บทบรรณาธิการสื่อญี่ปุ่นในชื่อ "ประชาธิปไตยไทยลัดวงจร" กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยวิจารณ์กลุ่มต่อต้านรัฐบาล "ไม่สนใจความรู้สึกของคนส่วนใหญ่" อีกทั้งยังมองว่าหากฝ่ายต่อต้านที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้รับชัยชนะจริง ก็เป็นชัยขนะแบบทำลายตนเองที่เรียกว่า Pyrrhic Victory
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ Japan Times นำเสนอบทบรรณาธิการเมื่อวันพุธที่ผ่านมา กล่าวถึงการเมืองไทยว่าหลังจากมีการถอดถอนรักษาการนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้ว ประเทศไทยก็มีรัฐบาลแบบใหม่ในระบอบตุลาการธิปไตย (juristocracy) จากการที่ศาลไทยมักจะล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่เสมอ
บทบรรณาธิการ Japan Times ระบุอีกว่ากลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยในประเทศไทยในสังคมไทยไม่ยอมทนต่อรัฐบาลที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมได้ โดยคนกลุ่มนี้ไม่สนใจความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย
"ความไม่ใส่ใจต่อเสียงส่วนใหญ่มีมากขึ้นในประเทศไทย และอาจผลักดันให้ประเทศเข้าใกล้สงครามกลางเมือง" Japan Times ระบุในบทบรรณาธิการ
Japan Times ระบุอีกว่า แม้นายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่จะมีอำนาจเลือกแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของตนได้แต่ศาลของไทยก็ตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ยิ่งลักษณ์มีความผิดฐานใช้อำนาจโดยมิชอบจากการแต่งตั้งโยกย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสั่งให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่งลงจากตำแหน่งโดยทันที ซึ่งศาลไทยอ้างว่ายิ่งลักษณ์ทำไปโดยมี "วาระซ่อนเร้น" เพื่อญาติของเธอได้รับตำแหน่งและไม่ปฏิบัติตาม "หลักจริยธรรม"
Japan Times ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ศาลเคยตัดสินให้สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีฝ่ายพรรคเพื่อไทยออกจากตำแหน่งโดยอ้างเรื่องการรับเงินค่าจ้างออกรายการทำอาหาร
บทบรรณาธิการ Japan Times กล่าวถึงสภาพการเมืองไทยที่เป็นมาโดยตลอดว่า ฝ่ายต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้พรรคพวกของทักษิณขึ้นเป็นรัฐบาลทำให้เกิด 'การรัฐประหาร' เกิดขึ้นหลายครั้ง การเลือกตั้งที่สูญเปล่าครั้งแล้วครั้งเล่า มีสร้างแรงกดดันขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากนอกสภา
ในบทบรรณาธิการยังเล่าถึงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในช่วงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงเรื่องที่ผู้ชุมนุมต่อต้านยิ่งลักษณ์ปิดกั้นสถานที่เลือกตั้งจนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ มาจนถึงช่วงปัจจุบันที่กลุ่มของสุเทพ เทือกสุบรรณ จัดแถลงข่าวเรียกร้องให้วุฒิสภาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพื่อปฏิรูปทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งเดือน ก.ค. โดยสุเทพอ้างว่าแม้ตามรัฐธรรมนูญไทยรัฐสภามีหน้าที่แต่งตั้งนายกฯ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญทำให้การเลือกตั้งเดือน ก.พ. เป็นโมฆะทำให้หน้าที่นี้ตกเป็นของวุฒิสภา
บทบรรณาธิการ Japan Times กล่าวเชื่อมโยงจุดนี้ว่า ข้ออ้างของสุเทพเกิดขึ้นโดยที่ "ผู้สนับสนุนของเขาเองเป็นคนบอยคอตต์และขัดขวางการเลือกตั้ง"
"มีผู้หวังว่าการถอดถอนยิ่งลักษณ์จะลดความตึงเครียดลง แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มต่อต้านทักษิณแค่อาศัยแรงปะทะเพื่อยกระดับข้อเรียกร้องของตนเท่านั้น" บทบรรณาธิการใน Japan Times ระบุ
"คำถามคือมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดการประนีประนอมจากทั้งสองฝ่าย หรือทั้งสองฝ่ายจะงัดข้อกันแล้วปล่อยให้ความรุนแรงเป็นผู้ชนะ" บทบรรณาธิการใน Japan Times ระบุ โดยยังได้กล่าวถึงการสูญเสียจากความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น
"ฝ่ายค้านของไทยอาจจะประสบความสำเร็จจากแนวหลังในการต่อสู้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย แต่ 'ชัยชนะ' นี้ก็เป็นชัยชนะที่ทำลายตนเองไม่คุ้มเสีย* ไม่เพียงแค่มันจะสร้างความวุ่นวายและการขาดเสถียรภาพ ที่ส่งผลความเสียหายต่อธุรกิจและเศรษฐกิจพอๆ กับต่อทักษิณ แต่มันยังทำให้พื้นฐานของสถาบันรัฐในไทยขาดความชอบธรรมในตนเอง" บทบรรณาธิการใน Japan Times ระบุ
ช่วงท้ายของบทบรรณาธิการระบุว่าถ้าหากมีการแทรกแซงจากทหาร ก็อาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิมจนถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมือง
เรียบเรียงจาก:
Short-circuiting Thai democracy, Japan Times, 15-05-2014
หมายเหตุ:
*ตรงจุดนี้เนื้อความต้นฉบับใช้คำว่า Pyrrhic ซึ่งหมายถึง "ชัยชนะของพระเจ้าไพร์รัส" (Pyrrhic Victory) กษัตริย์กรีกผู้นำทัพสู้รบกับโรมัน ซึ่งถึงแม้จะสร้างความเสียหายกับฝ่ายโรมันอย่างมาก แต่ฝ่ายตนเองก็แทบย่อยยับขณะที่ฝ่ายโรมันยังมีเสบียงและกำลังคนอยู่ทำให้รู้สึกเหมือนเสียกายน้อยกว่า จนกลายเป็นศัพท์ที่นำมาใช้เปรียบเทียบกับชัยชนะในด้านอื่นๆ ทั้งการเมือง, ธุรกิจ และการกีฬา ใช้ในเวลาที่ผู้ชนะเป็นฝ่ายเสียหายย่อยยับเสียเอง
ข้อมูลจาก:
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น