เมื่อ "ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์" ตั้งคำถามถึง นักเขียน-กวี "เดือนตุลา" ใน "ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย" | |
รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน" ในงานแสดงมุทิตาจิต "ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" ที่หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา นี่คือ เนื้อหาบางส่วนจากปาฐกถาดังกล่าว มีความพยายามในยุคสมัยของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ในการสร้างนิยามของการเขียน นิยามของวรรณคดีในฐานะอาชีพอิสระที่ปลอดจากรัฐและทุน ในขณะเดียวกันก็พยายามจะสร้างนิยามของการเขียนให้กลายเป็นผู้ยึดมั่นในอาชีวปฏิญาณ หรือจรรยาบรรณวิชาชีพในภาษาปัจจุบัน โดยนิยามความเป็นนักเขียนและสื่อมวลชนว่าเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อความจริง มุ่งผดุงความยุติธรรม และเป็นปากเสียงให้ผู้ต่ำต้อยและผู้ถูกกระทำ ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งได้รับการตอบรับในวงการวรรณกรรม และมีนักเขียนรุ่นต่อมาอาทิ นายผี, จิตร ภูมิศักดิ์, ลาว คำหอม ตลอดจนนักเขียนหัวห้าวหน้าในยุค 14 ตุลาคม 2516พยายามสืบทอดและนำนิยามดังกล่าวมาขยายความต่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปยังหมุดหมายของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ คือเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเหตุการณ์ครั้งหลังสุดเป็นการปราบปรามประชาชนอย่างล้ำลึกที่สุด แม้หลายคนจะมองว่าการสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลามีความโหดเหี้ยมรุนแรงมากกว่า แต่ความรุนแรงนั้นเป็นความรุนแรงแบบเฉียบพลัน และสงบอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ในขณะที่การไล่ล่าทั้งที่ราชดำเนินและที่ราชประสงค์เป็นไปอย่างยืดเยื้อและเลือดเย็น เกิดการปะทะย่อยๆ ขึ้นหลายจุด หลายครั้ง แต่ละวันที่ผ่านไปมีผู้ชุมนุมและผู้สังเกตการณ์ถูกยิงโดยกองกำลังทหารที่โอบล้อมโดยรอบที่ชุมนุม ซึ่งภาพเหตุการณ์ทั้งหมดถูกบันทึกและเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่คนเมืองบางกลุ่มกลับโห่ร้องยินดี ในขณะที่คนบางกลุ่มที่อ้างตัวว่ารักสันติ ต่อต้านความรุนแรง รักประชาชนและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม กลับนิ่งดูดายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น "ผมอดถามไม่ได้ว่า แล้วบรรดาเหล่ากวีและนักเขียนที่ได้รับอานิสงส์จากความเป็นนักเขียนเพื่อประชาชน จนกระทั่งเชิดหน้าชูตาในฐานะตัวแทนของเสียงแห่งมโนธรรม พวกเขาไปอยู่ที่ไหนในช่วงเวลาดังกล่าว หรือเพราะพวกเขาไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมเหล่านั้นเป็นคน ดังนั้นความตายของพวกเขาจึงไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค.2553 จึงอำมหิตกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาในแง่ที่ไม่เพียงคนตายเท่านั้นที่ถูกปฏิเสธความเป็นมนุษย์ แต่ผู้ชุมนุมนับหมื่นนับแสนในเหตุการณ์นี้ถูกทำให้ด้อยค่า ไร้ความหมายยิ่งเสียกว่าโค กระบือ ซึ่งคนเมืองชอบไปซื้อขายชีวิตเป็นประจำ" เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 และปฏิกิริยาของนักเขียนจำนวนหนึ่ง เป็นหมุดหมายสำคัญของการแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน ซึ่งก็เป็นความท้าทายของกวีและนักเขียนไทยว่าจะสร้างสรรค์งานวรรณกรรมในยุคเปลี่ยนผ่านนี้ไปในทิศทางใด ตามคำนิยามของ อันโตนิโอ กรัมชี่ นักคิดชาวอิตาเลียน ได้อธิบายเรื่อง "ภาวะเปลี่ยนผ่านของสังคม" ไว้ว่าเมื่อใดที่อำนาจนำที่ได้รับการยอมรับโดยดุษฎีจากชนทุกชั้นของสังคมเริ่มคลายมนต์ขลัง และสูญเสียสถานะความเป็นอำนาจนำ เมื่อนั้นสังคมจะเกิดวิกฤติครั้งใหญ่กับการเปลี่ยนผ่าน กรัมชี่มองว่าการเปลี่ยนผ่านที่เกิดอาการวิปลาสทั้งปวงเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะชะงักงันของความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่เดินมาจนถึงจุดหัก เมื่อพลังฝ่ายจารีตนิยมอ่อนเปลี้ย ใกล้ตาย และพลังฝ่ายก้าวหน้าก็ยังไม่สามารถเผด็จศึกได้โดยเด็ดขาด ในวัฒนธรรมไทยเองก็มีการมองเรื่องยุคเปลี่ยนผ่านเช่นเดียวกัน แต่จะอิงอยู่กับแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในมหาสุบินชาดก ที่คุ้นเคยกันดีในรูปของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา โดยแจกแจงเหตุอาเพศ 16 ประการ และระบุไว้ชัดเจนว่าเหตุปัจจัยของอาเพศเหล่านี้เกิดขึ้นมาด้วยผู้นำมิได้มีทศพิธราชธรรม วิธีการมองเหตุอาเพศของไทยอธิบายด้วยกรอบชนชั้นของสังคมอย่างไม่อ้อมค้อม เริ่มด้วยอธิบายอาเพศโดยธรรมชาติ โยงเข้ากับความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วนำสู่ข้อสรุปว่าความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ในสังคมเป็นอาเพศ เป็นความวิปริต แต่หากนำกรอบความคิดสมัยใหม่เข้าไปมอง จะเห็นว่าความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่การเป็นผู้ใหญ่-ผู้น้อย สถานะในสังคมจะเท่าเทียมกันตามกรอบประชาธิปไตย แต่การมองอาเพศในแบบของไทยเป็นการมองโดยชนชั้นนำในอดีตที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ในทัศนะของไทย "การเปลี่ยนผ่าน" และ "อาเพศ" แตกต่างจากทัศนะของกรัมชี่อยู่มากพอสมควร โดยกรัมชี่ใช้คำว่า "วิปลาส" มาเป็นคำอุปมาเพื่อบรรยายถึงภาวะวิปริต อาการแปรปรวนภายใน เพื่ออธิบายถึงวิกฤติในยุคเปลี่ยนผ่าน ซึ่งตรงนี้ช่วยเตือนสติว่า "อาการวิปลาส" ที่มันเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งอยู่ภายในสังคม อยู่ในตัวเรา รวมทั้งอาจอยู่ในคนที่อยู่ใกล้ตัวเราเอง โดยในภาวะปกติอาจแฝงตัวอยู่ในสถานะผู้รักเพื่อนมนุษย์ รักสันติ รักประชาธิปไตย อยู่ในภาพที่สูงส่งและดีงาม แต่ในภาวะวิกฤติของการเปลี่ยนแปลง ผู้คนก็จะแสดงความวิปลาสที่ซ่อนอยู่ในตัวออกมา มีผู้ตั้งคำถามถึงนักเขียนยุคอดีตอันใกล้ หรือ คนเดือนตุลา ซึ่งในอดีตเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและประชาชน แต่ปัจจุบัน กลับไม่แสดงออกต่อเหตุการณ์สังหารประชาชนระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งอธิบายได้ง่ายๆ ว่า นักเขียนในยุคสมัยการเปลี่ยนผ่านปัจจุบัน เกิดปรากฎการณ์วิปริต วิปลาส ไม่ต่างกับที่เกิดขึ้นในแวดวงตุลาการ สื่อมวลชน และนักวิชาการ ฯลฯ อาการวิปลาสเบื้องต้นของเหล่านักเขียน-กวี ที่ไม่ลุกขึ้นมาแสดงออกต่อเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค.2553 คืออาการ หูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ หากจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในแง่หนึ่งคือทัศนะต่อประชาชน ประชาธิปไตย และสังคมของพวกเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาไม่ได้เชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตย หรือศรัทธาในประชาชนเหมือนครั้งอดีตอีกต่อไป ผลงานวรรณกรรมของพวกเขาเป็นอดีตที่ไม่ร่วมสมัยกับตัวตนใหม่ของพวกเขาในปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว ซึ่งตรงนี้ไม่ได้มีแต่กวีและนักเขียน แต่นักอุดมคติจำนวนมากเมื่อเวลาผ่านไปก็อาจละทิ้ง หมดศรัทธา หรือกระทั่งทรยศต่ออุดมการณ์ที่เคยยึดถือในอดีตได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่า กวีและนักเขียนมีนิยามที่ถูกสร้างไว้ตั้งแต่ยุคอดีต โดยผูกติดกับพันธกิจต่อประชาชนและความเป็นธรรมทางสังคม และสังคมมีความคาดหวังในการแสดงออกบางอย่างเมื่อสังคมเกิดวิกฤติ โดยที่พวกเขาไม่สามารถสลัดทิ้งสถานะของนักเขียนและกวีไปได้ แม้ในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา นิยามของนักเขียนและกวีจะมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยน แปลงโฉม รวมถึงลดทอนความสำคัญของความเป็นนักเขียนหรือวรรณกรรมที่อาจจะเป็นภัยต่อสถาบันต่างๆ ในสังคมอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยรากฐานในอดีตที่ถูกสร้างมาอย่างเข้มแข็ง ในท้ายที่สุดการช่วงชิงนิยามความหมาย แม้ว่าฝ่ายวรรณกรรมสร้างสรรค์ของกลุ่มกระฎุมพีจะสามารถเบียดขับฝ่ายวรรณกรรมเพื่อชีวิตให้ตกไปจากประวัติศาสตร์วรรณกรรมไปแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจปฏิเสธนิยามวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างสิ้นเชิงได้ ถึงวันนี้ไม่มีใครกล้าพูดว่าวรรณกรรมหรือกวีเขียนขึ้นเพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจ หรือเพื่อโชว์ฝีมือของตนเอง ดังเช่นนิยามแบบเดิมในสังคมศักดินายุคก่อนกุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่จะเห็นแต่นิยามที่สูงส่งอลังการว่านักเขียนมีภารกิจอันยิ่งใหญ่กอบกู้จิตวิญญาณมนุษย์ และจากนิยามนี้ทำให้เห็นได้ว่านักเขียนมีสถานะค่อนข้างสูงส่งมากในสังคมสมัยใหม่ แม้ว่าจะเป็นนักเขียนที่มีคนอ่านน้อย หรือหาแทบไม่ได้ เพราะการขายไม่ได้ส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นเรื่องค้ำประกันความศักดิ์สิทธิ์ของงาน เพื่อยืนยันว่าวรรณกรรมสูงส่งไม่ใช่ของตลาดที่หาซื้อได้ อย่างไรก็ตามวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นนี้สร้างความลำบากให้กับนักเขียนที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านทางสังคมมาก ด้วยความคาดหวังของผู้คน นักเขียนและกวีน้อยใหญ่จึงถูกบีบให้ออกมาแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 และแม้จะมีนักเขียนบางกลุ่มออกมาแสดงความสนใจต่อเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วออกมาโจมตีรัฐบาลอยู่ แต่โดยส่วนตัวสนใจในกลุ่มที่เคยได้ชื่อว่า เป็นนักเขียน เป็นกวีเพื่อประชาชน ในช่วงหลังเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ในกลุ่มนักเขียนและกวีได้ต่อสู้กันว่าจะนิยามเหตุการณ์ดังกล่าวว่าอย่างไร โดยแบ่งออกเป็น 2 นิยามใหญ่ๆ คือ นิยามเผาบ้านเผาเมือง กับ การปราบปรามประชาชน กวีหลายๆ คน ได้บันทึกความทรงจำของชาติในช่วงเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ว่าความสูญเสียไม่ใช่ชีวิตผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย แต่เป็นตึก ร้านค้า เหยื่อของเหตุการณ์คือผู้สูญสิ้นอาชีพ ผู้สิ้นเนื้อประดาตัว ผู้สูญสิ้นความหวัง การพูดถึงผู้เสียชีวิตเป็นการพูดอย่างเสียไม่ได้ พวกเขาแสดงความเป็นห่วงและเศร้าโศกกับความเสียหายของตึกมากกว่าชีวิตคนนับร้อยนับพันที่มาชุมนุม เช่น บทกวีที่เขียนไว้อาลัยโรงหนังสยามที่ถูกเพลิงไหม้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยไม่พูดถึงผู้ชุมนุมร่วมร้อยที่เสียชีวิตและคนบาดเจ็บนับพันด้วยน้ำมือของรัฐ ขณะที่มีบทกวีอีกเป็นจำนวนมาก แม้ไม่ได้แสดงความเสียใจต่อวัตถุ หรืออาคารที่ถูกเพลิงไหมอย่างชัดแจ้ง แต่ก็ไม่ได้พูดถึงความตายของคน เพียงแต่พูดถึงความเสียหายของประเทศไทย โดยมีการใช้จินตภาพของไฟมาเป็นจินตภาพหลักในการบรรยายถึงเหตุการณ์ ส่วนเนื้อหาโดยรวมไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่ารัฐใช้อำนาจของทหารเข่นฆ่าประชาชน แต่จะเลือกพูดภาพกว้างๆ ของความสูญเสีย ความพินาศย่อยยับ เมื่อพูดถึงการตายก็จะไม่มีการระบุว่าผู้ชุมนุมตายอย่างไร หรือพูดถึงการเข่นฆ่าว่าเป็นการฆ่ากันเอง แทบไม่มีบทไหนเลยที่ระบุว่าคนตายเป็นเหยื่อของอำนาจรัฐอันโหดเหี้ยม อีกทั้งยังมีการนำจินตภาพของธรรมชาติอันแปรปรวนมาใช้จำนวนมากโดยที่ไม่พูดถึงภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตำตา บทกวีที่สอดคล้องไปในทางเดียวกันนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความรู้สึกร่วมของกลุ่มกวี และทำให้มองเห็นได้ว่าเป็นการนำเสนอภาพเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาจากภาพในจอโทรทัศน์ที่มุ่งเสนอแต่ภาพควั่นไฟที่พวยพุ่งอยู่บริเวณราชประสงค์ โดยไม่ได้ใส่ใจให้ความสำคัญกับภาพของคนตาย คนที่ถูกฆ่าในเหตุการณ์เดียวกันนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าตัวกวีเห็นความสำคัญของตึกมากกว่าชีวิตคน เนื่องจากพวกเขาไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมเป็นคนมีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีญาติพี่น้องให้ห่วงหา และมีความเป็นมนุษย์ หรืออาจเป็นไปได้ว่าพวกเขามองเห็นคนรากหญ้าเป็นโจร แล้วคิดว่าคนเหล่านี้สมควรตาย "คำถามก็คือ กวีใช้เกณฑ์อะไรมาเป็นตัวชี้วัดว่าการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรากหญ้าเสื้อแดงเป็นซ่องโจร และการชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนักศึกษาประชนเมื่อปี 2516 เป็นความงดความงาม ใช่ความชั่ว หรือแท้จริงแล้วกวีถูกม่านโมหาคติและมายาคติบังตา จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดง หรือว่าโดยลึกๆ แล้วกวีท่านนี้เห็นแต่พวกตัวเองเท่านั้นที่ฉลาดและสูงส่งด้วยคุณธรรมจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ท่านไม่ชอบหน้าได้ ส่วนพวกหญ้าแพร่เสื้อแดงนั้นเถื่อนถ่อยและโง่งมงายเกินกว่าจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ" โดยสรุป ในส่วนนี้ได้เกิดกระบวนการขึ้น 2 กระบวนการ คือ 1.การลดทอนและปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดง โดยแสดงออกในสองด้านคือการให้ความสำคัญกับซากตึก สถานที่ และการสร้างภาพให้ผู้ชุมนุมกลายเป็นโจร 2.ความพยามยามในการนิยามเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ให้เป็นเหตุการณ์การเผาบ้านเผาเมือง ไม่ใช่การปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยม แล้วนิยามดังกล่าวนี้จะช่วยทำหน้าที่ปกปิดและปกป้องฆาตกรให้ลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมได้ต่อไป โดยความผิดทั้งหมดถูกโยนให้ผู้ชุมนุม ในประเด็นสุดท้าย บทกวีส่วนหนึ่งในช่วงเวลานี้ได้หันไปหยิบฉวยศีลธรรมมาใช้อธิบายและเป็นคำตอบให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความพยายามแสดงบทบาทตามพันธกิจในการชี้นำความคิดให้กับสังคมด้วยการเรียกหามโนธรรม แต่โดยส่วนตัวกรอบคิดเรื่องศีลธรรมเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นจริยธรรมที่แต่ละคนพึงเรียกร้องต่อตัวเอง มากกว่าจะใช้เป็นบรรทัดฐานไปเรียกร้องจากผู้อื่น แต่จะเห็นได้ว่าสังคมไทยทำในทางตรงกันข้าม คือไปเรียกร้องศีลธรรมจากสังคม ศีลธรรมจึงกลายเป็นแก้วสารพัดนึก และถูกเห็นเป็นยาแก้ปัญหาทุกปัญหาในสังคม แต่เมื่อยิ่งเรียกร้องเรื่องการยกระดับมาตรฐานศีลธรรมของสังคมมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นว่าศีลธรรมในสังคมตกต่ำมากเท่านั้น เพราะทุกคนชี้นิ้วไปที่ศีลธรรมจนกลายเป็นแพะรับบาปในทุกๆ ปัญหาของสังคมไทย แม้ไม่ต้องอาศัยกวีหรือนักเขียน เราต่างรู้ว่าปัญหาวิกฤติที่นำมาสู่เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ไม่ได้เกิดจากปัญหาความตกต่ำทางศีลธรรม และเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิกฤติจากเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือการเมือง คนสมัยใหม่ยกย่องกวีมาก ในขณะที่คนรุ่นเก่าก็สถาปนาบทบาทของกวีไว้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นศาสดาของสังคม จนมีการพูดกันว่า "กวีเห็นในสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็น" แต่หากได้อ่านงานกวีในช่วงเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 เราจะได้ข้อสรุปว่า "กวีไทยไม่เห็นในสิ่งที่คนทั่วไปเห็น" ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ปฏิเสธว่าในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวมีความซับซ้อนและมีปัจจัยหลายประการที่ซ้อนทับจนไม่สามารถชี้ชัดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ได้อย่างเด็ดขาดและชัดเจน แต่การละเลยที่จะยอมรับความจริงตรงหน้าว่ามีคนนับร้อยถูกยิงเสียชีวิต หลายคนบาดเจ็บปางตายนั้นเป็นเรื่องยากเกิดที่จะเข้าใจได้ หากไม่ใช่ด้วยคำว่าม่านบังตาที่ทำให้กวีไม่เห็นในสิ่งที่คนทั่วไปเห็นอยู่ตำตา ก็อาจอธิบายได้ว่าเหตุการณ์ก่อนหน้านี้อย่าง 14 ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ จบลงด้วยชัยชนะในระดับหนึ่งของผู้ชุมนุม อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำรัฐบาล จึงทำให้เหล่ากวีและนักเขียนสะดวกใจที่จะเขียนสดุดีแด่ผู้ชุมนุม แต่เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 เป็นความพ่ายแพ้ ที่คล้ายเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยเหตุนี้นักเขียนจึงปิดปากเงียบ ไม่ยอมแม้จะเอ่ยปากว่ามีคนตาย | |
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น