วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

ทุกอย่างอยู่ที่ประชาชนจะตัดสิน



จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 12 ฉบับที่ 3026 ประจำวัน จันทร์ ที่ 4 เมษายน 2011
http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=51088



นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน มองว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะตัดสินใจอนาคตของตัวเองว่าจะให้บ้านเมืองไปทางไหน เพราะที่ผ่านมาองค์กรต่างๆไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ โดยเฉพาะรัฐบาลที่มุ่งหวังแต่เรื่องผลประโยชน์ ดังนั้น ควรจัดให้มีการเลือกตั้ง เพื่อเขาจะได้เลือกคนที่เห็นว่าสามารถนำประเทศชาติรุดหน้าไปได้

มองปัญหาที่เกิดขึ้น

สภาพปัญหาของสังคมไทยเกิดขึ้นหลายเรื่อง สังคมคลอนแคลน ไม่สามารถพึ่งพาองค์กร สถาบัน องค์กรอิสระ กองทัพ หรือแม้กระทั่งตัวนายกรัฐมนตรีเอง จึงเกิดสุญญากาศ ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ไม่ว่าจะเป็นการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกว่าจะมีการยุบสภาในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมนั้น จะยุบจริงหรือเปล่า มีนัยอะไรแอบแฝงหรือมีเทคนิคทางการเมืองหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่านายกรัฐมนตรีเคยพูดว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ในครั้งที่มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดที่รัฐสภาตั้งขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วย

จนกระทั่งมีการแต่งตั้ง ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นประธาน ที่มีการสรุปเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันใน 6 ข้อ แต่นายอภิสิทธิ์เลือกที่จะหยิบมาแก้ไขเพียง 2 ข้อเท่านั้น ซึ่งในครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์มีมติว่าไม่ให้แก้ แต่นายกรัฐมนตรีก็แก้และสามารถทำได้ด้วย จากการกระทำและคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาทำให้ประชาชนสงสัยว่าเป็นเกมหรือเปล่า เกิดความไม่เชื่อมั่นในองค์กรและบุคคล

ภาวะการเมืองไทยในปัจจุบัน 3 สถาบันหลักคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทั้ง 3 องคาพยพนี้อ่อนแอหมด ไม่สามารถทำหน้าที่ให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือได้ ฝ่ายบริหารก็มีข่าวการทุจริตคอร์รัปชัน ขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่รุมเร้าเข้ามาในแต่ละกระทรวง ขณะเดียวกันรัฐมนตรีทั้งหมดที่มีอยู่ก็เป็นเพียงนอมินีหรือตัวแทนเท่านั้น เลยขาดซึ่งอำนาจที่แท้จริงในเชิงการบริหาร หรือไม่ได้บริหารมาตั้งแต่ต้น จึงทำอะไรไม่ได้ยามที่เกิดปัญหาขึ้นมา เพราะต้องรอฟังผู้มีอำนาจที่บริหารงานอยู่เบื้องหลังรัฐมนตรี ส่งผลให้ประชาชนที่เฝ้าดูการทำงานของรัฐบาล เฝ้าดูการบริหารงานของรัฐมนตรี ขาดความเชื่อมั่นในตัวรัฐมนตรีตลอดจนรัฐบาล

ขณะเดียวกันภาครัฐสภาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาประชาชนที่มองดูอยู่เห็นว่าการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นการเล่นเกมกันของฝ่ายการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เลยขาดเหตุผลในการคิดและวิเคราะห์ แม้กระทั่งมีเหตุและผลก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของนักการเมืองคนนั้นๆ เพราะดูได้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 2 ครั้ง 2 ครา รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายนั้นฝ่ายค้านมีข้อมูลชัดเจนกลับอยู่มั่นคง ในขณะเดียวกันผู้ที่ถูกแทรกแซงกลับถูกปรับออกจากรัฐบาลหมด

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ก่อนจะมีการลงมติไม่ไว้วางใจนั้นรัฐมนตรีที่ถูกล่าวถึงมากที่สุดคือ นางพรทิวา นาคาศัย กับนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล จากพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายอภิสิทธิ์ว่าตอบไม่เคลียร์ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่า 2 คนนี้ได้คะแนนไว้วางใจมากกว่านายอภิสิทธิ์เสียอีก นี่แสดงให้เห็นว่าที่ลงคะแนนให้นั้นไม่สนใจฟังเหตุผลในการอภิปราย และไม่สนใจความรู้สึกของประชน แต่สนใจอะไรผมไม่ทราบ สิ่งเหล่านี้คือลางบอกเหตุถึงมาตรการการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติที่ส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในการทำงานของนักการเมืองในสภา

จากเหตุผลดังกล่าวนี้เองจึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังดีไซน์การเมืองใหม่ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาดีไซน์ออกมานั้นสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง มันก็หนีไม่ออกอีก ดังนั้น ประเทศไทยก็เลยคาราคาซัง จะเดินหน้าก็ไม่ได้ จะถอยหลังก็ไม่ได้ ก็เป็นแบบนี้แหละ แต่ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆจนไปสู่การเลือกตั้งจะมีการซื้อเสียงกันบ้างก็ทำไป แล้วปล่อยให้กระบวนการทางการเมืองเดิน เมื่อมีปัญหาอีกครั้งก็ยุบสภาไปเลย จะยุบ 2 ครั้งก็ไม่ว่ากันอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากนั้นจะเข้ารูปเข้ารอยเอง แต่ว่าบางคนไม่มีความอดทนในการที่จะผ่านกระบวนการกลั่นกรองในการเข้าสู่อำนาจการเมือง มันเลยวุ่นแบบนี้

มองพรรคประชาสันติอย่างไร

การเข้ามาของพรรคประชาสันติช้าไป เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่การเมืองเริ่มสุกงอมแล้ว หากเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะมีการยุบสภาในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จนถึงวันนี้เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือน เวลาที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอต่อการนำเสนอนโยบายต่อประชาชน เพราะในความเป็นจริงคนที่จะทำงานการเมืองต้องมีการรวมกลุ่มกัน คิดริเริ่มมีอุดมการณ์ร่วมกัน แล้วก็เริ่มแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะในเรื่องต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเห็นบทบาทของพรรคว่ามีแนวคิดอย่างไร และจะมีการนำเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ของประเทศอย่างไร

นั่นหมายถึงพรรคประชาสันติต้องตั้งขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 4 เดือน หรือประมาณ 1 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลกำลังระส่ำระสาย สังคมกำลังแตกแยก พรรคประชาสันติน่าจะเปิดตัวในช่วงเวลานั้นแล้วมาเสนอนวัตกรรมหรือแนวคิดในการแก้ไขปัญหา แม้จะไม่มีการแก้ไขแต่สังคมจะฟังว่าประชาสันติมีความคิดอย่างไร เรื่องทุจริตประชาสันติคิดอย่างไร แต่ที่ผ่านมาประชาสันติไม่ได้เสนอเลย ยังไม่เกิดเสียด้วยซ้ำ แม้จะมีการตั้งพรรคประชาสันติแล้วก็ตาม จนถึงวันนี้กลับไม่มีการนำเสนอนโยบายอะไร มีอุดมการณ์เช่นไร มีแนวคิดในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งส่วนตัวยังมองไม่ออกเลยว่าพรรคประชาสันติมีแนวคิดอย่างไร

การเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ผมมองว่านักการเมืองยังไม่สำเหนียกว่าการเล่นเกมทางการเมือง การแสวงหาผลประโยชน์จากความเป็นนักการเมือง ซึ่งประชาชนเห็นกันมานานแล้ว ก็ยังคงมีอยู่ การต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเพื่อกำหนดกระทรวงที่เป็นผลประโยชน์เหมือนในอดีตที่ผ่านมาก็ยังไม่หยุด ยังคงดึงดันที่จะทำอีก ก็มีผลที่จะทำให้ระบบการเมืองเสื่อม นิติบัญญัติเสื่อม รวมไปถึงฝ่ายบริหารเสื่อม นี่คือภาพสะท้อนว่านักการเมืองไทยยังเหมือนเดิม คือมองไปที่ผลประโยชน์

ภาพที่ออกมานั้นจะตอบสังคมได้อย่างไรว่าการที่คุณอยู่เฉยๆก็มาแสดงตัวว่าเป็นพันธมิตรร่วมกัน แล้วพอรวมกันได้ มี ส.ส. อยู่ในมือ 60-70 คน ก็นั่งกอดอกรอต่อรองกระทรวงเหมือนเดิม ซึ่งการรวมตัวกันเป็นการบีบบังคับพรรคใหญ่ เพราะหากทางนี้ไม่รับคุณก็ไปอีกทาง ลอยไปลอยมาเหมือนเดิม อย่างนี้ไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งที่คุณไม่เคยเสนอเลยว่าที่ร่วมกันเพราะอุดมการณ์เดียวกัน มีแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับประเทศร่วมกันอย่างไร แต่เป็นการรวมกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองในอนาคต ซึ่งผมเชื่อว่าประชาชนที่เห็นกระบวนการเช่นนี้ก็ไม่มีความสุขนะครับ เขาก็เริ่มเบื่อการเมือง เบื่อนักการเมือง คือเดินไปข้างหน้าก็จะเห็นเช่นนี้ ถอยไปข้างหลังก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วจะเอาอย่างไร

ผมอยากเห็นการทำหน้าที่ทางการเมืองที่เข้มแข็ง หากมีอะไรเกิดขึ้นที่นอกเหนือจากการเมืองก็ไปถามประชาชน ยุบสภาก็ได้ และอยากเห็นองค์กรอิสระทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและเข้มแข็ง อาทิ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ใครผิดก็ว่ากันเลย อย่างกรณีของท่านรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณะสุข เป็นต้น ถ้าทำอย่างนั้นจริงเรียบร้อยหมดครับ นักการเมืองไม่กล้าทำผิดแน่นอน หรืออย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การจัดการการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม หากไม่แน่ก็ให้ใบเหลืองไปเลย ให้เลือกตั้งกันสัก 5-6 ครั้งก็คงดี เพราะสมัยที่ผมเป็นวุฒิสมาชิกเลือกตั้ง 6 ครั้ง คนไม่มีปัญญาจ่ายหรอกครับ

แต่ที่ผ่านมาองค์กรอิสระไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ ป.ป.ช. มีเรื่องคั่งค้างเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยางเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งบางคดีก็ใกล้จะหมดอายุความแล้ว บางเรื่องจะ 10 ปีอยู่แล้วแต่ไม่มีความคืบหน้าเลย ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ที่อยากจะบอกก็คือในเมื่อกลไกต่างๆทางสังคมไม่ทำงาน แต่จะแก้เรื่องของนักการเมืองอย่างเดียว อยากบอกว่านักการเมืองอย่าไปแก้เลย เขาก็ต่อสู้กันเพื่อให้ได้ชัยชนะ แต่องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาเป็นกรรมการต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา สามารถอธิบายถึงเหตุและผล ต้องไม่เอนเอียง หากทำได้นักการเมืองจะอยู่กับร่องกับรอยเอง

เชื่อหรือไม่ว่าจะมีเลือกตั้ง

ผมอยากให้ลองดูว่าคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะคำตอบที่ออกมาก็คือคนในสังคมเริ่มที่จะหาความเชื่อถือจากบรรดานักการเมืองหรือองค์กรทางการเมืองไม่ได้ สิ่งเหล่านี้จึงเกิดขึ้นตามมากับคำถามนี้ว่าจะมีเลือกตั้งจริงหรือ เพราะขณะนี้ประชาชนเริ่มมองเห็นว่า 3 อำนาจอ่อนแอ ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ คนก็เลยคิดถึงอำนาจนอกระบบ ในขณะที่ความเป็นจริง 3 อำนาจที่กล่าวมาหากทำงานตรงไปตรงมาคำถามเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น นี่คือความจริง ซึ่งข่าวลือที่เกิดขึ้นมาอย่างกว้างขวางว่าจะไม่มีการเลือกตั้งเพราะผู้มีอำนาจไม่อยากให้มี เลือกไปเดี๋ยวพรรคโน้นชนะ พรรคนี้แพ้ เป็นอย่างนี้ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือปล่อยให้มีการเลือกตั้ง แล้วกลไกการตรวจสอบทำงานอย่างเข้มแข็ง ตรงไปตรงมา มีอะไรที่จะมาทำให้ระบอบประชาธิปไตยเสียหายก็ยุบสภาเลย อย่าให้อำนาจอื่นมาทำให้ระบบการเมืองไทยพังไม่เป็นท่าอย่างที่เป็นอยู่

มอง 2 ขั้ว ปชป.-พท. อย่างไร

ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการเมืองในบ้านเรา เพราะอย่างที่เป็นอยู่ผมมองว่าเข้าล็อก เหมือนในต่างประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ระหว่างเดโมแครตกับรีพับลิกัน หรือที่อังกฤษมีพรรคเลเบอร์กับคอนเซอร์เวทีฟ เป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองที่มีทิศทางที่น่าจะเป็น สำหรับประเทศไทยคือใครมีแนวคิดเป็นคอนเซอร์เวทีฟก็เลือกประชาธิปัตย์ ใครที่มีแนวคิดเดียวกับบรรดาลิเบอรัลก็เลือกพรรคเพื่อไทย นี่คือแนวทางของการเมืองไทยในอนาคต ส่วนพรรคอื่นก็ไม่ว่ากัน เพราะหากพรรคไหนไม่มีจุดยืนหรือไม่ชัดเจนเดี๋ยวก็หายไปเอง

การเมืองในบ้านเราจะถูกจัดระบบใหม่ให้เข้าที่เข้าทางเองโดยประชาชน แต่ต้องใช้เวลา อย่าใจร้อน อย่าทำปฏิวัติ ก็เหมือนครอบครัวแหละครับ เวลาอยากให้ลูกได้ดี อยากให้เขาเรียนแพทย์ เรียนวิศวะ แต่เด็กชอบศิลปะ ชอบวาดเขียน ชอบดนตรี แล้วเราไม่ชอบ เราก็เครียดว่าลูกไม่ตามใจเรา แต่ในทางประเทศชาติแล้วมีหลายคนที่มีความปรารถนาดีกับบ้านเมือง อยากให้บ้านเมืองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าไปคบกับนักการเมือง จริงๆแล้วไม่ใช่ ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ เพราะคนในสังคม 64 ล้านคนก็เป็นเจ้าของประเทศเหมือนกัน ให้เขาเลือกเลือกผิดเลือกถูก เลือกไปเรื่อยๆ เมื่อรู้สึกเจ็บปวดกับนักการเมืองก็จะได้เรียนรู้ ซึ่งในวันนี้มีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองอยากให้ลูกได้ดี ผมเชื่อว่าไม่มีใครคิดทำร้ายใครหรอกครับ

หลังการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับองค์กรที่เข้ามาจัดการการเลือกตั้งว่าจะทำอย่างไร ถ้าหากก่อนการเลือกตั้งมีการจัดการให้องค์กรอิสระใช้ระบบราชการมาทำให้การเลือกตั้งบิดเบือน อันนั้นจะเป็นปัญหา แต่ถ้าการเลือกตั้งปล่อยเป็นธรรมชาติ ปล่อยไปตามกติกา สุดท้ายประชาชนก็ต้องหาผลประโยชน์เฉพาะหน้าของเขา ซึ่งคนข้างล่างปล่อยเขาเถอะว่าจะเลือกอย่างไร แต่ที่น่าสนใจคือปาร์ตี้ลิสต์นี่แหละครับคือสิ่งที่จะสะท้อนความคิดของประเทศไทย ซึ่งกลุ่มที่อยู่ตรงนี้คือกลุ่มผลประโยชน์ หากมีการสั่งให้เลือกใคร พรรคไหนก็ตามที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนได้ดี ก็เชื่อได้ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้คะแนนเสียงเป็นจำนวนมากแน่นอน

หากไม่มีอุบัติเหตุการเมืองประเทศจะเป็นอย่างไร

ผมว่าคงไปไกล เพราะประเทศไทยเป็นรากฐานของสังคมในเอเชียมาโดยตลอด แต่ที่เราไม่ไปไหนเพราะมัวแต่ทะเลาะกันเอง อยากให้ลองดูประเทศญี่ปุ่นที่เกิดอุปสรรคปัญหามากมาย แต่เขาก็แก้ได้ ส่วนเรานี่ไม่มีเลย เราสร้างกันขึ้นมาเอง เราทะเลาะกันเอง เราสร้างสึนามิทางสังคมกันขึ้นมาเอง สึนามิบ้านเราคือสึนามิทางสังคม สร้างกระแสกันขึ้นมาแล้วก็ซัดกันเอง บ้านเราจึงเป็นประเทศที่น่าสงสาร

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน ปีที่ 12 ฉบับที่ 3026 
ประจำวันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ.2554 คอลัมน์ สัมภาษณ์ โดย วัฒนา อ่อนกำปัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น