วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’เครื่องมือสังหาร
http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=51314
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2554 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการแถลงข่าวครบรอบ 1 ปี การประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน : ภาพรวมการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการสลายการชุมนุมกรณีเม.ย.-พ.ค. 2553 โดยเป็นการนำเสนอข้อมูลจาก “ศูนย์ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.)” มีรายละเอียดสรุปดังนี้

ช่วยเหลือและแก้ต่าง

ศปช. แถลงการดำเนินงานของ ศปช. ที่ผ่านมาว่า ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุม ประสานงานกับญาติผู้เสียชีวิตเพื่อสนับสนุนให้รวมตัวกันเพื่อให้เกิดความยุติธรรม และยังจัดการอภิปรายเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม ซึ่งมีบทความตีพิมพ์แล้วหลายบทความ

มีการแถลงข่าวให้ความเห็นต่อ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) และดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ต่อสถานการณ์ของผู้ที่ถูกจับกุม ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความช่วยเหลือโดยทนายอาสาดำเนินการช่วยประกันตัว แก้ต่างข้อกล่าวหาให้ นอกจากนี้ยังรณรงค์สิทธิมนุษยชนในเวทีต่างประเทศอีกด้วย


พิสูจน์ศพที่ 92-93

ในอนาคต ศปช. จะรวบรวมข้อเท็จจริงจัดทำรายงานเหตุการณ์ สนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดกระบวนการรับผิด และรณรงค์ระหว่างประเทศ โดยมีแผนจะจัดสัมมนาในเดือน มิ.ย. ในประเด็นการสังหารนอกกฎหมาย การไต่สวนการตาย เพราะปัญหาเรื่องการชันสูตรศพเป็นปัจจัยสำคัญของการตายทั้ง 93 ศพ ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตที่รวบรวมมาจะแตกต่างจากการรายงานของที่อื่น โดยเฉพาะรายที่ 92 และ 93 ซึ่งรายที่ 92 เสียชีวิตที่ขอนแก่น ส่วนรายที่ 93 เสียชีวิตในภายหลัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา ประกอบกับผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัว

ละเมิดสิทธิมนุษยชน

น.ส.ขวัญระวี วังอุดม ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รายงานภาพรวม โดยให้ความเห็นว่า เหตุผลหลักในสถานการณ์นี้มาจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่เป็นไปตามหลักสากลในเรื่องความจำเป็น ซึ่งระบุว่ารัฐบาลจะประกาศได้เฉพาะเมื่อกระทบถึงความอยู่รอดของประเทศ แต่เงื่อนไขในการประกาศของรัฐบาลกลับเป็นเพราะแกนนำแดงฮาร์ดคอร์บุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลก่อน

ทั้งนี้ การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯยังใช้อำนาจปิดสื่อเสื้อแดงเป็นจำนวนมาก มีสื่อเสื้อแดงถูกปิดกว่า 6,000 เว็บไซต์ และรัฐบาลยังขู่จะรบกวนพีเพิล แชนแนล ที่เป็นสื่อเดียวที่ถ่ายทอดการชุมนุม เป็นเหตุให้คนเสื้อแดงไปที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 7 เม.ย. จนเกิดความโกลาหล

หลังจากเหตุการณ์สงบรัฐบาลก็ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อพิจารณาแล้วไม่มีเหตุจำเป็น และ พ.ร.บ. ที่มีอยู่ก็ใช้ควบคุมได้ เมื่อประกาศใช้ในคืนนั้นแล้วรัฐบาลก็ปิดสื่อพีเพิล แชนแนล ทันที นอกจากนี้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังเป็นเงื่อนไขในการจัด ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) เข้ามาร่วมทำหน้าที่ในทางการปกครอง

ยิงไม่เลือกเป้า

ประเด็นสำคัญคือการใช้กำลังในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่าใช้กระสุนจริงในการสลายเมื่อเห็นไอ้โม่ง แต่ข้อมูลพบว่ารัฐบาลใช้กระสุนจริงตั้งแต่ช่วงกลางวัน มีผู้เสียชีวิต 1 รายตั้งแต่ช่วงกลางวัน แต่รัฐบาลไม่เคยให้คำตอบเรื่องนี้ว่ามีการใช้กระสุนจริงในตอนกลางวัน

ข้อมูลในตารางนี้แบ่งเป็นพลเรือน 77 ราย จริงๆแล้วพบว่ามีผู้เสียชีวิตนอก 92 ศพอีก 1 ราย เป็นการเสียชีวิตเพราะแก๊สน้ำตา เนื่องจากมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆแล้วควรรวมอยู่ในนี้ด้วย

สรุปว่าปฏิบัติการทางทหารนั้นรัฐบาลอ้างว่าเป็นไปตามกฎใช้กำลังและสอดคล้องกับหลักสากล แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้าม รัฐบาลยิงโดยไม่เลือกเป้า หมายความว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อป้องกันตัวเอง และใช้กำลังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์


ทหารยิงโดยใช้อารมณ์

จากการสัมภาษณ์นักข่าวของเนชั่นคนหนึ่งพบว่ารัฐบาลยังตั้งเป้าเล็งยิงมาที่นักข่าวด้วย นอกจากนั้นการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ยังเป็นการสั่งการในตอนกลางคืน โดยไม่คำนึงถึงทัศนวิสัย ขาดการควบคุมการใช้อาวุธอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ผู้ถูกยิงยังยืนยันว่าทหารโกรธและใช้อารมณ์ จากการสัมภาษณ์หน่วยกูชีพที่โดนทหารยิงพบว่าทหารรู้ว่าตนกำลังทำงานอยู่ แต่ตนเองก็ยังโดนยิง

ในส่วนการแสวงหาข้อเท็จจริงก็ทำโดยลำบาก เพราะรัฐบาลยังอยู่ในอำนาจ และกฎหมาย พ.ร.ก.แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินข้อ 17 เป็นอุปสรรคในการนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมารับผิดชอบ โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ

เหวี่ยงแห-ซ้อม-ยัดข้อหา

หน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าง คอป. มีอุปสรรคในการทำงานคือขาดความชอบธรรม ซึ่งเป็นคณะที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลคู่กรณี จึงไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากผู้ที่เกี่ยวข้อง แนวทางการทำงานยังเป็นไปเพื่อแก้ไขรากเหง้าความขัดแย้ง ไม่ได้เอาตัวผู้ทำผิดมาลงโทษ คอป. มีหน้าที่ต้องแถลงรายงาน แต่ขณะนี้รายงานยังไม่ออกมาทั้งที่พ้นกำหนดตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

ด้านการจับกุมผู้สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการชุมนุมพบว่า มีการจับกุมโดยเหวี่ยงแห ซ้อม ยัดข้อหา เกลี้ยกล่อมให้รับสารภาพ โดยที่ผู้ต้องหาไม่ทราบกฎหมาย ไม่มีทนาย และยังมีการจำกัดสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าจะกระทำผิดซ้ำหรือหลบหนี บางครั้งภาพนิ่งที่ใช้ประกอบการจับกุมก็ไม่ชัดเจน จนบางทีเจ้าตัวก็ไม่รู้ตัวเองว่าโดนหมาย เนื่องจากภาพไม่ชัด


ต่างชาติถูกจับโดยไม่รู้ข้อหา

การควบคุมตัวผู้ต้องหายังมีการนำผู้ต้องหาไปไว้ที่ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมี 16 รายถูกจับไว้บนรถตำรวจถึง 2 วัน ปัสสาวะก็ต้องทำบนรถ จะถ่ายหนักก็ต้องให้ตำรวจพาไป ผู้ต้องหาหลายรายถูกทำร้ายในช่วงจับกุม จึงตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ขังไว้หลายวันเพราะต้องการปิดรอยแผล หรือไม่มีมาตรการเพียงพอที่รองรับผู้ถูกจับจำนวนมาก

จากข้อมูลของ ศปช. ณ วันที่ 1 เม.ย. พบว่าขณะนี้มีผู้ถูกขังที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวทั่วประเทศ 133 ราย เป็นชาย 121 ราย หญิง 12 ราย และชาวต่างชาติ 3 ราย คือชาวพม่า 2 ราย และลาว 1ราย โดยชาวต่างชาติที่ถูกเจ้าหน้าที่จับไม่เข้าใจภาษาก็ต้องเซ็นยอมรับข้อกล่าวหาโดยไม่ทราบ และไม่มีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากเลยเวลาไปแล้ว


ถูกทำให้สูญหาย

ข้อหาที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่คือการชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป ร่วมวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ และข้อกล่าวหาก่อการร้ายมี 5 ราย ทั้งนี้ การไม่เปิดเผยข้อมูลการออกหมายจับและควบคุมผู้ต้องสงสัยต่อสาธารณะอย่างเป็นระบบเป็นอุปสรรคในการรับทราบและเข้าถึงข้อมูลผู้สูญหาย โดย ศปช. ได้รับข้อมูลคนหายอันเกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ผ่านมาจากมูลนิธิกระจกเงา 20 ราย ขณะนี้ยืนยันได้ว่ามี 7 รายที่ไม่ทราบชะตากรรม นอกจากนี้จากข้อมูลในพื้นที่ของ ศปช. ยังมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีการบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ตั้งข้อหาไว้ล่วงหน้า

ขณะที่นายพฤกษ์ เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ได้เข้าไปที่เรือนจำอุบลราชธานีเพื่อขอคุยกับผู้ต้องขัง 21 ราย ข้อสังเกตคือการเข้าใจสถานการณ์ ซึ่งปรกติเมื่อถูกจับจะพบหน้าทนายได้ แต่เมื่อเป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินทุกอย่างถูกรวบรัดในเวลาอันรวดเร็ว คือนอนโรงพัก 2 คืน โดยการจับกุมไม่มีหมายจับ และในขั้นตอนการเซ็นรับทราบข้อกล่าวหาพบว่ามีหลายคนถูกข่มขู่ด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ หลังจากเซ็นรับทราบแล้วอัยการก็สั่งฟ้อง วันรุ่งขึ้นก็ไปศาลและถูกนำตัวไปที่เรือนจำ

ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินพบว่าการตั้งข้อหาจะตั้งแบบสูงสุด หลายข้อหามีความผิดเทียบการก่อการร้าย อย่างข้อหาการวางเพลิงที่ต้องโทษประหารชีวิต จำนวนผู้ถูกจับ 21 รายก็ได้รับแบบนี้ทุกราย บางรายถูกเพิ่มข้อหาบุกรุกทำลายทรัพย์สินราชการ ขัดขืนทำร้ายเจ้าหน้าที่ เรียกได้ว่าเป็นการตั้งข้อหารอ และมีการออกติดตามจับกุม ซึ่งในขั้นการจับกุมเป็นไปโดยใช้ภาพถ่ายจากภาพนิ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นภาพในวาระโอกาสใด ในการจับกุมทั้งหมดนั้นมีข้อมูลชัดเจนว่า 4 รายไม่ได้อยู่ในสถานการณ์แต่ถูกข้อหาวางเพลิง

ยืดอายุการอยู่ในห้องขัง

ผู้ต้องหารายหนึ่งชื่อนายธนูศิลป์ ธนูทอง อาชีพเกษตรกร พบว่ามีบันทึกการไต่สวนที่มีพยานฝ่ายโจทก์ให้การที่ตีความจากวาจาได้ว่าเป็นการจับที่ผิด ซึ่งเจ้าตัวบอกว่ามีพยานที่สามารถยืนยันได้ว่าตนอยู่ที่ไร่มันสำปะหลังขณะเกิดเหตุ

ด้วยเหตุที่มีการตั้งข้อหาไว้ก่อน การจับก็เป็นลักษณะการเหวี่ยงแหเพื่อให้ได้ตัวเลขที่ตอบสนองนโยบายบางอย่าง นอกจาก 4 รายดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีผู้ถูกจับที่เป็นไทยมุงและติดอยู่ในรูปถ่ายก็ถูกจับด้วย คนที่ไปห้ามคนเผาแต่ติดรูปก็ถูกจับในลักษณะนี้เช่นกัน


ต้องสังคายนา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ระบบศาลไทยเป็นระบบการกล่าวหาที่ผู้ต้องหาต้องมาแก้ตัว การมีคดีหนักหน่วงหลายคดีเห็นว่าอาจต้องใช้เวลายาวนาน หมายความว่าผู้ต้องหาต้องอยู่ในเรือนจำไป การที่คนทั้งหมดถูกจับโดยไม่ได้รับการประกันตัวและยังมีหนทางยาวไกล มองว่าวงการศาลก็รู้ว่าสามารถประวิงไปได้หากทำโดยการระบุพยานเพิ่ม หรือเพิ่มคดีใหม่เข้ามาก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ จึงส่งผลสืบเนื่องให้ผู้ต้องหาอยู่ในภาวะกดดันทางจิตใจและร่างกาย บางคนที่เป็นโรคประจำตัวก็ลำบาก บางคนมีอาการทางจิตซึมเศร้าและก้าวร้าว

ที่ผ่านมารัฐยังไม่ได้เปิดเผยอย่างเป็นระบบว่าสรุปแล้วผู้ที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวมีทั้งหมดกี่คน ถ้าข้อมูลพื้นฐานรัฐทำไม่ได้ก็ไม่รู้จะทำอะไร คิดว่าผู้ถูกขังไม่ได้รับการประกันตัว ขณะที่แกนนำได้รับการประกันตัวหมด รัฐไม่มีเหตุผลจะกักตัวไว้ เชื่อว่าเป็นอิทธิฤทธิ์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเป็นอีกเรื่องที่ต้องมาคุยกันว่าไม่ว่ารัฐบาลใดจะขึ้นมาน่าจะคุยกันเรื่องนี้

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน ปีที่ 12 ฉบับที่ 3030 ประจำวันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ.2554 คอลัมน์ ข่าวสารไร้พรมแดน ผู้เขียน ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น