วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พุทธไทยยิ่งกว่า “สุขนิยม"


พุทธไทยยิ่งกว่า “สุขนิยม"

 
สุรพศ ทวีศักดิ์ : พุทธไทยยิ่งกว่า “สุขนิยม” 
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 12:00:00 น.


          อาจารย์ชาวต่างชาติคนหนึ่งแสดงความเห็นเกี่ยวกับบ้านเราว่า "ผมไปมาหลายประเทศ แต่ไทยเป็นประเทศที่แปลกประหลาดที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา" 
อะไรคือความแปลกประหลาดที่เขามองเห็น ผมคิดว่าหากเราพิจารณาปรากฏการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเราก็จะเห็นหลายเรื่องมาก

           เช่น เรานิยมปลูกฝังความรักชาติด้วยเรื่องเล่าสร้างความเกลียดชัง ดูถูกเพื่อนบ้าน กระตุ้นสำนึกปกป้องพุทธศาสนาด้วยเรื่องเล่าถึงภัยของศาสนาอื่นๆ ปลุกเร้าความรักสถาบันกษัตริย์ด้วยวาทกรรม "ล้มเจ้า" เราเรียกรัฐประหารโดยทหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นการ "ปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย" แต่กล่าวหาการแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาว่าเป็นการ "ล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตย" และ "ล้มเจ้า" ฯลฯ นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างของ "มายาคติ" ที่เราสร้างขึ้น


            ความแปลกประหลาดของสังคมเรา จึงได้แก่ความเป็นสังคมที่อยู่กับ "มายาคติ" ขัดแย้ง แตกแยก และเข่นฆ่ากันครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยเรื่องราวของมายาคติต่างๆ ที่เราสร้างขึ้น โดยเฉพาะมายาคติเกี่ยวกับความรัก "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" อันเป็นเรื่องราวความรักที่ไม่จำเป็นต้องเคารพความจริง และสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อำนาจของประชาชน

             มายาคติที่ครอบงำ "มโนสำนึก" และทำลาย "ความมีเหตุผล" ของสังคมอีกอย่าง คือ "มายาคติทางศาสนา" มายาคตินี้เห็นได้จากการที่ชาวพุทธบ้านเราทั้งพระและฆราวาส ต่างมองความสุขทางเนื้อหนังร่างกาย หรือวิจารณ์สุขนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยมด้วยท่าทีดูแคลน แล้วปากก็พร่ำสรรเสริญความมักน้อย สันโดษ เรียบง่าย พอดี พอเพียง ปล่อยวาง ฯลฯ แต่การใช้ชีวิตจริงกลับตรงข้ามกับคุณธรรมที่พร่ำสรรเสริญ


            ที่จริงแล้ว ความสุขทางเนื้อหนังร่างกาย หรือความสุขจากความมั่งคั่ง ร่ำรวย มีเกียรติยศ ชื่อเสียง ความสุขสบายพรั่งพร้อมทางวัตถุ หรือที่มักเรียกรวมๆ ว่า วัตถุนิยม บริโภคนิยมที่เราโจมตีกันนั้น ในสายตาของ "ปรัชญาศีลธรรม" (moral philosophy) ตะวันตกที่เรียกว่า "สุขนิยม" (hedonism) เขามองเรื่องการแสวงหาความสุขเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นข้อเท็จจริงปกติที่มนุษย์ต่างก็แสวงหาความสุข เพราะการแสวงหาความสุขย่อมสอดคล้องกับธรรมชาติทางจิตวิทยาของมนุษย์ที่ "เกลียดทุกข์ต้องการสุข"

            ฉะนั้น จากข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์ต่างหลีกหนีความทุกข์ ปรารถนา และแสวงหาความสุขกันทั้งนั้น เขาจึงเสนอว่า "ความสุขคือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรแสวงหา" การกระทำที่ดี หรือการกระทำที่มีศีลธรรม คือการกระทำที่ก่อให้เกิดความสุข และ/หรือลดทอนความทุกข์ ความเจ็บปวดต่างๆ


             เราจะเห็นด้วยกับเหตุผลและข้อเสนอดังกล่าวของสุขนิยมหรือไม่ก็ตาม แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดพวกสุขนิยมเขา "ไม่ดัดจริต" ที่จะยืนยันว่า สิ่งที่เขาชอบและมุ่งแสวงหาคือ "สิ่งที่ดี" และควรค่าแก่การแสวงหา ต่างจากชาวพุทธในบ้านเรา ไม่ว่าพระหรือฆราวาสที่มักมีท่าทีเหยียดสุขนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม ทว่ากลับเป็นคนประเภทที่ "เกลียดตัวกินไข่"

             เช่นที่วิจารณ์กันว่า ความสุขทางเนื้อหนังร่างกาย ความสะดวกสบายพรั่งพร้อมทางวัตถุ หรือมักพูดรวมๆ ว่า วัตถุนิยม บริโภคนิยมนั้น เป็นความสุขชั้นต่ำ ส่งเสริมกิเลสตัณหา ความโลภไม่รู้จักพอ เห็นแก่ตัว แก่งแย่ง เอาเปรียบ เป็นค่านิยมแบบตะวันตกทำให้คนตกเป็นทาสวัตถุ ศีลธรรมเสื่อม เครียด ขาดความสงบทางจิตใจ ฯลฯ

             แต่เมื่อนำเสนอศีลธรรมหรือ "ความดี" ทางศาสนา กลับกลายเป็นการ "โปรสุขนิยมอย่างสุดโต่ง" เช่นว่า จงสั่งสมความดีด้วยการทำบุญแล้วชีวิตจะมีความสุขความเจริญสมปรารถนาทุกอย่าง บุญเป็นชื่อของความสุข การสั่งสมบุญจะนำความสุขมาให้ ชีวิตที่ "อยู่ในบุญ" คือชีวิตที่ปราศจากทุกข์โศก โรคภัย อานุภาพแห่งบุญจะดลบันดาลให้ชีวิตเจริญด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ บริวารสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ การบำเพ็ญบุญบารมีจะช่วยให้ตายไปแล้วเกิดในสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยความสุข ทรัพย์ศฤงคารทุกภพทุกชาติไป ตราบกระทั่งบรรลุพระนิพพานอันเป็น “ความสุขสูงสุด” หรือ “บรมสุข”

              บนแผงหนังสือธรรมะที่เป็นหนังสือขายดีระดับ best seller คือหนังสือที่เป็นงานเขียนของพระเซเลบริตี้ที่นิยมเสนอ “ธรรมะฮาวทู” สู่ความสำเร็จและความสุขในชีวิต บางทีก็เกาะกระแสคนดังระดับโลก เช่น บิล เกตส์ สตีฟ จ๊อบส์ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในความสำเร็จทางโลก แล้วอ้างว่าคนเหล่านั้นปฏิบัติธรรมข้อไหน เจริญสติอย่างไร ราวกับว่าคนเหล่านั้นเป็น "ชาวพุทธชั้นเลิศ" ทั้งที่เขาอาจไม่เคยสนใจพุทธศาสนาเลยด้วยซ้ำ นอกนั้นก็จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับพระเกจิอาจารย์ที่มีอภินิหารบันดาลสุข หรือหนังสือเซเลบฆราวาสประเภทเชี่ยวชาญเรื่อง "กรรม" ที่พยากรณ์กรรมเก่ากรรมใหม่ได้ทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องว่าชาติก่อนทำ "กรรมดี" อะไรมาจึงมีอานิสงส์ให้ชาตินี้มี "องคชาติขนาดพอเหมาะ" ฯลฯ

             นี่คือความเป็นจริงของพุทธไทยที่ดัดจริตรังเกียจสุขนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม แต่กลับแปรเปลี่ยนความหมายของ "ธรรมะ" แห่งพุทธะให้มีค่าเป็นเพียง "เครื่องมือ" แสวงหาความสุขโลกย์ๆ แบบสุขนิยม หรืออาจพิสดารยิ่งกว่าสุขนิยมด้วยซ้ำ เพราะศีลธรรมของสุขนิยมใช้แสวงหาความสุขได้เฉพาะชาตินี้เท่านั้น แต่ศีลธรรมของพุทธไทยใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาความสุขแม้กระทั่งให้มีชาติกำเนิดสูงศักดิ์ รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ บริวารสมบัติได้แบบข้ามภพข้ามชาตินับไม่ถ้วน


พุทธะแสดงสัจจะเพื่อให้ชาวพุทธซื่อสัตย์ต่อความจริง ไม่ใช่เพื่อสร้างมายาคติขึ้นมาครอบงำ และถูกพันธนาการด้วยมายาคติที่สร้างขึ้นนั้น

สัจจะนั้นสัมพันธ์กับเสรีภาพในความหมายว่า
          (1) เสรีภาพเป็นเงื่อนไขให้ค้นพบสัจจะ คือต้องมีเสรีภาพจากอำนาจกดขี่ บังคับ หรือพันธนาการครอบงำทางความคิดความเชื่อ จารีตต่างๆ ก่อน  มีอิสระมีความเป็นตัวของตัวเองเต็มที่ที่จะค้นหาก่อนจึงจะพบสัจจะหรือความจริง ไม่ว่าจะเป็นความจริงเกี่ยวกับปัญหาด้านในของชีวิตและปัญหาต่างๆ ทางสังคมการเมือง
          (2) เมื่อค้นพบสัจจะหรือความจริงเกี่ยวกับปัญหานั้นๆ แล้ว จึงจะแก้ปัญหาได้ หรือจึงจะมีเสรีภาพอีกแบบหนึ่ง คือความเป็นอิสระจากทุกข์หรือการบีบคั้นพันธนาการของปัญหาต่างๆ

           ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาแห่งการปลดปล่อยจากมายาคติทั้งปวง ธรรมะของพุทธะที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น คือวิถีการฝึกฝนเพื่อให้เกิดปัญญามองเห็นมายาคติที่ครอบงำตนเองและสังคม เพื่อที่จะให้เรากล้าหาญที่จะมีชีวิตอยู่กับความเป็นจริง แก้ปัญหาชีวิตและปัญหาต่างๆ ทางสังคมบนพื้นฐานของการใช้ปัญญาเข้าใจ ยอมรับ เคารพความจริง ความถูกต้อง 


           ไม่ใช่ด้วยการสร้างมายาคติกลบเกลื่อนความจริง และบิดเบือนหลักการ เบี่ยงเบนความถูกต้องไปเสียแทบทุกอย่าง บิดเบือนหลักประชาธิปไตย นิติรัฐ นิติธรรม หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฯลฯ


            และบิดเบือนหลักศาสนารับใช้ชนชั้นปกครอง บิดเบือนธรรมะซึ่งเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องปฏิบัติเพื่อมีเสรีภาพจากพันธนาการภายนอกภายใน และเพื่อสันติภาพทางสังคม ให้กลายเป็นเพียง "เครื่องมือ" แสวงหาความสุขความสำเร็จแบบโลกย์ๆ เท่านั้น 
โดยละเลย "คุณค่าทางจิตวิญญาณ" และความเป็นมนุษย์ที่มีมโนสำนึกในความยุติธรรม
จนทำให้สังคมเราเป็นสังคมแปลกประหลาด เจ็บป่วยทางมโนธรรมและความมีเหตุผล ดัดจริต หลอกตัวเองไปวันๆ ดังที่เป็นกันมากในปัจจุบัน!
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น