วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


พุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ก็คือ “พุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรม”

สุรพศ ทวีศักดิ์

พุทธศาสนาอันเป็นมรดกของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้หันหลังให้กับอำนาจและสถานะอันได้เปรียบทางชนชั้นสู่การดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายอย่างสามัญชน คือ “ทัศนะต่อโลกและชีวิตแบบอริยสัจ” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดับทุกข์ทางจิตวิญญาณ ได้ถูกอรรถาธิบายขยายความ ถูกตีความรับใช้สถานะทางชนชั้น และรูปแบบวิถีชีวิตที่ตรงกันข้ามกับวิถีชีวิตของผู้ให้กำเนิดพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง
ดังในสังคมพุทธไทยนั้น พุทธศาสนาคือ “แก้วสารพัดนึก” ที่ถูกนำไปตอบปัญหาได้ทุกเรื่อง เมื่อเราดูทีวีรายการธรรมะ หรือเข้าไปในร้านหนังสือธรรมะ เราอาจได้ดูรายการสนทนาธรรม หรือรายการหนังสือประเภทนี้ เช่น ธรรมาพารวย ธรรมาค้าขึ้น ทำบุญอย่างไรให้สวย ฯลฯ อันเป็น “ประดิษฐกรรมทางปัญญา”ของพระนักคิดนักเขียนชื่อก้องแห่งยุคสมัย
จะว่าไปแล้ว ในสังคมไทยนั้นการตีความคำสอนพุทธศาสนาเพื่อรับใช้ “คุณค่าที่ตรงกันข้าม” กับคุณค่าที่พระพุทธองค์เสนอ ได้ก่อให้เกิดพุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน ดังที่ ธงชัย วินิจจะกูล สะท้อนภาพสังคมไทยตามคติพุทธแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ว่า
“สังคมอินทรียภาพแบบพุทธ คือแนวคิดที่เน้นว่าสังคมจะปกติสุขและจะเคลื่อนตัวพัฒนาไปได้ ก็ต่อเมื่อหน่วยต่างๆ ของสังคมจะต้องรู้จักหน้าที่ของตนและทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน (harmony) เปรียบเสมือนอวัยวะต่างๆ ของร่างกายซึ่งมีหน้าที่ต่างๆ กัน ความสำคัญไม่เท่ากัน แต่ต้องประสานสอดคล้องกันจึงจะไม่เจ็บป่วย ประเทศชาติหรือสังคมเปรียบเสมือนร่างกายขนาดใหญ่ เป็นองค์รวมขององคาพยพที่ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน แต่ล้วนมีความสำคัญและต้องทำตามหน้าที่ของตนอย่างประสานสอดคล้องกัน สังคมจึงจะไม่เจ็บป่วย แถมมีสุขภาพแข็งแรงเติบโตต่อไปได้

องค์รวมที่เรียกว่าประเทศไทย จึงเต็มไปด้วยหน่วยย่อยๆ ที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะพิจารณาหน่วยสังคมใดๆ เช่นครอบครัว ที่ทำงาน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด กระทรวง กรม โรงเรียน บริษัท โรงงาน ฯลฯ ก็จะพบผู้คนที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน และต้องยอมรับความสูงต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่ทุกๆ คนล้วนมีความสำคัญเพราะทุกอวัยวะทุกหน้าที่ล้วนมีความสำคัญ ความสามัคคีที่เป็นคาถาในอาร์มแผ่นดินมีรากมาจากพุทธศาสนา ได้รับการตีความให้เข้ากับปรัชญาสังคมอินทรียภาพแบบพุทธของไทยสมัยใหม่" 

(มติชนออนไลน์, 8 พฤษภาคม 2554)
โปรดสังเกตนะครับว่า พุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดย “เนื้อหา” หรือโดย “แก่นแท้” แล้วไม่ได้ต่างจาก “พุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรม” ของแม่ชีทศพรแต่อย่างใด
กล่าวคือ การที่คนเราเกิดมามีสถานะทางสังคมต่างกัน เช่น เป็นเจ้า เป็นไพร่ เป็นทาส เป็นคนจน คนรวย คนสวย ไม่สวย ฯลฯ เป็นเพราะกรรมในชาติปางก่อน หรือเพราะชาติปางก่อนบำเพ็ญบุญบารมีมาไม่เท่ากัน
ข้อแตกต่างอย่างสำคัญอยู่ที่ว่า “พุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรม” ของแม่ชีทศพร เป็นพุทธศาสนาที่ใช้เยียวยา “ทุกข์ทางจิตวิทยา” ของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจกับปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ยากจน หนี้สิน ไฟไหม้ อุบัติเหตุ แฟนทิ้ง ลูกไม่เชื่อฟัง เจ้านายไม่เห็นความดี ฯลฯ พุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรมก็จะมีคำตอบให้ว่า ชาติที่แล้วไปทำกรรมอะไรไว้ และจะแก้กรรมนั้นอย่างไร เมื่อชาวบ้านไปแก้กรรมตามนั้นเขาคงสบายใจขึ้น มีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป อาจเป็นเพราะกำลังใจที่มีนั้นทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น หรือเขารู้สึกว่าตนเองมีที่ยึดเหนี่ยวทางใจ จึงทำให้เขาศรัทธาในแม่ชีทศพร
แต่พุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีไว้แก้ทุกข์ทางจิตวิทยาของชนชั้นปกครอง และทุกข์ทางการเมืองของชนชั้นปกครอง แก้ทุกข์ทางจิตวิทยาของชนชั้นปกครองก็คือคำอธิบายความแตกต่างทางชนชั้นโดยอ้างอิงการบำเพ็ญบารมีมาไม่เท่ากัน ทำให้ชนชั้นปกครองรู้สึกมั่นคงในสถานะที่เหนือกว่าทางชนชั้น อำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขา แก้ทุกข์ทางการเมืองก็คือคำอธิบายดังกล่าวทำให้ผู้ใต้ปกครองสยบยอมต่ออำนาจได้ง่าย และปกครองง่าย
ประเด็นคือ ใน พ.ศ.นี้แล้ว ทำไมพระสงฆ์ทั้งพระผู้ใหญ่ พระปัญญาชน กระทรวงวัฒนธรรม ชาวพุทธทั่วไป จึงเดือดร้อนเหลือเกินกับกรณี “แก้กรรม” ของแม่ชีทศพร เมื่อแม่ชีทศพรบอกให้ไปแก้กรรมด้วยคำพูดที่คนทั่วไปก็ใช้กัน เช่นคำว่า “เอากัน” รู้สึกว่าสังคมนี้จะทนไม่ได้เอาเลย แต่กลับยกย่องคำพูดฉ้อฉลแบบ “กระชับพื้นที่” “ขอคืนพื้นที่” “คืนความสงบสุขให้คนกรุงเทพฯ” ฯลฯ จนต้องมอบรางวัลการใช้ภาษาไทยดีเด่น ทั้งที่ความหมายที่แท้จริงของคำดังกล่าวคือ การสลายการชุมนุมด้วยวิธีรุนแรง และมีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากโดยผู้สั่งการไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
หากสังคมนี้รับไม่ได้ว่า พุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรมเป็นความงมงาย แล้วพุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่งมงายอย่างไรไม่ทราบ ควรรับได้อย่างไรไม่ทราบ !
ความงมงายของพุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรมนั้น อาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่เชื่อตาม แต่นั่นก็เป็นเป็นเสรีภาพที่เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ หรือแรกๆ เขาอาจจะเชื่อ ต่อไปเขาอาจเลิกเชื่อก็ได้ ไม่มีใครบังคับเขาได้
แต่ความงมงายของพุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่บังคับการปลูกฝังอบรมผ่านระบบการศึกษาแบบทางการ ผ่านคณะสงฆ์ ย่อมส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อรูปการจิตสำนึก อุดมการณ์ทางสังคมการเมืองที่รองรับความไม่เท่าเทียมในความเป็นคน ให้ความชอบธรรมกับการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริง และให้ความชอบธรรมกับ “บางอำนาจสาธารณะ” ที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบ ไม่ต้องรับผิดชอบทางศีลธรรมและทางกฎหมาย
ความงมงายดังกล่าวนี้เป็นความงมงายเพราะขัดแย้งกับ “สาระที่แท้จริง” ที่พระพุทธองค์ปฏิเสธระบบชนชั้นตามที่ตรัสไว้ในอัคคัญสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 11) โดยเนื้อหาสำคัญสรุปได้ว่า ตามหลักการพุทธศาสนา เราไม่สามารถอ้างอิงความแตกต่างทางชนชั้นมาวางระบบความยุติธรรมทางสังคม และ/หรือเป็นข้อยกเว้นความรับผิดชอบทางศีลธรรมได้
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “กษัตริย์ทำชั่วก็ชั่ว พราหมณ์ทำชั่วก็ชั่ว แพศย์ทำชั่วก็ชั่ว ศูทรทำชั่วก็ชั่ว” ฉะนั้น สถานะทางชนชั้นจึงไม่อาจใช้เป็นหลักอ้างอิงเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผิดศีลธรรมและกฎหมายได้
หรือพูดให้ตรงคือ หากเรายอมรับว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธระบบชนชั้นจริง การอ้างอิงคำสอนของพระองค์เพื่อมาสนับสนุนระบบชนชั้น ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์!
เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อคนถามตรงๆ พระพุทธเจ้าไม่ตอบ แต่ชวนให้ชาวพุทธเห็นความสำคัญกับการทำความเข้าใจทุกข์และความดับทุกข์ซึ่งเห็นเหตุผลได้ชัดแจ้งกว่า และเรื่องที่พระองค์ปฏิเสธระบบชนชั้นก็เป็นเรื่องที่มีหลักฐานชัดเจน และมีเหตุผลอย่างยิ่งต่อการวางรากฐานสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม
ว่าแต่นักตีความพุทธศาสนายุคปัจจุบันจะเอาอย่างไร จะเอาเป็นเอาตายกับพุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรม ทว่าเชิดชูพุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไปแบบไม่ลืมหูลืมตากระนั้นหรือ ? 
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น