วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554



‘นักวิชาการ’มือเท้าของรัฐบาล
http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=50867
 

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งยิ่งมีอะไรให้พิลึกพิลั่นกันไปต่างๆนานา เพราะเป็นที่ทราบกันว่าทุกยุคทุกสมัยของการเลือกตั้ง พรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น เพราะต้องยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นการแก้ไขที่นำไปสู่วงจรอุบาทว์ทางการเมืองโดยแท้

การให้ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีนิด้า มาเป็นประธานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเสมือนการเติมเชื้อลงไปในกองเพลิงอย่างดี ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าบทบาทที่ผ่านมานั้นอาจารย์สมบัติเป็นผู้ที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองเรียกใช้เป็นประจำ ในรัฐบาลนี้จะเห็นได้จากการออกมาให้ความเห็นในกรณีที่นายอภิสิทธิ์ไปแถลงนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นั่นก็เหมือนกับว่าเป็นการออกมายอมรับการกระทำที่รัฐบาลทำออกมาว่าถูกทุกอย่าง จึงไม่แปลกใจที่จะได้รับการโปรโมตให้เป็นโน่นเป็นนี่ในรัฐบาลชุดนี้

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญของอาจารย์สมบัติจึงเป็นเหมือนการแก้ไขเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์โดยตรง เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส.สัดส่วนสูสีกับพรรคเพื่อไทย แต่ ส.ส.เขตแพ้ขาด โดยมีเสียงต่างกันมากกว่า 70 เสียง ดังนั้น การแก้ไขที่ออกมาจึงเป็นการตัดปัญหาตรงนี้ของประชาธิปัตย์ออกไป เพราะประชาธิปัตย์มองว่าถ้าเพิ่มจำนวน ส.ส.สัดส่วนจะทำให้ได้จำนวน ส.ส. เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย นี่จึงเป็นที่มาของการแก้ไขเรื่องจำนวน ส.ส.สัดส่วนจาก 100 เป็น 125 คน และเป็นระบบประเทศมากกว่าเขตพื้นที่

นี่คือความคิดของนักวิชาการที่ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากกว่าระบบ ซึ่งนักวิชาการเหล่านี้ไม่เคยลงเลือกตั้ง แต่หากมีใครเชิญให้ไปทำงานการเมืองจะกระโดดลงทันที เห็นได้กรณีที่นักวิชาการหลายคนออกมากระโดดโลดเต้นตอนปฏิวัติ 2549 แล้วได้ดิบได้ดี บางรายมีตำแหน่งใหญ่โตในรัฐบาลนี้ เที่ยวออกมาพูดเรื่องโน้นเรื่องนี้จนลูกศิษย์ลูกหาบางคนบอกอยากถามอาจารย์ว่าทำได้อย่างไร เพราะบางครั้งการออกมาพูดของบรรดานักวิชาการหลายคนก็ดูเหมือนจะดูถูกดูแคลนนักการเมืองว่าไม่มีสมองบ้าง หาประโยชน์ใส่ตัวบ้าง และเล่นพวกพ้องบ้าง

แต่เขาเหล่านั้นไม่รู้หรือว่าทั้งประชาชนและนักการเมืองก็อยากถามกลับเหมือนกันว่านักวิชาการนั้นเลิศเลอแค่ไหน เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำมาก็ไม่เห็นประโยชน์ หรือบางครั้งก็ไม่เห็นหัวประชาชน แต่เป็นการทำงานเพื่อสนองความต้องการของนักการเมืองเรืองอำนาจมากกว่า ถึงวันนี้จึงไม่แปลกใจที่คนอย่างอาจารย์สมบัติจะมีความคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ เพราะในความคิดนั้นจะคิดอย่างไรตอบยาก แต่ทำออกมาแล้วประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์
จึงไม่แปลกใจที่นายกรัฐมนตรีจะรักนักวิชาการที่ทำงานให้ เพราะคิดออกแบบอะไรมาก็ไม่พ้นวิชามารที่จ้องจะเอาเปรียบเพื่อนมากกว่าสู้กันบนความยุติธรรมที่นักการเมืองเรืองอำนาจบางคนเกลียดมากกับคำๆนี้

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน ปีที่ 12 ฉบับที่ 3022 ประจำวันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2554 คอลัมน์ เก็บมาเขียน  โดย ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น