วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ในสนามรบทางกฎหมาย


ในสนามรบทางกฎหมาย

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:30:50 น.
( ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 16 กรกฎาคม 2555 )

             คงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำถึงความไม่ชอบมาพากลที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญเอง และขัดต่อการตีความของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีมาก่อน ไปจนถึงการให้สัมภาษณ์ของประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ส่ออคติก่อนการสอบสวน

           ยิ่งกว่านี้ สองในตุลาการเคยให้สัมภาษณ์มาก่อนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยการตั้ง ส.ส.ร.อาจทำได้ ซึ่งขัดกับการตัดสินใจรับคำร้องในครั้งนี้

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า มันมีอะไรที่ใหญ่และสลับซับซ้อนกว่าประเด็นทางกฎหมายหรือวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ พลังฝ่ายอำมาตย์ไม่อนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อย่างน้อยก็ยังแก้ไม่ได้ในช่วงนี้

รัฐธรรมนูญนั้นไม่ค่อยมีความหมายมากนักแก่ฝ่ายผู้ถืออำนาจในเมืองไทย (มิฉะนั้นเราคงไม่มีรัฐธรรมนูญเกือบ 20 ฉบับหรอก) เพราะอาจตีความอย่างไรก็ได้ นอกจากนี้ฝ่ายผู้ถืออำนาจยังมีส่วนกำกับการร่างรัฐธรรมนูญเสมอ อย่างน้อยก็นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา โดยการต่อรองร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ถืออำนาจร่วมกัน หรือหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาการนำในกลุ่มผู้ถืออำนาจได้ ก็อาศัยการต่อรองผ่านกลุ่มดังกล่าวอีกทีหนึ่ง

ฉะนั้นถึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่น่าจะเป็นที่หวั่นวิตกอย่างไร
แต่ในร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอให้ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบการแก้ไข สถานการณ์ปัจจุบันทำให้เห็นได้ว่า เป็นการยากที่ฝ่ายผู้ถืออำนาจจะเข้ามากำกับได้ เพราะ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง (เป็นส่วนใหญ่) แม้แต่ผู้ทรงคุณวุฒิก็ยังถูกเลือกมาจากรัฐสภา ซึ่งอำนาจกำกับของฝ่ายผู้ถืออำนาจเบาบางลงมาก

รัฐธรรมนูญปี 2550 เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถืออำนาจกำกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้หลายทาง แม้ต้องทำโดยไม่ค่อยตรงกับหลักการประชาธิปไตยเท่าไรนัก แต่ก็ยังเป็นอำนาจกำกับที่ขาดไม่ได้ ฉะนั้นในช่วงนี้เป็นอย่างน้อย ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการสุ่มเสี่ยงเกินไปแก่ฝ่ายผู้ถืออำนาจ จึงต้องขัดขวาง

แม้กระนั้น วิธีที่ใช้ในการขัดขวางก็ไม่ค่อยจะ "เนียน" เท่าไรนัก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการขัดขวางร่าง พ.ร.บ. หรือคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งไม่ต้องการให้บรรลุผล เท่าที่ผ่านมาในอดีต หากไม่นับการรัฐประหารแล้ว ประสบการณ์ทางการเมืองที่สั่งสมมานานของฝ่ายผู้ถืออำนาจ จะรู้วิธีขัดขวางฝ่ายที่ไม่ร่วมอยู่ในผู้ถืออำนาจได้แนบเนียนกว่านี้มาก

แต่วิธีที่ไม่ "เนียน" นี้อาจเป็นวิธีเดียวที่เหลืออยู่ เพราะอย่างน้อยในช่วงระยะเวลานี้และอนาคตอันใกล้ การรัฐประหารเป็นเครื่องมือที่ใช้ไม่ได้ ขาดการยอมรับของชาติมหาอำนาจ (อย่างที่ศาสตราจารย์ลิขิต ธีรเวคิน กล่าวว่า ท่าทีของมหาอำนาจตะวันตก คือให้การยอมรับและต้อนรับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยอย่างเห็นได้ชัด) และก่อให้เกิดความวุ่นวายถึงขั้นจลาจลทางการเมือง ซึ่งจะยิ่งทำให้ประเทศไทยภายใต้การนำของฝ่ายผู้ถืออำนาจตกในสถานการณ์ย่ำแย่ลง

หลายคนเรียกการแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า "ตุลาการรัฐประหาร" ซึ่งก็จริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการรัฐประหารอย่างหนึ่ง คือการประหารรัฐด้วยการอ้างอำนาจที่ไม่มีในกฎหมาย แต่อย่างน้อย ก็ต้องอ้างกฎหมาย แม้จะอ้างอย่างข้างๆ คูๆ ก็ตาม แต่ก็ต้องอ้าง

ย้อนกลับไปคิดถึง พ.ศ.2476 เมื่อกำลังทหารฝ่ายคณะราษฎรยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เนื่องจากรัฐบาลนั้นได้ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ด้วยการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อันเป็นอำนาจฝ่ายบริหารที่ไม่มีกฎหมายใดรับรองให้ทำได้ ฝ่ายคณะราษฎรก็อ้างเหตุนี้ในการยึดอำนาจ กล่าวคือเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญเอาไว้

คณะราษฎรในขณะนั้น มิได้มีอำนาจเด็ดขาดไม่ว่าในทางทหารหรือทางการเมือง การอ้างกฎหมายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเสริมพลังอำนาจของฝ่ายตน
เช่นเดียวกับการทำรัฐประหารตุลาการในครั้งนี้ ที่ต้องอ้างกฎหมายก็เพราะไม่มีทางเลือกอื่น แสดงให้เห็นอำนาจอันจำกัดลงของฝ่ายผู้ถืออำนาจ

สภาพอำนาจที่ถูกจำกัดลงนี้ จะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ และนานเท่าไร คงเถียงกันได้ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่เชื่อว่าจะกลับมามีอำนาจกำกับการเมืองเหมือนเดิมได้อีก หากฝ่ายผู้ถืออำนาจมีสำนึกอย่างเดียวกันเช่นนี้

สิ่งที่ต้องปรับตัวคือต้องอาศัยกฎหมาย (แต่เพียงความหมายเผินๆ ทางอักษรศาสตร์ หรือบิดเบี้ยวในเชิงกระบวนการก็ตาม) เท่านั้น ในอันที่จะเข้ามากำกับการเมืองได้ในระดับหนึ่ง
ฉะนั้น "สนามรบ" ข้างหน้า คือกฎหมายและกระบวนการทางกฎหมาย สิ่งที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยควรทำ หลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้ชัดเจนว่า อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีขอบเขตเพียงไหน จะระบุลงไปให้ได้อายด้วยก็ได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราหรือทั้งฉบับ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองของประเทศ

จากนั้น ทางเลือกก็เป็นสองอย่าง หนึ่งคือนำการแก้ไขมาตรา 291 กลับมาพิจารณาใหม่ และผ่านสามวาระมาให้ได้โดยเร็ว

หรือสอง แก้ไขทีละมาตรา โดยเฉพาะมาตราที่ขัดหลักการประชาธิปไตยโดยตรง เช่น ส.ว.ทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้ง, องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ไม่มีองค์กรใดๆ สามารถ "ส่ง" ตัวแทนของตนมานั่งในตำแหน่ง โดยปราศจากการตรวจสอบและอนุมัติของประชาชน หรือองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชน, ทำให้ผลพวงของการรัฐประหารเป็นหมันลงทั้งหมด แต่ไม่ตัดสิทธิในการฟ้องร้องบุคคลใดๆ ตามกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ เป็นต้น

แต่ประชาชนไม่มีเครื่องมือใดๆ ที่จะต่อสู้ใน "สนามรบ" ทางกฎหมายเลย ยกเว้นแต่พรรคเพื่อไทย ในขณะที่ก็เห็นแล้วว่าพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการเป็นเครื่องมือให้ประชาชน เท่ากับเป็นเครื่องมือให้พี่ชายนายกฯ และบริษัทบริวาร ฉะนั้นก่อนจะเข้าสู่ "สนามรบ" ทางกฎหมาย ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ต้องช่วยกันคิดหาวิธีที่จะควบคุมพรรคเพื่อไทยให้ได้ และเท่าที่ผมคิดได้เวลานี้ เราควรมุ่งพยายามไปในทิศทางต่อไปนี้


  • 1.ต้องสร้างสื่อขึ้นมาแข่งกับพรรคเพื่อไทย ปัจจุบันพรรค พท.อุดหนุนและกำกับควบคุมวิทยุชุมชน และทีวีดาวเทียมได้หลายสถานี ส่วนสื่อออนไลน์ยังค่อนข้างเป็นอิสระกว่ากันมาก ฉะนั้นต้องหาทางลดอิทธิพลของสื่อเพื่อไทยลง โดยไม่จำเป็นต้องสร้างความเป็นศัตรูกัน แต่ต้องถ่วงดุลเนื้อหาที่ใช้บิดเบือนความประสงค์ทางการเมืองของประชาชนลงเสียบ้าง (เช่นต้องเอาทักษิณกลับบ้านโดยเร็ว แม้ต้องข้ามศพประชาชนไปอย่างเลือดเย็น เพราะการทำสงครามต้องมีแม่ทัพ เป็นต้น) ฉะนั้นต้องมีทุนบ้าง แม้ไม่มากถึงขนาดจะสร้างสถานีทีวีดาวเทียมแข่งขัน แต่เราอาจเปิดเว็บไซต์เพิ่มเนื้อหาที่เป็นอิสระให้มากขึ้น และอาจเปิดวิทยุชุมชนหรือแบ่งเวลาของวิทยุชุมชนมาจัดเองได้บ้าง ตามแต่กรณี นโยบายว่าต้องไม่แตกกับพรรคเพื่อไทยนั้น ต้องไม่หมายถึงว่า ประชาชนจะควบคุมพรรคการเมืองของตนเองไม่ได้ ต้องปล่อยให้พรรคทำเละเทะไปตามใจชอบ เพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวกเท่านั้น
  • 2. หากจะมีการเลือกตั้งซ่อมครั้งใด ประชาชนควรกดดันให้พรรคเพื่อไทยจัด "ไพรมารี่" หรือให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดผู้สมัคร หากพรรคไม่ทำ ประชาชนจะลงคะแนนเสียงไม่ประสงค์ใช้สิทธิ พรรคเพื่อไทยอาจเสีย ส.ส.ในสภาไปหนึ่งเสียง แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังปลอดภัยในทางการเมืองอยู่ ในขณะที่เราสามารถให้บทเรียนแก่พรรคได้ ซึ่งสำคัญกว่าอื่นใดทั้งหมด
  • 3. ประชาชนควรระแวงแกนนำเดิมให้มาก เพราะแต่ละคนล้วนได้ประโยชน์ทางการเมืองจากพรรคเพื่อไทยเกือบทั้งสิ้น อย่างน้อยก็ได้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีช่วย หรือที่ปรึกษา คนเหล่านี้ย่อมมองประโยชน์ของพรรคเพื่อไทยเหนือกว่าประโยชน์ของประชาชนและประชาธิปไตย คงจำได้ว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้การในศาลรัฐธรรมนูญว่า พรรคเกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดงแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น


ผมเสนอให้ช่วยกันคิดให้ตลอดลุล่วงยิ่งๆ ขึ้นไป  
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น