ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฟันธงว่าการเลือกตั้งจะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ความขัดแย้งจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปตราบใดที่ช่องว่างระหว่างประชาชนยังมีอยู่ และไม่รู้ว่าตนมีสิทธิอย่างไร เพราะเป็นแค่ผู้รับ ไม่ใช่ผู้ให้ เมื่อไรที่ประชาชนรู้สิทธิของตัวเองเมื่อนั้นประเทศไทยจะเข้าสู่การพัฒนาที่แท้จริง
การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้น
ดูจากความเป็นไปได้ในขณะนี้คงต้องมีการเลือกตั้ง เหตุการณ์เดียวที่อาจทำให้ไม่มีการเลือกตั้งคือกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชารุนแรงมากถึงขนาดกลายเป็นสงคราม การเลือกตั้งระหว่างที่ประเทศมีสงครามอาจจะไม่ถูกต้อง แต่เชื่อว่ากรณีพิพาทจะไม่ลุกลามถึงขนาดนั้น คงเป็นกรณีพิพาทในระดับชายแดนปรกติ ถ้าไม่มีกรณีนี้เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามที่นายกรัฐมนตรีพูดไว้
ทั้งนี้ หากไม่มีการเลือกตั้งคงนำมาสู่การถอยหลังของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสร้างความพอใจให้กับฝ่ายหนึ่ง แต่จะสร้างความไม่พอใจให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ฉะนั้นเรื่องจะไม่จบสิ้น แต่การเลือกตั้งอย่างน้อยจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ลงสนาม และเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแข่งขันกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
สีเสื้อต่างๆหลังเลือกตั้ง
ต้องดูว่าผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะขาด ซึ่งคิดว่ายาก ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับการยอมรับเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก และไม่มีการร้องกันไปมาว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต ไม่ยุติธรรม ประเทศไทยน่าจะเข้าไปสู่จุดหนึ่ง แต่เชื่อว่าสถานการณ์นี้คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะผลการเลือกตั้งจะออกมาค่อนข้างใกล้เคียงกัน และไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาดในการจัดตั้งรัฐบาล ต้องให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากพรรคแรกจัดตั้งรัฐบาลก่อน หากจัดตั้งไม่ได้พรรคที่สองจะทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล ทำให้บทบาทของพรรคเล็กๆมีความหมายมากขึ้น
ที่มีการเกรงกันว่าสีต่างๆจะออกมาหากผลการเลือกตั้งไม่ถูกใจนั้น คงต้องดูผลการเลือกตั้งและการจัดกระบวนการเลือกตั้ง ถ้าการจัดกระบวนการเลือกตั้งมีความยุติธรรม เปิดโอกาสให้มีผู้สังเกตการณ์ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์เพื่อยืนยันความยุติธรรม ซึ่งจะสร้างความชอบธรรมได้พอสมควร ไม่ว่าฝายใดจะชนะการเลือกตั้ง ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เป็นการสร้างความชอบธรรมของพรรคที่ชนะ ทำให้ฝ่ายแพ้ที่คิดจะล้มกติกาไม่มีโอกาส หรือมีโอกาสน้อยลง
ดังนั้น ตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ในเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันน่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกลาง อาจจะประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายในประเทศ หรือกรรมการจากต่างประเทศที่เรียกว่าคณะผู้สังเกตการณ์ ความจริงแล้วประเทศมหาอำนาจก็ทำกัน เพราะเขาถือว่าการเลือกตั้งของเขาบริสุทธิ์ยุติธรรม ใครจะมาสังเกตการณ์เขาก็ไม่สนใจ เชื่อว่าจะทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น และเป็นการล็อกไปในตัวว่าใครที่แพ้แล้วคิดล้มกระดานจะทำให้การขึ้นมาเป็นรัฐบาลไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ
การเลือกตั้งลดความขัดแย้งได้หรือไม่
ขึ้นอยู่กับผลที่ออกมาว่าเป็นอย่างไร ถ้ามีการประสานผลประโยชน์กันลงตัวอาจจะลดความขัดแย้งได้ แม้เราจะบอกว่าการเมืองไทยมาจากคนหมู่มาก แต่ผมคิดว่าการเมืองไทยอยู่ที่ผู้นำ ถ้าผู้นำกับผู้นำหยุดทะเลาะกันลูกน้องก็หยุด นี่คือการเมืองไทย ต่างกับการเมืองตะวันตกที่เขามีอุดมการณ์สูง แต่สังคมไทยอุดมการณ์ไม่ได้เป็นปัจจัยใหญ่ เป็นเพียงจุดหนึ่งเท่านั้น ความจริงแล้วความขัดแย้งเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม มีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและ 2 มาตรฐาน จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ดังนั้น ถ้าเราสามารถลดช่องว่างของความขัดแย้งนี้ได้ ทำให้คนที่เขาคิดว่าถูกเอาเปรียบในสังคมได้รับการดูแลมากขึ้น เชื่อว่าไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามที่ได้เป็นรัฐบาลแล้วทำตรงนี้ความขัดแย้งจะน้อยลง
มีการนำเรื่องสถาบันมาเกี่ยวข้อง
เรื่องนี้ทุกคนเป็นห่วง ไม่อยากให้มีการดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองใดๆทั้งสิ้น ดังนั้น การไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันนั้นถูกต้องแล้ว และคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางที่ดี เพราะในระยะหลังๆเป็นเรื่องราวพอสมควร ดังนั้น ทหารจึงออกมาแสดงจุดยืนในกรณีนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทหารในการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนกลุ่มอื่นอาจขานรับตามที่ฝ่ายทหารเริ่มก็เป็นสิ่งที่รับได้ เชื่อว่าคงไม่มีประเด็นนี้หลังจากมีการเลือกตั้งจริงๆแล้ว
การเสนอให้แก้มาตรา 112
สำหรับมาตรานี้คือการที่มีบุคคลธรรมดาใช้วิธีกล่าวอ้างในมาตรา 112 มาโดยตลอด จึงต้องดูว่ามีมาตราใดหรือจะแก้ไขอย่างไรไม่ให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือ ซึ่งจะมีการพูดคุยกันต่อไป แต่คงต้องใช้เวลากว่าจะไปสู่จุดนั้น แม้จะมีรัฐบาลใหม่ก็ไม่แน่ใจว่าประเด็นนี้จะยังเป็นประเด็นอยู่หรือไม่
การปรองดองจะเกิดขึ้นหรือไม่
คิดว่าไม่เกิด ถ้าต่อไปคนไทยมีการศึกษามากขึ้นความขัดแย้งจะอยู่ต่อไปได้อีกจุดหนึ่ง คือตราบใดที่เศรษฐกิจมีปัญหาความขัดแย้งจะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากนโยบายของทั้ง 2 พรรคค่อนข้างเป็นประชานิยมแบบป้อนข้าวเข้าปาก เหมือนกับการเอาใจลูก โดยไม่ได้สอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ยื่นให้จากข้างบน แต่ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ข้างบนต้องลงมา แต่ข้างล่างต้องเรียกร้องนะ ถ้าข้างบนไม่ดีประชาชนต้องว่า ประชาชนต้องตรวจสอบ ยิ่งตรวจสอบมากเท่าไรข้างบนยิ่งทำอะไรไม่ได้ ปัจจุบันการตรวจสอบไม่มี เพราะประชาชนยังไม่รู้สิทธิของตัวเอง
อย่างประเทศสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษไม่ใช่ว่าไม่มีคอร์รัปชัน มีแต่ไม่มาก เพราะการตรวจสอบจากประชาชนมีสูง เวลามีการเลือกตั้งประชาชนของเขาจะบันทึกไว้เลยว่าคนที่เคยเลือกเข้าไปมีประวัติอย่างไร แต่ไทยไม่มีบันทึกอย่างนี้ หากมีการบันทึกไว้ประชาชนจะมีข้อมูล ฉะนั้นคนที่เข้ามาจะถูกคัดคุณภาพ
การรณรงค์โหวตโน
จริงๆแล้วเป็นสิทธิของแต่ละคน ถ้าพอใจไม่เลือกใครก็ลงคะแนนไม่เลือก เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่การรณรงค์ให้โหวตโนนั้นสวนทางกับประชาธิปไตย เพราะถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่รู้ว่าจะมีพรรคการเมืองไปทำไม อีกอย่างเราคงไม่ต้องการให้การเมืองอยู่ข้างถนนอีกต่อไป เมื่อเปิดโอกาสให้การเมืองที่อยู่ข้างถนนเข้าไปอยู่ในสภา มีสิทธิมีเสียงในสภา ทำไมเราไม่พยายามจะเข้าไปอยู่ตรงนั้น ถ้าคุณคิดว่าเสียงที่คุณร้องเรียนอยู่ข้างถนนเป็นเสียงข้างมากของประชาชน ประชาชนจะเลือกพวกคุณเข้าไปเอง
แต่การที่คุณทำอย่างนี้คุณก็ปฏิเสธสิ ทำไมคุณไม่เอาสิ่งที่คุณเรียกร้องอยู่ข้างถนนไปอยู่ในระบบของพรรคการเมือง ถ้าประชาชนข้างถนนต้องการอย่างนั้นเขาคงโหวตให้คุณเอง และคุณจะมีความชอบธรรมว่าสิ่งที่คุณเรียกร้องอยู่ข้างถนนคือความต้องการของประเทศ ตรงนี้จะสร้างความชอบธรรมให้คุณเอาตรงนี้ไปทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่ทำอย่างนั้นแล้วอ้างว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ประชาชนตรงนั้นคือประชาชนตรงไหน ฉะนั้นการมีการเลือกตั้ง หรือเข้าระบบการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งที่เรียกร้องเป็นรูปธรรม เป็นลักษณะของวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับ
คำว่ามีสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ทุกคนมีสิทธิหมด สิทธิของแต่ละคนต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่นด้วย สิทธิส่วนมากต้องอยู่เหนือสิทธิของบุคคล ฉะนั้นการจะอยู่ได้ในสังคมต้องยอมรับเสียงข้างมาก เน้นระบบการรั้งและถ่วงดุลระหว่างอำนาจบริหารและตุลาการ เพื่อไม่ให้ใครมีอำนาจมากกว่ากัน สิทธิเหล่านี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย รัฐบาลไทยยังไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชน แต่รับผิดชอบโดยตรงต่อสภา
พูดง่ายๆประชาชนจะคิดอย่างไรก็ช่าง ถ้าไม่เอาใจสภาหากมีการลงมติไม่ไว้วางใจตัวเองก็ตก กลายเป็นว่ารัฐบาลขึ้นอยู่กับสภา ซึ่งสภาเองก็เป็นตัวเแทนของกลุ่มผลประโยชน์ จึงกลายเป็นว่าประชาชนเป็นเสมือนนกที่ถูกเหยียบหัวขึ้นไป อันนี้เป็นมากกับประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย ตราบใดที่ประชาชนยังไม่รู้จักอ้างสิทธิของตัวเอง แต่สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วประชาชนของเขาจะไม่ยอมเป็นนกให้ใช้เหยียบหัวขึ้นไป เชื่อว่าถ้ามีการพัฒนาให้มีการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ให้กระบวนการประชาธิปไตยไม่ขาดตอน ไม่ใช่อยู่ดีๆก็เอาปฏิวัติเข้ามา ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน ปีที่ 12 ฉบับที่ 3049
ประจำวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2554 คอลัมน์ สัมภาษณ์ โดย ถนอมศรี จันทร์ทอง | |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น