วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ม.เที่ยงคืน ประกาศ 'หลักการพื้นฐาน 6 ประการ' ชี้ล้มรธน. โดยกลไกนอกรัฐสภาไม่อาจนิรโทษฯ

9 ธ.ค.2557 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เผยแพร่คำประกาศ “หลักการพื้นฐาน 6 ประการ” เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2557 โดยระบุว่า ใน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน นับแต่นั้นเป็นต้นมารัฐธรรมนูญก็มีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในเวลา 82 ปี ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สังคมไทยต้องเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นใช้บังคับมากมายหลายครั้งและการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ก็ล้มล้างรัฐธรรมนูญลงไปอีกครั้งหนึ่ง การล้มล้างรัฐธรรมนูญทุกครั้งย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอดีตที่ผ่านมาก็มักกระทำโดยคณะบุคคลที่มิได้เป็นตัวแทนของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จนอาจกล่าวได้ว่าการร่างและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตกอยู่ภายใต้อำนาจของคณะบุคคลจำนวนน้อยที่ยึดกุมอำนาจทางการเมืองเอาไว้ในมือจนสามารถกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรัฐไทยตามอำเภอใจ ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ในอดีตก็ได้ให้บทเรียนมาแล้วว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ยึดหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนั้น มีส่วนอย่างสำคัญในความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาต่างๆ  และไม่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมไทย จนนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างน่าเศร้าใจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงขอประกาศ “หลักการพื้นฐาน 6 ประการ” ที่พึงยึดถืออย่างเคร่งครัดในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังต่อไปนี้
หนึ่ง อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน การใช้อำนาจขององค์กรรัฐ ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตุลาการ จะต้องมาจากความยินยอมของประชาชนและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้กำกับตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยทางตรงหรือทางอ้อม ต้องไม่มีองค์กรของรัฐแม้แต่องค์กรเดียวที่จะสามารถใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบและความรับผิด
สอง สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยจะต้องได้รับการรับรองไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้การใช้อำนาจรัฐในทุกเรื่องเป็นไปโดยความเคารพและโดยการให้ความสำคัญแก่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมหรือวัฒนธรรม รวมทั้งการยอมรับว่าบุคคลย่อมเสมอภาคและเท่าเทียมกันโดยไม่มีใครถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกเหยียดหยามหรือถูกทำลายความเป็นมนุษย์ให้ต่ำต้อยลงไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
สาม ระบบสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาศักยภาพของบุคคลจะต้องมีความเท่าเทียม เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การกระจายทรัพยากรที่ดิน การรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เป็นต้น เพื่อให้คนไทยแต่ละคนสามารถสร้างความมั่นคงและมีความสามารถที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระและมีศักดิ์ศรี
สี่ ศาลและองค์กรอิสระจะต้องมีความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมือง การปฏิบัติหน้าที่จะต้องสามารถตรวจสอบได้รวมทั้งมีความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ศาลและองค์กรอิสระมิได้ยึดถือหลักการทางวิชาชีพทั้งนี้ ก็เพื่อให้การทำหน้าที่ชี้ขาดข้อขัดแย้งต่างๆ ของศาลและองค์กรอิสระได้รับการยอมรับจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายในสังคมการเมืองไทย
ห้า อำนาจในการปกครองและการดูแลทรัพยากรธรรมชาติจะต้องกระจายไปสู่ชุมชนและท้องถิ่น โดยให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการบริหารงานในท้องถิ่น ลดบทบาทของระบบราชการส่วนกลางและยกเลิกระบบราชการส่วนภูมิภาค
หก การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องสามารถกระทำได้ตามวิถีทางของระบบรัฐสภาและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และถ้าหากมีบุคคลหรือองค์กรใดจงใจบิดเบือนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็จะต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมายทั้งนี้ รวมถึงการล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยกลไกนอกรัฐสภาที่จะต้องถือว่ามีความผิดร้ายแรงโดยไม่อาจนิรโทษกรรมได้อีกต่อไป
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอประกาศว่ารัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดในการอยู่ร่วมกันในสังคม การร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยและไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลของสังคมไทยย่อมยากที่จะทำให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับในฐานะ “กฎหมายสูงสุด” และถึงแม้ว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วก็ยากที่จะหวังได้ว่าสังคมไทยจะบรรลุถึงความสงบสุขและความเป็นธรรม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอเรียกร้องให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดำเนินไปไปโดยคำนึงถึง “หลักการพื้นฐาน 6 ประการ” ข้างต้นนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น