.ค.56 แต่ทางคลังต้องการที่จะให้มีการปิดตัวเร็วขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายใหม่ด้วยว่า จะมีการร่างเสร็จทันปี 54 หรือไม่ ถ้าเสร็จทันภายในสิ้นปีนี้ ปีหน้า 2555 ก็สามารถโอนทรัพย์สินที่มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท และยังมีทรัพย์สินที่เรียกเก็บในอนาคตอีก 3 แสนล้านบาทได้” แหล่งข่าวในธนาคารแห่งประเทศไทยระบุ
ปัญหาก็คือ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เล็งอะไรอยู่ จึงต้องการเร่งปิดกองทุนฟื้นฟูฯ และเร่งระบายทรัพย์สินแสนล้านบาทเช่นนี้
ซึ่งนางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายจัดการกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้บริหารจัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ยอมรับว่า กองทุนฟื้นฟูฯ ยังเดินหน้าขายทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การบริหารอย่างต่อเนื่อง
และหนึ่งนั้นในจำนวนทรัพย์สินที่เร่งขาย ก็คือ ที่ดินรัชดาภิเษก นั่นเอง
โดยทางกองทุนฟื้นฟูฯ กำหนดเดิมเอาไว้ว่าจะขายได้ภายในสิ้นปี 54 นี้
แต่ปรากฏว่าได้มีกลไกอำนาจทางการเมือง สั่งการให้ทางกองทุนฟื้นฟูฯ หาทางเร่งเปิดประมูลที่ดิน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินราคาประมูลขาย และพยายามที่จะให้ทางกองทุนฟื้นฟูฯบอกว่า ราคาประมูลขายที่ดินรัชดาฯ น่าจะสูงกว่าการประมูลเมื่อครั้งที่คุณหญิงพจมานประมูลได้ เนื่องจากขณะนี้ที่ดินผืนดังกล่าวมีความเจริญขึ้นมาก
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแบบตรงไปตรงมา ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่ว่าอย่างไรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯก็คือเงินภาษีของประชาชน หากประมูลออกมาได้เงินน้อยกว่าครั้งที่แล้ว คือต่ำกว่า 779 ล้านบาท
ก็เท่ากับเสียหายมากขึ้น เพราะยังมีค่าดอกเบี้ยที่จ่ายไปกว่า 50 ล้านบาทอีกด้วย
ทำให้มีการตั้งคำถามกันขึ้นมาว่า กรณีนี้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้หยิบยกว่าเป็นผลงานชิ้นเอก แต่หากประมูลได้ในราคาที่ต่ำลงจนเกิดความเสียหาย ประชาชนจะสามารถฟ้องร้องให้ คตส. จ่ายค่าเสียหายได้หรือไม่
หรือว่าจะต้องไปฟ้องร้องให้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง คตส.ขึ้นมา เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบแทน
หรือว่าบรรดาคณะกรรมการ คตส. อย่างเช่นนายนาม ยิ้มแย้ม ประธานกรรมการตรวจสอบ นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบ นายกล้านรงค์ จันทิก คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา นายบรรเจิด สิงคะเนติ และ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง จะเป็นคนรับผิดชอบหรือไม่???
ประชาชนจะฟ้องคนเหล่านี้ได้หรือไม่
ซึ่งเพราะการที่มีประเด็นที่ถูกจับตามองจากสังคมอยู่ว่า สุดท้ายแล้วที่ดินรัชดาฯจะประมูลได้เท่าไหร่ จะมีความเสียหายหรือไม่ และใครจะรับผิดชอบ???
จึงทำให้มีกระบวนการดำเนินการรีบเร่งมุบมิบที่จะหาทางขายที่ดินรัชดาฯผืนนี้ให้เร็วที่สุด ในช่วงที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังกุมอำนาจอยู่
เพราะแหล่งข่าวในธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้ทาง กองทุนฟื้นฟูฯกำลังถูกบีบให้เจาะจงขายที่ดินรัชดาฯให้เสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ให้ได้ ทั้งๆที่ตามแผนเดิมที่วางไว้ก็คือพยายามที่จะขายให้ได้ในสิ้นปี 54
นอกจากนี้ ยังมีการสั่งให้ทาง ป.ป.ช. เข้ามาเกี่ยวข้องในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นซองประกวดทุกรายก่อนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ เพราะหน้าที่ของ ปปช. ไม่น่าจะใช่พนักงานตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติผู้เข้าร่วมการประมูล
ที่สำคัญปัจจุบันงานของ ป.ป.ช. เองก็ล้นมือมากอยู่แล้ว มีคดีค้างอยู่เป็นหมื่นคดี กลับต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้อีก
รวมทั้งสิ่งที่น่าสังเกตุก็คือ มีการกำหนดให้ใช้การประมูลแบบปิด (Close Bid) แทนรูปแบบเดิมที่ใช้การประมูลแบบเปิด (Open Bid)
ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตุกันว่า สิ่งที่รัฐบาลกลัว ก็คือ จะขายได้ในราคาที่ต่ำกว่า 779 ล้านบาทบวกดอกเบี้ยจ่ายอีก 50 ล้านบาท ซึ่งหากขายได้ต่ำกว่า 829 ล้านบาท ก็จะเท่ากับว่าไม่เพียงรัฐบาลเสียหน้า แต่ยังเกิดความเสียหายด้วย
ดังนั้นหากเปิดซองออกมาแล้วราคาต่ำกว่า 829 ล้านบาท ก็อาจจะมีการเรียกเจรจาให้มีการเปลี่ยนตัวเลขให้สูงขึ้นหรือไม่???
แต่ที่น่าเกลียดที่สุดก็คือ เดิมที่ดินผืนดังกล่าวอยู่ในผังเมืองกำหนดเป็นพื้นที่สีเหลือง ซึ่งขึ้นตึกสูงไม่ได้ ก็ได้มีความพยายามที่จะให้มีการเปลี่ยนสีในผังเมืองของบริเวณดังกล่าวให้เป็นสีแดง หรืออย่างน้อยก็เป็นสีน้ำตาล
เพื่อให้คนที่ประมูลได้ไปสามารถที่จะขึ้นตึกสูง สามารทำคอนโดมีเนี่ยมขายได้!!!
แน่นอนว่านี่คือการเพิ่มมูลค่าที่ดินอย่างชัดเจน
เพียงแต่เป็นการมุ่งเพิ่มมูลค่าที่ดิน เพื่อรักษาหน้าตาของรัฐบาลที่เข้ามาเพราะผลจากการทำรัฐประหาร 19 กันยา และเป็นการทำเพื่อให้ได้ราคาที่ดีกว่า 829 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายอันจะกลายเป็นตราบาปของ คตส.และ คมช. หรือไม่???
มีรายงานข่าวในแวดวงธุรกิจว่า ได้มีความพยายามที่จะดึงให้ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งอาณาจักรเบียร์ช้าง เอาบริษัท ทีซีซี.แลนด์ เข้ามาประมูลซื้อที่ดินดังกล่าวด้วย
รวมทั้งอาจจะมีการโน้มน้าวให้เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ บิ๊กบอสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้หันมาสนใจที่ดินผืนดังกล่าวด้วยเช่นกัน
“หากทั้ง 2 เจ้าสัวให้ความสนใจที่ดินผืนดังกล่าว แน่นอนว่าราคาต้องขยับสูงขึ้นอย่างแน่นอน”
นอกจากนี้ก็ยังมีความเป็นไปได้ ที่จะมีการชักจูให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ที่เป้นดาวรุ่ง ที่นิยมไต่เส้นลวดในการทำธุรกิจ ให้มาร่วมประมูลซื้อที่ดินผื้นนี้ด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดเป็นเกมที่การเมืองกำลังเล่นกับที่ดินเจ้าปัญหาทางการเมือง จนทำให้หลายคนอดตั้งข้อสังเกตุและสงสัยไม่ได้ว่า
ทำไมต้องเร่งขายให้จบในเดือนมีนาคม?... จะเกี่ยวข้องกับระยะเวลาในการยุบสภาหรือไม่?
และทำไมถึงต้องลุกลี้ลุกลนขาย?... ถึงขนาดแก้กติกา แก้สีผังเมืองเช่นนี้ด้วย
ที่สำคัญกองทุนฟื้นฟูฯยังมีที่ดินอื่นอยู่อีก จะใช้วิธีเดียวกันนี้หรือไม่???
หรือว่าจะมุบมิบขายแบบนี้เฉพาะผืนนี้ผืนเดียวเท่านั้น?!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น