วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555


         ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ นปช.พร้อมแนวร่วมกลุ่มคนเสื้อแดง เข้ายื่นคำร้องต่อ นายไพฑูรย์ ขัมภรัตน์ อัยการพิเศษฝ่ายพัฒนากฎหมาย เพื่อขอให้อัยการสูงสุด ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องที่มีผู้มียื่นตรวจสอบการกระทำความผิดมาตรา 68 วรรคแรก ในการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 
       
        ที่สำนักงานอัยการสูงสุด วันนี้ (7 ส.ค.) เวลา 11.00 น. พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมแนวร่วมกลุ่มคนเสื้อแดง จำนวนหนึ่งเดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อ นายไพฑูรย์ ขัมภรัตน์ อัยการพิเศษฝ่ายพัฒนากฎหมาย เพื่อขอให้ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องที่มีผู้มียื่นตรวจสอบการกระทำความผิดมาตรา 68 วรรคแรก ในการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่ง พ.ต.ต.เสงี่ยม และพวก ผู้ร้อง เห็นว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับไว้วินิจฉัย เนื่องจากเมื่อมีการพบเห็นการกระทำต้องยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วจึงเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการขยายเขตอำนาจของตัวเอง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อีกทั้งยังเป็นการตัดสิทธิของอัยการสูงสุดไป จึงขอให้อัยการสูงสุด ดำเนินการสอบสวนตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 ว่า การกระทำของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขัดต่อมาตรา 68 หรือไม่
       
       ด้าน นายไพฑูรย์ ขัมภรัตน์ อัยการพิเศษฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานวิชาการ กล่าวว่า จากที่สอบถามเบื้องต้นคำร้องของ พ.ต.ต.เสงี่ยม ขอให้ตรวจสอบเรื่องการกระทำของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขัดต่อมาตรา 68 เท่านั้น ไม่มีประเด็นเสนอการถอดถอน ดังนั้น อัยการสูงสุดจึงมีอำนาจรับคำร้องนี้ไว้ตรวจสอบ โดยตนจะเสนอเรื่องต่อ นายจุลสิงห์ อัยการสูงสุด พิจารณา ซึ่งคงจะมีการตั้งคณะทำงานมาตรวจสอบ ขณะที่การพิจารณาจะดูข้อเท็จจริงที่ปรากฏ แต่การพิจารณากฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ ทั้งนี้ หากการพิจารณาข้อเท็จจริง ปรากฏว่า การกระทำที่เป็นมูลความผิดก็จะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 แต่หากไม่ปรากฏการกระทำที่เข้าข่าย มาตรา 68 อัยการก็จะยกคำร้องเหมือนที่ผ่านมา
       
       โดย นายไพฑูรย์ อัยการพิเศษฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานวิชาการ ยืนยันว่า ที่ผ่านมาอัยการสูงสุด ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องที่มีผู้ร้องการกระทำตามมาตรา 68 มาโดยตลอดและมีคำสั่งให้ยกร้องเมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด

-----------------------------------------------------------

เสียงตักเตือนที่ตามมา ในกรณี พ.ต.ต. เสงี่ยม สำราญรัตน์

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์  นักวิชาการกฎหมายอิสระ

ฝาก นปช. และพรรคเพื่อไทย ระวังหน่อยนะครับ

          ข่าวชิ้นนี้บอกว่ามีสมาชิก นปช. ส่วนหนึ่ง นำโดย พันตำรวจตรี เสงี่ยม สำราญรัตน์ ซึ่งเป็นข้าราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นำสมาชิก นปช. ไปขอให้อัยการสูงสุด ใช้อำนาจตาม รธน. มาตรา 68 มาตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องคดีแก้รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้

          ผมคิดว่า ถ้าทำไปในนามส่วนตัวก็ย่อมเป็นสิทธิที่จะทำครับ จุดเด่นของ นปช. เอง ก็คือความหลากหลายที่อยู่ร่วมกันได้

          แต่ถ้าจะให้ดี แกนนำ นปช. และเพื่อไทย เองควรแสดงจุดยืนต่อบุคคลากรให้ชัดเจนว่า มาตรา 68 จะนำมาอ้างพร่ำเพรื่อไม่ได้ เพราะ มาตรานี้ใช้ตรวจสอบเฉพาะกับ "การใช้สิทธิเสรีภาพ" แต่จะไม่นำมาใช้กับ "การใช้อำนาจหน้าที่"

           กล่าวคือ หาก นปช. และเพื่อไทย เห็นว่า กลุ่ม ส.ว. พันธมิตร และ ปชป. ไม่สามารถอ้าง มาตรา 68 มาตรวจสอบกรณีที่ รัฐสภา "ใช้อำนาจ" แก้ไข รธน. ฉันใด นปช. และเพื่อไทย ก็พึงเตือนบุคคลากรว่า ไม่ควรนำ มาตรา 68 มาอ้างเพื่อตรวจสอบกรณีที่ ศาล "ใช้อำนาจ" รับคำร้อง ฉันนั้น

            (ส่วนจะไปร้อง ป.ป.ช. หรือ เข้าชื่อถอดถอนตุลาการ ย่อมพึงทำได้)

            เรื่องความแตกต่างระหว่าง "สิทธิและเสรีภาพ" และ "อำนาจหน้าที่" นี้ ผมจะขอชวนคุยต่อพรุ่งนี้ ทาง Asia Update ตอน 3 ทุ่ม โดยจะเจาะลึก "คำวินิจฉัยส่วนตน" ของตุลาการทั้ง 8 ท่านครับ ซึ่งตุลาการบางท่าน นำ "สิทธิและเสรีภาพ" และ "อำนาจหน้าที่" มาปะปนกันอย่างน่ากังวลใจ 

             แต่ก็มีคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการบางท่าน ที่อ่านแล้วพอมีกำลังใจ และควรนำมายกย่องเช่นกัน

             ชมได้ พรุ่งนี้ วันพุธ (8 สิงหาคม 55) ทาง Asia Update ตอน 3 ทุ่มครับ
ผู้แสดงความเห็นในข้อเขียนนี้ :- 

Nithiwat Wannasiri :: ทำได้สิครับ ถ้าดูตามที่มาแห่งอำนาจแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มี "อำนาจหน้าที่" ใดๆเลยในเรื่องนี้ แต่ในเมื่อคนไม่มีอำนาจสร้างอำนาจให้ตัวเองได้ เราก็อาศัยหลักเดียวกันย้อนศรเป็นหอกทมิฬแทงทมิฬ ผมว่ามันเป็นเรื่องชอบธรรมนะครับ เราไม่เอาระบบแบบนี้ แต่จำเป็นต้องเล่นในระบบ วิธีนี้ก็สมควรแก่เหตุแล้วครับ
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์  ::  คำถามอยู่ที่ว่า การรับคำร้องของศาลนั่้น เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ หรือไม่ หากเราเห็นว่าเป็น ก็จะเกิดปัญหา แต่หากเห็นว่าไม่เป็น แต่ฟ้องตาม 68 ได้ ก็จะยิ่งเกิดปัญหา แต่แย่ที่สุด หากเราเห็นว่าอะไรที่ทำไปแล้วไม่มีอำนาจ (ในสายตาของผู้ฟ้อง) ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ก็ฟ้องได้หมด แบบนี้ยิ่งเป็นปัญหาครับ  การใช้กติกาที่ผิด ต้องแกด้วยการใช้กติกาที่ถูก แต่หากกติกาถูกหักงอให้ย้อนศรเพื่อมาแกกติกาที่ผิด มันก็จะผิดต่อไปเรื่อยๆครับ
วีรพัฒน์  :: ปริยวงศ์ ขอความกรุณาทุกท่านอย่าใช้คำไม่สุภาพนะครับ
Nithiwat Wannasiri  :: มันต่างกันตรงที่เจาทำกติกาที่ผิดให้กลายเป็นถูกด้วยอำนาจที่สถาปนาขึ้นเองได้แบบนั้น การจะย้อนศรให้คนเห็นว่ามันทำไม่ได้ ก็คือการที่เอาสิ่งที่พวกเขาทำให้ผิดเป็นถูกมาย้อนเล่นงานพวกเขาเองให้สังคมเห็น ให้สังคมตั้งคำถามกับอำนาจนั้นๆครับ เขาลุกขึ้นสู้กับอำนาจตามที่เขาเห็นหนทางครับ หากจะเห็นแย้งก็ทำได้ แต่ควรเสนอทางออกอื่นๆให้กับประชาชนด้วยเช่นกันนะครับ

ร.ต.ธนะสิทธิ์ พิพุฒ ::  ดีครับ ช่วยๆกันเล่นนอกกติกา มันดี.

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์  :: ‎Nithiwat Wannasiri ต้องระวังกับตรรกะแบบนั้นนะครับ นายพล ก รัฐประหาร ทำผิดกฎหมายยึดอำนาจประชาชน ประชาชนสมควรทำลายกฎหมายซ้ำโดยการก่อรัฐประหาร นายพล ก หรือไม่ ? นาย I วิ่งแจ้งความ อ้าง 112 พร่ำเพรื่อเพื่อขุ่มขู่กลั่่นแกล้งผู้อื่น เราจึงควรนำ 112 มาอ้างพร่ำเพรื่อ เพื่อแจ้งความเอาผิดกับนาย I บ้างหรือไม่ ? ย้ำนะครับว่าผมไม่ได้พูดถึงกรณีที่ไปดำเนินการส่วนตัว บทวิพากษ์นี้ ผมกำลังพูดถึง นปช. และ พรรคเพื่อไทย ในฐานะสถาบันทางการเมือง

          ทางออกอื่นๆ ก็เสนอไปแล้วไงครับ "ส่วนจะไปร้อง ป.ป.ช. หรือ เข้าชื่อถอดถอนตุลาการ ย่อมพึงทำได้" และที่เราทุกคนทำได้ทุกวัน ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ ตื่นตัวรู้ทัน การต่อสู้กับอำนาจ ต้องอดทน ต้องใช้เวลา และต้องเป็นไปตามกติกา การอ้างตรรกะ "ย้อนเล่นงาน" หากไม่เคารพกติกา มันก็จะย้อนกันไปย้อนกันมา และย้อนมาที่ตัวผู้ต่อสู้เอง แต่แย่ที่สุด คือมันย้อนไปถึง "ผู้ร่วมต่อสู้ที่ต้องการต่อสู้ตามกติกา" ด้วยเช่นกัน
Nithiwat Wannasiri ::  ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ตรรกะนั้นใช้ได้ครับ แต่ในประเทศที่ระบบกฎหมายและการทำรัฐประหารถูกกดเอาไว้ด้วยการห้ามพูดเรื่องบทบาท สถานะ และอำนาจของสถาบันกษัตริย์ เมื่อฝ่ายหนึ่งถูกตีกรอบ ถูกกด ไว้ด้วยกำลังทหาร ฝ่ายที่ถูกกดย่อมมีความชอบธรรมที่ทำลายการกดเหล่านั้นก่อนครับ ค่อยมาว่ากันถึงหลักการในรูปแบบของประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่คู่ขัดแย้งไม่มีใครมีอำนาจตกดใครอยู่ในตัวบทกฎหมาย
Nithiwat Wannasiri ::  ป.ป.ช. ที่มาของอำนาจมาจากไหนครับ ?
เข้าชื่อถอดถอน สุดท้ายการพิจารณาอยู่กับอำนาจสว.ลากตั้ง ไหนล่ะทางออก?
ถ้ามีทางออกอื่นที่ดีก็เสนอมาได้เลยครับ
Nithiwat Wannasiri ::  กรณีการยกเคส 112 นะครับ เพราะฝ่ายต่อต้านถือหลักการแบบนี้นี่แหล่ะ สังคมที่ถูกหล่อหลอมความซาบซึ้งมายาวนานจึงยังเห็นปัญหาของตัวกฎหมายไม่ชัดเจน ลองมีคนไปไล่แจ้งความทุกคนที่วิจารณ์แบ็งค์ร้อยใหม่ดูสิ รับรองสังคมเห็นปัญหา แต่ว่าสายพิราบทำไม่ได้ เพราะต้องยึดหลักการ แต่สายเหยี่ยวทำอะไร ถ้าแนวทางการเปลี่ยนยแปลงสังคมมันเร็วกว่า ก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ผมก็ไม่แนะนำ ถ้ามีทางออกอื่นที่ดีกว่า
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์  :: ‎Nithiwat Wannasiri ตรรกะเงื่อนไขข้อยกเว้นแบบนี้ก็อันตรายครับ เพราะประหนึ่งยอมรับว่า ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง กติกาและหลักการถูกทำลายได้ ไม่ต่างจากผู้ที่อ้างว่า เพราะประเทศไทยมีกรอบแบบนั้น จึงต้องมี 112 แบบนี้ ... 

            การทำลายการกดขี่ มิได้ต้องกระทำโดยการใช้กติกาไปในทางที่ผิดหรือพร่ำเพรื่อนะครับ

            ส่วนตรระกะที่ว่า หากไม่พอใจกับ ปปช. หรือ สว ก็ย่อมไม่พอใจได้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุที่จะอ้างเพื่อไปอ้่างอย่างอื่นที่ตนพอใจมากกว่าครับ นี่ก็ตรรกะอันตรายอีกเเหมือนกัน ไม่ต่างกับผู้ที่บอกว่า นายก ก เป็นคนโกงกินบ้านเมือง แม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ ปปช ก็พึ่งไม่ได้ สว ก็พึ่งไม่ได้ ก็เลยต้องพึ่งอำนาจวิธีการอย่างอื่น

            เรื่องสายพิราบและสายเหยี่ยวผมมองว่าเป็นข้ออ้างและมายาคติเสียมาก ไม่ว่าจะเป็นอีกาพญายม หรือนกกระจิบนกกระจอก หากเลือกที่จะไม่เคารพกติกาหรือกฎหมาย จะอ้างว่าต่อสู้เพื่ออะไร แม้เป้าหมายอาจชอบธรรม แต่หากมันก็ผิดด้วยวิธีการ จะบอกว่าถูกก็คงไม่ใช่

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ :: สภาวะของความอัดอั้นตันใจ ที่รู้สึกถูกกดขี่ และพึ่งกลไกตามกฎหมายไม่ได้ ก็คือสภาวะเดียวกันกับหลายคนที่อ้างรัฐประหาร มากำจัดคุณทักษิณ แม้จะต้องแลกด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ หากผู้ใดที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาธิปตย เราจะต้องไม่ยอมตกอยู่ในสภาวะแบบนั้น เด็ดขาด การต่อสู้มันลำบากและใช้เวลา ไม่มีอะไรที่มีค่าที่ได้มาง่ายๆครับ หาก ปปช สว ยังไม่ดีพอ เราก็ต้องทำให้ดีขึ้น หากพึ่งไม่ได้ ก็มาคิดว่าจะแก้ รธน ปฏิรูปกลไกอย่างไร ที่ผมเคยบอกว่า ศาลจะมักง่าย เอาใจคน 8-9 คน มาตัดสินคนทั้งประเทศไม่ได้ฉันใดก็ฉันนั้น ปีระชาชน จะสิบคน ร้อยคน หรือ พันคน ก็มักง่ายไม่ได้เช่นกัน

เปี๊ยก คณิต :: สายไหน ยังไงก้พยายามเลี่ยงความรุนแรงน่ะครับ เพราะจะเป้นโทษภายหลังครับ

Nutty Sate มัน เป็นแค่เกมการเมืองค่ะ คุณเสงี่ยมไม่ได้หวังผลอะไรใหญ่โตหรอก แค่ไม่ให้ตัวเอง out เท่านั้น. ...เกมนี้คุณเสงี่ยมเล่นไปเพราะรู้ว่าไม่เจ็บตัวแน่ แถมได้ป่วนศาลฟรี มีเรื่องเล่าเอาไว้อวดเพื่อนในกลุ่มด้วย ไม่มีอะไรหรอกเดี๋ยว ศาลก็ไม่รับเองแหละค่ะ

Chote Kotmanee ดุลยอำนาจประชาชาติต้องเที่ยงธรรม อำนาจนำความเที่ยงธรรมเป็นธรรมใหม
แสงตะวัน และความจริง 

Nithiwat Wannasiri ทำได้สิครับ ถ้าดูตามที่มาแห่งอำนาจแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มี "อำนาจหน้าที่" ใด ๆ เลยในเรื่องนี้ แต่ในเมื่อคนไม่มีอำนาจสร้างอำนาจให้ตัวเองได้ เราก็อาศัยหลักเดียวกันย้อนศรเป็นหอกทมิฬแทงทมิฬ ผมว่ามันเป็นเรื่องชอบธรรมนะครับ เราไม่เอาระบบแบบนี้ แต่จำเป็นต้องเล่นในระบบ วิธีนี้ก็สมควรแก่เหตุแล้วครับ
ควรไปอ่านนะและศึกษาทีนิติแถลงอะไรไว้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น