วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศาลเจ้า


ศาลเจ้า
ศาลเจ้า
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ 
ฉบับวันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 30


เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อฉลองวันที่ให้กำเนิดความเป็น "ชาติ" ของเราอย่างแท้จริง อย่างน้อยก็โดยหลักการ เพราะความเป็นพลเมืองซึ่งเป็นเจ้าของประเทศโดยเท่าเทียมกันได้รับการรับรองเป็นครั้งแรก อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และผมได้ขึ้นเวทีอภิปรายร่วมกัน เพื่อตอบปัญหาของนักวิชาการรุ่นใหม่
มีคำถามที่ทั้งผมและอาจารย์ชาญวิทย์ไม่ได้ตอบหลายข้อ เพราะหมดเวลาลงเสียก่อน มีหลายคำถามที่ผมอยากตอบมากทีเดียว
จึงขอนำบางคำถามมาตอบในที่นี้

อาจารย์ชาญวิทย์และผมจะถูกถามว่า "การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเกินขอบเขตอำนาจศาลนั้น เป็นเพราะสังคมเห็นว่าศาลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นมรดกของยุคเก่าใช่หรือไม่"

หากผมมีโอกาสได้ตอบ ผมก็จะตอบว่า ไม่ใช่
ตรงกันข้ามกับที่เข้าใจกันทั่วไป "ศาล" หรือ "ตุลาการ" ในสมัยโบราณ (ก่อนการปฏิรูปของ ร.5) เป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของคนทุกชนชั้น สุนทรภู่เปรียบตุลาการเหมือนเหยี่ยว บินอยู่สูงคอยจ้องหาเหยื่อและอาหารของชาวบ้าน แล้วก็ถลามาโฉบเอาไปอย่างหน้าด้านๆ

ตุลาการและ "ผู้ปรับ" (ผู้พิพากษา) นั้น เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร เหมือนรัฐโบราณโดยทั่วไป การตัดสินคดีพิพาทคือส่วนสำคัญที่แยกไม่ออกจากการบริหารบ้านเมือง ฉะนั้น ในหัวเมืองทั้งหมด ผู้พิพากษาคือเจ้าเมืองซึ่งจะพลิกกฎหมายลงโทษผู้ที่ตุลาการชี้ว่าผิด ส่วนคณะตุลาการคือตำแหน่งราชการฝ่ายบริหาร ซึ่งมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ใครเป็นบ้าง เช่นในหัวเมืองก็มักจะเป็นกรมการเมือง

คนเหล่านี้ไม่มีเงินเดือน บางคนในกลุ่มคนเหล่านี้อาจได้รับ "เบี้ยหวัด" เป็นรายปี ซึ่งก็มีจำนวนน้อยเกินกว่าจะเลี้ยงชีพได้จริง รายได้ของเขาจึงมาจากการ "ทำราชการ" ซึ่งมีส่วนแบ่งผลประโยชน์ ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายหลายอย่าง นับตั้งแต่มีแรงงานไพร่ไว้ใช้ฟรี ไปจนถึงเก็บเบี้ยบ้ายรายทางกับราษฎรในเรื่องจิปาถะ งานพิจารณาพิพากษาอรรถคดีก็เป็นแหล่งรายได้อย่างหนึ่ง
รายได้ชนิดที่ถูกกฎหมายก็คือ ได้ส่วนแบ่งเงินค่าปรับและค่าพิจารณาคดีจากคู่ความ แต่รายได้หลักมาจากส่วนที่ไม่ถูกกฎหมาย คือเรียกรับสินบนจากคู่ความ

หนทางที่จะใช้บริการของกระบวนการยุติธรรมที่เหมือนเหยี่ยวนี้ ก็ไม่ได้เปิดกว้างแก่ทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ทาสจะฟ้องร้องได้ต้องได้รับอนุญาตจากนายเงิน ไพร่จะฟ้องร้องคดีได้ก็ต้องได้รับอนุญาตจากมูลนายเหมือนกัน
เจตนาเดิมคงไม่ใช่เพื่อกดขี่ไพร่-ทาส แต่เพราะไม่ได้แยกหน้าที่การระงับข้อพิพาทออกไปจากการบริหารกำลังคน นายเงินและมูลนายคือผู้บริหารกำลังคนนั่นเอง จึงมีหน้าที่ตัดสินคดีพิพาทของคนในสังกัดด้วย จะโดยไกล่เกลี่ยหรือกระทืบสั่งสอน หรืออนุญาตให้นำเรื่องขึ้นศาลก็ตาม

"ศาล" โบราณไม่เคยศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของใคร ความศักดิ์สิทธิ์เพิ่งถูกสร้างขึ้นในภายหลัง และยังพยายามสร้างสืบมาจนถึงทุกวันนี้ โดยกลุ่มคนที่เป็นตุลาการ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังการปฏิรูปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของ ร.5 เช่นเดียวกันกับ "ข้าราชการ" สายอื่นๆ ซึ่งพยายามสถาปนา "ความศักดิ์สิทธิ์" ของตนขึ้นเหมือนกัน แต่ทำได้ไม่สำเร็จเท่ากับสายตุลาการ

ผมจะขอพูดถึงเฉพาะความศักดิ์สิทธิ์ของพนักงานสายตุลาการเท่านั้น ว่าเกิดขึ้น และสั่งสมกันมาอย่างไร

ขอให้สังเกตนะครับว่า โดยทฤษฎีแล้ว ทั้งตุลาการและ "ผู้ปรับ" (ผู้พิพากษา) ในสมัยโบราณ ล้วนเป็นคนของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองเอง หรืออนุมัติตำแหน่งกรมการเมืองต่างๆ เป็นอย่างน้อย ระเบียบปฏิบัติในการอุทธรณ์ฎีกา คือการนำเรื่องขึ้นสู่พระเนตรพระกรรณโดยตรงมากขึ้นตามลำดับ สรุปก็คือพระเจ้าแผ่นดินเป็นองค์ประธานสูงสุดของกระบวนการยุติธรรม

แต่โดยทางปฏิบัติแล้ว มิได้มีพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งคนที่ไว้วางพระทัยไปได้ทั้งหมด ต้องทรงประนีประนอมกับอำนาจท้องถิ่นซึ่งมีอยู่หลากหลายและชุกชุม โดยตั้งขึ้นให้ดำรงตำแหน่งราชการ

การปฏิรูปไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือการรวบอำนาจทั้งหมดในราชอาณาจักรไว้ใต้ราชบัลลังก์ การปฏิรูประบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในสมัยนั้น กับโลกภายนอกคือทำให้ฝรั่งยอมรับ กับโลกภายในคือการทำลายอำนาจอื่นๆ ที่มีอยู่มาก่อนให้หมดไป หรือดึงมาอยู่ใต้การบังคับควบคุมของพระเจ้าแผ่นดินแต่ผู้เดียว

เมื่อทำให้การบริหารราชการฝ่ายทหารและพลเรือนอยู่ภายใต้การบังคับควบคุมของราชบัลลังก์ ราชการฝ่ายตุลาการก็ต้องปฏิรูปเพื่อจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน อย่าลืมว่าในคติแบบเก่า ฝ่ายตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจบริหาร ตุลาการคือคนของพระเจ้าแผ่นดิน ที่โปรดให้มาทำหน้าที่แทนเท่านั้น

การปฏิรูประบบกฎหมายและการยุติธรรมใน ร.5 ไม่ได้แตะต้องหลักการข้อนี้ ตุลาการซึ่งบัดนี้ไม่ได้อยู่ในราชการปกครองอีกแล้ว แยกมาเป็นกระทรวงต่างหาก ได้รับการศึกษาอบรมมาเฉพาะสำหรับทำหน้าที่ของตน แต่ก็ยังเป็น "ข้าราชการ" เหมือนเดิม คือทำงานแทนพระเจ้าแผ่นดินในการบริหารความยุติธรรม ไม่ต่างจาก "ข้าหลวง" ที่ไปว่าราชการตามหัวเมือง
ระบบราชการทั้งระบบผูกติดอยู่กับพระราชอำนาจ เพราะอำนาจในการปฏิบัติงานของข้าราชการแต่ละคน ล้วนมาจากการแต่งตั้งของพระราชอำนาจทั้งสิ้น ในแง่นี้จะสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้ตำแหน่งราชการได้ทุกตำแหน่ง

ในสมัย ร.5 เคยมีข้อขัดแย้งระหว่างผู้นำฝ่ายตุลาการกับฝ่ายบริหารว่า ฝ่ายตุลาการควรเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร แต่ ร.5 ก็ทรงชี้แจงแสดงเหตุผลให้เห็นว่า ยังไม่เหมาะที่ฝ่ายตุลาการจะเป็นอิสระเช่นนั้น ในที่สุดฝ่ายตุลาการก็ยอม และคงเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหารสืบมา
ในฐานะส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหารในรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ ตุลาการไทยย่อมยืนอยู่ข้างเดียวกับรัฐเสมอ วิธีคิดเช่นนี้แฝงอยู่ในการทำหน้าที่ของตุลาการ ไล่ไปได้จนถึงการเรียนกฎหมาย คือจะรักษาอำนาจของรัฐ-ไม่ว่าจะเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์หรือรัฐประชาธิปไตย-ไว้ได้อย่างไร คำพิพากษาของศาลไทยจึงไม่ค่อยมีส่วนในการพัฒนาสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่มักยืนยันจะรักษาอำนาจรัฐไว้เหนือสิทธิเสรีภาพ (แม้แต่ตามรัฐธรรมนูญ) ของประชาชนเสมอ

ลองย้อนกลับไปคิดถึงความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยในประเทศตะวันตกหลายประเทศดูเถิดครับ ว่าเกี่ยวพันกับคำพิพากษาของศาลอย่างไร ... สิทธิเสมอภาคของคนผิวดำในสหรัฐ, สิทธิเสรีภาพในชีวิตส่วนตัวในยุโรปและอเมริกา, สิทธิเสรีภาพการประท้วงรัฐ, สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา, ฯลฯ ส่วนสำคัญของความก้าวหน้าในเรื่องเหล่านี้มาจากคำพิพากษาของศาลสูง
จะอ้างว่าเพราะเขาใช้ระบบกฎหมายแบบ common law จึงทำให้เกิดขึ้นได้ ก็ไม่จริง เพราะหลายประเทศเช่นฝรั่งเศสก็ใช้ระบบกฎหมายแบบเดียวกับเรา และเอาเข้าจริงระบบกฎหมายทั้งสองก็ไม่ได้ต่างกันมากเหมือนที่สอนนักเรียนกฎหมายปี 1 ซ้ำนับวันมันก็ยิ่งเหลื่อมเข้าหากันทุกที

หลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อำนาจอธิปไตยกลายเป็นของปวงชนชาวไทย และผู้ถืออำนาจนี้กลายเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากปลายกระบอกปืน นับจากนั้นมาฝ่ายตุลาการก็พยายามแสวงหาอิสรภาพจากฝ่ายบริหาร (และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ) ฝ่ายตุลาการจึงเป็นฝ่ายเดียวที่สามารถรักษาความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของตำแหน่งเอาไว้ได้

แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายตุลาการ เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกับสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่คลุมเครือในระบอบประชาธิปไตย เพราะพระมหากษัตริย์ที่เป็นฐานของความศักดิ์สิทธิ์นั้น คือพระมหากษัตริย์ในระบอบอื่น ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย

ศาลมักอ้างเสมอว่า พิจารณาพิพากษาคดี "ในพระปรมาภิไธย" ซึ่งแปลว่าอะไรไม่ชัดนักระหว่างผู้พิพากษาเป็นเพียง "ข้าหลวง" ที่โปรดให้มาทำหน้าที่แทน หรือพระปรมาภิไธยในฐานะที่เป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยของปวงชน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ "The People" ในศาลอเมริกัน หรือ "The Crown" ในศาลอังกฤษ

เช่นเดียวกับพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดไว้ในห้องพิจารณาคดีของศาลทุกแห่ง หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์ หรือ บุคลาธิษฐานของอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย
ความคลุมเครือเช่นนี้ลามไปถึงการแต่งกาย, ท่านั่ง, หรือคำพูดของผู้เข้าฟังหรือร่วมในการพิจารณาคดีด้วย เช่น ห้ามแต่งกาย "ไม่เรียบร้อย", ห้ามนั่งไขว่ห้าง, ฯลฯ ทำให้ไม่ชัดนักว่าผู้เข้าฟังหรือร่วมในการพิจารณาคดี กำลัง "เข้าเฝ้า" หรือเพียงแต่อยู่ในห้องพิจารณาคดีของศาลในประเทศประชาธิปไตยกันแน่

"หมิ่นศาล" หมายถึงอะไรกันแน่ ระหว่างการหมิ่น "ข้า-หลวง" ซึ่งกำลังทำหน้าที่แทนพระเจ้าแผ่นดิน หรือ "ศาล" ในความหมายถึงกระบวนการพิจารณาคดี ที่หากไปขัดขวางด้วยประการต่างๆ ย่อมถือว่า "หมิ่น" เพราะทำให้กระบวนการดังกล่าวไม่อาจดำเนินไปอย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้

ความคลุมเครือนั้นเป็นจราจรสองทางครับ นอกจากทำให้ฝ่ายหนึ่งงงแล้ว ก็ยังทำให้ตัวเองงงด้วย อำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลอะไรก็ตามแต่ ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมตั้งอยู่บนกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มากและไม่น้อยไปกว่าที่กฎหมายกำหนด
แตกต่างจากรับสั่งของพระเจ้าแผ่นดินซึ่ง "ข้าหลวง" ต้องตีความเอาเองว่า ทรงมุ่งประสงค์สิ่งใดกันแน่ แล้วก็ปฏิบัติให้ต้องตามพระราชประสงค์


ความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของศาลเพิ่งสร้างขึ้นไม่นานมานี้เอง หาได้เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคโบราณไม่

แต่ความศักดิ์สิทธิ์นี้ถูกสร้างขึ้นไม่ใช่เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำหน้าที่ของตนตามระบอบประชาธิปไตย

แต่สร้างขึ้นเพื่อทำให้พ้นจากการถูกตรวจสอบ จึงเอาไปผูกไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์
ซึ่งย่อมอยู่พ้นไปจากการถูกตรวจสอบเช่นกัน
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น