วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย เสนอยูเอ็นเล็งเห็นภัยต่อสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหารในไทย



ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย ออกแถลงการณ์เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยภัยคุกคามสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลังจากการรัฐประหารและการประกาศกฎอัยการศึกที่ทำให้เกิดการจับกุมผู้คนตามอำเภอใจรวมถึงปกปิดรายละเอียดผู้ถูกจับกุมทำให้เสี่ยงต่อการถูกทรมานหรือละเมิดสิทธิด้านอื่นๆ
29 พ.ค. 2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย เผยแพร่แถลงการณ์ของศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre หรือ ALRC) ส่งถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยระบุว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยตกอยู่ในอันตรายหลังจากการรัฐประหาร เนื้อหาแถลงการณ์แบ่งออกเป็น 11 ข้อ ดังนี้
  • 1. ทางศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย ต้องการสื่อให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเห็นถึงความน่ากังวลอย่างมากต่อภัยคุกคามสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหลังจากเผด็จการทหารในไทยที่เรียกตัวเองว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ตั้งตนองเป็นรัฐบาลและก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 พ.ค. ก็มีการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งนับเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพอยู่แล้ว แต่การรัฐประหารยิ่งทำให้การลิดรอนสิทธิรุนแรงขึ้นและทำให้ไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลเผด็จการทหารได้

           นอกจากนี้ยังมีการสั่งห้ามไม่ให้ชุมนุมประท้วงหรือมีการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ รวมถึงมีการกวาดต้อนจับกุมและกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้คนตามอำเภอใจ และจำกัดเสรีภาพทางการเมืองในช่วงสามวันแรกของการรัฐประหารโดยอ้างเรื่อง "การปฏิรูป" ซึ่งฟังดูกำกวม ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทัศนคติเรื่อง "การปฏิรูป" ของทหารคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม
แม้ว่าจะมีการลิดรอนสิทธิภายใต้กฎอัยการศึกและเผด็จการทหาร แต่เหล่าพลเมืองและผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนต่างก็พากันออกมาประท้วงรัฐประหารอย่างสันติและอย่างกล้าหาญทั้งในกรุงเทพฯ และในจังหวัดอื่นๆ
  • 2. คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้กวาดต้อนจับกุมคนที่ถูกมองว่าต่อต้านพวกเขา ภายใต้กฎอัยการศึก ทหารมีอำนาจกักขังและไต่สวนใครก็ตามเป็นเวลา 7 วันโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการกระทำผิดหรือการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างเป็นทางการ คนที่ถูกจับจะถูกกักตัวอยู่ในที่กุมขังที่ไม่ใช่เรือนจำทางการ ซึ่งอาจจะเป็นค่ายทหารชั่วคราวหรือถาวรแห่งใดแห่งหนึ่ง การกุมขังในสถานที่ไม่เป็นทางการเช่นนี้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การทรมาน การอุ้มหาย หรือการสังหารโดยไม่สนใจกฎหมาย เทียบกับการประกาศกฎอัยการศึกในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อปี 2547 การประกาศใช้กฎนี้ทำให้มีการจับกุมตัวนักกิจกรรมและประชาชนทั่วไปหลายคน

  • 3. ผู้ที่ถูกจับุหรือถูกหมายหัว ประกอบด้วยนักการเมืองไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใด นักกิจกรรมทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน นักเขียน บรรณาธิการ ผู้ต่อต้าน และประชาชนคนอื่นๆ พวกเขาถูกจับกุมในหลายรูปแบบ ตั้งแต่จากการเข้าร่วมชุมนุมอย่างสงบ บางคนถูกประกาศให้ไปรายงานตัวกับทหาร มีที่พักอาศัยของนักสิทธิมนุษยชนบางคนถูกรื้อค้นโดยทหารและมีการจับตัวผู้พักอาศัยไปกักขังหน่วงเหนี่ยว วิธีการจับกุมประชาชนเหล่านี้เป็นการพยายามสร้าง บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ทำให้ประชาชนทั่วไประแวงว่าเขาจะถูกประกาศชื่อผ่านโทรทัศน์หรือวิทยุเมื่อไหร่ หรือจะมีคนมาเคาะประตูบ้านเมื่อไหร่
  • 4. กองทัพยังไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดของผู้ที่ถูกกุมขังรวมถึงผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวหรือผู้ที่ทางการต้องการตัว อีกทั้งยังมีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ว่าทางกองทัพจะไม่เปิดเผยจำนวนผู้ที่ถูกหมายเรียก ถูกจับกุม หรือถูกปล่อยตัว รวมถึงไม่มีการเปิดเผยสถานที่กักขัง แม้จะปฏิเสธว่าจะไม่เปิดเผยรายละเอียดแต่ก็มีการประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกหมายเรียกทางสาธารณะรวมแล้วมากกว่า 200 คน ทางศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียยังทราบอีกว่าในทางภาคเหนือและภาคอิสานของไทยเจ้าหน้าที่ทางการได้สั่งให้มีหมายเรียกในระดับท้องถิ่นโดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
  • 5. เมื่อพิจารณาจากหมายเรียกที่ประกาศเมื่อวันที่ 24 พ.ค. แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเผด็จการทหารดำเนินการอย่างรวดเร็วในการตั้งข้อหากับผู้ที่คิดต่างหรือแสดงการท้าทายอำนาจของทหารหรือบทบาทของสถาบันในการเมืองไทย โดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย ได้ระบุถึงตัวอย่างนักวิชาการไทยที่มักจะตั้งคำถามกับอำนาจรัฐในสังคมไทย รวมถึงกลุ่มนักโทษการเมืองที่ถูกตั้งข้อหาในคดีตามกฎหมาย มาตรา 112 ผู้คนเหล่านี้จะอยู่ในหมายเรียกตัวของทางการด้วย การตั้งหมายเรียกเช่นนี้ คสช. ได้ป้ายสีให้ประชาชนผู้ต่อต้านอำนาจรูปแบบต่างๆ เป็นศัตรู ผู้ที่ไม่ไปตามหมายเรียกมีโอกาสต้องโทษจำคุก 2 ปี หรือถูกปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • 6. ในข้อนี้ของแถลงการณ์กล่าวย้ำถึงบุคคล 3 คน ที่ถูกจับและถูกกุมขังคือ ธนาพล อิ๋วสกุล, สุรพศ ทวีศักดิ์ และสุดสงวน สุธีสร ถูกส่งไปที่ค่ายทหารในจังหวัดราชบุรีซึ่งกองทัพอ้างว่าจะกักตัวพวกเขาไว้ไม่เกิน 7 วัน แม้กองทัพจะพยายามสร้างความมั่นใจว่าผู้ที่ไปรายงานตัวจะได้รับการปฏิบัติอย่างดี แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันได้เนื่องจากกองทัพปฏิเสธที่จะเปิดเผยสถานที่กุมขังหรือให้ข้อมูลรายละเอียดผู้ถูกกุมขัง
  • 7. ทางศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียต้องการเน้นย้ำถึงกรณีการบุกค้นบ้านของสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษผู้ถูกกล่าวตามมาตรา 112 หลังจากนั้นจึงมีการกักขังเธอและลูกชายชื่อปณิธานเอาไว้  ทั้งสองแม่ลูกต่างก็ต่อสู้เพื่อให้มีการปล่อยตัวสมยศ และต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทางศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียแสดงความเป็นห่วงว่าอาจจะมีการก่อกวนหรือข่มขู่คุกคามสิทธิของครอบครัวผู้ต้องขังคดี 112 ซึ่งถูกมองไปแล้วว่าเป็นผู้ทรยศต่อสถาบันกษัตริย์ รวมถึงอาจจะมีการก่อกวนหรือข่มขู่คุกคามนักสิทธิมนุษยชนที่ทำเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย
  • 8. ทางศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย ต้องการเตือนให้ทางการประเทศไทยทราบว่าพวกเขามีพันธกรณีต่อการเป็นประเทศที่ให้สัตยาบันต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) โดยเฉพาะในมาตราที่ 9 ซึ่งกล่าวถึงการจับกุมผู้คนตามอำเภอใจ

          เนื้อความของมาตราดังกล่าวระบุว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพและความปลอดภัยในระดับบุคคล ไม่ควรมีใครถูกจับกุมหรือกักขังตามอำเภอใจ ไม่มีใครควรถูกลิดรอนเสรีภาพนี้เว้นแต่เป็นการกระทำตามขั้นตอนทางกฎหมาย ควรมีการบอกกล่าวถึงสาเหตุที่ถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาในการจับกุม และหลังจากจับกุมแล้วต้องนำตัวไปหาผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่ได้รับอำนาจตามกฎหมายเพื่อให้มีการใช้อำนาจศาลในการดำเนินคดีตามเวลาที่เหมาะสม หรือสั่งให้มีการปล่อยตัว
  • 9. แถลงการณ์ข้อนี้กล่าวเน้นถึงกรณีการจับกุมธนาพล อิ๋วสกุล, สุรพศ ทวีศักดิ์, สงวน สุธีสร, สุกัญญาและปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกจับตามอำเภอใจเผด็จการทหารช่วงหลังรัฐประหาร ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียได้เรียกร้องให้เผด็จการทหารเปิดเผยหลักฐานถึงความผิดของผู้ต้องขัง และถ้าหากผิดจริงก็ควรมีการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างเป็นทางการตามระบบศาลและอาศัยหลักประมวลกฎหมายอาญา
  • 10. ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียยังต้องการเน้นย้ำเรื่องการคุกคามสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงของ คสช. คือการประกาศให้ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอาญาตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 118 ต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งในมาตราเหล่านี้ประกอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการละเมิดพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์และกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมต่อความมั่นคงของชาติ หลังจากการรัฐประหารปี 2549 มีการวิจารณ์ข้อกฎหมายมาตรา 112 เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียมองว่ากฎหมายมาตรานี้ถูกใช้เพื่อลิดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ใช้ข่มขู่นักกิจกรรม และจำกัดสิทธิมนุษยชน

           ก่อนหน้านี้ทางศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียได้ร้องเรียนต่อคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติถึงการคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยขณะอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยมาแล้ว แต่หลังจากที่ไทยอยู่ภายใต้การปกครองของทหารและโอนการดำเนินคดี 112 ไปที่ศาลทหารทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ทำให้ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียเกรงว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะถูกลิดรอนจนหมดสิ้นสำหรับผู้ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของระบอบกษัตริย์ในการเมืองไทย เนื่องจากพวกเขาจะถูกดำเนินคดีจำคุกยาวนาน
  • 11. จากข้อกำหนดที่ระบุในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ทางศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียได้ขอให้คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนออกมาช่วยเรียกร้องในด้านต่างๆ

ข้อแรกคือการเรียกร้องให้ทางการไทยกลับคืนสู่ระบอบการปกครองตามหลักการรัฐธรรมนูญ
  • ข้อที่สองคือ ให้ช่วยเรียกร้องกลุ่มคนทำงานในประเด็นการกักขังผู้คนตามอำเภอใจคอยสอดส่องเหตุการณ์ในประเทศไทยโดยเฉพาะในเรื่องที่มีการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อีกทั้งเรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติตามหลักการปกป้องและส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน
  • ข้อที่สามคือ เรียกร้องให้ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติในด้านสิทธิมนุษยชนคอยจับตาเฝ้าระวังเหตุการณ์ในไทยโดยเฉพาะการตกเป็นเป้าหมายของนักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย
  • ข้อที่สี่คือ เรียกร้องให้ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติในด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นคอยสอดส่องดูแลและศึกษาเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพในไทยทั้งในแง่สถานการณ์ในวงกว้างและในรายกรณี โดยดูว่าการปกครองโดยทหารส่งผลกระทบต่อเรื่องนี้อย่างไร


เรียบเรียงจาก
THAILAND: Human rights under threat following coup, Asian Human Rights Commission, 29-05-2014
http://www.humanrights.asia/news/alrc-news/human-rights-council/hrc26/ALRC-CWS-26-01-2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น