วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

บันทึกที่เห็นต่าง...อำนาจเลื่อนวันเลือกตั้ง


พิชิต ชื่นบาน: บันทึกที่เห็นต่าง...อำนาจเลื่อนวันเลือกตั้ง


บันทึกที่เห็นต่าง...อำนาจเลื่อนวันเลือกตั้งสส. เป็นการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่มีหรือไม่ เป็นของใคร

ในฐานะที่เป็นคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยได้รับการสอบถามอย่างมากภายหลังมีมติศาลรธน.เอกฉันท์ 6:0 รับคำร้อง กกต.ที่มีคำขอให้ศาลรธน.วินิจฉัย ซึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่า กกต.ยื่นคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใน 2 ประเด็นคือ 1.หากมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ จะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ได้หรือไม่ และ 2.อำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจขององค์กรใดระหว่างผู้ร้อง กกต.กับ ครม.โดยนายกรัฐมนตรี

มีข้อสังเกตที่เป็นประเด็นสำคัญจากคำขอท้ายคำร้องของกกต.ซึ่งศาลรธน.รับวินิจฉัยตามผู้สื่อข่าวรายงาน ดังนี้

1. ประเด็นศาลรธน.วินิจฉัยว่า เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะรัฐมนตรีและ กกต.ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้เห็นต่างกับคำวินิจฉัยว่า น่าจะคลาดเคลื่อนต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ คือ “การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นการกระทำของนายกรัฐมนตรีโดยลำพังรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติให้เป็นอำนาจคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป” เพียงแต่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้การยุบสภาให้กระทำโดยรูปแบบพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น จึงเป็นกระบวนการตราพระราชกฤษฎีกาที่ต่างกับการตราพระราชกฤษฎีกาทั่วไปที่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรีและเมื่อตราพระราชกฤษฎีกายุบสภา 2556 มาตรา 5 บัญญัติให้เพียงนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา
ดังนั้น เมื่อการยุบสภาเป็นการกระทำของนายกรัฐมนตรีโดยลำพังและประกอบกับนายกรัฐมนตรีโดยลำพังเช่นเดียวกันเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายไม่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและพรฎ.ยุบสภา 2556 มาตรา 5 ข้างต้นบัญญัติชัดแจ้งอย่างนี้จะถือเป็นความขัดแย้งของ 2 องค์กรตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องได้อย่างไร ทั้งฝ่ายผู้ร้องและศาลรัฐธรรมนูญควรมีคำอธิบายในเรื่องนี้ในคำวินิจฉัยให้ชัดเจนไม่เคลือบคลุมและกำกวม


2. ประเด็นตามคำขอของกกต. ที่ให้ศาลรธน.วินิจฉัยใน 2 ประเด็นคือ 1.หากมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ จะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ได้หรือไม่ และ 2.อำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจขององค์กรใดระหว่างผู้ร้องกกต.กับครม.โดยนายกรัฐมนตรี
ประเด็นในเรื่องนี้มีข้อสังเกตอันเป็นข้อพิรุธที่ชวนให้สงสัยว่าคำขอตามคำร้องของกกต.ใน3 ประเด็นคือ
1.ทำไมคำขอท้ายคำร้องของกกต.ที่ยื่นต่อศาลรธน.ในครั้งนี้จึงต่างกับหนังสือที่ กกต.มีถึงนายกรัฐมนตรี กล่าวคือหนังสือที่มีถึงนายกรัฐมนตรีกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 ท่าน ใช้ถ้อยคำว่า “นายกรัฐมนตรีควรเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่” แต่เมื่อมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกกต.กลับใช้ถ้อยคำใหม่ที่ยื่นต่อศาลรธน.เป็นว่า “...หากมีเหตุจำเป็นที่มิอาจก้าวล่วงได้จะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่” ประเด็นที่เป็นข้อสังเกตคือ ทำไมกกต.จึงไม่ใช้ถ้อยคำว่า “...หากมีเหตุจำเป็นที่มิอาจก้าวล่วงได้จะสามารถเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่” ทำไมคำขอของกกต.จึงตัดถ้อยคำ “พระราชกฤษฎีกาออกไป” ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน กำกวม ว่าเหตุใดจึงไม่ขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ อย่ามาอธิบายว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ก็สามารถตราพระราชกฤษฎีกาได้เอง จะถือเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 108 หรือไม่ประกอบกับพรบ.เลือกตั้งสส.มาตรา 78 บัญญัติว่าหากมีเหตุจำเป็นให้เป็นอำนาจของกกต.ในการ “เลื่อนวันลงคะแนนเลือกตั้ง” มิใช่เลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งแต่อย่างใด

2. คำขอที่อ้าง “เหตุจำเป็นที่มิอาจก้าวล่วงได้” ไม่มีบัญญัติไว้ในพรบ.เลือกตั้งสส.ซึ่งมาตรา 78 ของพรบ.เลือกตั้งสส.บัญญัติถ้อยคำที่ให้กกต.เลื่อนกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำแต่เพียงว่า “เหตุจำเป็นอย่างอื่น” คำขอนี้ได้นำถ้อยคำในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 40 ซึ่งเป็นเหตุที่คู่ความขอเลื่อนการพิจารณาคดีของศาลมาใช้จึงเป็นเรื่องค่อนข้างอัศจรรย์อยู่พอสมควรที่นำถ้อยคำของบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้ในการเลื่อนการนั่งพิจารณาคดีของศาลมาใช้กับการเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้ง ผมไม่อยากคิดว่าเพราะมีกกต.3 ท่านเป็นอดีตผู้พิพากษาจึงนำป.วิ.แพ่ง ว่าด้วยการเลื่อนคดีมาใช้ในการเลื่อนวันเลือกตั้งเพราะตามมาตรา 78 ของพรบ.เลือกตั้งเพียงให้อำนาจกกต.เลื่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งและหากจะแปลความว่าการเพิ่มถ้อยคำจากมาตรา 78 ที่บัญญัติถ้อยคำว่า “เหตุจำเป็นอย่างอื่น” เป็น “เหตุจำเป็นที่มิอาจก้าวล่วงได้” ซึ่งมีอาจารย์กฎหมายที่เป็นอดีตคตส.เขียนในคำบรรยายว่า “เหตุจำเป็นที่มิอาจก้าวล่วงได้ หมายถึงเหตุจำเป็นที่มีเหตุผลหนักแน่นมากกว่าเหตุจำเป็นทั่วไป” ถ้อยคำนี้เมื่อไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการเลือกตั้งสส. แล้วสามารถนำมาใช้เพื่อให้เกิดความสามารถในการกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ได้จะถือเป็นการบัญญัติ “พจนานุกรมขึ้นใหม่หรือบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่หรือไม่”

3. หากสามารถกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ได้จะมีคำถามต่อมาว่าคำขอตามคำร้องของกกต.ไม่ได้มีคำขอต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า จะกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่เป็นจำนวนกี่วันและเป็นวันใดเป็นคำขอที่ไม่ชัดแจ้งและกำกวมอย่างยิ่งเพราะรธน.มาตรา 108 บัญญัติไว้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภา ดังนั้น คำขอจึงมิได้ขอให้ชัดแจ้งว่า กำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่นั้นจะกำหนดอย่างไรหากเกินกว่า 60 วันจะขัดรธน.มาตรา 108 หรือไม่และจะให้นับแต่วันใดก็ไม่มีในคำขอ และศาลรธน.เองฝ่ายผู้ร้องกกต.ไม่ขอมาก็ไม่น่าวินิจฉัยใดๆที่เกินคำขอและประการที่สำคัญการกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ซึ่งน่าจะเป็นอย่างเดียวกับการเลื่อนวันเลือกตั้งเป็นปัญหาดุลพินิจหรือปัญหาข้อกฎหมายที่บังคับให้ต้องปฏิบัติเพราะรธน.มาตรา 108 มีสภาพบังคับในการใช้ดุลพินิจไม่ให้เกิน 60 วัน ดังนั้นจึงเป็นข้อสังเกตที่ศาลรธน.ต้องมีคำอธิบายเพราะจะเกิดปัญหากับผู้ปฏิบัติหากไม่ชัดเจนและในเรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ศาลรธน.จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายนายกรัฐมนตรีทำคำชี้แจงหรือไม่ หรือจะให้เข้าเป็นคู่ความในคดีในฐานะที่ถูกกล่าวหาจากกกต.ว่าเกิดความขัดแย้งทั้งที่ไม่เกี่ยวกับครม.แต่อย่างใด เพราะการยุบสภาและการกำหนดวันเลือกตั้งหาได้เป็นอำนาจหน้าที่ของครม.แต่อย่างใด และเป็นครม.ภายหลังยุบสภาจะทำได้หรือไม่เพราะความรับผิดชอบเป็นคณะบุคคลดังที่รธน.มาตรา 171 ให้ถือหลักความรับผิดชอบร่วมกันต้องนำมาพิจารณาด้วยเมื่อครม.ไม่เกี่ยวข้องกับการยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ศาล รธน.จะวินิจฉัยให้ครม.มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ตามคำขอของ กกต.ได้อย่างไร

บันทึกที่เห็นต่างฉบับนี้ จัดทำขึ้นด้วยความสุจริตประสงค์ให้ทุกฝ่ายให้ช่วยกันมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้นเพราะเห็นใจประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจุดเทียนเฝ้ารอที่จะใช้อำนาจอธิปไตยของตนในการเลือกตัวแทนของเขาในวันที่ 2 กพ. 2557 ตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่นครับขอเพียงช่วยกันคิดและประการที่สำคัญบทบัญญัติรธน.มาตรา 197 ได้บัญญัติว่า “การพิจารณาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไป โดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย...”


พิชิต ชื่นบาน
24 มค. 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น