วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

ป.ป.ช. คาดมี.ค.นี้สรุปคดี ‘รบ.ยิ่งลักษณ์’ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบชุมนุมการเมือง

4 มี.ค.2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผย ความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริง คดีกล่าวหาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (ตั้งแต่ปลายปี 48-พ.ค.53) รอบแรก จำนวน 524 ราย วงเงินรวม 577 ล้านบาท ว่า คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า จ่ายเงินเยียวยาถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือไม่ มีการจ่ายเงินแค่กลุ่มการเมืองใดการเมืองหนึ่ง และไม่ได้จ่ายอีกกลุ่มหนึ่งหรือไม่
“เบื้องต้นเจ้าหน้าที่รายงานว่า ดำเนินการสืบสวนพยานครบหมดแล้ว คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้ จะมีการเสนอเรื่องให้อนุกรรมการฯ ที่มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่” ปานเทพ กล่าว
ต่อข้อถามว่า คดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาคือคณะรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้คือ รัฐมนตรีทั้งคณะ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์
สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า คดีนี้มีคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงาน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) และนายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ถูกกล่าวหา
ไม่กลัวกถูกวิจารณ์ หากไม่รับเรื่องร้องเรียน สนช. ปมตั้งญาตินั่งผู้ช่วย
ปานเทพ ยังกล่าวถึง กรณี ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งเครือญาติดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว และมีเงินเดือนประจำ ว่า เมื่อมีผู้มาร้องเรียน ป.ป.ช.ก็รับเรื่องไว้พิจารณา ว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. หรือไม่  เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 ไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับตำแหน่งที่  สนช.
“ป.ป.ช.ไม่กลัวถูกวิจารณ์ว่าไม่ยอมรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวโยงถึง สนช.  ต้องให้ ป.ป.ช.พิจารณาข้อกฎหมายก่อนว่า เรื่องที่ร้องมานั้นเข้ากับกฎหมายป.ป.ช.หรือไม่ หากไม่เข้ากฎหมาย ป.ป.ช. ก็ต้องให้เรื่องตกไป แต่ถ้าเข้าก็สอบต่อ เรื่องอย่างนี้ต้องอธิบายได้ แต่ตามหลักแล้ว ต้องดูที่มาตรา 100 ที่กำหนดเฉพาะตำแหน่งสำคัญๆ เท่านั้น” ปานเทพ กล่าว
ส่วนเรื่องการร้องเรียนที่เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม ปานเทพ กล่าวว่า หากมาร้องที่ ป.ป.ช.  ก็คงจะไม่ค่อยตรงนัก เพราะเรื่องจริยธรรมต้องไปร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะพิจารณาตามมาตรา 270 และหากสอบแล้วพบว่าผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 270 จึงจะส่งเรื่องมาให้ป.ป.ช. ไต่สวนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น