วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อยากให้ลูกเป็นผู้พากษา ฟังทางนี้


             สมัยก่อนใครๆ ก็อยากให้ลูกเป็นหมอ สมัยนี้หมอไม่ฮิตเหมือนเดิมแม้ยังเป็นอันดับต้นๆ แต่สู้หมอหมาก็ไม่ได้ เพราะผู้ป่วยที่เป็นคนดันมีปากมีเสียง กล้าต่อว่าต่อขาน นิดๆ หน่อยๆ แค่ลืมกรรไกรไว้ในท้องก็จะฟ้องกันเป็นสิบล้าน นโยบาย 30 บาทก็ทำให้ตาสีตาสาหัวแข็ง มาทวงสิทธิว่าหมอต้องรักษา ไม่มายกมือไหว้ปลกๆ ขอความกรุณา เห็นหมอเป็นพ่อพระแม่พระเหมือนอดีต เด็กรุ่นใหม่เลยนิยมไปเป็นหมอหมา หมอฟัน หรือหมอสิว หมอเสริมนมเสริมจมูกกันดีกว่า

            ผมเคยมีธุระต้องไปคลินิกพวกนี้ เห็นหมอสาวสวยแล้วตกตะลึง ยังกะเดินออกมาจากแคตตาล็อกศัลยกรรม เพื่อนสมัยเรียนมัธยมไม่มีทางจำได้

            ส่วนสายศิลป์ ช่วงก่อนนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ยอดฮิต เพราะเป็นยุคเห่อดารา อยากทำโฆษณา ทำทีวี ทำละครทำหนัง แต่เกือบสิบปีมานี้ นิติศาสตร์พุ่งพรวดพราดเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเข้าสู่ยุค “ตุลาการภิวัตน์” เป็นใหญ่ เงินเดือนข้าราชการสายนิติศาสตร์พุ่งพรวดพราด ตามการปรับเงินเดือนผู้พิพากษาซึ่งไม่กี่ปีก็ได้เงินเป็นแสน

            ผู้พิพากษาได้ปรับเงินเดือนครั้งใหญ่ ดูเหมือนจะเป็นปี 2538 ในรัฐบาลชวน 1 ที่ประมาณ ชันซื่อ เป็นประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นยุคที่นักการเมืองเกรงใจผู้พิพากษา ทั้งยังสำนึกในความยุติธรรมของศาลฎีกาที่วินิจฉัยให้คำสั่งยึดทรัพย์ คตส.ชุดปู่สิทธิ จิรโรจน์ เป็นโมฆะ (ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ฮิฮิ) ผู้พิพากษาบางท่านเล่าให้ฟังว่า ศาลยื่นบัญชีเงินเดือนเข้าไป 3 บัญชี บัญชีสุดท้ายทำไว้เผื่อฟลุค พูดอีกอย่างคือดีดตัวเลขไว้สูงๆ เพื่อต่อรองให้ได้บัญชีที่ต้องการ ที่ไหนได้ รัฐบาลและรัฐสภาดันอนุมัติบัญชีสุดท้าย ผู้พิพากษาดีใจแทบช็อก

Judge hammer             เงินเดือนศาลพุ่งพรวด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเงินเดือนมากกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งอันที่จริง ตั้งแต่สมัยพระองค์เจ้ารพีฯ ท่านก็ให้เงินเดือนผู้พิพากษาสูงกว่าข้าราชการทั่วไปอยู่แล้ว เพราะผู้พิพากษาห้ามรับจ็อบ ห้ามมีอาชีพเสริม หารายได้พิเศษได้อย่างเดียวคือเขียนตำราขาย หรือรับเชิญไปบรรยายเป็นอาจารย์พิเศษ แม้แต่บุตรภรรยายังห้ามประกอบอาชีพที่ขัดต่อจรรยาตุลาการ จะไปรับเหมาถมดินเหมือนเมียตำรวจ หรือเป็นนายหน้าค้าที่ดินเหมือนเมียผู้ว่าฯ บุรพตุลาการท่านห้ามเด็ดขาด

            ผู้พิพากษาจะเงินเดือนสูงกว่าอัยการอยู่ขั้นหนึ่งตลอด เพราะอัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด สามารถไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจรับทรัพย์อู้ฟู่กว่าประธานศาลฎีกาหลายเท่า

            เพียงแต่เมื่อก่อน เงินเดือนศาลยังไม่สูงโต่งจนห่างไกลข้าราชการธรรมดาถึงเพียงนี้ ข้ออ้างของศาลคือ ประธานศาลฎีกาเป็นประมุขฝ่ายตุลาการ ควรมีเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเท่านายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ทั้งที่ความจริงภาระหน้าที่ต่างกัน นายกฯ ประธานสภา หรือรัฐมนตรี เป็นบุคคลสาธารณะประเภทที่ต้องออกงานสังคม เยี่ยมเยียนประชาชน รับแขกบ้านแขกเมือง ขณะที่ประธานศาลฎีกาเขาให้สมถะ กินน้ำเปล่าอยู่บ้าน (หรือกินเหล้าอยู่บ้าน ก็แล้วแต่)

            แต่เอาเถอะ ถือว่าประมุข 3 ฝ่ายมีศักดิ์ศรีเท่าเทียม ปัญหาคือบัญชีตำแหน่งรองๆ ลงมาสิครับ ไม่เหมือนฝ่ายบริหารที่มีช่องถ่างกว้าง จากนายกฯ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ซี 9 ซี 8 จนมาถึงซี 3 ที่เข้ารับราชการใหม่ๆ มีขั้นเยอะมาก ขณะที่เงินเดือนผู้พิพากษามีแค่ 5 ชั้น ทำงานไม่กี่ปี ก็ 4-5 หมื่นแล้ว

            เงินเดือนผู้พิพากษาปรับครั้งล่าสุด เมื่อปี 2551 (ทยอยปรับตามค่าครองชีพ) คือประธานศาลฎีกา 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 ประธานศาลฎีกาเป็นตุลาการชั้น 5 แต่ผู้เดียว รองลงมาตุลาการชั้น 4 ได้แก่ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค เงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท ตุลาการชั้น 3 ได้แก่รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เงินเดือน 69,810 บาท เงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท            ตุลาการชั้น 3 ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ เงินเดือน 67,560 บาท เงินประจำตำแหน่ง 30,000 บาท


            เห็นไหมว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด เงินเดือนเหยียบแสนนะครับ สูงกว่าผู้ว่าฯ อีก เราอาจกล่าวได้ว่าเพื่อป้องกันผู้พิพากษาทุจริต ส่วนผู้ว่าฯ ปล่อยให้ไปหาอาหารเอง

            ตุลาการชั้น 2 ได้แก่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ไล่ไปตั้งแต่ 53,060 บาท 48,200 บาท 40,890 บาท 36,410 บาท 32,110 บาท โดยมีเงินประจำตำแหน่ง 23,300 บาท ส่วนตุลาการชั้น 1 ผู้พิพากษาประจำศาล มีอัตราเงินเดือนตั้งแต่ 29,980 บาท 27,850 บาท 25,770 บาท เงินประจำตำแหน่ง 19,000 บาท ผู้ช่วยผู้พิพากษา บรรจุมาซิงๆ 17,560 และ 18,950 บาท            นอกจากนี้ ข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ไม่ใช่ตุลาการ ยังได้เงินเพิ่มพิเศษ ตั้งแต่ 4,500 บาท ถึง 20,000 บาท


            โอเค เงินเดือนผู้พิพากษา ตอนนั้นน่าจะสองพันกว่าคน ตอนนี้สี่พันกว่าคน ก็ไม่เท่าไหร่ แต่ปัญหาที่เกิดตามมากับหน่วยงานอื่นสิครับ อัยการออกมาโวยวายว่าสมองไหล หนีไปสอบผู้พิพากษากันหมด พวกนิติกรตามหน่วยงานรัฐบาล วันๆ ไม่เป็นอันทำงาน เอาแต่อ่านหนังสือสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา

           สุดท้ายรัฐบาลทักษิณก็ปรับเงินเดือนให้อัยการ เทียบเคียงผู้พิพากษา รวมทั้งตั้งเงินเพิ่มให้นิติกร นักกฎหมาย ในหน่วยงานต่างๆ โดย ก.พ.อ้างว่าเป็นวิชาชีพขาดแคลน ขาดแคลนที่ไหน เด็กจบนิติเตะฝุ่นเยอะแยะ สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยสำรวจพบว่า เด็กจบนิติปริญญาตรีไม่ได้ทำงานมีจำนวนมาก พากันไปเรียนโท เรียนเนติบัณฑิต อบรมเป็นทนาย ฯลฯ มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เปิดกันไม่นับ นอกจากมหา’ลัยปิดของรัฐ ราม สุโขทัย ยังมีสถาบันราชภัฏทั่วประเทศ มหา’ลัยเอกชนทุกแห่ง ตั้งแต่ ม.หัวแถว หางแถว ห้องแถว ศูนย์การค้า เพราะต้นทุนต่ำ มีตึกหลังเดียวก็เปิดสอนนิติศาสตร์บัณฑิตได้แล้ว

           ไม่ใช่แค่ขึ้นเงินเดือนศาล อัยการ นิติกร พอตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ปปช.กกต.สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิ ก็ยึดบัญชีเงินเดือนศาลเป็นแม่แบบ ประธานทุกองค์กรต้องได้เงินเดือนเทียบเท่าประธานศาลฎีกา            อัตราเงินเดือนที่เอามาเทียบ ไม่ใช่เฉพาะตัวกรรมการ แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย ตอนนั้นข้าราชการวิ่งเต้นกันขาขวิดเพื่อโอนไปอยู่องค์กรอิสระ


            เงินเดือนผู้พิพากษาทำให้อัยการได้ขึ้นทั้งระบบ เช่น อัยการสูงสุด 67,060 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท น้อยกว่าประธานศาลฎีการาว 20,000 บาท (แต่เป็นบอร์ด ปตท.รับปีละเป็นล้าน) อัยการระดับรองๆ ลงมาก็รับลดหลั่นกันไป ข้าราชการที่ไม่ใช่อัยการ ได้เงินเพิ่ม 3,900 ถึง 11,700 บาท

            ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง กกต. ปปช. สตง.เหมือนกันหมด และกำหนดเงินเพิ่มพิเศษให้ข้าราชการ 4,500-20,000 บาท อัตราเดียวกับศาลยุติธรรม

            สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ใช้หลักวิชาตีความเหมือนศาล นักกฎหมายกฤษฎีกา ระดับ 8-11 จะได้เงินเพิ่ม 40,000 บาท ระดับ 6-7 ได้เงินเพิ่ม 35,000 บาท ระดับ 4-5 ได้เงินเพิ่ม 25,000 บาท

            นิติกรทั่วไป ก.พ.ก็เพิ่มให้ 3,000-6,000 บาท แม้แต่ตำรวจ ก็มีเงินเพิ่มให้พนักงานสอบสวน เดือนละ 12,000 บาท พนักงานสอบสวนชำนาญการ, ชำนาญการพิเศษ, ผู้ทรงคุณวุฒิ, เชี่ยวชาญ, เชี่ยวชาญพิเศษ ไล่ตั้งแต่ 14,400 ไปจน 30,000 บาท ขณะที่ตำรวจฝ่ายอื่นไม่ได้ หรือได้น้อยกว่า

            กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ระดับ 6 ไล่ถึงระดับ 10 มีเงินเพิ่ม 20,000-42,000 บาท เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ระดับ3-8 มีเงินเพิ่ม 10,000-26,250 บาท

            ข้าราชการสายนิติศาสตร์กลายเป็นอภิสิทธิ์ชน สร้างความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมกับข้าราชการฝ่ายอื่น (ทั้งที่สมัยก่อน คนสอบเข้านิติศาสตร์ก็คะแนนเท่าหรือบางแห่งต่ำกว่ารัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ด้วยซ้ำ ไม่ต้องพูดถึงหมอหรือนิเทศ) ข้าราชการธรรมดากลายเป็นพลเมืองชั้นสองหรือชั้นสาม ใครมีเส้นสายมีปัญญา ก็พยายามวิ่งไปอยู่องค์กรอิสระ องค์การมหาชน ซึ่งตั้งขึ้นเพียบในยุคทักษิณ ให้เงินเดือนเทียบเท่าเอกชน โดยหวังจะให้ทำงานขยันขันแข็งเหมือนเอกชน แต่ไปๆ มาๆ มันก็ระบบราชการนั่นแหละ
             พวกครูโชคดีหน่อย ได้แยกบัญชีเงินเดือนครู มีค่าวิทยฐานะ สมมติไปจ้างทำผลงานส่ง (มีให้จ้างเกร่อ) จนได้ครูผู้เชี่ยวชาญ ก็จะได้เงินเพิ่มเดือนละ 9,900 บาท ส่วนทหารไม่ต้องห่วงครับ ทหารก็มีบัญชีแยกพิเศษ แถมแจกอัตราจอมพล อัตรานายพล กันเกร่อ ทหารไม่เหมือนข้าราชการประเภทอื่นที่เวลาจะขึ้นเป็นผู้ชำนาญการ ผู้ชำนาญการพิเศษ ยังต้องสอบ แต่ทหารไม่ต้องสอบ เขาก็ให้กันได้หน้าตาเฉย

             ปัจจุบันยังมีระบบ fast tract สำหรับลูกคนรวยหรือลูกข้าราชการระดับสูงที่มีกะตังค์ส่งไปเรียนนอก คนหนุ่มคนสาวทายาทตระกูลใหญ่ เผลอแป๊บเดียวเป็นซี 7 ซี 8 แต่เขาคงจะเก่งจริงนะ เพราะพ่อแม่มีตังค์ส่งเรียนดีๆ ตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น จ้างวงออเคสตรามาบรรเลงให้ฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง สมัยนี้ไม่มีแล้ว เด็กอัจฉริยะจากเมืองตรังมาอาศัยอยู่กับหลวงพี่เพื่อเรียนหนังสือ กลายเป็นนิทานปรัมปราไปแล้ว

             ทางหนีอีกทางของข้าราชการยังได้แก่ หนีไปสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น ใครว่าไม่มีอนาคตก็ช่าง เงินดีกว่า สวัสดิการดีกว่า งานเบากว่า ดีกว่าทำงานงกๆ เป็น “ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน” ทั่วไป

            สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนข้าราชการ ให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ใช่ทำฉาบฉวยแค่ปริญญาตรี 15,000 ซึ่งยิ่งทำให้ลักลั่นไปอีก เพราะไม่ได้ปรับฐานจริง แต่ใครเงินเดือนไม่ถึง 15,000 ก็ให้เงินเพิ่มเป็น 15,000 ข้าราชการทำมะดาที่ทำงานมาหลายปี ได้เงินเดือนเกิน 15,000 ไม่ได้อะไรเลย

             แต่อย่างว่าละครับ สมมติปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง กกต.ปปช.สตง. ฯลฯ องค์กรพิเศษทั้งหลายก็จะร้องแรกแหกระเชอขอปรับให้สูงขึ้นไปอีก เป็นงูกินหางไม่รู้จบ

ใหญ่ เล็ก จิ๋ว

             นิติศาสตร์กลายเป็นคณะยอดนิยม คะแนนสูงเป็นอันดับหนึ่ง พลาดจากผู้พิพากษายังไปเป็นอัยการ เป็นนิติกร เป็นพนักงานศาลปกครอง กกต.ปปช. ฯลฯ (แต่คงมีน้อยคนที่อยากเป็นนิติราษฎร์)

             กระนั้น ยอดปรารถนาสูงสุดคือผู้พิพากษา ใครจะไม่อยากเป็นละครับ เงินเดือนสูง อำนาจมาก มากจนล้นเหลือ เข้าสังคมไหนคนก็เกรงใจ ยกย่อง ให้เกียรติ แถมกลัวอยู่ลึกๆ “ข้าแต่ศาลที่เคารพ” ตำรวจรึ กระจอก!ตำรวจว่าใหญ่คับ เจอศาลต้องอ่อนน้อมค้อมหัวสองมือกุมไข่ สื่อมวลชนรึ กร่างไปทั่ว ด่านักการเมืองฉอดๆ ขึ้นศาลไข่สั่นพั่บๆ

             ศาลอาญาประหารชีวิตคนได้ ไม่ทุจริตก็ติดคุกได้ ศาลแพ่งชี้ขาดคดีมรดกพันล้านหมื่นล้าน ศาลปกครองชี้อนาคตธุรกิจโทรคมนาคมแสนล้าน ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเปลี่ยนรัฐบาลได้ ทุกศาล เว้นแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ใครวิพากษ์วิจารณ์ไม่เข้าที ก็มีโทษถึงติดคุก (ส่วนศาลรัฐธรรมนูญใครวิพากษ์วิจารณ์ก็ไปร้องให้ถอนประกันได้)

             วัฒนธรรมไทยที่ยกย่องนับถือคนมีหน้ามีตาก็เริ่มเปลี่ยน สมัยก่อน ต้องเชิญผู้ว่าฯ นายพล เป็นประธานงานเลี้ยงงานแต่ง เผาศพ เดี๋ยวนี้เราเริ่มเห็นภาพท่านผู้พิพากษาลงหน้าข่าวสังคม เป็นเจ้าภาพ เป็นผู้มีเกียรติ ไปร่วมอบรม สัมมนา สังสรรค์ กับข้าราชการ พ่อค้า ทั้งที่บุรพตุลาการสอนให้ทำตัวสันโดษ สมถะ ออกงานสังคมเท่าที่จำเป็น และไม่ควรอยากมีหน้ามีตา (ซึ่งขอตั้งข้อสังเกตว่าเริ่มเปลี่ยนไปในระยะ 10-20 ปีนี้เอง)

             อย่างไรก็ดี ใครอยากเป็นผู้พิพากษาก็ต้องผ่านด่านยากเย็นแสนเข็ญ นั่นคือหลังจบนิติศาสตร์แล้ว ต้องสอบเนติบัณฑิตให้ได้เสียก่อน จบเนฯ แล้วยังต้องไปประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี เช่น เป็นนิติกร เป็นอาจารย์กฎหมาย เป็นทนายความ (ซึ่งต้องมีใบรับรองของสภาทนายว่าได้ว่าความมาแล้วเท่านั้นเท่านี้ทั้งคดีแพ่งคดีอาญา) จากนั้นเมื่ออายุครบ 25 แต่ไม่เกิน 35 จึงมีสิทธิสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา

             ซึ่งยากเย็นแสนเข็ญ คิดดูว่าเด็กจบนิติปีละกี่หมื่น รับผู้ช่วยผู้พิพากษาครั้งละไม่กี่สิบคน (ได้ยินว่าครั้งก่อนสอบ 2 หมื่น สอบได้แค่ 50 คน) แถมไม่ได้เปิดสอบทุกปี อย่างมติ ก.ต.ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2524 ให้เปิดสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาโดยแจกใบสมัครปลายปี 2555 รับสมัครต้นปี 2556

             กระนั้น ช่องทางสำหรับคนอยากเป็นผู้พิพากษาก็ไม่ได้มีแค่ช่องทางเดียว เพราะปัจจุบันยังมีอีก 2 ช่อง นั่นคือสนามสอบสำหรับผู้ที่จบปริญญาโท และสนามสอบสำหรับผู้ที่จบปริญญาเอก หรือจบโทจากเมืองนอก ซึ่งเรียกกันว่า “สนามเล็ก” และ “สนามจิ๋ว” โดยช่องทางเดิมเรียกกันว่า “สนามใหญ่”

              สำนักงานอัยการสูงสุดก็ใช้เกณฑ์เดียวกันในการสอบอัยการผู้ช่วย

            “สนามเล็ก” มีเงื่อนไขหลายข้อ เช่นคนจบปริญญาตรีจากเมืองนอก ที่ ก.ต.รับรอง คนจบโทหรือเอกในเมืองไทย ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายไม่น้อยกว่า 1 ปี คนสอบเนฯ ได้เกียรตินิยม ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายไม่น้อยกว่า 1 ปี

             ซึ่งที่เพิ่งสอบกันไป ประกาศผลแล้ว มีผู้เข้าสอบ 2,509 คนสอบข้อเขียนได้ 35 คน ในผู้สอบได้มีนามสกุลดังๆ อยู่หลายคน แต่อย่าวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเส้นสาย เพราะดูประวัติการเรียนแล้วน่าจะเก่ง ยกตัวอย่าง ลูกอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรายหนึ่ง ก็เกียรตินิยมจากนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หลานสาว (หรือเปล่าไม่ทราบ) นามสกุลอดีตประธานศาลฎีกา ก็จบตรีและโทจากนิติฯ จุฬาฯ ลูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรายหนึ่ง ที่เสื้อแดงกล่าวหาว่าตั้งลูกชายเป็นเลขาฯ ก็สอบเนฯ ได้ที่ 121 จากผู้สอบได้ 991 คน

            ถ้าจะมีปัญหาบ้าง ก็คือมหาวิทยาลัยต่างๆ พอศาลเปิดสนามเล็ก ก็เปิดหลักสูตรปริญญาโทกันขนานใหญ่ บางแห่งให้จบง่าย ทำให้คุณภาพของปริญญาโทด้อยลง แม้มหาวิทยาลัยหลักๆ ยังเคี่ยวเข้มผ่านยากอยู่

           ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเยอะกว่าคือ “สนามจิ๋ว” ซึ่งรับคนจบปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ รับคนจบปริญญาโทจากต่างประเทศ ที่ ก.ต.กำหนดว่าต้องเรียน 2 ปี


            ตรงนี้เป็นตลกเล็กๆ เพราะหลักสูตร LL.M.ไม่ว่าอังกฤษ อเมริกา เขาเรียนกัน 9 เดือน ฉะนั้นคนมีสิทธิสอบสนามจิ๋ว จึงต้องเรียนให้ได้ปริญญาโท 2 ใบ (ต้องได้วิชาครบตามตามที่ ก.ต.กำหนดด้วย ใบเดียวไม่ได้อยู่ดี)

            “สนามจิ๋ว” เปิดเพราะศาลต้องการผู้พิพากษาที่เก่งภาษาอังกฤษ มีความรู้เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังเปิดรับผู้ที่จบวิชาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ พยาบาล เภสัช วิศวะ สถาปัตย์ เพื่อให้มีผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รองรับคดีฟ้องร้องกันทางการแพทย์หรือการก่อสร้าง

            เจตนาท่านดี แต่ผลออกมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ถ้าใครอยากให้ลูกเป็นผู้พิพากษา ก็กัดฟันส่งลูกไปเรียนเมืองนอกซัก 2 ปี ลงทุน 3-4 ล้านบาท กลับมาสอบสนามจิ๋ว ถึงจะต้องสอบข้อเขียน สอบปากเปล่า เหมือนสนามใหญ่ สนามเล็ก แต่ผลที่ออกมา ปรากฏว่าสอบ 100 ผ่านถึง 90 คน!


            เรียนอเมริกา 1 ปีลงทุนประมาณ 7 หมื่นดอลลาร์ ค่าเงินปัจจุบันก็ 2 ล้านกว่าบาท อังกฤษช่วง 2-3 ปีก่อนค่าเรียนถูกกว่า ตกประมาณปีละ 1.4 ล้าน รัฐบาลเดวิด คาเมรอน เพิ่งขึ้นค่าเรียนสูงหน่อยแต่ 2 ปีก็ไม่น่าถึง 4 ล้าน

            คุ้มค่าการลงทุนสำหรับพ่อแม่ ลูกมีอาชีพมั่นคง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีอำนาจ อยู่ในสถานะสูงส่ง ทำงานไม่กี่ปี เงินเดือนแสน อยู่ในตำแหน่งไปจนอายุ 70 จึงเกษียณ คิดดูนะครับ ลงทุน 2 ปี กินยาว 45 ปี

             ไม่ต้องเรียนเก่งมาก ขอแค่พอใช้ได้ สอบเนฯ ผ่านลำดับที่ 1-500 บินไปเรียนเมืองนอกทันที แถมปริญญาโทอเมริกา อังกฤษ ถ้าเลือกเรียนถูกที่ ไม่แส่ไปเรียนฮาวาร์ด ออกซ์ฟอร์ด ก็ยังจบง่ายกว่าเรียนโทที่ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ  (ก.ต.กำหนดมหาวิทยาลัย เช่นในอังกฤษ18 แห่ง ในอเมริกา 60 กว่าแห่ง แต่ก็ไม่ยากเย็นแสนเข็ญนัก) ได้ปริญญา 1 ใบ ถ้าสนามเล็กเปิดสอบ ก็มาสอบสนามเล็กก่อน ถ้าไม่ได้ ก็เอาอีก 1 ใบสอบสนามจิ๋ว

             พูดอีกอย่างคือ มีเงิน 3-4 ล้านก็ “ซื้อโอกาส” เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ง่ายกว่าไอ้ไข่นุ้ย ลูกตาไข่หมูก ที่ขึ้นรถไฟมาเรียนนิติศาสตร์ ราม เอาน้ำราดหัวตั้งหน้าตั้งตาท่องกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา วิแพ่ง วิอาญา

             แล้วว่ากันว่า คนสอบสนามจิ๋วได้ จำนวนไม่น้อยก็เป็นลูกผู้พิพากษาหรืออัยการชั้นผู้ใหญ่นั่นแหละครับ เปล่า ไม่ได้เล่นเส้น แต่เพราะพวกท่านรู้ช่องทางเงื่อนไขดีกว่าคนอื่น พวกลูกพ่อค้าลูกอาเสี่ยยังรู้ทีหลัง ผู้พิพากษาอัยการพอรู้ว่ามีสอบสนามจิ๋ว เงินเดือนเป็นแสนอยู่แล้ว ก็กัดฟันส่งลูกเรียนนอก ปุ๊บปั๊บกลับมาสอบได้สบายไป


            ทั้งนี้เพราะเป็นที่รู้กันว่า ข้อสอบสนามเล็กง่ายกว่าสนามใหญ่ ข้อสอบสนามจิ๋วง่ายกว่าสนามเล็ก เน้นภาษาอังกฤษมากกว่าแพ่ง อาญา วิแพ่ง วิอาญา กระทั่งถูกวิจารณ์ว่า ผู้พิพากษาที่ผ่านสนามใหญ่ มีประสิทธิภาพในการพิจารณาคดีมากกว่า
            “...ผมก็เห็นด้วยนะครับว่าคนที่ไปเรียนนอกบางคนเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆครับ แต่ก็เป็นเฉพาะรุ่นแรกๆนะครับ ในระยะหลังเริ่มจะไม่เป็นแบบนั้นแล้วครับ เท่าที่ผมได้สดับรับฟังมากจากภายในศาลสูงที่ผมทำงานอยู่ ว่าในระยะหลังผู้ที่สอบได้สนามจิ๋วไม่ได้เก่งดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา เขาดูจากประสิทธิภาพในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ความแม่นยำในการปรับใช้หลักกฎหมาย (ศาลก็มีการประเมินการทำงานนะครับ) กล่าวโดยประมาณ คือ สนามใหญ่ 100 สนามเล็ก 50-60 สนามจิ๋วจะประมาณ 30-40 บางคนอาจบอกว่าสนามจิ๋วได้เนติอันดับต้นๆเลยต้องเก่งกว่าสิ ใช่ครับ คนพวกนี้ก็อาจเก่งกว่าจริงครับ แต่ก็ในช่วงนั้นเท่านั้นครับ แต่หลังจากนั้นพวกเขาไม่ได้จับกฎหมายไทยเลย แล้วจะสู้คนที่เขาอ่านทุกวันจับทุกวันได้เหรอครับ เพราะการสอบเราสอบกฎหมายไทยนะครับ ไม่ใช่กฎหมายนอก แต่ถ้าเรื่องความสามารถในด้านภาษาก็ต้องยกให้สนามจิ๋วครับ ดังนั้น สิ่งที่ศาลสูงเห็นก็เช่นเดียวกับทุกๆท่าน คือกำลังจะยกมาตรฐานความรู้ทางกฎหมายในชั้นสนามจิ๋วให้มากขึ้น ต่อไปไม่มีแบบว่าสมัคร 100 รับ 90 อีกแล้วครับ ความเข้มข้นก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 100 อาจจะรับ 30-40 หรือน้อยกว่านี้ เพราะความจำเป็นในด้านภาษาเริ่มน้อยลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่เก่งภาษาอยู่แล้ว อีกทั้งศาล อัยการ ก็มีทุนภายในให้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเห็นว่าตอนนี้แนวโน้มไม่ได้ไปทางพวกจบนอกแล้วนะครับ แต่กลับไปทางพวกจบสายอาชีพอื่นเสียมากกว่า เช่น หมอ บัญชี วิศวะ วิทยาศาสตร์ เหมือนต่างประเทศ เครดิตพวกนี้จะดีกว่าสนามจิ๋วอีกนะครับ(เท่าทีผมได้ยินมานะครับ)....”

             นี่ผมก๊อปมาจากเว็บบอร์ดนักกฎหมาย ซึ่งฟังแล้วผู้โพสต์น่าจะเป็นผู้พิพากษา หรือคนในศาล เพิ่งโพสต์เมื่อ 2 เดือนนี่เอง ผมไม่ยืนยันว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้อง เพราะบางคนก็แย้งว่า สนามเล็กสนามจิ๋วเก่งกว่าเพราะเรียนปริญญาโทต้องเรียนเชิงคิดวิเคราะห์มากกว่า แต่ส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่า สนามเล็ก โดยเฉพาะสนามจิ๋ว สอบผ่านง่ายกว่าจริงๆ หลายคนเคยสอบสนามใหญ่มาแล้ว สอบตก แต่ไปสนามจิ๋ว กลับได้

             ผู้โพสต์บอกว่า ศาลเองก็มองเห็นปัญหา และต้องเข้มงวดมาตรฐาน “สนามจิ๋ว” ให้เข้มขึ้น แต่ที่ผ่านมาละครับ

            ที่จริงผมเห็นด้วยนะว่า ศาลต้องรับผู้พิพากษาที่เก่งภาษาอังกฤษ และเรียนจบจากต่างประเทศบ้าง เพราะคนไปเรียนเมืองนอก จะได้เรียนรู้รากฐานกฎหมายหลายด้านที่เราเอามาจากฝรั่ง เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา, กฎหมายล้มละลาย พวกนี้เราก็เอามาจากอเมริกา กฎหมายเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ คนเรียนเมืองนอกได้เปรียบอยู่แล้ว

             แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือการรับผู้พิพากษาสนามเล็ก สนามจิ๋ว มีสัดส่วนตรงตามความต้องการของศาลหรือเปล่า เมื่อเทียบกับสนามใหญ่ เพราะศาลอาจต้องการผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษไม่มากนัก แต่ต้องการผู้พิพากษาคดีแพ่งคดีอาญาทั่วไปจำนวนมาก เนื่องจากคดีที่คั่งค้างอยู่ในเวลานี้ ความล่าช้าคือความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง เอ้า ยกตัวอย่างนะครับ ศาลฎีกายกฟ้องคดีธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ฟ้องหมิ่น ASTV หลังพิจารณาคดีกันมา 13 ปี ถ้าเป็นคนธรรมดาสามัญจะสู้คดีกันถึงที่สุดอย่างนี้ไหม ใครถูกผิดใครเสียหายเราควรจะรู้กันให้ชัดเจนในเวลาไม่เกิน 2-3 ปี

ทำไมศาลจึงรับสนามใหญ่น้อยจัง เข้มงวดมาตรฐาน แต่กลับผ่อนคลายให้สนามเล็ก สนามจิ๋ว แถมมีบางคนบอกว่าจบการค้าต่างประเทศ แต่ไปอยู่ศาลอาญา


              โดยหลักการแล้วใช่ครับ จบโทเมืองนอก จบการค้าต่างประเทศ ก็ต้องไปอบรมก่อน (หลังสอบได้ไม่ว่าสนามไหน ศาลจะเอาไปเข้าค่ายเก็บตัว 1 ปี อบรมวิธีการดำรงตน อบรมวิธีเขียนคำพิพากษา ติวความรู้กันอีกรอบ เก็บตัวโหดด้วยนะ เพราะต้องไปอยู่หอ ห้ามกลับบ้าน พอๆ กะค่ายทหาร) จากนั้นก็ควรไปอยู่ศาลแพ่ง ศาลอาญา ทำคดีทั่วไป สัก 2-3 ปี แล้วค่อยไปตามสายงานที่ตัวถนัด

               เพียงแต่คนนอกไม่รู้ว่าศาลจัดระบบกันอย่างไร รับสนามจิ๋วไปอยู่ศาลเชี่ยวชาญเฉพาะ หรือว่ารับสนามจิ๋วแล้วกลายเป็นแย่งเก้าอี้สนามใหญ่ ศาลรับสนามจิ๋วมากเกินหรือเปล่า รับสนามใหญ่น้อยไปหรือเปล่า ตรงนี้คนนอกไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องการบริหารจัดการบุคคลากรของศาล

แต่ภาพออกมาที่มันคาใจคือ ใครส่งลูกไปเรียนโทเมืองนอก 2 ปีกลับมาได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษากันเกือบหมด ขณะที่ลูกคนจนคนธรรมดาสามัญแก่งแย่งกันแทบตายเพื่อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามใหญ่


             ในมุมหนึ่งก็มีคำถามว่าทำไมศาลไม่เปิดสอบสนามเดียว แข่งกันแฟร์ๆ แล้วใครเก่งอังกฤษ หน่วยก้านเข้าที ค่อยส่งไปเรียนเมืองนอกเอง อาจมีข้อโต้แย้งว่าใช้งบประมาณเยอะ กระนั้นก็น่าคิดนะครับว่าจะเลือกอะไรระหว่างความเท่าเทียม กับการให้เขาออกทุนเองเพื่อได้โอกาสสูงกว่า

             ที่ผ่านมาก็เห็นพูดๆ กันว่า “สนามจิ๋ว” เป็นเรื่องเฉพาะกิจ ต่อไปอาจจะปิด ไม่มีอีก อย่าลงทุนไปเรียนเพื่อหวังช่องทางพิเศษ แต่ก็พูดมาหลายปีแล้วยังไม่ปิด  (ถ้าปิดเมื่อไหร่พวกส่งลูกเรียนนอกไม่พอใจแน่ รวมทั้งพวกผู้พิพากษาอัยการด้วยกันเอง)

             ล่าสุดที่ ก.ต.มีมติเมื่อปลายปี 2554 ก็ยังให้เปิดสอบสนามจิ๋วอยู่ โดยไล่เรียงไปคือ สนามเล็กเปิดรับสมัคร มกรา-กุมภา 2555 และประกาศผลสอบข้อเขียนไปแล้ว สนามจิ๋วเปิดรับสมัคร มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา น่าจะยังไม่ประกาศผลสอบ สนามใหญ่ไปรับสมัครเอาต้นปีหน้า

             สนามเล็กผ่านข้อเขียนไปแล้ว 35 คน สนามจิ๋วจะรับเท่าไหร่ จากผู้สอบเท่าไหร่ ก็คอยดูกัน (รวมทั้งคอยตรวจรายชื่อว่ามีใครบ้างหัวใสส่งลูกไปเรียนนอก) แล้วจำนวนที่รับเมื่อเปรียบเทียบกับสนามใหญ่ จะมีสัดส่วนอย่างไร

                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    7 สิงหาคม 55

บัญชีแนบท้าย

ก.ต.ประกาศให้ความเห็นชอบมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ที่เรียนแล้วมีสิทธิสอบ “สนามจิ๋ว” เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2553 ตามลิงก์นี้


แต่ต่อมาก็มีมติเพิกถอนการรับรองหลักสูตรปริญญาโทของ La Trobe University ออสเตรเลีย ตามมติวันที่ 23 กรกฎาคม 2555

อย่างไรก็ดี ถ้าดูเฉพาะมหาวิทยาลัยอเมริกัน 68 แห่ง ซึ่งเริ่มต้นเริ่ดหรู ด้วยฮาวาร์ด ปรากฏว่าเมื่อลองเอาไปเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยที่เนติบัณฑิตอเมริกันรับรอง ตามลิงก์นี้


ปรากฏว่ามีบางแห่งที่เนติบัณฑิตอเมริกันไม่รับรอง แต่ ก.ต.ของเรารับรอง เช่น Dickinson School of Law, San Diego School of Law ซึ่งไม่ทราบว่ารับไปกี่คนแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น