วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

'ประยุทธ์' เตือนพิธีกรทีวีอย่าจี้ถามเด็ก 'บัญญัติ 12 ประการ' ให้เกิดการต่อต้าน

รายการคืนความสุขให้คนในชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือสื่ออย่าจี้ถามค่านิยม 12 ประการต่อเด็ก โดยเฉพาะช่องโทรทัศน์ของราชการหรือช่องที่ใช้เงินของราชการ ระบุอย่าเอาไปถามให้เกิดการต่อต้านขึ้นมาเลยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยเพราะเหนื่อยกันเปล่า
 
23 ม.ค. 2558  ในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 23 มกราคม 2558 เวลา 20.15 น. ช่วงหนึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าเรื่องการทำงานของรัฐบาลในวันนี้ กราบเรียนว่าทุกอย่างนั้นก็กำลังขับเคลื่อนไป ทุกอย่างไปเวลาเดียวกัน ในเมื่อปัญหามาก ๆ เราก็ต้องช่วยกันรู้ปัญหาว่า ตรงไหนเป็นปัญหาของรัฐ อันไหนเป็นปัญหาของกฎหมาย อันไหนเป็นปัญหาของประชาชนที่เห็นต่าง ก็ต้องไปแก้ในช่องทางที่เขามีอยู่ ถ้านำสิ่งนี้มาโยง เอาอันนี้มาพัน ก็ไปไม่ได้หมด และทำให้เราเสียเวลาในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชน ผมเห็นพี่น้องประชาชนลำบาก เอาเรื่องแก้ปัญหาท้องอิ่มกันก่อนดีกว่าหรือไม่ แล้วนำเรื่องของการจะสร้างความเข้มแข็งอย่างไรในภาคเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ขับเคลื่อน ก็มีเงินใช้จ่าย เศรษฐกิจประเทศก็ดีขึ้น การค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านก็ดีขึ้น การท่องเที่ยวก็ดีขึ้น แต่ถ้าเรายังขัดแย้งกันอยู่ การท่องเที่ยวก็ไม่ดี ลดลง ความเชื่อมั่นก็ลดลง เรื่องความขัดแย้งทั้งหมดไม่มีผลดีอะไรกับใครเลย ก็ให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมว่ามา ถ้ามีปัญหาตรงไหนมา ก็ว่ามา รายงานเข้ามา ผมก็จะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตรวจสอบให้ทั้งหมด คราวนี้ถ้าบางอย่างผมก็ตอบเองไม่ได้ บางอย่างก็ไปเข้าสู่ขั้นตอน เข้าสู่หน่วยงาน เข้าสู่ช่องทางของเขามา ถามผมทุกเรื่องบางครั้งก็อารมณ์เสียอยู่เหมือนกัน ก็ต้องขอโทษด้วย ไม่ได้เจตนา ก็ขอความร่วมมือจากสื่อต่าง ๆ
 
"อะไรที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลขอความร่วมมือก็ช่วยขยายให้เราหน่อย อย่างเช่น ค่านิยม 12 ประการ ก็เห็นมีไปถามเด็กแต่ละพวกแต่ละคนว่า จำได้ไหม ท่องได้หรือเปล่า คือไปสร้างสิ่งที่ต่อต้าน ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น ผมไม่ได้ไปบังคับใคร แต่อย่างน้อยก็มีสิ่งที่คิด ที่ติดอยู่ในตัว ติดอยู่ในหัวก็เกิดประโยชน์กับตนเอง ผมชื่นใจที่มีเด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ ตอบได้ ผู้ใหญ่ตอบไม่ได้ เด็กโต ๆ ตอบไม่ค่อยได้ แต่เด็กเล็ก ๆ ท่องได้คล่อง แล้วเขาถามกลับไปว่าเข้าใจไหม เขาบอกเข้าใจ แล้วดีไหม เขาก็ว่าดี ดีกว่าไม่ได้คิดอะไรไม่ใช่หรือ อย่างน้อยก็เป็นการเตือนสติ เตือนให้เด็กรักพ่อแม่ มีความกตัญญู สิ่งเหล่านี้บางทีก็ไม่มีเวลาสอนเหมือนกัน ให้คิดเองคิดไม่ได้ บางครั้งก็ลืม ๆ แล้ววันนี้ถูกป้อนเข้ามาด้วยหลาย ๆ เรื่อง ทั้งการศึกษา สื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ละครมากมายไปหมด ก็ใส่อะไรที่ดี ๆ เข้าไปบ้าง"
 
"เพราะฉะนั้น สื่อทุกช่อง ทุกสื่อ อะไรที่เป็นสิ่งที่ดีอย่าเอาไปถามให้เกิดการต่อต้านขึ้นมาเลย ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เพราะเหนื่อยกันเปล่า ๆ ผมไม่เห็นประโยชน์เลย แล้วบอกว่าให้เขาคิดดูว่าจะเกิดประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์ เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปถามแบบนั้น นี่คือเป็นสิ่งที่อยากจะให้ผู้จัดรายการ พิธีกร ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่องโทรทัศน์ของราชการหรือช่องที่ใช้เงินของราชการ ไปดูด้วยว่าควรจะทำตัวอย่างไร ผมไม่ได้ไปบังคับหรือกำกับอะไรท่านมากมายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จะพิจารณาดูแลกันไปให้เหมาะสม ก็ฝากไว้ด้วย"
 
โดยรายละเอียดทั้งหมดของรายการมีดังต่อไปนี้
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 23 มกราคม 2558 เวลา 20.15 น.
 
สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกคน
 
สัปดาห์นี้ มีเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและสังคมอยู่หลายเรื่อง เรื่องใดที่อยู่ในกระบวนการของผู้ที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกระบวนการยุติธรรมนั้น ผมอยากให้ผู้ที่มีหน้าที่และมีความรับผิดชอบโดยตรงนั้น ได้ดำเนินการไปจนกว่าจะจบกระบวนการ ประชาชนอย่างพวกเราก็เพียงแต่ติดตามอย่างมีสติ มีเหตุ มีผล ใช้สติปัญญาความรู้ ใคร่ครวญให้ถูกต้อง อย่าให้ทุกอย่างต้องเป็นอุปสรรคกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งในภาคใหญ่ของประเทศ และปัญหาของประชาชนในส่วนของภาคการเกษตร และอื่น ๆ ด้วย ก็มีประชาชนเดือดร้อนอยู่หลายส่วนด้วยกัน
 
สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคประชาสังคม และอื่น ๆ นั้น รัฐบาลเราพร้อมจะรับฟัง แต่ท่านก็ต้องรับฟังจากฝ่ายรัฐบาลด้วย เอาข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์มาโต้แย้งกัน อย่างมีหลักการและเหตุผล หากมีข้อมูลชัดเจนกว่า ไม่ใช่เป็นแต่เพียงคำบอกเล่า หรือพิสูจน์ไม่ได้มาพูดคุยมันก็ไปกันไม่ได้ หากข้อมูลดีกว่าของรัฐบาล รัฐบาลก็พร้อมที่จะนำมาแก้ไขและปรับปรุง
 
สำหรับรัฐบาลนั้น ปัจจุบันยังคงเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนทุก ๆ เรื่อง อาทิ ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ ที่ประสบปัญหาน้ำทะเลหนุน ซึ่งผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุดไปแล้ว และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้กับชาวสวนกล้วยไม้ บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ในลักษณะ “ตลาดนัดกล้วยไม้” ริมคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตกล้วยไม้ ให้มีช่องทางการค้าขายและการโปรโมทผลผลิต ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นโครงการนำร่อง รัฐบาลก็อยากจะให้มีการขยายผล การจัดตลาดนัดชุมชนในลักษณะเช่นนี้ ไปที่อื่น ๆ ด้วย   สำหรับสินค้าการเกษตรอื่น ๆ ก็อยากให้มีช่องทาง ในการจัดจำหน่ายของพี่น้องเกษตรกรโดยตรงต่อไป ขอให้ทุกภูมิภาคได้ดำเนินด้วย
 
ในเช้าวันที่ผมได้ไปเปิดงานกล้วยไม้นั้น ก็ได้เห็นคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งมีน้ำที่สะอาด และมีพื้นที่ที่ว่างอยู่พอสมควร ข้างทำเนียบรัฐบาล มีบรรยากาศที่ดี ก็คิดว่าประเทศไทยน่าจะมีสถานที่ และสิ่งสวยงามที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก และมีความเป็นเอกลักษณ์ ทำอย่างไรให้สวยงามมากยิ่งขึ้น เกิดประโยชน์ มาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนเหล่านั้น ผมได้สั่งการให้ทดลองจัดตลาดน้ำบริเวณข้างคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อจะจำลองวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของพี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ และเพื่อให้มีนักท่องเที่ยวนั้นนำรายได้มาสู่ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย และเป็นช่องทางให้พ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบพื้นที่การจราจรได้เข้ามาค้าขายลักษณะเช่นนี้ อาจจะไม่ใช่พื้นที่นี้ทั้งหมด ก็พื้นที่อื่น ๆ ด้วยก็ได้ ล่าสุดทราบจากคณะทำงานที่สั่งงานไปแล้วว่าจะเริ่มเปิดได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ควบคู่ไปกับตลาดกล้วยไม้ไปด้วย ก็ทดลองดู อยากให้พี่น้องประชาชนได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ และนำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อื่น ๆ อันนี้เป็นความคิดที่ผมคิดนำร่องเท่านั้นเอง ก็ไปเริ่มต้นในที่อื่น ๆ ที่เดียวคงไม่พอ
 
สำหรับในช่วงนี้ ห้วงเดือน มกราคม – เมษายน ของทุกปีก็เข้าสู่ปัญหาเรื่องไฟป่าและหมอกควันเหมือนเดิม  สาเหตุหลักเกิดจากวิถีชีวิต ที่เราก็ต้องควรจะปรับพฤติกรรม ในเรื่องของการกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตร ในการที่จะเตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่ ด้วยวิธีการเผา ซึ่งวันนี้อาจละเลย ไม่ควบคุม จนลุกลามเป็นไฟป่า ปัจจุบันผมได้รับรายงานพื้นที่เกิดไฟป่าที่เกิดจากการจุดเผากว่า 700 จุดในภาคอีสานและภาคเหนือ ทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนด้วย ซึ่งเป็นแอ่งกระทะ กลุ่มควันก็ลอยค้างอยู่ปกคลุมในพื้นที่มาเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ระบบทางเดินหายใจและการมองเห็น ลดทัศนวิสัยการใช้รถใช้ถนนด้วย เพื่อให้เป็นมาตรการเชิงรุก รัฐบาลก็ให้ 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ได้ลงดูพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรและผ่านเครือข่ายชุมชน ถึงสาเหตุไฟป่า หมอกควัน ผลกระทบ และได้แนะนำ ส่งเสริมวิธีการกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตร ด้วยการทำปุ๋ยอินทรีย์ หรือการใช้ประโยชน์อื่น ๆ แทนการเผา รวมทั้งการจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการ สั่งการ และประสานงานการปฏิบัติ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน” สำหรับเพื่อการเตรียมแผน มีการซักซ้อมแผนการปฏิบัติ รับมือกับไฟป่าด้วย คงต้องร่วมมือกันหลายส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และพี่น้องเกษตรกร เท่าที่ผมทราบปัญหาอย่างหนึ่งคือการไถ การใช้รถไถต่าง ๆ ราคาในเรื่องของการไถ การใช้รถไถต่าง ๆ ราคาในการไถในกรณีที่มีซังข้าว หรือวัสดุพืชไร่อยู่ ถ้ามีอยู่ราคาก็สูง ถ้าเผาไปแล้วราคาค่าจ้างไถก็จะถูกลง เพราะฉะนั้นคงต้องไปหารือกันในทุกส่วนว่าจะทำกันอย่างไร
 
ส่วนของการปฏิบัติงานที่สำคัญที่ผ่านมาของรัฐบาลมีความคืบหน้า ดังต่อไปนี้
 
เรื่องแรกคือ การค้ามนุษย์ หรือการแก้ไขปัญหาการประมง ที่มีเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายของต่างชาติ เรื่อง TIER เรื่อง IUUคณะอนุกรรมการด้านสตรี ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมอีก 3 แนวทาง ซึ่งรวมถึงงานป้องกัน ได้แก่ การทบทวน MOU ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสตรี ความเข้มงวดในการตรวจสถานบริการที่เป็นจุดเสี่ยงกว่า 30 จังหวัด และการสกัดกั้นตามแนวชายแดน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยจะมีการเอาผิดต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้วย โดยจะเพิ่มเจ้าหน้าที่สอบสวนสตรีอีก 70 คน เพิ่มล่ามแปลภาษาเพื่อช่วยในการสอบสวนและคัดกรองอีก 110 คน ตลอดจนการเยียวยาผู้เสียหาย ทั้งนี้ ได้เตรียมพื้นที่รองรับหลังการคัดกรองแล้ว เพื่อจะใช้ในการควบคุมทั้ง 8 แห่งและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลให้ได้ตามมาตรฐาน ล่าสุด ดีเอสไอ สามารถจับกุมผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ได้ 2 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงคนไทยทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่ำกว่า 18 ปี ไปทำงานในเรือประมงน่านน้ำอินโดนีเซีย และได้ออกหมายจับเพิ่มเติม ในจำนวนนี้ 4 คดี สำหรับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้ทำเอกสารชี้แจงไปยังองค์กรระหว่างประเทศเรื่องความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาภายในเดือนมกราคมนี้
 
การดำเนินการจดทะเบียนเรือประมงให้ครบทุกลำ ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเล และจะต้องมีการออกใบอนุญาตการทำประมงให้ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมานั้นมีเรือประมงที่          จดทะเบียนไว้แล้วจำนวน 46,467 ลำ สำหรับจังหวัดชลบุรี จะได้มีการตระเวนไปยังท่าเทียบเรือต่าง ๆ รวม 13 จุดเพื่อดำเนินการจดทะเบียนเรือประมงให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด
 
สำหรับเรือประมงมีจำนวนมากกว่านี้มาก แต่ที่จุดทะเบียนไม่ได้ อะไรไม่ได้ เพราะว่ายังทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพของเรือ ความพร้อมของเครื่องมือในการจับปลาต่าง ๆ ยังไม่ได้มาตรฐานทั้งสิ้น เหล่านี้ต้องรีบปรับปรุง ถ้าปรับปรุงแล้วก็ขึ้นทะเบียนได้ ขนาดของเรือ เรือเล็ก เรือใหญ่ ต่าง ๆ ก็ต้องทำให้เรียบร้อยในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วประชาชน หรือผู้ประกอบการก็ต้องร่วมมือด้วย
 
เรื่องปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย ในเวลานี้ รัฐบาลได้ดำเนินการพร้อม ๆ กัน ทั้งการป้องกันและปราบปรามเครือข่ายภายในประเทศ ในพื้นที่เป้าหมาย ชุมชนเสี่ยงเขตเมือง โรงเรียน เรือนจำ และการสกัดกั้นการลักลอบมาจากภายนอกประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน ชายแดน แหล่งผลิต ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินการร่วมกับเมียนมาร์ – ลาว - กัมพูชา – เวียดนาม ในเรื่องนี้ด้วย และในขณะนี้ทางรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ก็กำลังเดินทางไปประชุมความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติอย่างยั่งยืน และได้จัดทำแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย ทำอย่างไรให้ปลอดภัยในเรื่องของการสัญจรไป-มา ค้าขาย
 
ระยะที่ 2 กำหนดให้มีปฏิบัติการระหว่างวันที่ 12 มกราคม 2557 – 12 มีนาคม 2558 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพหลักในการปฏิบัติการร่วมกับ สาธารณรัฐประชาชนจีน  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และกองทัพเรือ โดยดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (SMCC) ขึ้น เพื่อบูรณาการหน่วยงานเข้าร่วมปฏิบัติการตามภารกิจและพื้นที่รับผิดชอบ 6 ภารกิจด้วย คือ การตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด การปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายตามลำน้ำโขง การลาดตระเวนทางน้ำและทางบกตามลำน้ำโขง โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญ การลาดตระเวนทางน้ำในเวลาเดียวกันให้สอดรับกันทั้ง 4 ประเทศ การสืบสวนหาข่าวและปฏิบัติการต่อกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ชายแดน เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติการปราบปรามสกัดกั้นยาเสพติด การติดตามบุคคลตามหมายจับคดียาเสพติดที่หลบหนีในประเทศและต่างประเทศ ต้องทำไปพร้อมกัน ทั้งการป้องปราม ป้องกัน และปราบปราม และฟื้นฟูด้วย
 
การจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะ
 
ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ชายหาดที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ตราด และภูเก็ต เพื่อคืนพื้นที่ชายหาดให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ทำให้มีคนเดินทางไปพักผ่อนบริเวณชายทะเลเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ได้รับคำชมเชย ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจในพื้นที่โดยรอบ และที่สำคัญก็ทำให้การดูแลรักษาความสะอาด และความปลอดภัยทำได้สะดวกมากขึ้น ดูแลผู้ประกอบการค้าให้เหมาะสมด้วย ว่าทำอย่างไรเขาจะไม่เดือดร้อน หรือลดความเดือดร้อนได้บ้าง ก็เห็นใจ
 
การจัดระเบียบแท็กซี่ ในส่วนของการให้บริการบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีปัญหามาโดยตลอด ได้ให้มีการนำเอาระบบเทคโนโลยีสารเทศเพื่อการบริการจัดการรถแท็กซี่ KIOSK ซึ่งจะมีการติดตั้งตู้ KIOSK ในการออกบัตรคิวให้บริการรถแท็กซี่ จึงจะทำให้รถแท็กซี่ทุกคันนั้น ไม่สามารถเลือกรับผู้โดยสารได้ และได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันรถแท็กซี่ มีมาตรการในการลงโทษ ไม่ให้มีการเรียกเหมาราคาหรือเลือกรับ ไม่รับผู้โดยสารเกิดขึ้นอีก ตั้งจุดตรวจสอบรถแท็กซี่ทุกคันที่รับผู้โดยสาร ทั้งนี้ต้องเปิดมิเตอร์ ให้การบริการเมื่อวานนี้ ได้ข่าวว่ามีการปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง ผู้โดยสารจะต้องเป็นผู้เก็บตั๋วโดยสารไว้ตรวจสอบ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่เก็บไปโดยเด็ดขาด จุดดังกล่าวตั้งอยู่ที่บริเวณชานชาลาอาคารผู้โดยสารชั้น 1 ประตู 8 ซึ่งได้เริ่มให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา ก็ขอร้องแท็กซี่ ขอร้องทุกคนอย่าให้เสียชื่อกับการท่องเที่ยว หรือเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้โดยสารไทยและชาวต่างชาติด้วย อันนี้อยากจะรวมความไปถึงแท็กซี่ทุกคัน
 
ตั้งแต่ คสช. เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาการจัดระเบียบรถตู้สาธารณะ-วินมอเตอร์ไซค์-แท็กซี่มิเตอร์ ในห้วง 7 เดือนที่ผ่านมา ยังคงมีกลุ่มผลประโยชน์พยายามกลับเข้ามา ได้สั่งการให้ดูแลอย่างต่อเนื่อง ให้ คสช. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหมั่นตรวจตรา อย่าให้มีปัญหาในการเรียกเก็บค่าหัวคิว อย่างไรก็ตามพี่น้องประชาชนก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลแจ้งเบาะแสให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้วย
 
การแก้ปัญหาการบุกรุกป่าสงวน และการจัดสรรที่ดิน
 
ในเรื่องนี้ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้อธิบดีกรมป่าไม้ (นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ) ได้ดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติงานเชิงพื้นที่ ให้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการปฏิบัติงาน เป็น (Area of Operation:AO) และออกปฏิบัติการเพื่อดูแลพื้นที่ป่าและยึดคืนผืนป่าที่นายทุนครอบครองคืน ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่ AO 1 หมายถึง พื้นที่เป้าหมายที่คดีถึงที่สุดแล้ว พื้นที่ AO2  หมายถึง พื้นที่เป้าหมายที่อยู่ระหว่างกระบวนการยุติธรรม พื้นที่ AO3 หมายถึง พื้นที่เป้าหมายที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมาย ก็ให้ความเป็นธรรมกับทุกส่วน ได้เริ่มดำเนินการใน ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม - 21 มกราคม 2558 มีผลการดำเนินงานดังนี้ พื้นที่เป้าหมาย AO1 จำนวน 8,000 ไร่ ดำเนินการแล้ว จำนวน 5,090 ไร่  พื้นที่เป้าหมาย AO2 จำนวน 15,000 ไร่ ดำเนินการแล้ว จำนวน 3,132 ไร่  พื้นที่เป้าหมาย AO3 จำนวน 105,000 ไร่ ดำเนินการแล้ว อยู่ในขั้นตอนการพิสูจย์สิทธิ์ จำนวน 5,854 ไร่
 
สถิติการดำเนินคดีเกี่ยวกับป่าไม้ในปีงบประมาณ 2558 มีดังนี้
 
คดีบุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน 676 คดี ผู้ต้องหา 170 คน มีพื้นที่ถูกบุกรุกยึดคืนจำนวน 20,716 ไร่ มีคดีไม้  จำนวน 1,054 คดี ผู้ต้องหา 420 คน ปริมาตรไม้ของกลางที่ตรวจยึดได้จำนวน 1,818.80 ลูกบาศก์เมตร
 
เรื่องการจัดที่ดินทำกิน เราจะจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ก็ได้กำหนดเป้าหมายในการจัดที่ดินทำกินในปี 2558 ให้กับราษฎร จำนวน 63,000 ราย และกำหนดเป้าหมายการตรวจสอบการถือครองในเขตปฏิรูปที่ดินในด้านสิทธิและการทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรที่ได้รับสิทธิจำนวน 12.33 ล้านไร่ 1,024,044 แปลง  ในปีที่ผ่านได้เห็นชอบให้ดำเนินการจัดสรรที่ดินจำนวน 58,000 ไร่ ให้กับราษฎร จำนวน 9,000 ราย ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ มุกดาหาร ชุมพร นครพนม
 
เรื่องของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
 
ขณะนี้ มี ร่าง พ.ร.บ. ที่เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ แล้ว จำนวน 181 ฉบับ  ร่าง พ.ร.บ. ที่ กฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วเสร็จและอยู่กับหน่วยงาน จำนวน 19 ฉบับ  นอกจากนั้นก็ยังมีร่าง พ.ร.บ. ที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องเตรียมการเสนอ ครม. และ พ.ร.บ. ใหม่ที่อยู่ระหว่างการศึกษาเตรียมยกร่างอีก จำนวน 144 ฉบับ เรื่องกฎหมายนี้คงต้องช่วยกันให้เกิดขึ้นมาให้ได้แล้วก็แก้ไขปรับปรุงก็ว่ากันมาให้เรียบร้อย
 
เรื่องความคืบหน้าการปรับปรุงและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
 
ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ได้มีการเตรียมการประชุมฝ่ายไทยสำหรับการประชุมร่วมไทย - จีน ครั้งที่ 1 ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในเส้นทางหนองคาย – นครราชสีมา – แก่งคอย -ท่าเรือมาบตาพุด และกรุงเทพ - แก่งคอย ที่ได้มีการลงนาม MOU กับจีนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ก็จะมีการลงพื้นที่สำรวจศึกษาออกแบบก่อสร้างในวันที่ 1 มีนาคมนี้ แผนการก่อสร้างตามที่ตกลงกันไว้นั้น จะแย่งเป็น 4 ช่วงด้วยกัน ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร (กม.)  ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ - แก่งคอย ระยะทาง 133 กม.  ช่วงที่ 2 แก่งคอย - มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม.  ช่วงที่ 3 แก่งคอย -นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม. และช่วงที่ 4 นครราชสีมา - หนองคาย 355 กม. ทั้งนี้ เราคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างงานโยธาในวันที่ 1 กันยายน 2558  ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ก็ได้เตรียมการสำหรับการพัฒนาเส้นทางเพิ่มเติมในการเจรจาการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่กับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผมจะเดินทางไปพบปะกับผู้นำประเทศญี่ปุ่นในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้  เพื่อแสวงหาความร่วมมือร่วมกัน
 
สำหรับในส่วนของการพัฒนารถไฟฟ้านั้น คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้า อาทิ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แล้วก็เร่งดำเนินการในส่วนที่ยังไม่เรียบร้อย ทุกเส้นทางให้ได้ข้อยุติโดยเร็วด้วย
 
เรื่องของการท่องเที่ยว
 
จากการจัดงาน "ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 และเทศกาลเที่ยวเมืองไทย" เพียง 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 – วันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้ชมงานทั้งสิ้น 613,325 คน (เพิ่มขึ้น 220% จากการจัดงานปี่ที่แล้ว ที่ผ่านมา) มีเงินหมุนเวียนในงานฯ 229 ล้านบาท มีการเดินทางผ่านทางท่าอากาศยาน - ดอนเมืองเติบโต 49% เชียงใหม่เติบโต 43% และสุวรรณภูมิเติบโต 11% ในเพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวปี 58 มีแนวโน้มฟื้นตัว ในช่วงวันที่  1 – วันที่ 18 มกราคม 2558 มีจำนวน 1.48 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12 % เราได้จัดตั้งคณะกรรมการท่องเที่ยวระดับนโยบายและอนุกรรมการขับเคลื่อนในแนวใหม่ เพื่อเป็นการบูรณาการการท่องเที่ยวของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เกิดเป็นความเชื่อมโยง   ซึ่งกันและกัน
 
เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ
 
อันนี้ถือว่าเป็นนโยบายหนึ่งที่จะส่งเสริมในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคของเราได้อย่างยั่งยืน เป็นการเพิ่มมูลค่าในการค้าขายระหว่างกัน ปัจจุบันนั้นประเทศไทยมีเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดนที่สำคัญถึง 13 จุด  คิดเป็นมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันเกือบ 8 แสนล้านบาทต่อปี  แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้น ที่มีการค้าขายนั้นยังไม่เพียงพอ รัฐบาลก็จึงได้มีนโยบายที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้นที่เรามีโอกาสอยู่แล้วให้เป็นฐานการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและภูมิภาค  โดยจะพัฒนาให้มีระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงทั่วถึงกัน มีการวางผังเมืองและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งหลายอย่างก็ได้อนุมัติไปแล้วในรัฐบาลนี้ แล้วก็มี 5 พื้นที่หลักในปี 2558 ได้แก่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
 
ทั้งนี้ ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ไปศึกษาเพิ่มเติม สำหรับพื้นที่ที่จะผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะที่ 2 ด้วย ก็จะเป็นชุดเชื่อมผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน แล้วก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้ 5 จังหวัด ได้แก่  เชียงราย หนองคาย กาญจนบุรี นครพนม และนราธิวาส
 
พื้นที่ในจังหวัดเหล่านี้นั้น นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญแล้ว ยังสามารถที่จะพัฒนาพื้นที่ในด้านการลงทุน การท่องเที่ยว ธุรกิจแลกเปลี่ยนสินค้าและอื่น ๆ ด้วย แล้วก็เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ เชื่อมต่อกันในทุกภูมิภาคได้แล้วก็จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยกระจายรายได้  เพิ่มมูลค่าการค้าขายแล้วก็ส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน   ปี 2558 นั้น เราคงนำร่องได้ใน 5 พื้นที่แรกนี้ก่อน คงต้องใช้เวลาเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย การจัดทำผังเมือง การกำหนดระเบียบต่าง ๆ ในช่วงนี้ต้องขอความร่วมมือ ซึ่งภาคเอกชนหลายบริษัทก็พร้อมที่จะมาร่วมลงทุนด้วย เพื่อให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน อาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่คราวนี้เราต้องเร่งให้เกิดให้ได้ ถ้าไม่เกิดปีนี้ปีหน้าก็ช้าไปอีก เพราะฉะนั้นอะไรที่เกิดได้เกิดเลย พื้นที่ตรงไหนจะเอาตรงไหน ตรงไหนมีความพร้อมจะเอาพวงไปก่อนถ้ารองบประมาณที่ต้องปรับสาธารณูปโภคใช้เงินเป็นอีกแสนล้าน ซึ่งผมคิดว่ายังทำไม่ได้ตอนนี้ เพราะฉะนั้น ตรงไหนเกิดได้เกิดก่อนแล้วเราค่อยพัฒนาไปสู่อนาคตให้ได้อย่างรวดเร็ว
 
ในเรื่องสาธารณูปโภคสำคัญก็คือ เรื่องถนนคอขวดอะไรต่าง ๆ วันนี้ก็ได้สั่งการไปแล้วว่าให้กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงได้ไปพิจารณาว่า เส้นทางเชื่อมโยงนี้เราเร่งก่อนได้หรือไม่ ถ้าเราไปดูสิ่งที่ขาดแคลนอยู่หรือสิ่งที่ต้องไปขยายทั่ว ๆ ไปตามหลักการ หรือระเบียบคำสั่งเดิม อะไรเดิม อาจจะต้องปรับใหม่ ไปดูสิว่าเส้นทางเชื่อมโยงจังหวัดต่อจังหวัดพร้อมหรือยัง แล้วก็ไปสู่ด่านตรวจหรือพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษพร้อมหรือยัง ถ้ายังไม่พร้อมก็เอาจากฉบับสำรวจตรงนี้มาก่อน ตรงอื่นก็พิจารณาไปตามความเหมาะสม หรือจัดลำดับความเร่งด่วนในการใช้งบประมาณปีหลังอะไรก็ว่ากันไป อะไรก่อนอะไรหลังทำให้สอดคล้องด้วย
 
นอกจากนั้น สำหรับงานของรัฐบาลและ คสช. ที่ผ่านมานั้น ก็มุ่งเน้นในด้านอื่น ๆ อีกด้วย ในเรื่องการสร้างความเป็นธรรมในสังคม การรักษาความสงบเรียบร้อย และการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์อย่างต่อเนื่อง
 
การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ก็ได้การเร่งรัดการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูสิปัญหาอยู่สิปัญหาอยู่ที่ไหนแล้วจะแก้อะไรให้เร็วที่สุด ให้เกิดความสุขในการเรียน ในการที่จะเตรียมคนไปสู่อนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AEC ในปี 2559 นี้ด้วย
 
เรื่องของการสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตร เราจำเป็นมาก เพราะมีความเดือดร้อนของประชาชนที่มีรายได้น้อย ความมั่นคงของพลังงานของอาหาร  การผลิต การตลาด ความเข้มแข็ง การใช้เทคโนโลยี การตลาดกลางการเกษตร เพิ่มความเข้มแข็งสหกรณ์ การจดทะเบียน การขึ้นบัญชี  ต่าง ๆ เรายังไม่ค่อยเรียบร้อย ผมก็ได้สั่งการให้ทุกหน่วย ทุกกระทรวงได้ดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อจะได้ใช้ในการแก้ปัญหาให้ได้ ถ้าเรายังใช้ปัญหาวิธีเดิมแก้ไม่ได้ยังไงก็แก้ไม่ได้แล้วเราก็ต้องหมดเงินไปมหาศาล ก็เห็นใจพี่น้องชาวเกษตรกร ถ้าผมไม่เห็นใจท่านแล้วจะไปเห็นใจใคร แต่วิธีการแก้ปัญหาก็ต้องใช้เวลา ใช้เงินมหาศาล อันนี้ก็ต้องเข้าใจกัน มาพูดคุยกันว่าอันไหนก่อนอันไหนหลัง ถ้าทั้งหมดพร้อม ๆ กันทุกอย่างไม่ได้หรอก เพราะว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลมีหลายส่วนด้วยกัน
 
เรื่องของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน วันนี้ก็ต้อง  ขับเคลื่อนให้ได้ ก็มีหลายอย่าง ซึ่งมีแนวโน้มที่สูงขึ้นหลายอย่างก็ลดลง ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะส่งเสริมตรงไหนก่อน ตรงไหนควรจะทำต่อไปอะไรที่มีรายได้ สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือเรื่องของธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริการ และการซ่อมแซมอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แต่เกี่ยวกับเรื่องของการเกษตรลดลงมากนี้ แสดงให้เห็นว่าภาคการเกษตรเราไม่เข้มแข็ง เพราะฉะนั้นต้องไปดูมาว่าจะทำอย่างไร
 
อีกเรื่องที่อยู่เป็นอันดับสองก็คือ เรื่องธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องการค้าขนาดเล็กค้าปลีกอะไรทำนองนี้ ก็มีการเจริญเติบโตขึ้นก็คงต้องไปดูกันกำหนดเป้าหมายชัดเจน เราจะแก้ไขตรงไหนอย่างไรจะเข้าถึงกองทุนได้อย่างไร จะแก้กฎหมายตรงไหน ผมว่าต้องกำหนดเป้าหมายชัดเจนในแต่ละเรื่องจะได้จัดลำดับความเร่งด่วนได้ในการเข้ากับไปแก้ปัญหา ไม่เช่นนั้นก็ถ้าเรามองใหญ่อย่างเดียว ตรงกลางตรงเล็กก็ไม่ได้ ถ้ามองรายได้ปานกลาง ผู้มีรายได้น้อยก็ไม่ถึง ก็ต้องไปดูกันให้ถึงข้อสำคัญก็คือว่าทุกคนทุกส่วนต้องร่วมมือกัน และเข้าใจนโยบายของรัฐบาล แล้วก็เผื่อแผ่แบ่งปันกันบ้าง ถ้าทุกคนเอาพร้อมกันไม่ได้ ยังไงก็ไม่ได้ต้องช่วยกัน แล้วก็พ่อค้าคนกลาง วันก่อนเขาให้เรียกมาคุยกันรู้ว่ามีหลายกลุ่ม 10 กลุ่มยอมรับอีก 1 กลุ่มไม่ยอมรับ นี่ก็คือปัญหาอีกแล้วไม่ว่าจะเป็นปาล์ม เป็นยาง ทำไมจะรวมกันไม่ได้ รวมกันเป็นของภาคได้หรือไม่ แล้วก็จดทะเบียนจากรัฐให้เรียบร้อย บางอันก็ไม่ได้จด บางอันก็ทำในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกกฎหมายเหล่านี้ ทำอย่างไรถ้าจะให้เราช่วยก็ต้องมาเข้าระบบ เข้าระเบียบกับเราด้วย ทุกคนจะได้มีรายได้ เราไม่ไปทำร้ายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ากฎหมายก็ต้องใช้ ไม่เช่นนั้นวันข้างหน้าก็ต้องวุ่นวายกันอีก ไม่มีวันจบสิ้น
 
การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ ก็เร่งดำเนินการหมด ปรับปรุงท่าเรือ ปรับปรุงสนามบิน  เรื่องการเจรจาเกี่ยวกับเรื่องการบิน ซึ่งมีผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องของรัฐวิสาหกิจด้วย หลาย ๆ อย่างก็ฟื้นฟูอยู่ อะไรที่ขาดทุนก็ฟื้นฟู ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ต้องรื้อกันทั้งหมด จะเห็นได้ว่างานมีมากในปัจจุบัน
 
เรื่องของการท่องเที่ยว ก็มีความคิดว่าทำอย่างไรเราจะเพิ่มการท่องเที่ยวทางน้ำได้บ้าง เคยเรียนไปแล้ว เรื่องการจัดที่จอดเรือ ท่องเที่ยวต่างประเทศ เรือครูซ เรือยอร์ช เหล่านี้อาจจะไม่มากมายนัก แต่เป็นความคิดใหม่ ๆ ที่อยากให้เป็นรูปธรรมให้มากขึ้น ถ้าเราไม่ปรับตัวเองวันนี้ ไปไม่ได้วันหน้า ทุกอย่างจะถอยหลังไปเรื่อย ๆ ประเทศรอบบ้านเขาพัฒนา แล้วเราไม่พัฒนาได้อย่างไร
 
การท่องเที่ยวทางเรือ วันนี้ก็คุยกับประเทศเวียดนามไว้แล้วว่า ปีหน้าเราจะขับรถไปเที่ยวเวียดนามกันได้หรือไม่ หรือว่านั่งเรือท่องเที่ยวไปบริเวณชายฝั่งก็แวะนั้น แวะนี่ไปเรื่อย ๆ เรือไม่ต้องใหญ่โตมากนัก และไปถึงเวียดนามได้ ก็สัญญากันไว้ว่าจะทำให้ได้ในปี 2558 ก็ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งดำเนินการให้เกิดด้วย
 
นอกจากนั้น การท่องเที่ยวภายในประเทศ ก็เช่นเดียวกัน อยากจะใช้คำว่า  “ไทยเที่ยว และ เที่ยวไทย” ผมคิดง่าย ๆ ไทยเที่ยวก็คือคนไทยก็เที่ยว เที่ยวที่ไหนก็เที่ยวไป จะเที่ยวที่ไหนก็ตามความสมัครใจ และเที่ยวไทย คือ ต่างประเทศก็มาเที่ยวประเทศไทย ใช้คำง่าย ๆ เหล่านี้ก็น่าจะสร้างความรับรู้ให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้ประกอบการ ผู้ท่องเที่ยว เป็นห่วงโซ่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้ามาดูแลให้ปลอดภัย เมื่อวานก็มีการประชุมกันหลาย ๆ เรื่อง เรื่องของการท่องเที่ยว มีจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวให้ชัดเจนขึ้น เราจะนำการท่องเที่ยวไปอยู่ยุคใหม่ได้อย่างไร เชื่อมโยงกับต่างชาติได้อย่างไร และปรับปรุงเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ตำรวจท่องเที่ยว มีการพูดคุยกันหลายประเด็น อันนี้ก็เป็นเรื่องของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เสนอมา มีการประชุมไปแล้ว ก็คงจะขับเคลื่อนได้ในเร็ววันนี้
 
เรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สำคัญก็มีทั้งป่าต้นน้ำ และบริเวณตอนกลางและตอนล่าง ซึ่งทั้งขาดน้ำ น้ำท่วม เก็บกักน้ำ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ต้องมาดูกันทั้งหมด วันนี้เราอยากจะวางพื้นฐานเหล่านี้ไว้ให้ได้เท่านั้น
 
เรื่องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ อันนี้ต้องการให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในการใช้บริการอย่างแท้จริง บางอย่างก็มีปัญหามาก ทั้งคณะกรรมการ ทั้งวิธีการ อะไรต่าง ๆ ก็แก้ไปเท่าที่แก้ได้ ขณะนี้ก็เดินหน้าไปได้มากพอสมควร ยังไม่เสร็จ 100%
 
เรื่องการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมเทคโนโลยีของชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน สร้างความเชื่อมโยงความร่วมมือด้าน ICT กับประเทศอาเซียนและประเทศอื่นในภูมิภาค เมื่อวันก่อนรัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรี ICT อาเซียน มาทุกประเทศ 10 ประเทศบวกกับประเทศคู่เจรจา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็มาด้วยหมด ผมไปเปิดมาเมื่อวาน ทุกคนก็มีความสุขที่มาประเทศไทย เขาชื่นชมและเป็นรัฐมนตรีตัวจริงทั้งหมด ทุกคนมาประเทศไทยหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้มีความสุขมากที่สุด สิ่งที่ชอบขอให้เลี้ยงเขามาก ๆ หน่อย คือทุเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมอนทอง ก้านยาว เลือกด้วย ก็ได้สั่งจัดให้ไปแล้ว ทุกคนก็มีความสุขในการมาประเทศไทย เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับเราด้วย และวันหน้าเราก็ไปค้าขายผลไม้มาก อะไรมากขึ้น และการท่องเที่ยวคงจะดีขึ้น ผมก็ได้บอกเขาทุกประเทศว่า 10 ประเทศ +3 ถ้าเรารวมกันได้ทั้งหมด จะเป็นอาเซียนที่แข็งแรง เข้มแข็ง มีอำนาจในการต่อรอง ในการกำหนดราคาสินค้า ทั้งนี้ เพื่อจะมีมูลค่าของรายได้ต่อ GDP เข้าประเทศที่ทัดเทียมกันบ้าง จะได้ปรับปรุงไปพร้อม ๆ กับประเทศที่เข้มแข็ง
 
วันนี้ประเทศไทยยังค่อนข้างจะมีรายได้น้อย สำหรับประเทศอาเซียนทางเกษตรกรรม แต่สิ่งที่เราได้เปรียบอยู่ในขณะนี้คือเรื่องการเป็นประเทศหรือกลุ่มประเทศผู้ผลิตอาหารของโลก ก็ต้องรู้ความสำคัญตรงนี้ อยากจะบอกพ่อแม่พี่น้องชาวเกษตรกรด้วยว่า ขอให้ภูมิใจ ได้ทำกุศลไว้ ทำให้คนได้มีอาหารทาน เราก็ต้องพยายามดูแลให้ได้มากที่สุด แต่ต้องจัดระเบียบ ถ้าเราไม่ได้จัดระเบียบกันเลย เราก็ไม่รู้ว่าเราจะปลูกอย่างไร ให้ลดต้นทุนได้ ทำอย่างไรจะมีการตลาดที่เหมาะสม ทำอย่างไรจะไปสู้ต่างประเทศได้ ต้องเข้าใจทั้งระบบเหมือนกัน ถ้าแต่ละส่วนทางภาคการผลิตก็เอาราคาสูงที่สุด ตลาดก็มีคนกลางเข้ามาก็จะเอาสูงสุดอีก ตลาดภายนอกต้องไปขายให้เขา ราคาก็ต่ำลง ผมถามว่าแล้วเราจะทำอย่างไร สิ่งนี้แก้ทีละชิ้นไม่ได้ ต้องแก้ทั้ง 3 ส่วน อยากให้พี่น้องประชาชนนั้น มีรายได้ มีเงินใช้ทุกคน เพราะผมได้กล่าวไปแล้วว่าเราต้องเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน ใน 5 ปี อย่างน้อยต้องดีขึ้น
 
เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างยั่งยืน วันนี้มีหลายคณะกรรมการขับเคลื่อนไปทั้งหมด หลายอย่างก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คงมีความก้าวหน้าไปตามลำดับ
 
เรื่องการเตรียมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) ได้มีการสั่งการไปมาก ก็เดินหน้าไปเรื่อย ๆ การจดทะเบียน การเตรียมแรงงาน การเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้ที่ยังไม่มีงานทำ เพื่อไปรองรับการขาดแคลนแรงงานประมาณแสนคน ในปีหน้าตอนนี้ประมาณ 6 – 7 หมื่นคน ที่จะเข้าไปทำงานตามโรงงานที่เกิดขึ้นมาจากการที่รัฐบาลสนับสนุนการส่งเสริมโรงงาน การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ก็มีหลายพันโครงการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีก ตอนนี้ต้องหาแรงงานให้ได้ คนไทยก็ไม่ชอบทำด้วย ทำอย่างไร และจะหาจากที่ไหนมา และทำอย่างไรคนไทยจะเข้าไปสู่กระบวนการเรียนรู้เทคโนโลยี เป็นหัวหน้างาน สิ่งเหล่านี้ต้องเตรียมความพร้อม บางอย่างที่ผมพูดมาแล้วทั้งหมดนั้นดูมาก ที่พูดมา 7 เดือนว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ไม่สำเร็จหมดหรอกครับ
 
วันนี้ผมเรียนยืนยันว่าในส่วนของ คสช.  และรัฐบาล วันนี้เราเข้ามาเพียงแค่ 7 – 8 เดือนเท่านั้น บางอย่างทำง่าย ๆ ก็เสร็จเร็ว บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็ทำได้ มีคนเดือดร้อนก็แก้ปัญหาให้เขา แต่ไม่ใช่ว่าทำปีเดียวแล้วเสร็จทั้งหมด เสร็จไม่ได้ เพราะเรื่องมีมากมายเป็น 100 เรื่อง และต้องผูกพันกับกฎหมาย ผูกพันกับกระบวนการ วิธีการ ขีดความสามารถ ประสิทธิภาพ มากมายไปหมด ซึ่งก็ต้องแก้คู่ขนานกันไป
 
ที่ผ่านมานั้น ถ้าแก้ไขแล้วมีความพร้อมอยู่แล้ว ก็ดูว่าทำไมผมถึงเข้ามาแก้มากขนาดนี้ แสดงว่าแก้ไขได้ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่พร้อม ไปตกหล่นอยู่ตรงไหน กฎหมายไม่พร้อมตรงไหน ความก้าวหน้ายังไม่เท่าที่ควร วันนี้ก็ต้องมาขับเคลื่อนทั้งหมด รัฐบาล คสช. ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปจับผิดจับถูกใคร เพียงแต่ว่างานสำคัญที่ผมพูดมาทั้งหมด จะต้องไปเร่งรัดให้ดำเนินการได้โดยเร็ว ทั้งเรื่องงบประมาณ แผนงาน การปฏิบัติงาน ความโปร่งใส การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ของรัฐ และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ประชาสังคม เพราะฉะนั้นต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน อะไรที่จะเสร็จ 1 ปี ผมก็จะขับเคลื่อนให้ได้ อะไรที่ไม่เสร็จ 1 ปี ก็ต้องเริ่มต้น หมายความว่านำร่อง อย่างเช่น เศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่ง ปีหน้าอีก 6 แห่งอะไรทำนองนี้ ก็ไม่จบปีเดียว แค่ 5 แห่งนี้ยังไม่จบหมดเลย ถ้าจบทั้งหมดต้องใช้เงินอีกแสนกว่าล้านบาท ทำถนนหนทางใหม่ อะไรใหม่ ไม่ทัน เพราะฉะนั้นเราก็วางแผนระยะยาวไว้เท่านั้นเอง และนำร่องไว้ให้ วางรากฐานไว้ให้ ถ้าไม่คิดวันนี้ วันหน้าไม่ได้คิดขึ้นมาอีกแล้วจะทำอย่างไร ก็จะส่งต่อให้กับผู้บริหารใหม่ในระยะต่อไป      ซึ่งรายละเอียดผลการปฏิบัติงานราชการแผ่นดิน และการผลักดันนโยบายเหล่านี้ ถ้าสนใจก็ติดตามได้ทางวีดิทัศน์ ในวันพรุ่งนี้ เวลา 8 นาฬิกา ทางช่อง 5 และช่อง 11 พร้อมกัน
 
เรื่องการทำงานของรัฐบาลในวันนี้ กราบเรียนว่าทุกอย่างนั้นก็กำลังขับเคลื่อนไป ทุกอย่างไปเวลาเดียวกัน ในเมื่อปัญหามาก ๆ เราก็ต้องช่วยกันรู้ปัญหาว่า ตรงไหนเป็นปัญหาของรัฐ อันไหนเป็นปัญหาของกฎหมาย อันไหนเป็นปัญหาของประชาชนที่เห็นต่าง ก็ต้องไปแก้ในช่องทางที่เขามีอยู่ ถ้านำสิ่งนี้มาโยง เอาอันนี้มาพัน ก็ไปไม่ได้หมด และทำให้เราเสียเวลาในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชน ผมเห็นพี่น้องประชาชนลำบาก เอาเรื่องแก้ปัญหาท้องอิ่มกันก่อนดีกว่าหรือไม่ แล้วนำเรื่องของการจะสร้างความเข้มแข็งอย่างไรในภาคเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ขับเคลื่อน ก็มีเงินใช้จ่าย เศรษฐกิจประเทศก็ดีขึ้น การค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านก็ดีขึ้น การท่องเที่ยวก็ดีขึ้น แต่ถ้าเรายังขัดแย้งกันอยู่ การท่องเที่ยวก็ไม่ดี ลดลง ความเชื่อมั่นก็ลดลง เรื่องความขัดแย้งทั้งหมดไม่มีผลดีอะไรกับใครเลย ก็ให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมว่ามา ถ้ามีปัญหาตรงไหนมา ก็ว่ามา รายงานเข้ามา ผมก็จะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตรวจสอบให้ทั้งหมด คราวนี้ถ้าบางอย่างผมก็ตอบเองไม่ได้ บางอย่างก็ไปเข้าสู่ขั้นตอน เข้าสู่หน่วยงาน เข้าสู่ช่องทางของเขามา ถามผมทุกเรื่องบางครั้งก็อารมณ์เสียอยู่เหมือนกัน ก็ต้องขอโทษด้วย ไม่ได้เจตนา ก็ขอความร่วมมือจากสื่อต่าง ๆ
 
อะไรที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลขอความร่วมมือก็ช่วยขยายให้เราหน่อย อย่างเช่น ค่านิยม 12 ประการ ก็เห็นมีไปถามเด็กแต่ละพวกแต่ละคนว่า จำได้ไหม ท่องได้หรือเปล่า คือไปสร้างสิ่งที่ต่อต้าน ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น ผมไม่ได้ไปบังคับใคร แต่อย่างน้อยก็มีสิ่งที่คิด ที่ติดอยู่ในตัว ติดอยู่ในหัวก็เกิดประโยชน์กับตนเอง ผมชื่นใจที่มีเด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ ตอบได้ ผู้ใหญ่ตอบไม่ได้ เด็กโต ๆ ตอบไม่ค่อยได้ แต่เด็กเล็ก ๆ ท่องได้คล่อง แล้วเขาถามกลับไปว่าเข้าใจไหม เขาบอกเข้าใจ แล้วดีไหม เขาก็ว่าดี ดีกว่าไม่ได้คิดอะไรไม่ใช่หรือ อย่างน้อยก็เป็นการเตือนสติ เตือนให้เด็กรักพ่อแม่ มีความกตัญญู สิ่งเหล่านี้บางทีก็ไม่มีเวลาสอนเหมือนกัน ให้คิดเองคิดไม่ได้ บางครั้งก็ลืม ๆ แล้ววันนี้ถูกป้อนเข้ามาด้วยหลาย ๆ เรื่อง ทั้งการศึกษา สื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ละครมากมายไปหมด ก็ใส่อะไรที่ดี ๆ เข้าไปบ้าง
 
เพราะฉะนั้น สื่อทุกช่อง ทุกสื่อ อะไรที่เป็นสิ่งที่ดีอย่าเอาไปถามให้เกิดการต่อต้านขึ้นมาเลย ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เพราะเหนื่อยกันเปล่า ๆ ผมไม่เห็นประโยชน์เลย แล้วบอกว่าให้เขาคิดดูว่าจะเกิดประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์ เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปถามแบบนั้น นี่คือเป็นสิ่งที่อยากจะให้ผู้จัดรายการ พิธีกร ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่องโทรทัศน์ของราชการหรือช่องที่ใช้เงินของราชการ ไปดูด้วยว่าควรจะทำตัวอย่างไร ผมไม่ได้ไปบังคับหรือกำกับอะไรท่านมากมายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จะพิจารณาดูแลกันไปให้เหมาะสม ก็ฝากไว้ด้วย ขอให้มีความสุขในวันหยุดราชการ ขอให้ปลอดภัย และท่องเที่ยวทั่วไทยให้มีความสุขตลอดไป ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น