วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บันทึกไว้ในแผ่นดิน



ในหลวงพระราชทานเครื่องราชฯชั้นสูงสุด มปช.แก่นายกฯ เป็นกรณีพิเศษ
















พระราชดำรัสเรื่องมาตรา 7

           จากการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ยังยืนยันในข้อเรียกร้องให้มีการตั้งสภาประชาชน พร้อมตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ เมื่อปี 2549

            พระราชดำรัสในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้า ฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล วันอังคาร ที่ 25 เมษายน 2549 ความตอนหนึ่งว่า 

          " มาตรา 7 นั้น ไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่. มาตรา 7 นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง. ถ้าทำ เขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่. ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่. ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย."

            ทั้งนี้ มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 บัญญัติเหมือนกันว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"




ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด 
(นายอักขราทร จุฬารัตน) นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้า ฯ 
ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
วันอังคาร ที่ 25 เมษายน 2549
(อย่างไม่เป็นทางการ)


           ที่ได้ปฏิญาณนั้นมีความสำคัญมาก เพราะว่ากว้างขวาง หน้าที่ของผู้พิพากษา หน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง มีหน้าที่กว้างขวางมาก. ซึ่งเกรงว่าท่านอาจจะนึกว่าหน้าที่ของผู้ที่เป็นศาลปกครองมีขอบข่ายที่ไม่กว้างขวาง ที่จริงกว้างขวางมาก

          ในเวลานี้ อาจจะไม่ควรจะพูด แต่อย่างเมื่อเช้านี้เอง ได้ยินเขาพูดเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และโดยเฉพาะเรื่องเลือกตั้งของผู้ที่ได้คะแนน ได้แต้มไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาเลือกตั้งอยู่คนเดียวซึ่งมีความสำคัญ. เพราะว่าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาคนเดียว ในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบสมบูรณ์.ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับท่านหรือเปล่า. แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอ ก็กลายเป็นว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยดำเนินการไม่ได้. แล้วถ้าดำเนินการไม่ได้ ที่ท่านได้ปฏิญาณเมื่อตะกี้นี้ ก็เป็นหมัน. ถึงบอกว่าจะต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตยต้องดำเนินการไปได้. ท่านก็เลยทำงานไม่ได้. และถ้าท่านทำงานไม่ได้ ก็มีทางหนึ่งท่านอาจจะต้องลาออก เพราะไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหา. ที่มีอยู่ต้องหาทางแก้ไขได้ เขาอาจจะบอกว่าต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่เรื่องของตัว. ศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ. ร่างเสร็จแล้วก็ไม่เกี่ยวข้อง. เลยขอร้องว่าท่านอย่าไปทอดทิ้งความปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการผ่านออกไปได้

          แล้วก็อีกข้อหนึ่ง การที่จะ ที่บอกว่ามีการยุบสภาและต้อง ต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถูกต้องหรือไม่. ไม่พูดเลย ไม่พูดกันเลย. ถ้าไม่ถูกก็จะต้องแก้ไข. แต่ก็อาจจะให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะหรือเป็นอะไร. ซึ่งท่านจะมี จะมีสิทธิที่จะบอกว่า อะไรที่ควร. ที่ไม่ควร ไม่ได้ว่าบอกว่ารัฐบาลไม่ดี แต่ว่าเท่าที่ฟังดู มันเป็นไปไม่ได้. คือการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งพรรคเดียวคนเดียว ไม่ใช่ทั่วไป ทั่ว. แต่ในแห่งหนึ่งมีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้. ไม่ ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย. เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็พูดกันเองว่าท่านต้องดูเกี่ยวข้องกับเรื่องของการปกครองให้ดี. ตรงนี้ขอฝาก อย่างดีที่สุดถ้าเกิดท่านจะทำได้. ท่านลาออก ท่านเอง ไม่ใช่รัฐบาลลาออก ท่านเองต้องลาออก ถ้าทำไม่ได้ รับหน้าที่ไม่ได้. ตะกี้ที่ปฏิญาณไปดูดีๆ จะเป็นการไม่ได้ทำตามที่ปฏิญาณ.

          ฉะนั้นก็ตั้งแต่ฟังวิทยุเมื่อเช้านี้ กรณีเกิดที่ ที่นบพิตำ กรณีที่จังหวัด อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช. อันนั้นไม่ใช่แห่งเดียว ที่อื่นมีอีกหลายแห่งที่จะทำให้บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถที่จะ ที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้อง. ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านไปศึกษาว่า เกี่ยวข้องอย่างไร ท่านเกี่ยวข้องหรือไม่. แต่ถ้าท่านไม่เกี่ยวข้อง ท่านก็ลาออกดีกว่า. ท่านผู้ที่เป็นผู้ได้รับหน้าที่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้ที่ต้องทำให้บ้านเมืองดำเนินได้. หรือมิฉะนั้นก็ต้องไปปรึกษากับท่านผู้พิพากษาที่จะเข้ามาต่อมา. ท่านผู้พิพากษาศาลฎีกา ท่านผู้นี้ก็คงเกี่ยวข้องเหมือนกัน. ก็ปรึกษากัน 4 คน ก็ท่านปรึกษากับผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะเข้ามาใหม่ ปรึกษากับท่าน ก็เป็นจำนวนหลายคนที่มีความรู้ ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ที่มีความและ มีหน้าที่ที่จะทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป. ฉะนั้นก็ขอฝาก คุณอักขราทร ก็ต้องไปพูดกับสมาชิกอื่นๆ ด้วย ก็จะขอบใจมาก.

          เดี๋ยวนี้ยุ่ง เพราะว่าถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย. มีของเรามีศาลหลายชนิด มากมาย แล้วมีสภาหลายแบบ และก็ทุกแบบนี่จะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดทางที่จะแก้ไขได้. นี่พูดเรื่องนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้. แล้วก็ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็บอกว่าต้องทำตามมาตรา 7 มาตรา 7 ของ รัฐธรรมนูญ. ซึ่งขอยืนยัน ยืนยันว่า มาตรา 7 นั้น ไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่. มาตรา 7 นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง. ถ้าทำ เขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่. ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่. ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย.

        เขาอ้างถึงเมื่อครั้งก่อนนี้ เมื่อรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์. ตอนนั้นไม่ได้ทำเกินอำนาจของพระมหากษัตริย์. ตอนนั้นมีสภา สภามีอยู่ ประธานสภา รองประธานสภามีอยู่ แล้วก็รองประธานสภาทำหน้าที่ แล้วมีนายก ที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น. ไม่ ไม่ได้หมายความว่าที่ทำครั้งนั้นผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่. ตอนนั้นเขาไม่ใช่นายกพระราชทาน. นายกพระราชทานหมายความว่าตั้งนายกโดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย. ตอนนั้นมีกฎเกณฑ์. เมื่อครั้งอาจารย์สัญญาได้รับตั้งเป็นนายก เป็นนายกที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ รองประธานสภานิติบัญญัติ นายทวี แรงขำ. ดังนั้น ไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย. ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ ท่านก็ทราบมี มีกฎเกณฑ์ที่รองรับ แล้วก็งานอื่นๆ ก็มี. แม้จะที่เรียกว่าสภาสนามม้า ก็หัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ผิด ไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนอง. นายกรัฐมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับสนองพระบรมราชโองการ. ก็สบายใจว่าทำอะไรแบบถูกต้อง ตามครรลองของรัฐธรรมนูญ. แต่ครั้งนี้ก็เขาจะให้ทำอะไรผิด ผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบนะ แต่ว่าข้าพเจ้าเองรู้สึกว่าผิด.

         ฉะนั้นก็ขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไร ไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นสิ่งที่เป็นอุปสรรคและมีความเจริญรุ่งเรืองได้. ขอขอบใจท่าน.



พระราชดำรัส
ในโอกาสที่ประธานศาลฎีกา (นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
วันอังคาร ที่ 25 เมษายน 2549








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น