วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

อัยการสูงสุดสั่งฟ้องอาญา 'ยิ่งลักษณ์' อาจถูกโทษคุก 10 ปี

23 ม.ค. 2558 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนและหนึ่งในคณะทำงานร่วมของฝ่ายอัยการ และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงผลสั่งคดีโครงการรับจำนำข้าวที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ที่มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายในโครงการรับจำนำและระบายข้าวทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 123/1
 
นายสุรศักดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ว่าเมื่อนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุดแจ้งข้อไม่สมบูรณ์พยานหลักฐานแล้ว ต่อมาฝ่าย ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด ได้ตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นเพื่อดำเนินการพิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์นั้น ปรากฏว่าคณะทำงานฝ่ายผู้แทนอัยการสูงสุด และคณะทำงานฝ่ายผู้แทน ป.ป.ช. ได้นัดประชุมพิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ และไปดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ตามข้อไม่สมบูรณ์ที่พิจารณาตกลงกันได้ โดยได้มีการขอเอกสารหลักฐานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอบปากคำพยานบุคคลที่จำเป็นแก่คดีเพิ่มเติมเพื่อให้สิ้นกระแสความ รวมทั้งอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ตามอำนาจหน้าที่ โดยวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานร่วมทั้ง 2 ฝ่ายได้ประชุมเพื่อพิจารณาผลการรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกันแล้วมีความเห็นว่า ได้รวบรวมพยานหลักฐานตามข้อไม่สมบูรณ์ดังที่พิจารณาตกลงกันได้เสร็จสิ้นแล้ว จึงมีมติให้ส่งพยานหลักฐานทั้งหมด เสนอนายตระกูล อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไปตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542
 
นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า นายตระกูล อัยการสูงสุด ได้พิจารณาพยานหลักฐานที่คณะทำงานร่วม ส่งมา ประกอบพยานหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว เห็นว่า คดีมีความสมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีอาญาฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ จึงจะให้ฟ้องคดีอาญาตามข้อกล่าวหาต่อไป ซึ่งอัยการสูงสุด จะตั้งคณะทำงานอัยการขึ้นมาเพื่อร่างฟ้องและตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่มีกว่า 4,000 หน้า ให้เสร็จสมบูรณ์ เพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกา ฯ โดยคาดว่าจะเวลาประมาณ 1 เดือนไม่เกินเดือน มี.ค.นี้ ขณะที่อัยการสูงสุด จะประสาน ป.ป.ช.ให้นำตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาฟ้องคดี แต่หากไม่ได้ตัวมาฟ้องนั้น ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2553 ข้อ 8 ระบุว่า หากได้ตัวมาศาลในวันฟ้อง ก็ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เป็นผู้พิจารณาในการขังหรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว
 
แต่หากไม่ได้นำตัวมาศาล ให้โจทก์ระบุที่อยู่จริงของจำเลยมาในฟ้องด้วย ทั้งนี้เพื่อที่ศาลจะหมายเรียกให้ผู้นั้นมาศาลในกำหนดวันนัดพิจารณาตามกฎหมาย ส่วนการยื่นฟ้องอัยการจะคัดค้านการให้ประกันตัวหรือไม่ ยังไม่ได้หารือต้องรอให้คณะทำงานพิจารณาต่อไป แต่ถ้ายื่นฟ้องถือเป็นอำนาจและดุลยพินิจของศาลฎีกาฯ ว่าจะให้ประกันหรือไม่
 
เมื่อถามถึงกรณีที่นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการ เคยให้ข่าวว่าสำนวนยังไม่ได้ข้อสรุปแสดงว่ามีความขัดแย้งกันในคณะทำงานร่วมหรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณาสำนวนคณะทำงานร่วมได้เห็นชอบแล้ว และรายงานผลให้อัยการสูงสุดรับทราบหมดแล้ว ซึ่งคณะทำงานได้ตรวจสอบพิจารณาพยานหลักฐานขั้นสุดท้ายในสำนวนคดีก่อนส่งความเห็นให้อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งคดี โดยอัยการสูงสุด ได้เซ็นคำสั่งฟ้องแล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (23 ม.ค.) ซึ่งฐานความผิดเป็นไปตามข้อกล่าวหา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 123/1 ซึ่งอัตราโทษตามกฎหมายดังกล่าว กำหนดจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี
 
เมื่อถามว่า วันนี้ ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเพิ่มเติมแล้วอัยการ ได้พิจารณาหรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา เคยยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาโดยอัยการสูงสุดได้พิจารณาไปแล้ว ส่วนที่ยื่นอีกครั้งในวันนี้ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาแล้ว เนื่องจากได้ยื่นภายหลังที่อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องแล้ว โดยอัยการสูงสุดให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
 
เมื่อถามว่า การสั่งฟ้อง สอดคล้องกรณีที่ สนช. นัดประชุมเพื่อลงมติการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายก ฯ จากตำแหน่งหรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะคดีอัยการสูงสุดพิจารณาไปตามพยานหลักฐานในสำนวน
 
"อัยการสูงสุดเห็นว่าพยานหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจึงได้มีคำสั่งดังกล่าว โดยอัยการพิจารณาสำนวนคดีอย่างรอบคอบ รวดเร็ว และเป็นธรรม" นายสุรศักดิ์ กล่าวย้ำ
 
เมื่อถามว่า การที่อัยการเลื่อนเวลาแถลงผลสั่งฟ้องคดีเร็วขึ้น เป็นการเทน้ำหนักใ ห้ สนช.ในการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้อง โดยอัยการสูงสุดมีภารกิจจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ จึงลงนามคำสั่งฟ้องและนัดแถลงข่าวเช้าวันนี้ เมื่อถามว่า หากระหว่างการฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปต่างประเทศ อัยการจะมีแนวทางป้องกันไม่ให้หลบหนีเหมือนอย่างไร นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องในอนาคต ขณะนี้คดียังไม่เข้าสู่ศาลฎีกาฯ แต่หากเป็นเช่นนั้น ตามกฎหมาย อัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อติดตามตัวต่อไป
 
เมื่อถามว่า อัยการจะพิจารณารนำสำนวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พร้อมพวกรวม 23 ราย ที่ ป.ป.ช.เพิ่งชี้มูลความผิด รวมกับสำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีข้อเท็จจริงเชื่อมโยงกันหรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สำนวนคดีของนายบุญทรง กับพวกนั้น ป.ป.ช.ยังไม่ได้ส่งมาให้อัยการ แต่หากข้อเท็จจริงของทั้งสองสำนวนมีประเด็นเกี่ยวพันกัน ก็อาจจะรวมเป็นสำนวนคดีเดียวกัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ก่อนที่อัยการจะแถลงข่าวถึงผลการสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรากฏว่าเมื่อเวลา 08.45 น. นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดเพิ่มเติมอีก
 
ขณะที่นายนรวิชญ์กล่าวว่า การยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมวันนี้ เพราะเห็นว่า เร่งสั่งคดี และยังสอดคล้องกับที่ สนช.จะลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันนี้อีก ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงขั้นตอนหากมีการยื่นฟ้องคดีด้วยว่า หาก อัยการสูงสุดยื่นคำฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ แล้ว นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา จะเรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมดภายใน 14 วันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 เพื่อเลือกผู้พิพากษา 9 คนเป็นองค์คณะรับผิดชอบคดี และเลือกผู้พิพากษา 1 คนในองค์คณะเป็นเจ้าของสำนวนคดี ก่อนที่ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาหรือไม่ โดยศาลจะพิจารณาจากรายละเอียดการบรรยายฟ้องว่าคดีอยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลฎีกาฯ หรือไม่ หากศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้วก็จะมีหมายเรียกจำเลย ให้มาศาลในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกที่จะกำหนดนัดภายใน 45 วันนับจากวันที่รับฟ้อง เพื่อสอบคำให้การจำเลย ซึ่งจำเลยจะต้องเดินทางมาศาลด้วยตนเอง และเมื่อตกเป็จำเลยแล้ว ก็จะต้องยื่นคำร้องเพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ขณะที่ศาลจะพิจารณาให้ประกันหรือไม่และกำหนดเงื่อนไข เช่นการห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล หรือไม่ ถือเป็นดุลยพินิจของศาล
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น