ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ "ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน" ยกเว้นหาเสียงเลือกตั้ง
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ตีพิมพ์ ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แระกาศตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระบุว่า
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อําเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 แล้ว นั้น
เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนด ดังต่อไปนี้
- ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนดเว้นแต่เป็นการชุมนุมตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- ข้อ 2 ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร
- ข้อ 3 ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
- ข้อ 4 ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใด ๆ ทั้งนี้ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
- ข้อ 5 ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
- ข้อ 6 ในการดำเนินการตามข้อ 1 ถึงข้อ 5 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควรเพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้
อนึ่ง พล.ท.ภราดร กล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า การที่รัฐบาลไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการถึงข้อกำหนดเพิ่มใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลัง ครม. มีมติเห็นชอบ เนื่องจากมาตรา 9 ต้องรอให้ ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการกำหนดรายละเอียดเป้าหมายที่ชัดเจน ในการจำกัดสิทธิบางประการในบางพื้นที่การชุมนุมเพื่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีก 1-2 วัน จึงจะประกาศอย่างเป็นทางการได้ ในขณะที่มาตรา 7 อำนาจหน้าที่นายกฯมีการกำหนดไว้ในระเบียบแล้ว ส่วนสถานที่ที่จะใช้เป็นที่บัญชาการ ศรส. ทางผบ.ตร.กำลังดำเนินการจัดหาสถานที่อยู่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น