มติ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ มีพฤติการณ์ส่อกระทำผิดต่อ ‘ตำแหน่งหน้าที่’ กรณีสั่งใช้กำลังขอคืนพื้นที่ชุมนุมของ นปช. ปี 53 จนมีผู้เสียชีวิตหลายราย เป็นเหตุให้ถอดถอนทั้ง 2 จากตำแหน่ง
24 ก.พ.2558 นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า ที่ประชุม ป.ป.ช. วันนี้ ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) สั่งใช้กำลังทหารตำรวจสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช. ) ระหว่างวันที่ 10 เม.ย. ถึง 19 พ.ค.53
นายวิชา กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติว่า ภายหลังจากที่ได้มีการใช้กำลังทหารเพื่อขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เมษายน 2553 แล้วปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต และ ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นผู้มอบนโยบายในการขอคืนพื้นที่ กลับละเว้นไม่สั่งระงับ ยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหาร และวิธีการควบคุมการปฏิบัติงานให้รัดกุมยิ่งขึ้น รวมถึงไม่ได้ปรับแผนปฏิบัติให้สอดคล้องประสานกัน ทั้งในระดับนโยบาย การบังคับบัญชาและการปฏิบัติในพื้นที่ ในการใช้กำลังทหารเข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงและอาวุธ แต่ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ และ ประชาชนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
“เป็นเหตุให้นายพัน คำกอง และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ เสียชีวิต และนายสมร ไหมทองได้รับบาดเจ็บสาหัส รวมถึง ประชาชนอื่นที่เสียชีวิตอีกหลายราย ดังปรากฎตามคำสั่งไต่สวนและชันสูตรพลิกศพของศาล ว่าความตายเกิดจาการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานทหาร จึงเป็นพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 ออกจากตำแหน่ง จึงให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าได้ดำเนินการอย่างไร สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐอื่นในฐานะผู้ปฎิบัติ จะมีความรับผิดชอบเพียงใดหรือไม่ จะได้ดำเนินการไต่สวนต่อไป” นายวิชา กล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ปีที่แล้ว ศาลอาญาได้ยกคำฟ้องในความผิดต่อชีวิตของทั้ง 2 แล้ว โดยศาลมีคำพิพากษาระบุว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีที่ฟ้องทั้ง 2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของ นปช. ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 53 ส่งผลมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย โดยศาระบุว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตด้วย (อ่านรายละเอียด)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น