4 มี.ค.2558 เจษฎ์ โทณวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุกรรมาธิการร่างบทเฉพาะกาล เปิดเผยว่า บทเฉพาะกาลจะมีไม่เกิน 20 มาตรา และยอมรับว่า กรรมาธิการยกร่างฯ มีความเห็นจะกำหนดตัดสิทธิทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ต้องดูที่ความเหมาะสม โดยเฉพาะกลไกต่อยอดการทำงานของแม่น้ำ 5 สาย เพื่อไม่ให้เสียเปล่า
“ผมมองว่า มีความเป็นไปได้ และเป็นเรื่องที่ดี หากตัด คสช. ออกไป เพราะจะไม่มีการต่อยอดอำนาจอีก เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึง แม่น้ำทั้ง 5 สาย ก็ควรกำหนดระยะเวลาเว้นวรรคให้ชัดว่า ไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวการเมือง เพราะเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่า ร่างมาเพื่อสืบทอดอำนาจ อย่างน้อยควรเว้นวรรค 2 ปี เหมือนกับกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ขณะนี้กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว หากต้องพ้นตำแหน่งไปไม่เกิน 2 ปี ก็ไม่สามารถเข้ามาเกี่ยวกับการเมืองได้” เจษฎ์ กล่าว
เจษฎ์ กล่าวอีกว่า การพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้อยู่ในชั้นของอนุกรรมาธิการยกร่างฯ พิจารณาเนื้อหาบทเฉพาะกาล ก่อนส่งให้ กรรมาธิการชุดใหญ่พิจารณาในวัน 5 มี.ค. นี้
ขณะที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตอบคำถามต่อกรณีที่ล่าสุดกรรมาธิการฯ บางคนเตรียมเสนอแนวคิดในการเขียนบทเฉพาะกาล ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ “แม่น้ำ5สาย” เว้นวรรคทางการมืองเป็นเวลา 2 ปี นั้น โดย ไพบูลย์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด คงต้องไปรอฟังการประชุมกรรมาธิการ ในวันที่ 5 มี.ค.นี้ ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่การพิจารณาเกี่ยวกับบทเฉพาะกาล
‘ไพบูลย์’ เชื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไร้ปัญหา หลัง ทิชา ลาออก
ส่วนกรณี ทิชา ณ นคร ได้แถลงสาเหตุที่ลาออกจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไพบูลย์ เห็นว่า เป็นเรื่องดี และเชื่อว่าเป็นการพูดออกมาจากใจ แต่ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะแต่ละคนก็มีเอกสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น และมีมุมมองเป็นของตัวเอง ถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นการทำหน้าที่ด้วยความสุจริตอยู่แล้ว
ส่วนเกรงหรือไม่ว่า จากนี้ไปกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะถูกจับตาในเรื่องสิทธิสตรีเป็นพิเศษ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในส่วนของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เห็นต่างจากนางทิชา เรื่องการกำหนดสัดส่วนสตรี จำนวน 1 ใน 3 เข้าไปเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ก็มีเหตุผลของตัวเอง ซึ่งก็ต้องรับฟังด้วย ส่วนตัวเห็นด้วยกับนางทิชา ในประเด็นเรี่องท้องถิ่นตั้งแต่ต้น เนื่องจากเห็นว่าท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับประชาชน ดังนั้น หากมีสัดส่วนของสตรีเข้าไปก็จะเป็นประโยชน์ แต่ไม่เห็นด้วยหากจะกำหนดสัดส่วนเพศในการทำหน้าที่ระดับชาติ
“ผมยืนยันว่า กรรมาธิการฯ ยกร่างรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย บทบัญญัติส่วนใหญ่ที่ยกร่างไปแล้ว ก็มาจากข้อเสนอและการรับฟังความเห็นของ สปช. และเชื่อว่านายกอบศักดิ์ ภูตระกูล สปช. ที่มากรรมาธิการยกร่างฯ คนใหม่ จะเข้ามาทำงานต่อได้ ไม่น่ามีปัญหาอะไร” ไพบูลย์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น