วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

สัมภาษณ์พิเศษ ‘ลมใต้ปีก’ บก.ผู้ต้องโทษ 112 สิบปี


ตั้งแต่ 30 เมษายน 2554 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้วที่เขาอยู่ในเรือนจำ
เขาน่าจะนับเป็น บก.คนแรกที่ถูกจำคุกด้วยมาตรา 112 เป็นเวลา 10 ปี จากบทความ 2 ชิ้นซึ่งเขาไม่ได้เขียน อย่างไรก็ตาม ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าแม้เขาไม่ใช่ผู้เขียนก็มีความผิด ศาลอุทธรณ์ก็เห็นดังนั้น
บางส่วนของคำพิพากษาศาลชั้นต้น
“ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่นั้น เห็นว่าบทความคมความคิด ในนิตยสารเสียงทักษิณทั้งสองฉบับ มีเนื้อหาที่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อบุคคล แต่เขียนโดยมีเจตนาเชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อนำเหตุการณ์ในอดีตมาเชื่อมโยงแล้วสามารถระบุได้ว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื้อหาของบทความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ การที่จำเลยนำบทความไปจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่ จึงมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”
นอกจากจะเป็น บก.รายแรกที่เข้าไปอยู่ในคุกยาวนานแล้ว เขายังเป็นผู้ต้องหา-จำเลย ที่ยื่นประกันตัวมากที่สุดในยุคสมัย นั่นคือ 16 ครั้งตั้งแต่ในชั้นสอบสวน แต่ก็ไม่ประสบผล
เขามีแบ็คกราวน์การทำงานในประเด็นแรงงานมายาวนานนับตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา เน้นทำงานความคิดกับคนชั้นล่าง เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้แรงงาน ก่อนจะเบนเข็มมาสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจนหลังรัฐประหาร 2549 คนในขบวนแรงงานบางคนกล่าวว่า “เขามาขโมยมวลชน ทำงานความคิดกับคนเสื้อแดง”
ท่ามกลางชีวิตของเขาทั้งในยามปกติและยามวิฤตหนักในชีวิตอย่างในช่วง 4 ปีหลังนี้ ภรรยาของเขาคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการประคับประคองตัวตนและอุดมการณ์ของเขา พร้อมทั้งทำหน้าที่อื่นๆ ทดแทนเขาในระหว่างที่ถูกจำคุก ที่น่าสนใจคือ ดูเหมือนเธอจะเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำ ซึ่งบางคนนิยามมันว่า “การวิ่งชนข้างฝา”
สำหรับคนที่โดนคดีในห้วงเวลาไล่เลี่ยกับเขา มีหลายคนที่สู้คดี แต่ท่ามกลางข้อจำกัดด้านสิทธิพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งทัศนคติของสังคมและผู้พิพากษา ทั้งหมดทยอยยอมแพ้ รับสารภาพ ถอนอุทธรณ์ ถอนฎีกา จนสิ้นเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ได้ออกจากเรือนจำเร็วที่สุด
ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงรายหนึ่งที่ถูกจำคุกอยู่หลายวันก่อนได้รับการประกันตัวเมื่อเร็วๆ นี้ เล่าว่าได้มีโอกาสเจอ บก.คนนี้ในคุก และประทับใจกับความอดทน มุ่งมั่นในการต่อสู้คดีของเขา
“ผมรับไม่ได้เลยกับสภาพในคุก พี่เขาบอกผมว่าให้คิดว่าเราตายไปแล้ว เราไม่ได้อยู่ในโลกใบนี้แล้ว เราถึงจะอยู่ในคุกได้”
ทั้งหมดนี้ เรากำลังพูดถึง สมยศ พฤกษาเกษมสุข
ในเย็นวันหนึ่งเรามีโอกาสพูดคุยกับ สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศ ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักดีทั้งในและต่างประเทศ สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวเป็นปากเป็นเสียงในคดีมาตรา 112
เธออวดโปสการ์ดนับพันใบ มัดรวมเป็นปึกๆ ซึ่งเธอไปรับมาจากเรือนจำ โปสการ์ดเหล่านี้ส่งตรงมาจากทั่วโลกถึงสมยศที่เรือนจำ จนสมยศอ่านไม่ไหว ไม่มีที่เก็บและขอให้เจ้าหน้าที่เก็บไว้ให้เพื่อให้ภรรยานำกลับบ้านในช่วงหลังปีใหม่ที่ผ่านมา
โครงการนี้จัดโดย Amnesty International และ FOR-SITE foundation ก่อนหน้านี้เมื่อ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา FIDH และ AHRC ได้ออกแถลงการณ์ในวาระที่สมยศถูกพิพากษาจำคุกโดยศาลชั้นต้นครบ 2 ปี
เธอเล่าว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่พิจารณาคดี มีองค์กรหลักๆ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้สมยศหลายแห่ง เช่น Clean Cloth Campaign, Asia-Australia Worker Link (AWL) , Frist Union , The Korean Confederation of Trade Unions (KCTU), Trade Union ประเทศเนปาล อินโดนีเซีย มาเลเซีย , สหพันธ์แรงงานนานาชาติกิจการเคมี พลังงาน ปิโตรเลียม และแรงงานทั่วไป (ICEM)นอกจากนี้ยังมี The International Federation for Human Rights (FIDH), Amnesty International (AI), Article 19, Human Rights Watch, The Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights (OHCHR) , ฝ่ายการเมืองของสหภาพยุโรป EU, Pen international, Committee to Protect Journalist (CPJ) , Freedom House, Reporter Without Border เป็นต้น  ในไทยก็มีมูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) , สมาคมบรรณาธิการและนักเขียน
เป็นโอกาสดีที่เราจะได้พูดคุยกับเธอคนนี้โดยละเอียดอีกสักครั้ง อย่างน้อยก็เนื่องในวันสตรีสากล
0000
องค์กรระหว่างประเทศรณรงค์เรื่องสมยศ เสรีภาพในการแสดงออกเยอะ องค์กรในประเทศมีบ้างไหม ไม่ว่าขบวนการแรงงาน กลุ่มสื่อ หรือเขาไม่นับรวมสมยศเพราะที่ผ่านมาก็เห็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าสมยศถือเป็นสื่อมวลชนไหม
จริงๆ จุดเริ่มต้นมันควรเกิดขึ้นในประเทศก่อน แต่สถานการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่า หนึ่ง เนื่องจากในประเทศไทย องค์กรต่างๆ มีความแตกแยกทางความคิดกันมาก แล้วประเด็นหลักการก็ไม่มีการยึดถือ เช่น คนที่ผลิตหนังสือหรือผลิตสื่อต้องถูกจำคุกโดยหลักการมันไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่าทุกองค์กรยึดหลักการ องค์กรก็ควรจะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเรื่องแบบนี้ แต่ในเมืองไทยกลายเป็นตีความไปว่าสมยศไปเกี่ยวโยงกับทักษิณ หนังสือสปอร์นเซอร์โดยทักษิณ เพราะใช้คำว่าเสียงทักษิณ เพราะฉะนั้นก็สมควรแล้วที่จะถูกดำเนินคดีหรือถูกลงโทษ กลายเป็นความคิดที่เอาตัวบุคคลขึ้นมาปะปนกับหลักการ อะไรที่มันเป็นความถูกต้องไม่ว่าใครจะทำมันก็ต้องถูก อะไรที่มันผิดไม่ว่าใครจะทำมันก็ต้องผิด
เรื่องของการใช้กฎหมายมาละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สื่อไทยไม่พูด เนื่องจากสมยศผลิตสื่อซึ่งไม่ใช่สื่อหลัก เป็นสื่ออาจจะเกี่ยวข้องกับฝ่ายเสื้อแดงหรือฝ่ายทักษิณ เพราะฉะนั้นองค์กรสื่อในเมืองไทยจึงแทบจะไม่มีใครออกมาให้เห็นเลย กรรมการสิทธิเข้ามาตรวจสอบเนื่องจากเราทำเรื่องร้องเรียนไป เขามีหน้าที่ในการที่จะต้องมาตรวจสอบอยู่แล้ว เขาทำตามหน้าที่เขาแต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านี้ องค์กรอื่นก็เหมือนกับกึ่งๆ ที่จะออกมาเปิดตัวสนับสนุนดีไหมหรือไม่สนับสนุน กั๊กๆ เอาไว้ กลายเป็นว่า เมื่อคนคนหนึ่งผูกพันกับเรื่องอะไรบางเรื่อง ถ้าคนนั้นถูกกระทำ ไม่เป็นไร
เพราะเขากลัวว่าจะกลายเป็นซัพพอร์ตเสื้อแดง เลือกข้างเลือกฝั่งหรือเปล่า
อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง ตอนนี้อย่างที่เห็นคือสังคมไทยแตกแยกทางความคิดกันอย่างมาก ไม่ได้ยึดถือในเรื่องของหลักการแต่กลายเป็นในเรื่องของบุคคลมากๆ ถ้าสมยศออกมาเคลื่อนไหวแล้วก็สมยศเป็นหนึ่งในเสื้อแดง เคยเป็นแกนนำ นปช.รุ่น2 หรืออะไรแบบนี้ มันจะถูกตัดสินไปแล้วว่าสมยศต้องทำอะไรที่ผิด หรือแม้กระทั่งมีผังล้มเจ้า สมยศก็มีชื่ออยู่ในผังล้มเจ้า เพราะฉะนั้นมันเชื่อมโยงไปเลย
ช่วยเล่าบทบาทในงานสายแรงานที่สมยศทำมายาวนาน และรวมถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขามาเคลื่อนไหวเรื่องการเมือง
จริงๆ เขาทำงานสายแรงงานเป็น activist  ตั้งแต่สมัยเรียน หลังจาก 6 ตุลา 2519 อีก 3-4 ปีเขาก็ไปทำงานที่สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ตอนนั้นแรงงานที่ถูกกดขี่มากๆ เป็นแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ แกก็เข้าไปทำงานกับคนงาน จัดการศึกษาในเรื่องของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เรื่องการเจรจาต่อรอง
หลังจากนั้นก็ขยายมาตั้งกลุ่มเองกับคนงานที่ย่านรังสิต คือ กลุ่ม YCW (Young Christian Woman) ก็จะมีกลุ่มแรงงานสตรี เป็นคนงานหญิงที่อยู่ในโรงงานทอผ้าที่ออกมาตั้งกลุ่มกันและก็รณรงค์เคลื่อนไหวในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ เรื่องของการเลิกจ้าง สมัยนั้นมีโรงงานที่เลิกจ้างเยอะมากช่วงประมาณปี 2525-2530
จากนั้นมาตั้งสำนักงานเป็นของตัวเองชื่อว่าศูนย์บริการข้อมูลอบรมแรงงาน เรียกว่าเป็น NGO แล้วก็มีกรณีของโรงงานเคเดอร์ซึ่งเป็นโรงงานตุ๊กตาถูกไฟไหม้ มีพนักงานเสียชีวิตเยอะมาก โรงงานปฏิเสธที่จะแสดงความรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชย ตอนนั้นเขาก็เข้าไปร่วมกับองค์กรแรงงานอื่นๆ ทำให้พวกลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบได้ค่าชดเชยอย่างสมเหตุสมผล แล้วก็หลังจากนั้นก็เปลี่ยนแนวมาจับงานในเรื่องของโรคเอดส์ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
พี่เข้าใจว่าในเรื่องของประชาธิปไตยหรือว่าในเรื่องของหลักการ เรื่องของความเป็นมาร์กซิสม์ เรื่องของการต่อสู้ เรื่องของชนชั้น มันอยู่ในตัวของแกอยู่แล้วตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เพราะฉะนั้น เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองมันเปลี่ยนแปลง มีการรัฐประหารซึ่งมันไม่ถูกต้อง ทำให้สิทธิของคนชั้นล่างถูกกดขี่ ถูกละเมิด แกก็จะออกมาต่อต้าน จริงๆ ก็ตั้งแต่ปี 2535 ช่วงนั้นแกก็ออกมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่ตอนนั้นอาจจะไม่ได้ทำอะไรมากนักเพราะว่าอยู่ในสายแรงงานเป็นหลัก
หลังจากนั้นรัฐประหารปี 2549 ก็ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกันกับตอนที่แกทำงานด้านสิทธิกรรมกร สิทธิแรงงาน แกก็ทำงานเขียน เขียนบทความส่งไปตามนิตยสารหรือว่าหนังสือพิมพ์อยู่เรื่อยๆ เป็นบทความสายแรงงาน อย่างเช่นการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ การเรียกร้องให้ภาครัฐหรือโรงงานต่างๆ ตอนหลังหลังจากที่ปิดสำนักงานศูนย์บริการข้อมูล แกก็ออกมาทำงานเคลื่อนไหว เขียนหนังสือ ทำสำนักพิมพ์เอง ทำนิตยสารเชิงการเมืองและสังคมชื่อ ‘สยามปริทัศน์’ พิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊กและนิตยสารเป็นเรื่องการเมือง สังคม และข่าวในปัจจุบัน คือ เป็น บก. และเป็นคนจัดพิมพ์ พอสยามปริทัศน์ถูกปิดไป แกก็มาเป็น บก. ให้ Voice of Taksin ต่อมาโรงพิมพ์ถูกสั่งไม่ให้พิมพ์นิตยสารนี้ จึงมาเป็น Red Power และก็ถูกจับเมื่อปี 2554 ตอนนั้นก็ยังเป็น บก.Red Power อยู่
จริงๆ ก่อนหน้านี้แกถูกจับครั้งนึงโดยคำสั่งของ ศอฉ. และถูกนำไปขังที่ค่ายอดิศร สระบุรี เมื่อปี 2553
ตอนถูกจับไปค่ายอดิศรปี 2553 ประมาณ 21 วัน สถานการณ์เป็นอย่างไร
ก็เป็นห่วงเป็นธรรมดา ช่วงนั้นพี่ทำงานต่างประเทศ ไปสิงคโปทุกเดือน และช่วงที่ถูกจับก็เป็นวันที่ไปสิงคโปพอดี เมื่อมีคำสั่งของ ศอฉ. มาตามตัวแก รุ่งขึ้นแกก็ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ รายงานตัวเสร็จก็จับไปเลยแล้วพักนึงก็ปล่อยตัวมา หลังจากออกมาก็ยังทำนิตยสาร Red Power อยู่ กิจกรรมทางด้านการเมืองก็อย่างเช่นการปราศรัยตามเวที จัดแรลลี่ แกมีกลุ่มเคลื่อนไหว ชื่อว่า ‘กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย’ เป็นการรวมตัวกันของประชาชนทั่วๆ ไป ที่มาร่วมกันจัดเสวนา จัดงานแรลลี่ นอกจากนี้แกยังมีการจัดทัวร์ไปประเทศเวียดนาม เขมร ลาว จะเดินทางกับกลุ่มทัวร์ทุก 2-3 เดือน วันที่แกถูกจับคดีนี้ แกจัดทัวร์ไปเขมร ก่อนไปก็บอกไว้ว่าจะไม่อยู่บ้าน 3-4 วัน
ตอนที่รู้ว่าแกโดนแจ้งข้อหา 112 คิดยังไง รู้สึกยังไง
ตอนนั้นไม่ได้คิดว่ามันจะเลวร้าย เนื่องจากแกทำกิจกรรมการเมือง สังคม มาตลอดชีวิต จริงๆ แกจะมีคดีก่อนหน้านี้อยู่อย่างเช่น คดีหมิ่นประมาทพล.อ.สะพรั่ง  กัลยาณมิตร ซึ่งพี่ก็คิดว่าคดีแบบนี้มันไม่น่าจะร้ายแรง เขาไม่ได้เป็นฆาตรกร อย่างมากศาลตัดสินก็คงแค่ปรับหรือว่าอาจจะรอลงอาญา หากจะขังก็คงสักเดือน เหมือนจับไปค่ายทหารอะไรแบบนี้ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น
แล้วเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องซีเรียสตั้งแต่เมื่อไหร่
หลังจากที่เขาถูกจำคุกที่เรือนจำแล้วก็ย้ายไปฝากขัง หลังจากนั้นก็ไปเยี่ยมแกเรื่อยๆ ช่วงนั้นมีคนไปเยี่ยมแกเยอะมาก เต็มล้นห้องแทบทุกวัน ทุกคนก็ยังไม่รู้สึกอะไรมากเพราะว่ากำลังใจจากมวลชนเยอะมาก  จนกระทั่งมาถึงตอนที่อัยการฟ้อง ตอนแรกเราไม่รู้ว่าอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ คิดว่าคดีมันไม่น่าฟ้อง เพราะแกเป็น บก. ไม่ได้เป็นคนเขียน ปรากฏว่าวันสุดท้ายที่ครบหมดกำหนด อัยการสั่งฟ้อง ทำให้แกต้องติดคุกต่อ กลายเป็นว่าแกไม่ได้กลับบ้าน
หลังจากนั้นอีกเดือนศาลก็รับคำฟ้อง แล้วตอนสืบพยานก็ตระเวนไปทั่วในศาลจังหวัด 4 แห่ง เพราะว่าศาลอาญากรุงเทพฯ ส่งเรื่องไปที่ศาลต่างจังหวัดให้ไปสืบพยานที่นู่น ก็ต้องตามกันไป ตอนนั้นเราคิดว่าสู้คดีมีสิทธิ์ชนะ คดีนี้มันต้องยกฟ้อง พี่ก็ยังมีความหวังว่าพี่สมยศน่าจะได้กลับบ้านในวันที่ตัดสิน ปรากฏว่าตัดสินลงโทษ 11 ปี คือ คดี 112 โทษ 10 ปี บวกเอาคดีเก่าที่รอลงอาญาของสะพรั่งอีก 1 ปี กลายเป็น 11 ปี

จดหมายส่งถึงสมยศในเรือนจำ
แปลว่าในช่วงที่ติดคุกอยู่ในชั้นสืบสวน ชั้นอัยการ ชั้นศาล สมยศมีความหวังที่จะชนะคดี แล้วพอคำพิพากษาออกมาเจ้าตัวเองและสภาพครอบครัวเป็นอย่างไร
เขาคงรู้สึกผิดหวังและเสียใจด้วย เพราะตอนแรกแกหวังมาก ช่วงอาทิตย์ก่อนที่จะตัดสิน จริงๆ ศาลนัดตัดสินเดือนธันวาคมแล้วก็เลื่อนมาเป็นเดือนมกราคมถ้าจำไม่ผิด เนื่องจากมีการเปลี่ยนผู้พิพากษา ตอนนั้นตัวเองมีความรู้สึกว่าศาลน่าจะลงโทษ เพราะดูจากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ คดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ตัดสินลงโทษทุกกรณี บางทีคดีหลักฐานดูแล้วไม่สมเหตุสมผลศาลก็ลงโทษ บวกกับการที่เขาเป็นเสื้อแดง เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นคนละขั้วกับประชาธิปปัตตอนนั้นที่เป็นรัฐบาลอยู่ แต่เราไม่คิดว่ามันจะ 10 ปี เราก็ยังหวังว่าอย่างมาก 3 ปี
แกคิดว่าคดีจะถูกยกฟ้องแน่นอน ตอนก่อนตัดสิน แกบริจาคเสื้อผ้าหรือของใช้ต่างๆ ให้คนอื่นหมดเลย มั่นใจมากว่าจะชนะคดี
พอถึงวันพิพากษา วันนั้นคนมาฟังเยอะมากจนล้นห้อง มีการย้ายห้อง 3 รอบ ตอนแรกเป็นห้องเล็กชั้น 7 ย้ายไปชั้น 8 และสุดท้ายคือไปชั้น 9 ห้องที่ใหญ่ที่สุดของศาลอาญา คนฟังน่าจะประมาณ 200-300 เต็มทุกที่นั่ง ศาลอ่านคำพิพากษาลงโทษ 11 ปี เขาทำใจไม่ได้อยู่พักนึง เป็นเดือน แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ดีขึ้น เราก็คุยกันต่อว่ายังไงดี แกตัดสินใจว่าสู้คดี
ในช่วงนั้นคดีอื่นๆ ไม่มีแนวโน้มที่ดีเลย ส่วนใหญ่จำเลยจะเลือกรับสารภาพและขออภัยโทษ ทำไมถึงยังตัดสินใจสู้ต่อ
พี่คิดว่า หนึ่ง แกไม่ได้ทำความผิด ประเด็นตรงนี้ทำให้ตัดสินใจที่จะสู้คดี การรับสารภาพหมายถึงเราทำความผิด เราถึงยอมรับว่ามันผิด แต่สมยศเขาคิดว่าเขาไม่ได้ทำ ต้องเข้าใจว่าการถูกฟ้องครั้งนี้เป็นฟ้องให้แกรับแทนคนเขียน เพราะฉะนั้นแกมั่นใจว่าแกไม่ได้ทำแน่ๆ สอง เข้าใจว่าแกมีความเชื่อว่าการกระทำนี้ไม่ใช่สิ่งผิด เพราะฉะนั้นเรื่องการรับสารภาพมันจึงเป็นสิ่งที่ตัวเขาเองรับไม่ได้
แต่ว่าเพื่อนๆ ในเรือนจำเลือกทางรับสารภาพกันหลายคนและได้ออกหลายคน สมยศลำบากใจบ้างไหม
จริงๆ ความลำบากใจ คิดว่ามีตลอดเวลา คือ มีคนมาคุยโน้มน้าวแกตั้งแต่วันแรกที่ถูกจับแล้ว ทุกๆฝ่าย ฝ่าย DSI ก็บอกว่าให้ยอมคดีไปเลย ไม่มีทางสู้ได้ ทั้งปลอบทั้งขู่ ฝั่งเพื่อไทยเองก็ออฟเฟอร์บอกว่าถ้ายุติจะรีบทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษให้เร็วที่สุด หรือแม้กระทั่งนักโทษคนอื่นๆ ก็บอกว่าไม่ต้องสู้หรอก เพราะว่าคนอื่นเขาก็ไม่สู้กันมึงจะสู้ทำไม จะโง่สู้ไปทำไม ไม่เห็นจะได้อะไรเลย คนพูดกันหลายทิศทาง มาคุยกับพี่ว่าบอกพี่สมยศยอมเถอะจะได้ออกมา อะไรแบบนี้ก็มี
แล้วรู้สึกอยากให้แกยอมไหม
ไม่นะ คิดว่าแกตัดสินใจถูกแล้ว พี่เห็นด้วยกับแกที่ว่า สมมติว่าเราไม่ผิด ยังไงเราก็ต้องประกาศจุดยืนตรงนี้ วันที่เราบอกคนอื่นๆ ว่าเรารับสารภาพผิด มันจะกลายเป็นความผิดของเราทันที
ที่สำคัญ แกไม่ได้ถูกทำร้ายหรือว่าทารุณกรรมมากในสภาพที่แกเป็นอยู่ในปัจจุบัน เราก็ได้รับการดูแลสนับสนุนจากคนอื่นๆ ทั่วไปให้เราสู้ ในเมื่อพี่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ถึงแม้ขาดแกไปพี่ก็ดูแลครอบครัวได้ เพราะฉะนั้นพี่สนับสนุนให้แกสู้ อย่างน้อยๆ แกก็ไม่ต้องห่วงในเรื่องของครอบครัว หลายๆ ครอบครัวที่เขาไม่ยอมสู้ เพราะว่าเขามีภาระเป็นหัวหน้าครอบครัว
ตัวแกเองก็มีคนที่เขายินดีที่จะมาช่วยดูแลแก มาเยี่ยมแกด้วย ถึงแม้พี่จะไม่ได้ไปเยี่ยมทุกวัน ไปแค่อาทิตย์ละครั้ง แต่มีคนช่วยแบบนี้ก็ยังโอเค ไม่ได้ลำบากเกินไป ถ้าสภาพเป็นแบบนักโทษเมืองจีน ที่มีการทารุณกรรม ญาติเยี่ยมไม่ได้เลย เราอาจตัดสินใจอีกอย่างหนึ่ง ที่นี่เรือนจำชายก็ให้แกเข้าไปดูแลงานห้องสมุด ยังได้อ่านหนังสือ ได้เขียนหนังสือ
คนคงสงสัยว่าทำไมเขาถึงดื้อนัก
จริงๆ พี่รู้แล้วอยู่ว่าเขาเป็นอย่างนี้ รู้ตั้งแต่แต่งงาน ถ้าดูประวัติเขาที่เล่าให้ฟัง เขาไม่ได้อยู่ๆ เป็นแบบนี้ เขาเป็นมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา เชื่อมั่นในอุดมการณ์ความคิดของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรจะไปเปลี่ยนเขา เราไม่ควรจะใช้ความเป็นภรรยา หรือความเป็นครอบครัวมาเรียกร้องตรงนี้กับเขา ถ้าเขารู้สึกว่าเขาตัดสินใจแบบนี้แล้วมันโอเคที่สุดสำหรับเขา
เข้าใจว่าช่วงแรกๆ ทางครอบครัวค่อนข้างเงียบ ไม่เปิดตัว จนกระทั่งมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของญาติผู้ประสบภัยจาก 112 ช่วงนั้นเกิดอะไรขึ้น มีผลกระทบอะไรที่กังวลหรือเปล่า
จริงๆ พี่ไม่ได้อยู่ในภาพของการเคลื่อนไหวทางการเมือง พี่มีอาชีพของตัวเองที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตรงนี้ ตอนนั้นยังรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะลุกขึ้นมาพูด มาแสดงความคิดเห็นในเรื่องอะไรตรงนี้มากนัก แต่เราก็ไปดูแลเขาเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าไม่อยากที่จะออกสู่สาธารณะ
แล้วจากนั้นมันเป็นตามธรรมชาติมากกว่า เวลาเราไปเยี่ยมช่วงนั้นจะมีนักโทษการเมืองอยู่ประมาณ 12-13 คน และแต่ละคนก็จะมีญาติ ภรรยา พ่อแม่ ลูก พอดีว่าช่วงนั้นญาติๆ ได้เจอกันและคุยกันได้  เขาก็สามารถที่จะคิดจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา แรกๆ เลยเอาไว้ช่วยเหลือกัน พูดคุยกัน ไม่ได้คาดหวังว่าจะทำอะไรมากมาย พอทำไปทำมาก็เห็นประเด็นที่เราควรจะทำ เช่น เปิดตัวให้สาธารณชนรู้ว่ามันมีปัญหาเรื่องการใช้กฎหมายแบบนี้อยู่ ญาติมีอะไรที่ได้รับผลกระทบ

จดหมายที่ส่งถึงสมยศในเรือนจำ ปรึกษาเรื่องจำนำข้าว
ตอนนี้คดีถึงไหนแล้ว
เมื่อปีที่แล้ว วันที่ 19 กันยายน ศาลอุทรธ์ตัดสินคดี โดยที่ศาลไม่ได้แจ้งทางทนายและญาติ ตอนนั้นกลายเป็นว่าเขาพาสมยศออกจากเรือนจำไปฟังการอ่านคำพิพากษาคนเดียว ศาลอุทรณ์ก็พิพากษายืน เราก็คุยกันว่าไหนๆ เรามาถึงจุดนี้แล้ว เราก็จะสู้ไปจนถึงสุดท้ายเลยแล้วกัน โดยใช้ทนายคนเดิมคือคุณวสันต์ พานิช รวบรวมรีวิวข้อโต้แย้งที่เพื่อทำฎีกา
มีความหวังที่จะชนะคดีอยู่ไหม
ถ้าสถานการณ์การเมืองเป็นแบบนี้ เราก็คงต้องวิเคราะห์ ในเมืองไทยการตัดสินพิพากษามันไม่ได้ยืน stand alone ด้วยตัวของมันเอง มันมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพการเมืองเยอะมาก ถ้าสมมติว่ามัน stand alone เป็นองค์กรอิสระไม่เกี่ยวข้องกับอะไรเลย คิดว่าการตัดสินจะเป็นอีกแบบนึง เพราะฉะนั้นเรามีสิทธิ์ที่จะชนะในกรณีนั้น แต่ตอนนี้ถ้าดูแล้วสถานการณ์ทางการเมือง เราไม่มีรัฐบาทที่มาจากการเลือกตั้ง เราไม่มีประชาธิปไตย เรามีรัฐบาลทหารซึ่งใช้กฎอัยการศึก เพราะฉะนั้นภายใต้กฎอัยการศึกโดยเผด็จการทหารแบบนี้ ผลคือเขาน่าจะลงโทษเหมือนเดิม ถ้าจะหวังอะไรได้บ้างก็คงหวังว่าเขาจะลดโทษน้อยลง
แต่ถามว่าเราสู้คดี ความหวังสูงสุดเราคืออะไร เราหวังว่าศาลจะตัดสินให้พี่สมยศไม่มีความผิด ยกฟ้อง เราอยากจะสู้ให้ผลเป็นแบบนั้น ให้มันชัดเจนว่าคดีแบบนี้ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ความผิด ไม่สมควรที่จะมีใครทำอะไรแบบนี้แล้วผิด อันที่สองคือสมยศไม่ได้ทำผิด แต่ก็อย่างที่บอกเราก็ต้องเผื่อใจตามสถานการณ์บ้านเมือง
ถามว่าถ้าสมมติศาลฎีกาลงโทษเหมือนเดิมจะเป็นยังไงต่อไป ผลก็คือเขาจะกลายเป็นนักโทษเด็ดขาด หลังจากนั้นก็อาจจะมีการปรับสถานะจากนักโทษธรรมดาเป็นชั้นกลาง ชั้นเยี่ยม แล้วก็อาจมีโอกาสพักโทษ ซึ่งทำให้เขามีโอกาสได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้นกว่า 11 ปีนิดหน่อย
โทษ 11 ปีอย่างน้อยก็หมายถึง 1 ใน 6 ของชีวิต เขาคิดจะใช้เวลามหาศาลนี้ในเรือนจำทำอะไรบ้าง
อ่านหนังสือเป็นหลัก เขียนบันทึกส่วนตัว ได้อยู่กับตัวเอง ได้ใช้เวลาทบทวนสิ่งที่ผ่านมา ได้คุยกับนักโทษในเรือนจำคนอื่นๆ นักโทษในเรือนจำก็มีหลากหลาย นักโทษต่างชาติเยอะ ทำให้เขาได้ใช้ภาษาอังกฤษในการพูดคุย ได้เรียนรู้ชีวิตของคนอื่นๆ สิ่งที่ดีที่สุดคือเขาเป็นคนชอบช่วยเหลือคน เขาก็ช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตยากลำบากในเรือนจำ อันนี้เขาไม่ได้เล่าให้เราฟัง แต่นักโทษคนอื่นที่เขาได้ออกมาเขามาเล่าให้ฟังแล้วขอบคุณพี่ เพราะพี่ยศได้เป็นที่พึ่งให้เขาทางด้านจิตใจ ช่วยเหลือดูแลในเบื้องต้นตอนเขาเข้าเรือนจำใหม่ๆ
แกได้ทำงานของแก ในแง่ชีวิตเราไม่รู้หรอกว่าชีวิตเราจะเจออะไร แต่เมื่อเราเจอแล้วก็ทำตรงนั้นให้ดีที่สุด ใช้เวลาขณะนั้นให้ดีที่สุด ถ้าเราคิดว่าเวลาที่เราอยู่ทำอะไรไม่ได้ เสียไปเปล่าๆ มันก็สูญเสียจริงๆ
แกเปลี่ยนไปเยอะจากการที่อยู่ข้างนอกเคลื่อนไหว แล้วต้องเข้าไปอยู่ในเรือจำแล้วเขาได้ใช้เวลาทบทวน เขากลายเป็นคนที่สงบนิ่งมากขึ้น เขายังคงความเข้มแข็ง แข็งแกร่งไว้ อาจจะมากกว่าเดิมด้วย อย่างน้อยๆ เขาก้าวข้ามความกลัวของเขาไปแล้ว ตอนช่วงแรกๆ ที่เขาถูกตัดสิน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เขาต้องต่อสู้กับจิตใจของตัวเองมาก แต่ ณ ตอนนี้เขาก้าวข้ามมาแล้ว พี่ไม่เห็นแววตาที่เขากลัวกับชีวิตหรืออะไร คือ ถ้าคุณไม่ประสบวิกฤตในชีวิตแล้วคุณก้าวข้ามมันได้ก็จะไม่เป็นแบบนี้ พี่คิดว่าเขาประสบความสำเร็จตรงนี้ บางทีคุกก็อาจให้อะไรกับเราเหมือนกัน
คิดว่าเคสของสมยศและคนอื่นๆ ที่ต่อสู้ในชั้นฎีกา จะให้อะไรสังคมไทยได้บ้างไหม หรือมีความหวังว่าสังคมไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงเพราะสิ่งเหล่านี้บ้างไหม
คงตอบแทนคนอื่นๆ ไม่ได้ทั้งหมด แต่เท่าที่ได้รับ feed back มา หลายๆ คนมองการต่อสู้คดีเราเป็นตัวอย่าง มองเราเป็น role model เหมือนกัน ไม่ว่าผลจะออกมาว่า เราชนะหรือแพ้คดี หรืออย่างไรก็ตาม เขามองว่าเราได้ต่อสู้ และเขาศรัทธาและคิดว่าถ้าเราสู้ได้ เขาก็สู้ได้ ไม่ว่าเขาจะเผชิญกับปัญหาอะไรในชีวิต
พี่ไม่ได้คาดหวังว่าสังคมจะเปลี่ยนไป คดีของสมยศจะทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตย ไม่มีรัฐประหารหรืออะไร แต่อย่างน้อยๆ คนที่ได้ติดตามเรา ได้ติดตามเรื่องราวของเรา เขาก็ได้กำลังใจเหมือนกัน บางทีคนเรามันแลกเปลี่ยนกำลังใจกันจากการเห็นคนอื่นทำ การกระทำของคนอื่นมันเป็นแรงบันดาลใจให้เราสู้ต่อ บางทีการกระทำของเราอาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่อสู้กับชีวิตเขาเหมือนกัน
ช่วงไหนคือช่วงที่รู้สึกอึดอัด เจ็บปวดที่สุด
ช่วงปีแรกๆ ที่ตามแกไปเรือนจำ เพราะถูกย้ายไปขึ้นศาลที่เรือนจำต่างจังหวัด เรารู้สึกเจ็บปวด เห็นแกถูกใส่โซ่ตรวน ถูกกระทำ จากการเป็นคนปกติธรรมดาแล้วต้องถอดรองเท้าเดิน ใส่ชุดนักโทษ ต้องลากโซ่ เราก็รู้สึกแย่ หนักที่สุดคือวันที่ยื่นประกัน พี่ยื่นทั้งหมด 16 ครั้ง หลังๆ ไม่ได้หวังแล้ว แต่ช่วงกลางๆ ตอนที่เราสู้คดี เตรียมข้อมูลมาพอสมควร เราได้รายงานจาก article 19 เพื่อสนับสนุนว่าทำแบบนี้ไม่ผิด เราสู้สุดๆ แล้วแต่เขาก็ยังไม่ให้ประกัน ตอนนั้นแกถูกพามาขึ้นศาล แล้วเขาก็พาแกขึ้นรถเรือนจำกลับ พี่รู้สึกแย่มากที่เราสู้แล้วไม่สำเร็จ ต้องเห็นแกกลับไปเรือนจำทั้งๆ ที่ควรกลับบ้านกับพี่ แต่ก็พยายามไม่เศร้านาน ต้องพยายามดูแลตัวเองด้วย เพราะเราต้องเป็นคนสู้ต่ออยู่ข้างนอก

เสียงจากสายแรงงาน

เรียบเรียงโดย ณัฏฐ์ณิชา วงศ์ศิริวิพัฒน์
สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน เคยเป็นประธานสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย สมยศเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวและการก่อตั้งสหภาพแรงงานไทย ก่อนจะมาเคลื่อนไหวด้านสิทธิทางการเมือง
หลังรัฐประหารปี 2549 สมยศได้รับเลือกให้เป็นแกนนำชุดที่ 2 ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) การจับกุมตัวนายสมยศเกิดขึ้นหลังจากเครือข่ายประชาธิปไตยที่เขามีส่วนร่วมประกาศแคมเปญรณรงค์ล่า 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอให้รัฐสภาทบทวนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพียง 5 วัน นอกจากนี้ชื่อของเขายังถูกบรรจุอยู่ใน “ผังล้มเจ้า” ซึ่งจัดทำโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และประกาศสู่สาธารณะโดยพันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิดในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553
สมยศถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ด้วยข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดมาตรา 112 ฐานอนุญาตให้มีการตีพิมพ์บทความสองชิ้นลงในนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ บทความทั้งสองชิ้นเขียนขึ้นโดยบุคคลซึ่งใช้ชื่อว่า “จิตร พลจันทร์” อันเป็นนามแฝงที่เกิดจากการผสมชื่อและสกุลของนักคิดฝั่งซ้ายคนสำคัญในประเทศไทยสองคน คือ จิตร ภูมิศักดิ์ และ อัสนี พลจันทร์
สมยศเป็นหนึ่งใน 5 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทย ผู้ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร จากกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตรในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555
เยาวภา ดอนเส กลุ่มคนงานสตรีสู่เสรีภาพผู้เคยร่วมงานกับสมยศเล่าว่า ตนเป็นคนงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเครืออีเดนกรุ๊ป ร่วมงานกับสมยศครั้งแรกเมื่อสมยศเข้ามาอบรมให้ความรู้กับคนงานในโรงงานถึงเรื่องสหภาพแรงงาน ต่อมาเกิดการเลิกจ้างในโรงงาน สมยศเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้คนงานได้รับค่าชดเชยซึ่งได้สูงกว่ากฎหมายในสมัยปี พ.ศ. 2541 โดยได้รับค่าตอบแทนในการเลิกจ้าง 10 เดือน ผลพวงมาจากการต่อสู้ของคนงานในครั้งนั้นทำให้มีการตระหนักถึงการแก้ไขกฎหมาย ถ้าสมยศไม่เข้ามาช่วย มาค้นข้อมูล คนงานก็คงจะไม่ได้ค่าชดเชยตามกฎหมายเลย
การเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ประสบผลสำเร็จมากคือ การลาคลอด 90 วัน เยาวภาเล่าถึงการเรียกร้องในครั้งนั้นว่า สมยศเป็นเพียงคนเดียวที่อุ้มลูกอายุไม่กี่เดือนไปเรียกร้องสิทธิให้คนงานลาคลอดได้ 90 วัน
“ในสมัยนั้น เอกพร รักความสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานฯ เคยจีบสมยศให้ไปเป็นที่ปรึกษา แต่ว่าแกไม่ไป เพราะแกถือว่าเท่ากับเป็นการทรยศคนงาน เท่ากับยอมขายตัวให้กับนักการเมือง”
“เกิดความเปลี่ยนแปลงในปี 49 หลังจากรัฐประหาร คนในองค์กรต่างก็ถูกชวนให้ไปทำงานหนังสือเพื่อที่จะไปเจาะฐานให้กับคนที่นิยมทักษิณ พูดง่ายๆ จะเอามวลชนของเขานั่นแหละ จะเจาะฐานความคิด เพื่อให้คนได้เข้าใจในด้านสิทธิด้านการเมือง จึงทำให้สมยศผันตัวออกไปทำหนังสือและห่างออกจากการทำด้านแรงงาน”
 “รู้สึกเศร้ามากเมื่อได้ยินว่าแกถูกจำคุก เราสู้ด้วยกันมา แกไม่ได้เป็นคนทำผิด และเราก็ชื่นชมว่าแกไม่ยอมรับสิ่งที่เขาต้องการให้ยอมรับเพื่อขออภัยโทษ ยังคงจะสู้ต่อไป แม้จะเป็นความเจ็บปวดของพวกเราในฐานะเพื่อนมิตร เราก็ต้องยอมรับแล้วก็สู้ร่วมกับแกไป วันเมย์เดย์หลังเสร็จงานรณรงค์เราจะนัดกันไป หรือทุกวันพุธ เราก็จะนัดกันไปเยี่ยมแก แต่ปีนี้เป็นที่น่าเสียใจว่า ไปแล้วไม่สามารถเข้าพบได้ หลังคสช.มีอำนาจ มีการออกกฎระเบียบใหม่ ทำให้เราไม่สามารถพบปะพูดคุยกับแกได้เหมือนก่อน”
“ถึงแม้ว่าในสายตาของคนอื่นแกเป็นแบดบอย ตั้งแต่เคลื่อนไหวด้านแรงงาน แต่เมื่อเขาไปจับเคสไหนก็ตาม มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในโรงงานที่ยังไม่มีสหภาพแกเข้าไปจัดการศึกษามันก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง อันนี้ไม่ได้อวยกัน แต่มันทำให้คนที่ได้รับการศึกษาเกิดแนวคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่ตัวเองอยู่ด้วย สิ่งนี้คือสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐจับตามองมาตลอดยี่สิบสามสิบปีที่แกทำงานมา”
ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตฯ ในสมัยก่อนเคยทำงานอยู่โรงงานตัดเย็บเสื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูป บริษัท ไทยการ์เมนต์ เอ๊กซปอร์ต จำกัด คนงานทุกคนก็ถูกบังคับให้ทำโอทีโดยที่ไม่มีการจ่ายค่าโอทีให้ เป็นการบังคับทำงานแบบโหดร้ายมาก เช่น มีการนำโซ่มาคล้องประตูไม่ให้คนงานออกจากโรงงาน พวกคนงานทนไม่ไหวจึงได้ไปติดต่อกับสหภาพแรงงานที่บริษัทในเครือจึงได้มีการแนะนำให้รู้จักกับสมยศ เขาช่วยคิดรูปแบบที่จะทำให้คนงานคนอื่นๆ รู้ว่าการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานดีอย่างไร
“เขาเป็นคนแอคทีฟ งานที่เขาทำคือจัดตั้งสหภาพแรงงาน แล้วให้ความรู้เรื่องชนชั้น เรื่องความสำคัญของกรรมาชีพ เขาช่วยได้เยอะ เพราะพวกพี่แม้แต่คำว่า สหภาพแรงงาน ก็ไม่รู้จักเลย แล้วเขาก็เป็นคนประสานให้ได้แลกเปลี่ยนกับสหภาพแรงงานที่อื่น”
“เขาเป็นคนมีอุดมการณ์ เป็นคนฉลาด ทำให้งานคืบหน้าไปได้เร็ว พวกพี่ตั้งสหภาพแรงงานได้ภายในสองปี และเกิดตามกันมาอีกหลายแห่ง เป็นคนมีบทบาทมากคนหนึ่ง”
“ช่วงหนึ่งที่แกไปอยู่ นปช. พี่ก็รู้สึกว่าใครไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ไม่ใช่พรรคแรงงานโดยตรง ก็ไม่รู้สึกดีเท่าไร แต่ไม่ได้ตำหนิติติงอะไรแก แค่ห่างๆ กันไป แต่พอโดนจับคดีนี้ ตอนแรกคิดว่าแกถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่คุยกับหลายๆ คนแล้ว มันไม่ใช่ คนอย่างพวกเรา นักกิจกรรมอย่างพวกเรายังไงก็มีอุดมการณ์ ยังไงก็ตามเราก็เป็นห่วง ใจคอไม่ดี คิดว่าแกจะต้องตายในคุกไหม ความผูกพันในอดีตที่เรามีต่อกัน ช่วยเหลือ ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาเยอะ ก็รับไม่ค่อยได้เหมือนกันที่จะโดนแบบนี้ และแกควรได้รับการประกันตัวมาสู้คดี ผิดหวังมากกับกระบวนการยุติธรรมในบ้านเรา”
สุวรรณา ตาลเหล็ก กลุ่มผู้ประสานงานของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เล่าว่ารู้จักสมยศในช่วงที่เกิดเหตุการณ์บริษัทเคเดอร์ไฟไหม้และตึกถล่มตามมาส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิตประมาณ 188 ศพ ได้ร่วมกันเรียกร้องสิทธิให้คนงาน อย่างไรกตาม ได้มาร่วมงานกันอย่างจริงจังในปี 2540 สุวรรณาเข้ามาทำศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงานที่สมยศก่อตั้งขึ้น
กิจกรรมของที่ศูนย์ก็คือการจัดอบรมเรื่องกฎหมายแรงงาน กฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ประกันสังคม และคอยช่วยเหลือแรงงานที่ถูกละเมิด ถูกเลิกจ้าง จ่ายค่าแรงไม่ตรงเวลา ฯลฯ ในช่วงที่ทำงานกับสมยศ ก็ได้มีการร่วมกันเรียกร้องเงินสงเคราะห์บุตร คือเป็นการขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานในส่วนนของประกันสังคม และขยายค่าเล่าเรียนบุตร เรื่องเบี้ยชราภาพ ไปจนถึงการลาคลอด และการทำฟัน ฯลฯ ที่เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนพึงจะได้รับรวมไปจนถึงค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศมาโดยตลอด
“ทำงานกับพี่สมยศ ไม่มีลักษณะที่ต้องทำอย่างที่เขาบอก เขาจะสอนวิธีการทำงานให้เราได้เติบโตจริงๆ เจอกับปัญหาจริงๆ ไม่มีการครอบงำ ทำให้รู้จักแก้ไขปัญหา รู้จักอดทน และเขาจะบอกพวกเราเสมอว่า ให้มีศรัทธากับงานที่เราทำอยู่”
“หลายครั้งเราก็อารมณ์ร้อน เขาก็จะบอกเสมอว่า เรามีโอกาสที่จะได้เรียนรู้มากกว่าคนงานที่อยู่ในโรงงานนะเพราะฉะนั้นเราต้องอดทน และให้โอกาสเค้าที่เค้าจะได้เติบโตและเรียนรู้ในสิ่งที่เค้าถูกกระทำ เราต้องคอยช่วยเหลือเค้าเพราะเค้าไม่มีโอกาส”
“แกทำงานกับคนงานด้วยความรู้สึกที่ว่าพวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบ แล้วแกก็มีความเชื่อว่าถ้าหากคนงานมีความรู้ได้ศึกษาได้เรียนรู้ในกฎหมายที่ตัวเองควรจะรู้ก็จะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะแรงงานที่เขาใส่ใจ ปัญหาชาวบ้าน ปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ เขาก็ใส่ใจ”
จะเด็ด เชาวน์วิไล จากมูลนิธิเพื่อนหญิง เล่าให้ฟังถึงบทบาทที่ผ่านมาของสมยศในการเคลื่อนไหวด้านแรงงานนับตั้งแต่ราวปี 2528 เช่นเดียวกับคนอื่น จนกระทั่งในช่วงหลังจึงห่างกันไป เมื่อถามถึงมุมมองต่อสมยศในขบวนการแรงงาน เขาเล่าว่า
“ช่วงหลัง ผมเองห่างๆ เขา สมยศสนใจประเด็นประชาธิปไตย บทบาทผมยังทำเรื่องผู้หญิง ทางผมก็ตามดูห่างๆ ไม่ได้เข้าไปเต้นมาก มองว่าในแง่นี้ผู้ใช้แรงงานมีหลากหลายความคิด บางส่วนเห็นด้วย บางส่วนไม่เห็นด้วย เอ็นจีโอไม่ชัดเจนเรื่องนี้ บางส่วนก็ไม่เข้าไปยุ่งวุ่นวาย มันเหมือนเขาเป็นผลพวงของความขัดแย้งของชนชั้นนำ เหมือนเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่โดนเล่นเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่าง และมันก็เป็นการริดลอนเสรีภาพประชาชน ผมก็เขียนไว้ในบทความวาระครบ 3 ปีคุมขังสมยศ ว่า กรณีสมยศเองเหมือนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการที่จะบอกว่า ใครทำเรื่องนี้ก็จะโดนแบบนี้ เป็นเรื่องระหว่างชนชั้นนำสองฝ่าย”
“ต้องให้กำลังใจที่เขาต่อสู้เรื่องนี้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ผมให้กำลังใจครอบครัวสมยศที่ต้องฝ่าฟันเรื่องนี้”
“ผมคิดว่า บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนสำคัญมากที่เข้าไปทำให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็ง น่าเสียดายที่ช่วงหนึ่งที่ทำแล้วมีนโยบายสาธารณะเกิดขึ้นเพราะมีปัญญาชนกลุ่มหน่งเข้าไป แต่ตอนนี้มันหายไปเลย บทบาทปัญญาชนสำคัญกับขวนการแรงงาน สมยศก็มีส่วนสำคัญที่ทำตรงนั้น”  
บุญมี วันดี อดีตผู้นำสหภาพ และผู้ดูแลศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน จ.สุพรรณบุรี ซึ่งปัจจุบันไม่มีกิจกรรมใดแล้ว เจ้าหน้าที่ก็แยกย้ายกันหมดแล้วเหลือเพียงเขาคนเดียว อย่างไรก็ตาม เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นสมยศมาตั้งแต่เรียน มศ.5 และเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องแรงงานมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
“สมยศเขาเป็นคนมีโอกาสเยอะ มีคนเสนอตำแหน่งให้เขาเยอะ ตั้งแต่ยุคชาติชายแล้ว แต่เขาไม่ไป บางคนนี่เขาอยากไปจะตาย เป็นที่ปรึกษานุ่นนี่ เขาเคลื่อนไหวมีผลกระทบสูงมากด้วย สมยศเวลาเคลื่อนไหวเขาคมมาก คนไม่เยอะแต่มีศักยภาพสูง งานไหนเขาจับแล้ว โรงงานนั้นหวั่นไหวเลยแหละ กลัว ตอนยุคชาติชาย อาจารย์ไกรศักดิ์เคยเสนอให้เป็นที่ปรึกษาบ้านพิษฯด้วยซ้ำ เขาบอกเขาไม่เอา ขี้เกียจใส่สูท สมัยนั้นเราเคลื่อนไหวเราได้เจอนายกฯ ทุกคน ชวน จิ๋ว ชาติชาย บรรหาร เวลายื่นหนังสือก็ต้องคุยกันเป็นคณะ เมื่อก่อนเคลื่อนไหวมีผล ดีที่เขาไม่เสียคนแม้จะสู้มายาวนาน”
“จนถึงวันนี้ ต้องเคารพว่ามั่นคง ไม่ยอม อันนี้เราเคารพเขาว่าแข็งมาก”
“ในฐานะเพื่อน อยากให้เขาประกันตัว มันน่าจะเป็นสิทธิของเขาที่จะได้ออกมาสู้คดีเต็มที่ คดีสิ้นสุดยังไงก็ว่าไปอีกขั้น ผมเคารพเขาเพราะเขามีจุดยืนมั่นคง ตอนไปเยี่ยมเขาหลายคนก็บอกว่าให้รับสารภาพ เขาบอกรับไม่ได้เพราะเขาไม่ได้ทำ เราจึงเคารพเขา จริงๆ ถ้าเขาอยากออกไวก็รับแล้วขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เขาไม่ยอมเลย เขาคิดว่าเขาไม่ได้มีความผิดอะไร”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น