วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

ชาวบ้านไม่รับร่าง พ.ร.บ. แร่ฉบับ คสช



เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เรียกร้องให้ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายแร่ฉบับ คสช. เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
 
23 ม.ค. 2558 เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองได้ยื่นหนังสือให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายทำหน้าที่ในการยกร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ....  คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงแต่งตั้งอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแร่และพลังงาน  เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติแร่ที่เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองในภาคต่างๆ โดยมีหลักการที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ บำรุง การใช้ประโยชน์และการกำหนดให้มีกองทุนศึกษาพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง
 
โดยเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ที่ผ่านมาจึงได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน พร้อมด้วยการเปิดโต๊ะแถลงข่าว รวมทั้งจะมีการยื่นหนังสือต่อคณะรัฐมนตรี คสช. ของเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ โดยมีข้อเรียกร้องที่สำคัญคือการขอให้ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายแร่ฉบับ คสช. เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
 
แถลงการณ์
ข้อเสนอความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....
วันที่ 22 มกราคม 2558
ณ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชั้น 16 อาคารซอฟท์แวร์ปาร์ค 
 
 
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และขณะนี้ร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายได้ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วพบว่าเนื้อหามีลักษณะในการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการสำรวจและทำเหมืองแร่มากยิ่งกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และชุมชนที่จะได้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ และคำนึงถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากยิ่งกว่าการสงวนหวงห้ามและคุ้มครองพื้นที่ที่สำคัญต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงมิได้คำนึงถึงสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งๆ ที่ชุมชนและประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรแร่และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โดยตรง
 
และในวันนี้คณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติแร่ขึ้นมาโดยได้นำข้อคิดเห็นจากภาคประชาชนเข้ามาประกอบการยกร่าง ด้วยเนื้อหาที่มีมีลักษณะในการคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน การมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน การมีแผนบริหารจัดการแร่แห่งชาติที่สอดคล้องกับรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม การสงวนหวงห้ามและคุ้มครองพื้นที่โดยการห้ามสำรวจและประกอบกิจการในพื้นที่ป่าสงวน เขตอุทยานแห่งชาติ แหล่งมรดกทางธรรมชาติ เขตพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม และการสำรวจแร่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองที่ดิน เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับกระทรวงอุตสาหกรรม
 
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายจึงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....ของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งในประเด็นการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในการยกร่างและเนื้อหาของร่างดังกล่าว อีกทั้งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปฏิรูปและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นการพิจารณาออกกฎหมายซึ่งมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิเสรีภาพของประชาชนควรที่จะรอให้มีรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงเสียก่อน รวมถึงต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงก่อนการพิจารณาร่างกฎหมายแร่ดังกล่าว
 
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายตามรายชื่อด้านท้ายหนังสือฉบับนี้ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
 
  • 1. ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... โดยนำความคิดเห็นของภาคประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เข้าไปพิจารณาร่วมด้วย
  •  2. ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งคณะทำงานร่วมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ทั้งสองฉบับ (ร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับกระทรวงอุตสาหกรรม และร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย) โดยประกอบไปด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกา  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาคประชาชน ในการพิจารณาทบทวนเนื้อหาโดยละเอียด 
  •  3. หลังจากดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว ขอให้รัฐบาลชะลอการเสนอร่างพระราชบัญญัติแร่  ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาที่มีที่มาจากตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง 
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย ประกอบด้วย :
 
  • 1) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  
  • 2) กลุ่มคนรักบ้านเกิด กรณีเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย
  • 3) กลุ่มคนรักบ้านเกิดอุมุง กรณีเหมืองแร่เหล็ก อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
  • 4) กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
  • 5) กลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและการจัดการทรัพยากรแร่ จังหวัดนครราชสีมา
  • 6) กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
  • 7) กลุ่มรักทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  • 8) กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
  • 9) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยม แม่ตาว จ.ตาก
  • 10) กลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง
  • 11) กลุ่มป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได
  • 12) กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นบ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
  • 13) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
  • 14) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก
  • 15) เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง 
  • 16) เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ  จังหวัดสงขลา
  • 17) โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
  • 18) ชุมชนลุ่มน้ำสรอย จ.แพร่
  • 19) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
  • 20) ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ(ศสส.)อีสาน
  • 21) ศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น