วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


‘มารค์’ห้ามอินโดฯเข้าเขาพระวิหารจนกว่ากัมพูชาจะถอนทหารออก
http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=52333
       ข่าว(ในประเทศ)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3048 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 6 พฤษภาคม 2011
         กรุงเทพฯ : “อภิสิทธิ์” ยืนยันจะไม่ลงนามให้ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาชายแดนไทย-กัมพูชา จนกว่ากัมพูชาจะนำทหารและชาวบ้านออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรบริเวณเขาพระวิหาร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการเปิดให้ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาว่า เรื่องนี้มีข้อกำหนดที่เป็นเอกสาร ถ้อยคำต่างๆไม่ได้เป็นปัญหา แต่กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับอินโดนีเซียก่อนหน้านี้ว่าการจะนำผู้สังเกตการณ์เข้ามาควรให้กัมพูชานำทหารและชาวบ้านออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรก่อน เพราะเป็นการละเมิดเอ็มโอยู 2543 ดังนั้น เป็นเรื่องที่อินโดนีเซียต้องไปประสานกับกัมพูชาให้ตอบรับในเรื่องนี้ หากยังไม่ตอบรับก็จะไม่ลงนามให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามา

“ตัวเนื้อหาในทีโออาร์ไม่ได้มีปัญหา ส่วนจะมีความคืบหน้าได้เมื่อไรก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกันระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย และระหว่างอินโดนีเซียกับกัมพูชา ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายคือจะไม่ให้มีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างไทย-กัมพูชา ความจริงพื้นที่ที่จะมีผู้สังเกตการณ์เข้ามา (เขาพระวิหาร) ก็ไม่ได้มีปัญหามาประมาณ 2-3 เดือนแล้ว”

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบทบาทของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จะประชุมก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซียว่า นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะมารายงานให้ทราบ โดยประเด็นที่ไทยจะชี้แจงในเวทีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนคงเป็นการยืนยันว่าไทยไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหาความขัดแย้งขึ้นมา และสนับสนุนให้แก้ปัญหาโดยสันติวิธี และในข้อเท็จจริงก็หนีไม่พ้นที่ 2 ฝ่ายจะมาพูดคุยกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่กัมพูชานำเรื่องขึ้นศาลโลกอีกครั้ง ไทยจะสามารถขยายข้อเท็จจริงที่ทำให้นานาชาติเห็นภาพหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็หวังเช่นนั้น โดยไทยจะลำดับให้เห็นว่า การปะทะกันแต่ละครั้ง รวมทั้งเมื่อวันที่ 4 พ.ค. เป็นความจงใจของกัมพูชาในแง่ของจังหวะเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับการยกเรื่องไปสู่สากล

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีที่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เตือนรัฐบาลอย่ามองข้ามกรอบพหุภาคีในการแก้ปัญหาไทย-กัมพูชาว่า ไทยไม่ได้มีปัญหา ตอนที่นำเรื่องนี้ไปที่สหประชาชาติไทยก็ไปชี้แจง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ข้อเท็จจริงที่เราต้องทำความเข้าใจคือ เนื้อหาที่จะตกลงกันเป็นเรื่องของ 2 ฝ่าย ก็ต้องถามว่าฝ่ายที่สามจะทำอะไร ความจริงอินโดนีเซียได้ยืนยันท่าทีอย่างนี้มาชัดเจน
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น