ศูนย์กฎหมายในเบลเยียมชี้นโยบายด้านความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊กยังคงขัดกับกฎหมายของยุโรปแม้จะปรับปรุงระบบความเป็นส่วนตัวแล้วก็ตาม ทั้งนี้ยังมีผู้ใช้ส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจและต้องการฟ้องร้องเฟซบุ๊กเรื่องนโยบายบังคับใช้ชื่อจริงด้วย
24 ก.พ. 2558 ศูนย์เพื่อกฎหมายสหวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยลูวเวนในเบลเยียมเปิดเผยรายงานระบุว่าการปรับปรุงนโยบายความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊กเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ยังคงผิดต่อหลักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของยุโรป
เฟซบุ๊กปรับปรุงนโยบายเพื่อความเป็นส่วนตัวใหม่เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมาซึ่งยังคงมีการอนุญาตให้เฟซบุ๊กติดตามการใช้งานของผู้ใช้จากเว็บไซต์หรือเครื่องมือ อนุญาตให้เฟซบุ๊กใช้รูปโปรไฟล์ทั้งในแง่การค้าหรือไม่ใช่การค้า รวมถึงอนุญาตให้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ของผู้ใช้ ซึ่งรายงานของศูนย์กฎหมายในเบลเยียมระบุว่าเฟซบุ๊กไม่ได้เปลี่ยนนโยบายอะไรมากด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ เพียงแค่ทำให้การปฏิบัติแบบเดิมของเฟซบุ๊กเห็นได้ชัดเจนขึ้น
รายงานระบุอีกว่านโยบายความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊กขัดต่อกฎหมายของยุโรปในแง่ที่หนึ่งคือการให้ผลักภาระให้ผู้ใช้มากเกินไปเพราะต้องเข้าสู่การปรับแต่งระบบที่ซับซ้อนจึงจะสามารถปรับค่าความเป็นส่วนตัว การใช้แอปพลิเคชัน การเพิ่มเพื่อน รวมถึงระบบผู้ติดตาม
รายงานระบุว่า ระบบการตั้งค่าดั้งเดิมเกี่ยวกับการติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้หรือการขึ้นโฆษณาก็ยังมีปัญหา เนื่องจากผู้ใช้ไม่มีทางเลือกว่าจะอนุญาตให้โปรไฟล์ของตัวเองปรากฏบนหน้า "เรื่องราวจากผู้สนับสนุน" (sponsored stories) หรือไม่ โดยผู้ใช้ก็ไม่ได้รับข้อมูลมากเพียงพอจะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจเลือกได้ว่าจะเผยแพร่ข้อมูลหรือไม่
รายงานของศูนย์กฎหมายเบลเยียมวิจารณ์อีกว่า สำหรับผู้ใช้งานจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟนจะไม่สามารถปิดบังสถานที่เข้าถึงเฟซบุ๊กในเวลานั้นได้เพราะเฟซบุ๊กจะทำการเก็บข้อมูลตำแหน่งของผู้ใช้อยู่ตลอดเวลา
ศูนย์กฎหมายในเบลเยียมระบุว่านโยบายของของเฟซบุ๊กขัดกับมาตราที่ 5(3) ของแนวทางกฎหมายสิทธิความเป็นส่วนตัวทางอินเทอร์เน็ตของสหภาพยุโรป (EU e-Privacy Directive) ซึ่งระบุให้ต้องมีการขออนุญาตโดยแจ้งล่วงหน้าก่อนที่จะมีการเก็บข้อมูลหรือเข้าถึงข้อมูลจากเครื่องมือของผู้ใช้
รายงานระบุอีกว่าก่อนหน้านี้ตัวแทนของเฟซบุ๊กได้เข้าพบกับ บาร์ต ทอมเมเลียน รัฐมนตรีด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวของเบลเยียมเพื่อพารือด้วย โดยทางบริษัทอ้างว่านโยบายความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊กไม่ขัดต่อกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลของเบลเยียม
ทั้งนี้เฟซบุ๊กยังอยู่ภายใต้การไต่สวนโดยเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลของเนเธอร์แลนด์ และยังถูกสืบสวนโดยกลุ่มคณะทำงาน Article 29 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปด้วย
ทางโฆษกของเฟซบุ๊กกล่าวว่าพวกเขาปรับปรุงนโยบายและวิธีการใช้งานให้เข้าใจง่ายและทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมเรื่องการโฆษณาได้มากขึ้น และพวกเขายังเชื่อว่านโนบายของพวกเขาเป็นไปตามหลักกฎหมายเนื่องจากสำนักงานนานาชาติของพวกเขาคอยติดตามพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายและเว็บไซต์ตามความเหมาะสมอยู่ตลอดเวลา
อนึ่ง มีข่าวเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า นักกิจกรรมชาวพื้นเมืองอเมริกันวางแผนฟ้องร้องเฟซบุ๊กในนโยบายให้ผู้ใช้งานต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อจริง ซึ่งส่งผลกระทบต่อบุคคลหลายประเภทตั้งแต่กลุ่มคนแต่งหญิง เหยื่อจากการถูกข่มเหงในครัวเรือน และนักกิจกรรมทางการเมืองทั่วโลก ซึ่งนักกิจกรรมชาวพื้นเมืองอเมริกันชื่อ ดานา โลน ฮิล กล่าวว่าเธอตั้งชื่อตามธรรมเนียมชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของอเมริกันแต่ชื่อของเธอกลับดูน่าสงสัยสำหรับเฟซบุ๊กทำให้เธอถูกระงับการใช้บัญชี จนกระทั่งเรื่องของเธอตกเป็นข่าวเฟซบุ๊กจึงยอมยกเลิกระงับบัญชีผู้ใช้ของเธอ
นักกิจกรรมชื่อนาเดีย เคย์ยาลี จากมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Frontier Foundation: EFF) กล่าวว่า ผู้ใช้งานบางคนยังถูกระงับบัญชีเนื่องจากถูกเล่นงานจากฝ่ายตรงข้ามที่ใช้วิธีรายงานพวกเขา นอกจากนี้การใช้ชื่อจริงยังสร้างความเสี่ยงต่อนักกิจกรรมในพื้นที่ที่มีรัฐบาลโหดร้าย
เรียบเรียงจาก
Facebook’s privacy policy breaches European law, report finds, The Guardian, 23-02-2015
http://www.theguardian.com/technology/2015/feb/23/facebooks-privacy-policy-breaches-european-law-report-finds
http://www.theguardian.com/technology/2015/feb/23/facebooks-privacy-policy-breaches-european-law-report-finds
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น