วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียประณามการยึดอำนาจ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย


30 พ.ค. 2557 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission หรือ AHRC) ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับประณามการยึดอำนาจ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย และเรื่องกองทัพประกาศเรียกนักกิจกรรม นักวิชาการ นักเขียน และคนอื่นๆเข้ารายงานตัว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
ประเทศไทย: กองทัพเริ่มจับตัวผู้คน
 
ในเวลา ๓ นาฬิกา ของวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึก และสองวันถัดมา พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นผู้นำก่อรัฐประหารท่ามกลางสถานการ์อันไม่แน่นอน ซึ่งมีกฎอัยการศึกและรัฐบาลรักษาการแต่ในนาม ในเวลา ๕ นาฬิกา ของวันที่ ๒๒ คณะยึดอำนาจเรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ และตั้งตนเองเป็นผู้ปกครองอันที่จริง ความเข้มงวดเรื่องการห้ามแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางการเมืองมีมาตั้งแต่ใต้กฎอัยการศึกแล้ว กองทัพอ้างอำนาจล้นฟ้าในการจับกุมและคุมขังตามอำเภอใจ ก่อนหน้าการยึดอำนาจนั้น มีความเข้มงวดต่อการแสดงออกทางการเมือง และหลังการยึดอำนาจแล้วคณะยึดอำนาจจึงห้ามการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด การรัฐประหารได้เพิ่มอำนาจให้กับกองทัพ ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองล่าสุดที่ดำเนินมามากกว่า 6 เดือน กองทัพเงียบมาโดยตลอด จนกระทั่งมาทำลายความเงียบด้วยการยึดอำนาจครั้งนี้
 
หนึ่งวันหลังจากการรัฐประหาร พลเมืองเริ่มการประท้วงต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติ แสดงความไม่เห็นด้วยต่อกฎอัยการศึกและคำสั่งของคณะรัฐประหาร การประท้วงเริ่มมาตั้งแต่ ๑๗ นาฬิกา ของวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยประชาชนมารวมตัวกันต่อต้านอย่างสงบ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณสยามแสควร์ ซึ่งเป็นใจกลางกรุงเทพฯ ประชาชนผู้มาต่อต้านต่างก็จุดเทียนยืนรวมกันเป็นกลุ่ม และชูป้ายวิพาษ์วิจารณ์การยึดอำนาจและการใช้อำนาจของกองทัพ นอกจากนี้ การต่อต้านรัฐประหารยังเกิดขึ้นตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ
 
หลังจากการประท้วงต่อต้านรัฐประหารเกิดขึ้นบางแห่ง กองทัพก็เริ่มปฏิบัติการจับกุมผู้ที่มาประท้วงและบังคับให้สลายตัว หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทรายงานว่า เวลา ๑๙.๓๐ นาฬิกา มีผู้ที่ถูกจับหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอย่างน้อยห้าคน เป็นหญิงสองคน เป็นชายสามคน โดยยังไม่ทราบชื่อผู้หญิงสองคนที่ถูกจับ ประชาไทรายงานว่าผู้ชายสามคนที่ถูกจับคือ นายธนาพล อิ๋วสกุล (บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน) นายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ และนายบุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์ (อายุ ๒๐ ปี) ต่อมาเวลาประมาณ ๒๐.๑๐ นาฬิกา ทหารเข้ายึดพื้นที่ได้ และผู้ชุมนุมก็สลายตัวลง ขณะนี้ยังไม่ทราบถึงสภาพของประชาชนเหล่านั้น และสถานที่ๆพวกเขาถูกจับไปแต่อย่างใด
 
ตามกฎอัยการศึกที่ประกาศมาตั้งแต่สองวันก่อนยึดอำนาจนั้น ทหารมีอำนาจในการคุมขังและสอบสวนใครก็ได้เป็นเวลาเจ็ดวันโดยไม่ต้องมีหลักฐานหรือข้อกล่าวหา ประชาชนอาจถูกคุมขังในสถานที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฐานทัพชั่วคราว หรือสถานที่อื่นๆที่มีไว้สำหรับการกักตัว การคุมขังในสถานที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ อาจทำให้การละเมิดสิทธิเพิ่มขึ้น เช่น การทรมาน การบังคับให้สูญหาย และทำให้เกิดการวิสามัญฆาตกรรม ตัวอย่างกรณีเช่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีการประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๔๗ และกฎอัยการศึกนี้เองเป็นเครื่องมือในการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมทางการเมืองและพลเมืองทั่วไปตามอำเภอใจ
 
ในช่วงเวลาแห่งความสับสนอลหม่านทางการเมืองที่เกิดมาตั้งแต่การปฏิวัติครั้งก่อน ในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นั้น วัฒนธรรมการปกป้องคุมครองสิทธิมนุษยชน และการวิพากษ์วิจารณ์ความอยุติธรรม ก็เติบโตแข็งแรงขึ้นในสังคมไทย นักวิชาการ ปัญญาชน นักเขียนที่ไม่ได้สังกัดมหาวิทยาลัยใดๆ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว ผู้ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน นักเรียน นักศึกษา และคนอีกจำนวนมาก ได้เขียน พูด และแสดงความเห็น ต่อต้านการใช้ความรุนแรง ต่อต้านความไม่โปร่งใสของการใช้อำนาจรัฐ การบังคับใช้กฏหมายอย่างไม่เท่าเทียม และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความตื่นตัวและการเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารครั้งล่าสุด ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และการประท้วงเหล่านี้คงจะมีต่อไปเรื่อยๆ ทางคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียจึงมีความเป็นห่วงว่า ผู้ที่เคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ที่แสดงการวิพากษ์วิจารณ์ ในช่วงระยะแปดปีที่ผ่านมา จะตกเป็นเป้าในการจับกุมของคณะยึดอำนาจ คณะกรรมาธิการฯ ยังเป็นห่วงอีกด้วยว่า การมีอำนาจล้นฟ้าของทหารภายใต้กฎอัยการศึกที่ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไป ทำให้คณะรัฐประหารไม่ต้องถูกตรวจสอบ และไม่มีความโปร่งใส และจะยิ่งสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวที่ทำลายหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม
 
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอประณามการยึดอำนาจ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของคนไทยครั้งนี้อย่างถึงที่สุด เรามีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งถึงความปลอดภัยของ นายธนาพล อิ๋วสกุล นายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นายบุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์ และคนอื่นๆที่ถูกจับตัวไปโดยทหาร จากการที่พวกเขาออกไปต่อต้านการยึดอำนาจอย่างสันติ ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ทั้งนี้ เพราะพวกเขาเป็นประชาชนคนธรรมดาที่แสดงความคิดเห็นอย่างสงบ และไม่ได้เป็นอันตรายต่อใคร คณะกรรมาธิการฯ ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติปล่อยตัวคนเหล่านี้ และคนอื่นๆที่ถูกคุมขังตามอำเภอใจโดยทันที
 
ประเทศไทย : กองทัพประกาศเรียกนักกิจกรรม นักวิชาการ นักเขียน และคนอื่นๆเข้ารายงานตัว 
 
๒๔ พ.ค.๒๕๕๗
 
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งฉบับที่ ๕/๒๕๕๗ ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์กระจายเสียงแห่งประเทศไทย เรียกบุคคลจำนวน ๓๕ คน เพื่อมารายงานตัว ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศน์ ภายในเวลา ๑๖ นาฬิกา ในวันเดียวกัน จากนั้นได้ออกคำสั่งฉบับที่ ๖/๒๕๕๗ เรียกให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติมอีกภายในเวลา ๑๐ นาฬิกา ของวันที่ ๒๕ โดยคนที่ไม่ได้มารายงานตัวนั้น มีโทษโทษจำคุก ๒ ปี ปรับไม่เกิน ๔ หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
 
รายชื่อของผู้ที่ถูกเรียกตัวนั้น มีอาทิ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นางสาวสาวตรี สุขศรี นักวิชาการของคณะนิติราษฎร์ กลุ่มนักกฎหมายก้าวหน้าแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ยังรวมถึง นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักรัฐศาสตร์ นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักปรัชญา นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ และนางสาวสุดา รังกุพันธ์ นักภาษาศาสตร์ รายชื่อบุคคลผู้ที่ถูกเรียกยังรวมไปถึงผู้ที่เคยเป็นนักโทษการเมืองในคดีอาญา มาตรา ๑๑๒ ที่พ้นผิดและได้รับอภัยโทษแล้ว คือ นายสุรภักดิ์ ภูไชยแสง นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล นอกจากนี้ชื่อของ นายธนาพล อิ๋วสกุล นักเขียนและบรรณาธิการของวารสารฟ้าเดียวกัน ผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปในวันก่อนหน้า ก็อยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูกเรียกเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีชื่อนักเขียน คือ นายนิธิวัต วรรณศิริ และนายวัฒน์ วรรลยางกูร ส่วน นายประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวแห่งเครือเนชั่นผู้มักแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ก็เป็นผู้ที่ถูกเรียกตัวเพิ่มเติม รายชื่อของบุคคลที่ถูกเรียกมีทั้งหมด ดังนี้
 
คำสั่งฉบับที่ ๕/๒๕๕๗
  •  ๑. นายเกรียง กัลป์ตินันท์
  •  ๒. พลตำรวจโท ฉลอง สมใจ
  •  ๓. พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก
  •  ๔. นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์
  •  ๕. นายสนธิ ลิ้มทองกุล
  •  ๖. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์
  •  ๗. นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล
  •  ๘. จ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ไชยศีรษะ
  •  ๙. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
  •  ๑๐. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ
  •  ๑๑. นายอนุทิน ชาญวีรกูล
  •  ๑๒. นายสุทิน คลังแสง
  •  ๑๓. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์
  •  ๑๔. นายสุนัย จุลพงศธร
  •  ๑๕. นายสงวน พงษ์มณี
  •  ๑๖. นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
  •  ๑๗. นายธนาพล อิ๋วสกุล
  •  ๑๘. นายณัฐ สัตยาภรพิสุทธิ์
  •  ๑๙. นายจักรพันธ์ บริรักษ์
  •  ๒๐.นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล
  •  ๒๑.นายวราวุธ ฐานังกรณ์
  •  ๒๒.นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
  •  ๒๓.นายสุรภักดิ์ ภูไชยแสง
  •  ๒๔.นายสุรพศ ทวีศักดิ์
  •  ๒๕. นายพันทิวา ภูมิประเทศ
  •  ๒๖. นาวาอากาศตรี ชนินทร์ คล้ายคลึง
  •  ๒๗. นาย นิธิวัต วรรณศิริ
  •  ๒๘. นายศรัณย์ ฉุยฉาย
  •  ๒๙. นางสาวสุดา รังกุพันธ์
  •  ๓๐. นายไตรรงค์ สินสืบผล
  •  ๓๑. นายชัยอนันท์ ไผ่สีทอง
  •  ๓๒. นายชฤต โยนกนาคพันธุ์
  •  ๓๓. นายวัฒน์ วรรลยางกูร
  •  ๓๔. นางสาวสาวตรี สุขศรี
  •  ๓๕. นางสุดสงวน สุธีสร
 
คำสั่งฉบับที่ ๖/๒๕๕๗
 ๑. นายประวิตร โรจนพฤกษ์
 
การใช้การสื่อสารมวลชนในการออกคำสั่งเรียกตัวประชาชนในวงกว้างขนาดนี้ คือ การสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว บรรยากาศเช่นนี้ทำให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักวิชาการ นักเขียนและประชาชนทั่วไป ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพวกเขาจะถูกเรียกให้ไปรายงานตัวเมื่อใด
 
การที่ประชาชนจะต้องเข้ารายงานตัวกับคณะยึดอำนาจเช่นนี้ เป็นการขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ โดยเฉพาะข้อ ๙ ที่ว่า "๑. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ ๒. ในขณะจับกุม บุคคลใดที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน ๓. บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจะใช้อำนาจทางตุลาการ และจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป..."
 
การที่คณะรัฐประหารควบคุมตัวผู้ที่ถูกเรียกตามคำสั่งทั้งสองฉบับนี้เอาไว้นั้น ก็คือ กรณีการควบคุมโดยอำเภอใจอย่างชัดแจ้ง บุคคลผู้ที่อยู่ในรายชื่อเหล่านี้ไม่ได้รับแจ้งถึงเหตุผลเป็นทางการใดๆ หากคณะรัฐประหารมีหลักฐานว่า คนเหล่านี้กระทำผิด ก็ควรจะต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายอาญา
 
ในขณะที่คณะรัฐประหารแสดงท่าทีว่า ผู้ที่เข้ารายงานตัวเหล่านี้จะไม่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่ภายใต้บริบทของกฎอัยการศึกและการปกครองโดยคณะรัฐประหาร ก็ทำให้ท่าทีเหล่านี้ไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด พลเมืองคนใดก็ตามถูกคุมขังได้มากที่สุดเป็นเวลาเจ็ดวัน หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีหลักฐานการกระทำผิดเพื่อตั้งข้อกล่าวหาได้ ผู้ที่เข้าไปรายงานตัวเหล่านี้อาจถูกคุมขังในสถานที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฐานทัพชั่วคราว หรือสถานที่อื่นๆที่มีไว้สำหรับการกักตัว การคุมขังในสถานที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ทำให้การละเมิดสิทธิ เช่น การทรมาน การบังคับให้สูญหาย และการวิสามัญฆาตกรรม นั้น มีความเป็นได้ที่จะเพิ่มขึ้น
 
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ขอประณามการรัฐประหารครั้งนี้อย่างถึงที่สุด และต้องการแสดงความวิตกถึงสภาวะการตกต่ำลงของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกิดจากการยึดอำนาจ ทางคณะกรรมาธิการฯขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติปล่อยตัวพลเมืองที่ถูกคุมขังตามอำเภอใจในทันที เพื่อลดบรรยากาศแห่งความกลัวจากการเรียกออกคำสั่งเรียกตัวประชาชนในวงกว้างของกองทัพลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น